http://www.csrcom.com/
True ปลูกปัญญา
ข่าว CSR

ถังน้ำชุมชน เพื่อโลกสีเขียวกับปูนอินทรี

ถังน้ำชุมชน เพื่อโลกสีเขียวกับปูนอินทรี

พื้นที่ลุ่มน้ำแม่กวงครอบคลุมพื้นที่ 345,000 ไร่ ใน อ.ดอยสะเก็ด อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ จัดว่าเป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญในการหล่อเลี้ยงเมืองเชียงใหม่ เพราะระยะทางจาก อ.เมือง สู่ อ.แม่ออน ใช้เวลาราว 1 ชั่วโมงเศษ เขื่อนแม่กวงกักเก็บน้ำส่งตรงเข้าสู่ตัวเมืองเชียงใหม่ ผืนป่าในลุ่มน้ำแม่กวงจึงมีความสลักสำคัญต่อเมืองใหญ่แห่งนี้ โครงการ 80 พรรษา 880 ฝาย ปูนอินทรีสร้างถวายในหลวง เนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2551 ทำให้พื้นที่ป่าบริเวณลุ่มน้ำแม่กวงอุดมสมบูรณ์ขึ้นตามลำดับ

นายเสาร์แก้ว สั้นจีน ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 11 บ้านออนกลาง เล่าว่า ก่อนหน้าที่จะมีฝายบ้านแม่ออนกลางชุมชน เริ่มประสบความแห้งแล้งมาตั้งแต่ปี 2540 หลังจากนั้นชาวบ้านจึงคิดทำฝายโดยเข้ามาเรียนรู้วิธีการทำฝายที่ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ แต่ในช่วงนั้นทำได้เพียงฝายไม้ ไม่ถึงปีฝายพัง จนได้รับการสนับสนุนจาก โครงการ 80 พรรษา 880 ความชุ่มชื้นกลับคืนสู่ป่า สังเกตได้จากในช่วงหน้าแล้ง อบต.บ้านออนกลางต้องนำน้ำมาแจกจ่ายชาวบ้าน ยกเว้นหมู่ 11 ที่ยังมีน้ำอุดมสมบูรณ์

เพื่อต่อยอดโครงการก่อสร้างฝาย 80 พรรษาฯ ในปีนี้ปูนอินทรี ได้ริเริ่ม โครงการ อินทรี กรีน วอเตอร์ แทงค์ (INSEE GREEN WATER TANK ) ถังน้ำชุมชน เพื่อโลกสีเขียว สนับสนุนการสร้างถังน้ำดินซีเมนต์ขนาดใหญ่ที่สร้างโดยชุมชนเพื่อประโยชน์ของชุมชน โดยได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับมูลนิธิชัยพัฒนา จัดสร้างถังเก็บน้ำขนาดใหญ่ (เส้นผ่าศูนย์กลาง 3.00 x 3.50 เมตร) มีความจุเก็บน้ำได้ 20,000 ลิตร จำนวน 252 ถัง ในพื้นที่ชนบททั่วประเทศ โดยมีกำหนดให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 3 ปี (2554-2556) พร้อมสนับสนุนเงินให้กับโครงการ 3 ล้านบาท และมอบปูนซีเมนต์ 300 ตันต่อปี โดยมูลนิธิชัยพัฒนาพิจารณาเลือกพื้นที่

พื้นที่บ้านแม่ออนกลาง เป็นพื้นที่แรกที่ได้รับการคัดเลือกให้ก่อสร้างถังน้ำดินซีเมนต์ ชาวบ้านที่นี่ประกอบอาชีพทำนา ปลูกข้าวโพด และเลี้ยงวัวนมเป็นหลัก แต่ปัจจุบันถังบรรจุน้ำของหมู่บ้านมีไม่เพียงพอต่อปริมาณการใช้ แม้จะมีการผันน้ำจากฝายมากักเก็บไว้แล้วต่อท่อส่งตรงสู่ชุมชน

สำหรับรูปแบบของถังน้ำจะเน้นความร่วมมือของชุมชนเป็นสำคัญ โดยศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วฮ่องไคร้ ได้จัดอบรมชาวบ้านทำบล็อกประสานดินซีเมนต์ และให้ความรู้ในการสร้างถังน้ำดินซีเมนต์ โดยใช้ดินในท้องถิ่นมาร่อนเอากรวด หินออก ผสมกับทรายและปูนในสัดส่วนต่างกันผสมน้ำเล็กน้อย แล้วเทใส่บล็อก จากนั้นนำบล็อกมาบ่ม 14 วัน จะได้บล็อกที่มีความแข็งแรงเฉกเช่นเดียวกับก้อนอิฐที่เข้าเตาเผา เมื่อเริ่มมาก่อเป็นถังน้ำ โดยเริ่มต้นที่ต้องปูฐานให้แข็งแรงก่อนเพื่อให้รับน้ำหนักของถังน้ำขนาดใหญ่ โดยถังน้ำขนาดดังกล่าวต้องใช้บล็อกประมาณ 1,000 ก้อน

กระบวนทั้งหมดนี้ชาวบ้านสามารถทำเองได้ และยังได้ความรู้วิธีการทำบล็อกประสานดิน ที่สามารถนำไปใช้เป็นวัสดุก่อสร้างบ้านหรือต่อเติมบ้านได้ เรืออากาศโท คันธนิธิ์ สุคนธทรัพย์ รองประธานด้านธุรกิจสัมพันธ์ บริษัทปูนซีเมนต์ นครหลวง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าในปีแรกจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างถังน้ำให้ครบ 84 ถัง เฉลิมฉลองในโอกาสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา 84 พรรษา ในปีนี้ โดยเน้นให้ชุมชนสร้างเอง เมื่อพังชุมชนสามารถซ่อมแซมได้เอง อีกทั้งความรู้จากการสร้างบล็อกประสานดินชาวบ้านสามารถนำไปต่อยอดสร้างบ้านได้

ด้านนายเสาร์แก้ว กล่าวว่า ปกติในหมู่บ้านมีถังเก็บน้ำอยู่แล้วแต่ไม่เพียงพอ เป็นถังน้ำประปาประจำหมู่บ้าน แต่น้ำจากถังใหม่ 2 ถังนี้ จะเป็นน้ำที่มาจากป่าโดยตรงที่ต่อท่อส่งตรงถึงหมู่บ้าน ระยะแรกจะยังไม่นำน้ำมาผลิตแบบประปา แต่จะส่งตรงเลย เพราะมั่นใจว่าน้ำจากป่าสะอาดอยู่แล้วเพราะน้ำเหล่านี้ผ่านการกรองจากธรรมชาติผ่านรากไม้กรวดทราย น้ำมีความสะอาดระดับหนึ่ง และยังทำให้ชาวบ้านลดค่าใช้จ่ายเรื่องค่าน้ำประปาลงได้

โดยเฉพาะในช่วงหน้าแล้ง น้ำจากถังน้ำแห่งความร่วมแรงร่วมใจจะเป็นเครื่องรับประกันได้ว่า ชาวบ้านจะมีน้ำใช้อุปโภคบริโภค ทำการเกษตร และปศุสัตว์อย่างเพียงพอ...

 

ที่มา:อาทิตย์ ที่ 19 มิถุนายน 2554 http://www.dailynews.co.th/

 

aphondaworathan