บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง : โครงการ “กล้ายิ้ม” ปลุกจิตสาธารณะเยาวชน จัดค่าย “เยาวชนจิตอาสา สร้างป่า รักษ์น้ำ”
บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) จัดกิจกรรม "ค่ายเยาวชน กล้ายิ้ม" ภาคเหนือ ประจำปี 2562 ภายใต้โครงการ "คนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน" ในครั้งนี้ได้น้อมนำพระราชดำริในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร โครงการจิตอาสา “เราทำความดี ด้วยหัวใจ” มาเป็นแก่นของกิจกรรมครั้งนี้ ภายใต้หัวข้อ “เยาวชนจิตอาสา สร้างป่า รักษ์น้ำ” โดยจะจุดประกายเยาวชนให้ตระหนักถึงการอุทิศตนเพื่อส่วนรวม สร้างสรรค์คุณค่าให้ชุมชนและสังคม ตลอดจนสร้างความภาคภูมิใจให้เกิดขึ้นกับตนเอง ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้จัดกิจกรรมบ่มเพาะจิตอาสาวัยเยาว์ให้เป็นพลังจิตอาสาพลิกฟื้นผืนป่ารุ่นต่อไปด้วยการร่วมกันสร้างฝายชะลอน้ำ 6 ฝาย และปลูกต้นไม้ 1,000 ต้นในป่าชุมชน
กิจกรรมค่ายเยาวชนกล้ายิ้ม ภาคเหนือ โครงการคนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน ประจำปี 2562 มุ่งปลูกฝังจิตสาธารณะให้แก่เยาวชน ด้วยการน้อมนำพระราชดำริในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทร เทพยวรางกูร โครงการจิตอาสา “เราทำความดี ด้วยหัวใจ” มาเป็นแก่นของกิจกรรมครั้งนี้ ภายใต้หัวข้อ “เยาวชนจิตอาสา สร้างป่า รักษ์น้ำ” โดยจะจุดประกายเยาวชนให้ตระหนักถึงการอุทิศตนเพื่อส่วนรวม สร้างสรรค์คุณค่าให้ชุมชนและสังคม ตลอดจนสร้างความภาคภูมิใจให้เกิดขึ้นกับตนเอง ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้จัดกิจกรรมบ่มเพาะจิตอาสาวัยเยาว์ให้เป็นพลังจิตอาสาพลิกฟื้นผืนป่ารุ่นต่อไปด้วยการร่วมกันสร้างฝายชะลอน้ำ 6 ฝาย และปลูกต้นไม้ 1,000 ต้นในป่าชุมชน
นางบุญทิวา ด่านศมสถิต ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารองค์กร บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “บริษัทฯ เชื่อมั่นในแนวคิดของ “จิตอาสา” มาโดยตลอด และได้ปลูกฝังจิตสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมให้พนักงานทุกระดับผ่านกิจกรรมพนักงานจิตอาสาทุกๆ เดือนเพื่อให้พนักงานได้แบ่งปันและเสียสละแรงกายและเวลาทำความดีแก่ส่วนรวม ประกอบกับในวาระที่โครงการจิตอาสา “เราทำความดี ด้วยหัวใจ” พระราชดำริในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ได้แผ่ขยายและสร้างจิตอาสาบำเพ็ญประโยชน์ไปทุกพื้นที่ในประเทศ เราได้เห็นภาพความกลมเกลียวเป็นหนึ่งเดียวของคนทุกหมู่เหล่ามาร่วมกันช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ในเรื่องเล็กๆ เช่น การเก็บกวาดดูแลรักษาความสะอาดในชุมชน ไปจนถึงภาพใหญ่ของจิตอาสาที่ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของสังคม เช่น น้ำท่วมหรือการจราจร
วาระดังกล่าวนี้ บริษัทฯ จึงน้อมนำพระราชดำริของพระองค์มาสานต่อกับกิจกรรมค่ายเยาวชนกล้ายิ้ม ด้วยเชื่อว่าการทำจิตอาสานั้นเริ่มต้นได้จากทุกคน ไม่จำกัดเพศหรือวัย เพียงเริ่มต้นจากการเห็นคุณค่าของ “การให้” ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นทรัพย์สินมีค่า เพียงอุทิศแรงกาย แรงใจ หรือเวลา รู้จักเห็นอกเห็นใจปัญหาผู้อื่น เรียนรู้ส่งต่อความปรารถนาดีให้คนรอบข้าง เพียงจุดเริ่มต้นเล็กๆ เหล่านี้จะเป็นพลังสรรค์สร้างจิตอาสาที่จะช่วยจรรโลงสังคมและประเทศชาติให้น่าอยู่ และก้าวหน้ายิ่งขึ้นไป”
กิจกรรมค่ายเยาวชนกล้ายิ้ม ภาคเหนือ ประจำปี 2562 นี้ ได้นำแนวคิดจิตอาสามาผสานกับกิจกรรมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อหล่อหลอมเยาวชนในค่ายให้เข้าถึงและเข้าใจ รวมถึงสร้างความตระหนักถึงคุณค่าและประโยชน์ของการให้หรือการมีหัวใจอาสา ทั้งนี้ เยาวชนจะได้เรียนรู้ถึงหลักการและแนวคิดของจิตอาสาจากวิทยากรที่อุทิศตนเป็นจิตอาสามาอย่างยาวนาน และจะได้ลงมือปฏิบัติสร้างฝาย 6 แห่ง และปลูกต้นไม้ อีก 1,000 ต้น ซึ่งเป็นงานที่จะสร้างคุณูปการแก่ชุมชนและสังคม ที่มาจากการเสียสละหยาดเหงื่อแรงกายของเยาวชนตัวเล็กๆ สุดท้ายปลายทางชุมชนจะได้แหล่งน้ำ แหล่งอาหาร อากาศบริสุทธิ์ และขยายวงกว้างสู่การช่วยเหลือโลกในการเพิ่มแหล่งกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainability Development Goals : SDGs) เป้าหมายที่ 13 ว่าด้วยการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ “เมื่อเหล่าเยาวชนกล้ายิ้มตระหนักรู้และเห็นคุณค่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้ จะกลายเป็นกล้าไม้อาสาต้นใหญ่แผ่กิ่งใบจรรโลงสังคมและประเทศชาติเป็นวงกว้างในอนาคต” นางบุญทิวา กล่าว
กิจกรรมค่ายเยาวชนครั้งนี้ จัดขึ้นที่ป่าชุมชนบ้านภูเขาแก้ว ต.เชียงเคี่ยน อ.เทิง จ.เชียงราย ซึ่งได้รับรางวัลป่าชุมชนชนะเลิศดีเด่นด้าน "การจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" ในการประกวดป่าชุมชนดีเด่นระดับประเทศโครงการคนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน ประจำปี 2561 ป่าชุมชนแห่งนี้มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งพื้นที่ต้นน้ำหลายสาย ได้แก่ ลำห้วยตะเคียน, ลำห้วยตำ, ลำห้วยม่วง, ลำห้วยต้อนต้อง คอยหล่อเลี้ยงสัตว์ป่าและประชาชนในตำบลเชียงเคี่ยน อีกทั้ง ป่าชุมชนแห่งนี้ยังมีภูมิหลังเรื่องความสามัคคี ร่วมแรงร่วมใจกัน และเสียสละตนของคนในชุมชนช่วยกันฟื้นฟูผืนป่าอันเสื่อมโทรมจากการสัมปทานไม้ในอดีต จวบจนปัจจุบันกลายเป็นต้นแบบการศึกษาธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ ภาคเหนือ ของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นหนึ่งใน 4 แห่งของประเทศไทยอีกด้วย