แอคชั่น 999 : มีป่าย่อมมีน้ำ กรมชลฯ ปลูกป่าสร้างความยั่งยืน
กรมชลประทานมีนโยบายและโครงการมากมายเพื่อส่งเสริมการเพิ่มพื้นที่ป่าต้นน้ำ
มีน้ำก็มีป่า มีป่าก็มีน้ำ เป็นเรื่องจริงของการพึ่งพากันระหว่างธรรมชาติ แต่ปัญหาพื้นที่ป่าที่กำลังลดลงกำลังส่งผลกระทบร้ายแรงต่อทรัพยากรน้ำอย่างเป็นโดมิโน ปัจจุบันพื้นที่ป่าต้นน้ำในประเทศไทยเหลือเพียง 56 ล้านไร่กว่า ตัวเลขหลักสิบล้านเหมือนจะมาก แต่ถ้าเทียบกับพื้นที่ประเทศ เท่ากับมีพื้นที่ป่าเพียง 17 กว่าเปอร์เซ็นต์เท่านั้น วิกฤตการณ์พื้นที่ป่าหดหายจึงต้องถูกแก้ไขโดยการเติมส่วนที่ขาดให้ได้มากที่สุด ในฐานะหน่วยงานรัฐที่ทำงานเกี่ยวกับทรัพยากรน้ำโดยตรง
กรมชลประทานจึงมีนโยบายและโครงการมากมายเพื่อส่งเสริมการเพิ่มพื้นที่ป่าต้นน้ำ อาทิ การร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รวมถึงกรมป่าไม้ จัดกิจกรรมปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในวโรกาสสำคัญต่างๆ ซึ่งส่วนมากกิจกรรมดังกล่าวจะช่วยเป็นการป้องกันการทำลายป่าและปลูกป่าเสริม แก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ ทว่าการปลูกป่าที่ได้ผลดีไม่ใช่แค่การนำพันธุ์ไม้ไปลงดิน แต่ต้องเข้าถึงคนรอบป่าด้วย อย่างที่ทราบกันดีว่าชาวบ้านที่อาศัยในพื้นที่ป่าหรือละแวกใกล้เคียงมักจะใช้ประโยชน์จากป่าทั้งภาคเกษตรกรรมไปจนถึงการดำรงชีวิต การเข้าไปสร้างความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและชาวบ้านในพื้นที่ เสมือนการสร้างเกราะป้องกันที่แข็งแรงโดยที่มีคนคอยดูแลอยู่เสมอ แม้ว่าการปลูกต้นไม้ให้เป็นพื้นที่ป่าจะไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องใช้เวลาและขั้นตอนมากมายตั้งแต่การเก็บข้อมูล ศึกษาวิจัย และลงมือปฏิบัติ
แต่เมื่อเร็วๆ นี้ ในวโรกาสเฉลิมพระชนมายุ 66 พรรษา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร กรมชลประทานก็ได้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เดินหน้าจัดโครงการปลูกป่าประชารัฐ ฟื้นฟูต้นน้ำยม ปีที่ 3 เพื่อพลิกฟื้นผืนป่าบริเวณลำน้ำยมซึ่งพบปัญหาสะสมมาตลอด พื้นที่ดังกล่าวในฤดูฝนมักจะเกิดอุทกภัย แต่ฤดูแล้งกลับขาดแคลนน้ำทั้งการทำเกษตรและการอุปโภคบริโภค แม้จะมีการสร้างแหล่งกักเก็บน้ำแล้ว 87 โครงการ แต่กักเก็บน้ำได้เพียง 12.25 ล้าน ลบ.ม. มีน้ำเหลือไหลลงสู่พื้นที่ตอนล่างมากถึง 904.9 ล้าน ลบ.ม. แต่กลับมีพื้นที่ได้ประโยชน์เพียง 94,000 กว่าไร่ กรมชลประทานจึงได้ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำน้ำปี้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในอำเภอเชียงม่วน ความจุ 90.50 ล้าน ลบ.ม. ผลที่ได้คือมีน้ำส่งไปยังพื้นที่เกษตรกรรมอย่างทั่วถึงและเพียงพอ นอกจากนั้นยังมีอ่างเก็บน้ำ ฝาย แก้มลิง อีกหลายแหล่งที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อกักเก็บน้ำและลดปัญหาน้ำท่วม แต่สิ่งสำคัญที่อุ้มชูกันอยู่คือผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ กล่าวคือ เมื่อเพิ่มพื้นที่เก็บกักน้ำ ต้องฟื้นฟูป่าต้นน้ำด้วย รวมถึงการรณรงค์ให้ชาวบ้านรักและหวงแหนป่าต้นน้ำ มีจิตสำนึกร่วมกันที่จะอนุรักษ์ธรรมชาติเอาไว้
แม้ว่าการปลูกป่าจะไม่ได้คืนผืนป่าให้กลับมาเขียวขจีในชั่วพริบตา แต่จุดเริ่มต้นที่หน่วยงานด้านทรัพยากรน้ำอย่างชลประทานทำมาอย่างสม่ำเสมอ เป็นดั่งเมล็ดพันธุ์ที่ถูกหว่านไปทั่วบริเวณหรือเป็นต้นกล้านับล้านที่ถูกฝังลงดิน รอวันเติบโตเป็นแหล่งอยู่อาศัยของสัตว์ป่า เป็นต้นน้ำให้คนตั้งแต่ต้นจนปลายน้ำได้ดื่มกินหล่อเลี้ยงชีวิต