แคนนอนส่งเสริมการให้ความรู้การอนุรักษ์แหล่งน้ำและการใช้ประโยชน์จากผักตบชวาอย่างยั่งยืน
นางประยงค์ ไกรทอง ผู้จัดการฝ่ายกิจการทั่วไปและช่วยเหลือสังคม ของบริษัทแคนนอน ไฮ-เทค (ประเทศไทย) จำกัด โรงงานพระนครศรีอยุธยา นำจิตอาสากลุ่มแคนนอนในประเทศไทย กำจัดผักตบชวาเพื่อนำมาแปรรูปเป็นกระดาษสา สิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม ส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าและใช้ประโยชน์จากผักตบชวาอย่างยั่งยืน
เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2562 ที่ผ่านมา กลุ่มบริษัทแคนนอนในประเทศไทย จัดโครงการแคนนอนส่งเสริมการให้ความรู้การอนุรักษ์แหล่งน้ำและการใช้ประโยชน์จากผักตบชวาอย่างยั่งยืน ขึ้น ณ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนทอผ้าหนองเครือบุญ ต.หนองเครือบุญ อ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา โดยมีหน่วยงานราชการเข้าร่วมกิจกรรม นายอำเภอภาชี อุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา คณาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้บริหารศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนอำเภอภาชี นักเรียนและกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทอผ้าหนองเครือบุญ ประชาชนในชุมชน นักเรียน และพนักงานจิตอาสาแคนนอน กว่า 200 คนมาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้
กิจกรรมในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์คือ เพื่อตอบสนองความต้องการและความคาดหวังของชุมชนท้องถิ่นด้านการดูแลสิ่งแวดล้อมโดยร่วมมือกับอุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา สถาบันศึกษา ผู้นำชุมชน และชาวบ้านบริเวณใกล้เคียงเพื่ออนุรักษ์แหล่งน้ำ ลำคลอง และปรับปรุงภูมิทัศน์ให้สวยงามและความหลากหลายทางชีวภาพ ส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าและการใช้ประโยชน์จากผักตบชวาอย่างยั่งยืน โดยได้ทำการศึกษาประโยชน์ของผักตบชวาตั้งแต่ ราก, ก้าน, ใบ และดอก ส่งเสริมการสร้างอาชีพและใช้วัชพืชท้องถิ่นให้เกิดมูลค่ากับชุมชนอย่างยั่งยืน ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของพนักงานแคนนอนในการดูแลรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการให้ความรู้การอนุรักษ์แหล่งน้ำและการนำวัชพืชท้องถิ่นมาใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน
พร้อมทั้งยังได้น้อมนำศาสตร์พระราชามาเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาผักตบชวา โดยการเปลี่ยนผักตบชวาที่ไร้ค่ามาเป็นสินค้าที่หลากหลาย เนื่องจากผักตบชวามีคุณสมบัติข้อดีหลายประการสามารถนำเอามาแปรรูปเป็นสินค้าได้หลากหลาย เช่น ดินปลูก ปุ๋ยอินทรีย์ เครื่องจักสาน อาหารสัตว์ และก๊าซหุงต้มนำเอามาใช้ในการประกอบอาหารได้ และที่สำคัญมากก็คือ การนำเอาผักตบชวามาแปรรูปเป็นกระดาษสา และสิ่งทอเครื่องนุ่งห่มอย่างสวยงามใช้ประโยชน์ได้อีกด้วย ซึ่งนับว่าเป็นการสร้างอาชีพและเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ ต.หนองเครือบุญ อ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา ทำให้เป็นพื้นที่ต้นแบบนำร่องให้กับชุมชนและพื้นที่อื่นๆ เพื่อขยายผลไปสู่โครงการ แคนนอน ส่งเสริมการให้ความรู้การอนุรักษ์แหล่งน้ำและการใช้ประโยชน์จากผักตบชวาอย่างยั่งยืน และสนับสนุนตามนโยบายของรัฐบาล