http://www.csrcom.com/
True ปลูกปัญญา

แอคชั่น 999 : “เยาวชนคนรักษ์น้ำ” ก้าวสำคัญของทรัพยากรน้ำยั่งยืน


ชื่อโครงการ : แอคชั่น 999 : “เยาวชนคนรักษ์น้ำ” ก้าวสำคัญของทรัพยากรน้ำยั่งยืน
ชื่อองค์กร : บริษัท แอคชั่น 999 จำกัด
เกี่ยวกับองค์กร : จัดทำประชาสัมพันธ์และเพจที่ทำขึ้นเพื่อสร้างจิตสำนึกที่ดีต่อสังคมในชื่อเพจ ohpa tv
เว็บไซต์ : ohpatv
รูปแบบโดยย่อ :
ในประเทศไทยมีหลายพื้นที่ประสบปัญหาเกี่ยวกับน้ำ ชลบุรีเป็นจังหวัดหนึ่งที่กำลังพยายามก้าวข้ามวิกฤตการณ์ดังกล่าวด้วยพลังของคนรุ่นใหม่ เกิดเป็น ‘โครงการเยาวชนคนรักษ์น้ำ ประจำปี 2561’ โดย กรมชลประทาน
รายละเอียด :

ต้องยอมรับว่าวิกฤตการณ์ทางทรัพยากรน้ำกำลังเป็นเรื่องใกล้ตัวขึ้นทุกที ทั้งน้ำแล้ง น้ำท่วม น้ำเสีย และอีกสารพัดปัญหากำลังรุมเร้าผู้คนทั่วโลก แต่ละประเทศแต่ละพื้นที่มีวิธีจัดการแก้ไขปัญหาแตกต่างกันไป ทว่าวิธีการหนึ่งซึ่งได้ผลดีในระยะยาวอย่างยั่งยืน คือ การสร้างคนที่ตระหนักถึงปัญหา สรรหาวิธีแก้ไข แล้วลงมือปฏิบัติ เด็กและเยาวชน จึงเป็นดั่งความหวังของโลกนี้ที่ปัญหาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรน้ำจะได้รับการแก้ไขในอนาคต

ในประเทศไทยมีหลายพื้นที่ประสบปัญหาเกี่ยวกับน้ำ ชลบุรีเป็นจังหวัดหนึ่งที่กำลังพยายามก้าวข้ามวิกฤตการณ์ดังกล่าวด้วยพลังของคนรุ่นใหม่ เกิดเป็น ‘โครงการเยาวชนคนรักษ์น้ำ ประจำปี 2561’ โดยมี โรงเรียนวัดเขาวนาพุทธาราม จ.ชลบุรี เป็นเป้าหมาย นายธนา สุวัฑฒน ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา กรมชลประทาน ได้เล่าถึงความเป็นมาของโครงการนี้ว่า “กรมชลประทานได้ดำเนินการศึกษาแนวทางที่จะพัฒนาอ่างเก็บน้ำคลองหลวง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2508 และได้ดำเนินการจัดซื้อที่ดินบริเวณอ่างเก็บน้ำไว้แล้วบางส่วน แต่เนื่องจากราคาค่าก่อสร้างสูง และต้องจ่ายค่าเวนคืนที่ดินอีกเป็นจำนวนมาก จึงยังไม่ได้ก่อสร้าง จนกระทั่งเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ.2525 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานพระราชดำริสรุปความว่า เนื่องจากโครงการอ่างเก็บน้ำคลองหลวงเป็นโครงการขนาดใหญ่ต้องใช้เวลาก่อสร้างหลายปีและใช้งบประมาณสูงทั้งค่าก่อสร้างและ ค่าเวนคืนที่ดิน สมควรที่พิจารณาก่อสร้างอ่างเก็บน้ำให้มีขนาดเล็กลงเท่ากับพื้นที่ที่จัดซื้อที่ดินเอาไว้แล้ว หรืออาจจะต้องซื้อเพิ่มเติมอีกเล็กน้อย ซึ่งจะทำให้ราคาค่าก่อสร้างลดลงและดำเนินการก่อสร้างได้รวดเร็วขึ้น สำหรับระบบส่งน้ำให้สร้างไว้ตามเดิม และควรพิจารณาวางโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองหลวงสำหรับเก็บกักน้ำย่างเต็มที่ขึ้นใหม่ทางบริเวณต้นน้ำคลองหลวง เหนืออ่างเก็บน้ำเดิมขึ้นไปประมาณ 20 กิโลเมตร เพื่อจะได้ดำเนินก่อสร้างโครงการได้อย่างรวดเร็วและโดยประหยัด

เนื่องจากราษฎรในลุ่มน้ำคลองหลวงขาดแคลนน้ำมาก ทั้งน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค และน้ำเพื่อการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ขาดฝนและในฤดูแล้งเป็นประจำทุกปี” ในปี พ.ศ. 2552 หรือ 27 ปีต่อมา กรมชลประทานจึงได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำคลองหลวง เนื่องจากต้องดำเนินการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมให้ความเห็นชอบประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี จนกระทั่งคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้ดำเนินการก่อสร้างโครงการเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2552 นายมหิทธิ์ วงศ์ษา นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการ สำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน กล่าวเสริมว่า “ ตอนที่ดำเนินการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ได้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและแผนติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้วย ซึ่งเป็นแผนที่กำหนดไว้ว่า เมื่อเกิดผลกระทบจากการดำเนินการก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำคลองหลวงแล้ว จะต้องดำเนินการแก้ไขหรือติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างไร ซึ่งกรมชลประทานนำแผนฯ ดังกล่าวมาดำเนินการควบคู่กับการก่อสร้างโครงการตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 เป็นต้นมา และจะสิ้นสุดในปี พ.ศ. 2569 รวม 15 ปี มีงบประมาณกว่า 300 ล้านบาท

ในปัจจุบันสภาพการใช้ประโยชน์ที่ดินรอบๆ อ่างเก็บน้ำคลองหลวงมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก กลายเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ที่อยู่อาศัย บริเวณพื้นที่ต้นน้ำคลองหลวงที่ไหลลงอ่างเก็บน้ำก็มีการทำฟาร์ม ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวอาจมีผลกระทบต่อคุณภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำ ซึ่งก็มองว่าเยาวชนในพื้นที่จะเป็นกลไกสำคัญในการเฝ้าระวังคุณภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำได้ จึงได้จัดกิจกรรมเยาวชนคนรักษ์น้ำขึ้น มีการให้ความรู้เกี่ยวกับคุณภาพน้ำ การทดสอบคุณภาพน้ำอย่างง่าย แล้วก็การทำ EM Ball ด้วย โรงเรียนเขาวนาพุทธารามเป็นโรงเรียนที่อยู่ใกล้ อ่างเก็บน้ำมากที่สุด โดยเมื่อคราวที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาได้ทรงเสด็จเปิดโครงการ อ่างเก็บน้ำคลองหลวง รัชชโลทร อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2559 ได้ทรงเสด็จเยี่ยมโรงเรียนแห่งนี้ด้วย” “เราต้องการให้ความรู้แก่เยาวชน และผู้ใหญ่ด้วย ก็ต้องปลูกฝังกันตั้งแต่เด็ก เราให้ความรู้หลายเรื่อง เผยแพร่วิธีการดูสภาพน้ำเบื้องต้น การอนุรักษ์คุณภาพน้ำ เพราะเขาเป็นเยาวชนที่อยู่ใกล้อ่างเก็บน้ำจะสังเกตได้ง่าย แล้วอาจจะไปบอกผู้ใหญ่ให้ช่วยกันแก้ไข” อ่างเก็บน้ำของกรมชลประทานหลายแห่งอยู่ใกล้ชุมชน จึงจำเป็นที่จะต้องให้ความรู้คนในชุมชน ที่กลายเป็นแหล่งน้ำสำคัญของพื้นที่ ทั้งแง่ระบบนิเวศ, การประมง, การเกษตร, การอุปโภคบริโภค เป็นต้น จำเป็นที่คนในพื้นที่ต้องช่วยกันดูแลรักษา ซึ่งตรงกับวัตถุประสงค์ของโครงการเยาวชนคนรักษ์น้ำ ที่ต้องการให้เยาวชนเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์แหล่งน้ำได้ โดยมีกำลังสำคัญคอยสนับสนุนคือกรมชลประทาน”

ด.ญ. นิวธิชา งอกขาว หรือ น้องนิว นักเรียนประดับชั้นประถม 5 โรงเรียนวัดเขาวนาพุทธาราม กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมเยาวชนคนรักษ์น้ำในครั้งนี้ พี่ๆทางกรมชลประทาน ได้สอนและอธิบายการทำกิจกรรมทดลองวิทยาศาสตร์ในเรื่องการวัดคุณภาพน้ำอย่างง่ายๆ และการทำ EM Ball ด้วยตนเองเพื่อบำบัดน้ำเสียอย่างถูกวิธี รู้สึกสนุก และได้ความรู้ในเรื่องการอนุรักษ์น้ำและสิ่งแวดล้อมด้วย เพื่อนๆ ทุกคนสนใจมากกว่ากิจกรรมที่อยู่ในห้องเรียนเพราะเราได้มาลงมือทำด้วยตัวเองจริงๆ อยากให้มีกิจกรรมเยาวชนคนรักษ์น้ำแบบนี้อีกเรื่อยๆ หนูและเพื่อนๆในโรงเรียนหรือเยาวชนในชุมชนใกล้ๆ จะได้มาเข้าร่วมกิจกรรมดีๆ แบบนี้อีก หนูต้องขอขอบคุณพี่ๆ กรมชลประทาน ที่ให้โอกาสหนูได้มาร่วมกิจกรรมที่มีประโยชน์ ทั้งยังได้ความรู้และ ประสบการณ์ในเรื่องความสำคัญของน้ำ ที่จะเป็นประโยชน์กับทุกคนในชุมชนนี้อีกด้วย นางกันธอร กุลบุตรดี ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดเขาวนาพุทธาราม เล่าว่า “ตอนที่ กรมชลประทานประสานมาว่าจะเชิญเข้าร่วมกิจกรรมการเยาวชนคนรักษ์น้ำมา มีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ทางโรงเรียนได้เห็นกิจกรรมการก่อสร้างโครงการมาตลอด ตั้งแต่วันแรกที่เริ่มก่อสร้างโครงการจนแล้วเสร็จ และที่สำคัญโครงการอ่างเก็บน้ำคลองหลวงเป็นโครงการ อันเนื่องมาจากพระราชดำริในรัชการที่ 9 ก็เหมือนเราได้ทำเพื่อพ่อ เด็กๆ ก็จะได้มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องคุณภาพน้ำด้วย จะได้ช่วยกันเฝ้าระวังถ้าเกิดน้ำในอ่างเก็บน้ำมีคุณภาพน้ำไม่ดีก็จะได้แจ้งให้กรมชลประทานหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหา เพราะนอกจากผลประโยชน์เพื่อการเกษตรแล้ว ยังนำไปผลิตน้ำประปาอีกด้วย ถ้าน้ำคุณภาพไม่ดีก็คงไม่ปลอดภัย

โครงการเยาวชนคนรักษ์น้ำจะช่วยบรรเทาปัญหาทรัพยากรน้ำได้จากต้นทาง เพราะนี่คือการบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ชั้นเลิศที่จะเติบโตแตกกิ่งก้านสาขาความเป็นคนมีจิตสำนึกสาธารณะต่อไป” นักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมซึ่งเป็นรุ่นพี่จะได้นำความรู้มาต่อยอดให้น้องๆ แล้วน้องๆ จะได้มีความรู้และเข้าใจ เมื่อมีความรู้ ถ่ายทอดได้ ปฏิบัติได้ ก็จะอยู่กับแหล่งน้ำ พัฒนาแหล่งน้ำได้ เป็นส่วนเล็กๆ ของกระบอกเสียงว่าเราจะอนุรักษ์ ฟื้นฟู แหล่งน้ำและสิ่งแวดล้อมให้ดีกันต่อไป” โครงการอ่างเก็บน้ำคลองหลวงได้ก่อสร้างแล้วเสร็จและเริ่มเก็บกักน้ำตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 ปัจจุบันโครงการอ่างเก็บน้ำคลองหลวงฯ เป็นแหล่งน้ำที่สำคัญสำหรับการเกษตรกรรม การอุปโภค-บริโภค แหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ รวมทั้งยังสามารถบรรเทาปัญหาอุทกภัยให้กับอำเภอเกาะจันทร์ และอำเภอพนัสนิคมได้เป็นอย่างดี จำเป็นที่คนในพื้นที่จะต้องช่วยกันดูแลรักษาเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน

26-08-2018 16:28

aphondaworathan