http://www.csrcom.com/
True ปลูกปัญญา

ฟอร์ดรณรงค์สร้างจิตสำนึกการขับขี่ปลอดภัยและไม่ใช้โทรศัพท์ในขณะขับขี่


ชื่อโครงการ : ฟอร์ดรณรงค์สร้างจิตสำนึกการขับขี่ปลอดภัยและไม่ใช้โทรศัพท์ในขณะขับขี่
ชื่อองค์กร : ฟอร์ด ประเทศไทย
เกี่ยวกับองค์กร :
เว็บไซต์ :
รายละเอียด :

- เพื่อส่งเสริมให้ความรู้ความเข้าใจแก่พนักงาน ลูกค้าและบุคคลทั่วไปถึงอันตรายของการขาดสมาธิระหว่างขับรถ ในกิจกรรม Park Your Phone :
- เผยผลสำรวจล่าสุด 52 เปอร์เซ็นต์ของพ่อแม่ผู้ปกครองในประเทศไทยต่างเคยหรือเกือบจะประสบอุบัติเหตุ หรือมีคนรู้จักที่เคยประสบอุบัติเหตุอันเนื่องมาจากการขับขี่ที่ขาดสมาธิ
- 38 เปอร์เซ็นต์ของผู้ขับขี่ชาวไทยพยายามจะไม่ใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับรถ แต่สุดท้ายก็ยังใช้อยู่ดี
- เกือบ 60 เปอร์เซ็นต์ของผู้ขับขี่ไม่คิดว่าการใช้โทรศัพท์มือถือในรถ แม้ขณะมีเด็กนั่งอยู่ด้วย จะก่อให้เกิดปัญหาแต่อย่างใด
- ฟอร์ดมุ่งมั่นที่จะผลักดันการสัญจรอย่างปลอดภัยทั่วโลก จึงได้ขยายโครงการ Driving Skills for Life (DSFL) หรือ “ฉลาดขับ ประหยัด ปลอดภัย” ครอบคลุมเพิ่มเป็น 11 ประเทศในเอเชียแปซิฟิก จากเดิม 9 ประเทศ โดยเพิ่มการให้ความรู้ความเข้าใจกับผู้คนถึงอันตรายที่เกิดจากการขับขี่อย่างประมาทและขาดสมาธิ

กรุงเทพฯ
, ประเทศไทย, 21 กันยายน 2560 – ฟอร์ด รณรงค์สร้างจิตสำนึกการขับขี่ปลอดภัยและไม่ใช้โทรศัพท์ในขณะขับขี่โดยจัดกิจกรรม Park Your Phone ให้ความรู้ความเข้าใจแก่พนักงาน ลูกค้าและบุคคลทั่วไปถึงอันตรายของการขาดสมาธิระหว่างขับรถ ณ โรงงานฟอร์ด ไทยแลนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง จังหวัดระยอง และที่สำนักงานฟอร์ด ประเทศไทย ในกรุงเทพฯ เพื่อรณรงค์การไม่ใช้โทรศัพท์ในขณะขับขี่ พร้อมให้พนักงานทุกคนร่วมกันลงนามปฏิญาณตนว่าจะไม่ใช้โทรศัพท์ขณะขับขี่และร่วมสร้างจิตสำนึกเรื่องการขับขี่ปลอดภัย นอกจากนี้ ฟอร์ดยังได้เผยผลสำรวจพฤติกรรมผู้ขับขี่ในประเทศไทยซึ่งจัดทำโดย ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี ล่าสุดว่าถึงแม้ว่าผู้ปกครองมักจะเป็นกังวลว่าลูกๆ จะติดโทรศัพท์มือถือ แต่ข้อมูลล่าสุดพิสูจน์แล้วว่า ผู้ใหญ่เองก็ยากที่จะวางมือจากโทรศัพท์มือถือเช่นกัน เมื่อนั่งอยู่หลังพวงมาลัยบรรดาพ่อแม่ก็ขับขี่ประมาทไม่ต่างจากคนวัยมิลเลนเนียล

จากผลการสำรวจดังกล่าว พ่อแม่จำนวนมากถึง 52 เปอร์เซ็นต์เปิดเผยว่า ตนเคยประมาทหรือขาดสมาธิในระหว่างขับขี่ โดยผู้เป็นพ่อมีแนวโน้มที่จะรับโทรศัพท์หรือส่งข้อความขณะขับรถมากกว่า โดยไม่ใช้ระบบแฮนด์ฟรี (คิดเป็น 46 เปอร์เซ็นต์) เล่นโซเชียลเน็ตเวิร์ก (38 เปอร์เซ็นต์) หรือถูกผู้โดยสารในรถทำให้เสียสมาธิ (34 เปอร์เซ็นต์) และที่น่าสนใจคือ ผู้เป็นแม่ส่วนใหญ่ซึ่งค่อนข้างจะมีความรับผิดชอบมากกว่าคนกลุ่มอื่น พวกเธอก็ยังไขว้เขวขณะขับรถมากกว่ากลุ่มมิลเลนเนียล หรือคนวัย 18-34 ปี  โดยมักจะอ่านข้อความหรือดูคลิปบนมือถือ

ผลสำรวจดังกล่าวนี้จัดทำขึ้นเพื่อการศึกษาและเข้าใจพฤติกรรมผู้ขับขี่ พร้อมทัศนคติที่มีต่อการขับขี่ที่ขาดสมาธิให้ดียิ่งขึ้น  ผลสำรวจดังกล่าวนี้ยังสอดคล้องกับการขยายโครงการ ฉลาดขับ ประหยัด ปลอดภัย (DSFL)  โครงการเพื่อสังคมของฟอร์ดทั่วโลกซึ่งได้ขยายโครงการครอบคลุม 11 ประเทศทั่วเอเชียแปซิฟิก ภายในปี 2560 นี้ และจะมุ่งเน้นในเรื่องการขับขี่ที่ขาดสมาธิมากขึ้นด้วย

“ฟอร์ดมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างการรับรู้ถึงการขับขี่ปลอดภัยบนท้องถนน พร้อมการอบรมและฝึกฝนให้ผู้ขับขี่เข้าใจเรื่องการขับขี่ที่ปลอดภัย” นายณรงค์ สีตลายน รองกรรมการผู้จัดการ ฟอร์ด ประเทศไทยกล่าว                   “โดยทั่วไป โทรศัพท์มือถือทำให้ผู้คนขาดสมาธิกันอยู่แล้ว เมื่อนั่งอยู่หลังพวงมาลัยขับรถและการใช้โทรศัพท์นั้นอาจนำไปสู่อันตรายถึงชีวิตได้”

“การขับขี่ที่ขาดสมาธิหรือมีสิ่งรบกวน คือปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนในประเทศไทย” นายแพทย์แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ กล่าว “ผลการสำรวจที่สำคัญนี้ ได้เผยให้เห็นถึงพฤติกรรมการขับขี่ของคนไทยที่อาจนำไปสู่อุบัติเหตุได้ ในฐานะพันธมิตรกับมูลนิธิเมาไม่ขับ ฟอร์ดแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการผลักดันเรื่องการขับขี่ที่ปลอดภัยมาอย่างต่อเนื่อง และผมหวังว่าผลสำรวจในครั้งนี้ จะช่วยสร้างการตระหนักรู้ให้กับประชาชนไทยถึงอันตรายที่เกิดจากการขับขี่ที่ประมาทขาดสมาธิ และหวังว่าสิ่งนี้จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น”

พฤติกรรมติดโทรศัพท์มือถือ
ไม่น่าแปลกใจที่ผู้ตอบแบบสำรวจทุกกลุ่มต่างตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า “โทรศัพท์มือถือ”เป็นสิ่งที่ทำให้เสียสมาธิระหว่างการขับรถได้มากที่สุด ตามด้วยสิ่งรบกวนอื่นๆ เช่น ผู้โดยสารในรถ การสูบบุหรี่และการแต่งหน้า แม้ผู้ขับขี่ชาวไทยจำนวน 38 เปอร์เซ็นต์ระบุว่า พวกเขาพยายามที่จะไม่ใช่โทรศัพท์มือถือขณะขับรถ แต่สุดท้ายพวกเขาก็ยังหยิบขึ้นมาใช้อยู่ดี

ผู้ตอบแบบสอบถามที่ใช้โทรศัพท์ระหว่างขับรถนั้นต่างให้เหตุผลยอดนิยมว่า เพราะการจราจรติดขัดหรือรถติดไฟแดง (คิดเป็น 73 เปอร์เซ็นต์) รับสายจากเพื่อนหรือครอบครัว (63 เปอร์เซ็นต์) และรับสายเรื่องงานหรือส่งอีเมล์ (55 เปอร์เซ็นต์) นอกจากนี้ ความเบื่อหน่ายยังถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยหลักที่ทำให้หยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาใช้ คนกลุ่มมิลเลนเนียม 34 เปอร์เซ็นต์และคนรุ่นพ่อแม่ผู้ปกครองอีก 23 เปอร์เซ็นต์ยอมรับว่าตนใช้โทรศัพท์ขณะขับรถเพียงแค่เพราะความเบื่อหรือไม่มีอะไรจะทำ

ส่วนปัจจัยที่จะทำให้พวกเขาวางมือจากโทรศัพท์ในเวลาขับขี่ได้มากที่สุดคือ สภาพอากาศเลวร้าย (คิดเป็น 58 เปอร์เซ็นต์) และเมื่อพบเห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ (69 เปอร์เซ็นต์) อย่างไรก็ตาม เมื่อคำนึงถึงประเด็นความปลอดภัยของบุคคลอื่น กลับเป็นเรื่องน่ากังวลที่มีผู้ขับขี่เพียง 42 เปอร์เซ็นต์ ที่ระบุว่าจะไม่ใช้โทรศัพท์เมื่อเดินทางกับลูกหรือเด็ก ส่วนอีก 39 เปอร์เซ็นต์ จะไม่ใช้โทรศัทพ์เมื่อเข้าเขตโรงเรียน และอีกเพียง 14 เปอร์เซ็นต์ เมื่อมีสามีหรือภรรยาอยู่ในรถด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผู้ตอบแบบสำรวจจะยอมรับว่ามีเหตุการณ์หลายครั้งหลายคราที่อาจทำให้พวกเขากระทำความผิดฐานขับรถโดยประมาท แต่ผู้ตอบแบบสำรวจ 75 เปอร์เซ็นต์กลับคิดว่า โทษของการขับขี่โดยประมาทควรมีความรุนแรงกว่าที่เป็นอยู่ และอีก 90 เปอร์เซ็นต์ ต่างมีความกังวลว่าชีวิตของพวกเขาจะได้รับผลกระทบโดยตรงจากการขับขี่ที่ประมาทขาดสมาธินี้

การลงทุนในเทคโนโลยีและโครงการ ที่ช่วยลดการเสียสมาธิของผู้ขับขี่
ฟอร์ดได้พัฒนาเทคโนโลยีทันสมัยที่จะช่วยลดความประมาท และการเสียสมาธิจากการใช้โทรศัพท์มือถือ อย่างซิงค์ 3 ซึ่งเป็นระบบเชื่อมต่ออัจฉริยะที่ผู้ขับขี่สามารถสั่งงานด้วยเสียงเพื่อโทรออก รับข้อความ ฟังเพลงและใช้งานแอพพลิเคชั่นต่างๆ ได้โดยไม่ต้องละสายตาจากถนน และไม่ต้องปล่อยมือจากพวงมาลัย

ปัจจุบันโครงการ Ford Driving Skills for Life ได้ดำเนินการมาเป็นปีที่ 10 แล้ว โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อการอบรมให้ความรู้ด้านการขับขี่ปลอดภัยโดยไม่มีค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ขับขี่ทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ไม่ว่าจะเป็น วัยรุ่น หญิงมีครรภ์ คนขับแท็กซี่ และเกษตรกร และในปีนี้ โครงการได้ขยายกิจกรรมครอบคลุม 11 ประเทศในเอเชีย จาก 9 ประเทศในปี 2559 และจะมุ่งเน้นเนื้อหาเกี่ยวกับการขับขี่ที่ประมาทหรือขาดสมาธิ สำหรับในประเทศไทย มีผู้เข้ารับการอบรมกับโครงการ ฉลาดขับ ประหยัด ปลอดภัยหรือ DSFL  นี้แล้วกว่า 10,000 คน นับตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา   

“วันนี้ ผู้คนต้องการเชื่อมต่อกับครอบครัว เพื่อนฝูงและเพื่อนร่วมงานอยู่ตลอดเวลา แม้ในขณะที่พวกเขากำลังเดินทาง” นายณรงค์กล่าว “สิ่งนี้จึงเป็นที่มาของเทคโนโลยีที่ช่วยลดการไขว้เขวหรือเสียสมาธิในระหว่างขับขี่ได้ และเป็นอีกเหตุผลที่ฟอร์ดสนับสนุนและส่งเสริมพฤติกรรมการขับขี่อย่างรับผิดชอบต่อส่วนรวม เพื่อให้ท้องถนนเป็นที่ที่ปลอดภัยยิ่งขึ้นสำหรับทุกคน”

21-09-2017 13:05

aphondaworathan