“ผลักดันพลังสตรี” วิทยาลัยดุสิตธานี ยืนหยัดเพื่อความเท่าเทียมทางเพศในอุตสาหกรรมบริการ
ความเท่าเทียม เป็นหนึ่งในสิทธิขั้นพื้นฐานที่ผู้คนในทุกชนชาติ วัฒนธรรม และเพศวิถีควรได้รับ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในปัจจุบันประเด็นดังกล่าวจะมีพัฒนาการเชิงสังคมไปในทิศทางที่ดีขึ้น แต่ส่วนหนึ่งในชีวิตของทุก ๆ คน โดยเฉพาะในชีวิตการทำงานของผู้หญิงนั้นยังคงพบกับกำแพงแห่งความไม่เท่าเทียมที่ขวางกั้นความสำเร็จอยู่
อุตสาหกรรมบริการเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่สามารถสะท้อนภาพของช่องว่างระหว่างเพศที่เห็นได้ชัด ตั้งแต่เพดานที่มองไม่เห็นของการเติบโตในสายงานจากการเลือกปฏิบัติไปจนถึงการเหมารวมลักษณะบางประการของเพศหญิง ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องได้รับการถกเถียงอย่างจริงจังและหาทางออกที่เป็นไปได้จริง
ดังนั้น สมาคมโรงแรมภูเก็ต (Phuket Hotels Association) จึงได้จัดกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้สำหรับผู้ที่ทำงานในสายงานโรงแรมและการท่องเที่ยว ภายใต้ชื่องาน “Mind the Gap - Women In Hospitality” ณ โรงแรมดุสิตธานี ลากูน่า ภูเก็ต วิทยาลัยดุสิตธานี สถาบันอุดมศึกษาชั้นนำด้านงานบริการ สืบทอดความรู้ที่ได้รับการเจียระไนจากโรงแรมระดับโลกอย่างดุสิตธานีเพื่อส่งมอบให้สังคม ได้เข้าร่วมงานดังกล่าวเพื่อแบ่งปันเรื่องราวและมุมมองของหญิงเก่งที่ได้ผ่านการต่อสู้กับความเหลื่อมล้ำทางเพศ รวมถึงแชร์ไอเดียในการพัฒนาประสบการณ์และสภาพแวดล้อมในการทำงานให้ดีขึ้น ผ่านการบรรยายโดยอธิการบดี ศิษย์เก่า และศิษย์ปัจจุบันของวิทยาลัย
คุณฟราวเกอะ เกอร์เบนส์ อธิการบดีวิทยาลัยดุสิตธานี ได้ให้การบรรยายถึงช่องว่างระหว่างเพศในตำแหน่งผู้นำ และการทำร้ายจิตใจด้วยคำพูดหรือการกระทำที่ผู้หญิงต้องเผชิญเมื่อเทียบกับผู้ชาย แรงกดดันและความไม่เท่าเทียมที่มีต่อผู้หญิงในที่ทำงานสามารถสร้างกำแพงที่มองไม่เห็นซึ่งเป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าในอาชีพของผู้หญิง รวมถึงสร้างความบั่นทอนทั้งทางกายภาพและทางจิตใจได้
นางสาวบุษบากร สุวรรณสิทธิ์ ศิษย์เก่าสาขาวิชาการจัดการครัวและศิลปะการประกอบอาหาร ก็เป็นหนึ่งในผู้ที่ได้พบเจอกับกำแพงดังกล่าว “ดิฉันพยายามเป็นอย่างมากในการพัฒนาทักษะและประสบการณ์ของตัวเองเพื่อที่จะได้เป็นเชฟที่มีชื่อเสียง” เธอกล่าว “แต่ท้ายที่สุดแล้วก็พบว่าอุปสรรคที่ยากจะก้าวข้ามเพื่อไปสู่ความฝันก็คือเพศของดิฉันเอง ภาพลักษณ์ของเชฟมักจะเป็นผู้ชายค่ะ และอย่างที่คุณทุกคนเห็นกัน เชฟที่มีชื่อเสียงมักจะมีแต่ผู้ชาย พวกเขาคิดว่าผู้ชายทำงานได้ดีกว่าผู้หญิงเพราะภาระหน้าที่ต่าง ๆ ในครัวนั้นเป็นงานที่ยากลำบากอย่างแท้จริง และนี่คือประเด็นค่ะ พวกเรามักจะถูกตัดสินว่าพวกเราอ่อนแอและมีความสามารถน้อยกว่าเพียงแค่มองจากบุคลิกภาพและเพศของเรา ทั้งที่จริงแล้วพวกเราก็แข็งแกร่งสุด ๆ พวกเขาแค่ต้องลองให้โอกาสผู้หญิงได้แสดงตัวตนและความสามารถเท่านั้น ตอนนี้ ดิฉันมีแรงบันดาลใจใหม่แล้วค่ะ ดิฉันอยากจะเปิดร้านอาหารที่ต้อนรับคนทุกเพศ ทุกสภาพร่างกาย และทุกคนที่ต้องการกลับตัวจากความผิดพลาดในอดีต ดิฉันเชื่อจริง ๆ ว่าการทำอาหารช่วยสร้างโอกาสและทำให้คุณภาพชีวิตของพวกเขาในสังคมดีขึ้น ดังนั้นดิฉันจึงต้องการใช้ความรู้และประสบการณ์การทำงานที่สั่งสมมาทั้งหมดเพื่อเอาชนะเป้าหมายนี้ค่ะ”
นางสาวรัตตวัลย์ คอสุวรรณ ศิษย์เก่าสาขาวิชาการจัดการนิทรรศการและการประชุม (ปัจจุบันเป็นหนึ่งในกลุ่มวิชาของสาขาวิชาการจัดการโรงแรม ก็เป็นอีกเสียงหนึ่งที่ได้แบ่งปันประสบการณ์ในวิทยาลัย “ในรุ่นของดิฉัน สาขานี้มีแต่ผู้หญิงเรียน และพวกเราต้องจัดนิทรรศการทุก ๆ ปีเพื่อให้เรียนจบค่ะ” เธอกล่าว “ในปีแรก มีอาจารย์ท่านหนึ่งที่ค่อนข้างจะกังวลในการสั่งงานกับพวกเราค่ะ เขามักจะถามว่ามันโอเคใช่ไหมที่จะให้พวกเราดูแลกันเอง จะให้เขาช่วยเรียกเพื่อนผู้ชายมาช่วยไหม ดิฉันไม่ได้จะโทษเขานะคะ ดิฉันเข้าใจว่าเขาเป็นห่วงว่าพวกเราจะทำงานหนัก ๆ ไม่ไหวเพราะเขามองว่าเพศหญิงเป็นเพศที่อ่อนแอกว่า แต่ที่จริงแล้ว การจัดการนิทรรศการและการประชุมไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับทุกคนค่ะ ไม่ใช่แค่กับผู้หญิงอย่างเดียว ดิฉันและเพื่อน ๆ เชื่อมั่นในตัวของพวกเราเองค่ะ พวกเราไม่ได้ตั้งใจจะเลี่ยงความช่วยเหลือจากผู้ชายนะคะ แต่พวกเราแค่ต้องการทำหน้าที่ของตัวเองให้ดี ดังนั้น ถ้าพวกเราต้องการความช่วยเหลือไม่ได้แปลว่าพวกเราอ่อนแอ แต่พวกเราแค่ไม่ชำนาญพอที่จะทำเองค่ะ พวกเรายืนยันกับอาจารย์ที่จะจัดนิทรรศการและการประชุมด้วยตัวเอง และผลลัพธ์ของงานก็ออกมาดีแทบทุกงานค่ะ”
นางสาวสุทธิดา หลวงนา นักศึกษาปัจจุบันประจำหลักสูตรนานาชาติ สาขาวิชาการจัดการโรงแรมและรีสอร์ท (ปัจจุบันคือสาขาวิชาการจัดการการบริการ) และนายกสโมสรนักศึกษาวิทยาลัยดุสิตธานี ได้ให้ไอเดียในการสร้างสถานที่ทำงานที่ปลอดภัยสำหรับผู้หญิงด้วยการสนับสนุนให้พนักงานผู้หญิงรายงานเรื่องการละเมิดสิทธิ์เพื่อปกป้องและช่วยเหลือกันและกัน รวมถึงการผลักดันให้เกิดการต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศในสถานที่ทำงาน นอกจากการมอบความรู้แล้ว วิทยาลัยดุสิตธานียังช่วยสร้างแรงกระตุ้นให้นักศึกษาก้าวเดินตามความมุ่งมั่นของตน และสนับสนุนให้นักศึกษากล้าแสดงออก ซึ่งเป็นส่วนช่วยในการพัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21 อาทิ การคิดเชิงวิพากษ์ การแก้ไขปัญหา ทักษะการเป็นผู้นำ ความรับผิดชอบต่อสังคม และอื่น ๆ อีกมากมาย ความคิดเห็นที่แตกต่างและเฉียบคมจากคนรุ่นใหม่ยังสามารถช่วยผลักดันสังคมเช่นกัน