http://www.csrcom.com/
True ปลูกปัญญา
CSR เด่น

บ้านปู : 3 เยาวชน “เพาเวอร์กรีนปีที่ 11” ตะลุยศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพในอินโดนีเซีย

ชื่อโครงการ : 3 เยาวชน “เพาเวอร์กรีนปีที่ 11” ตะลุยศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพในอินโดนีเซีย แบ่งปันการเรียนรู้การอนุรักษ์พันธุ์พืช-สัตว์หายาก ปูพื้นฐานการพัฒนาที่ยั่งยืน
ชื่อองค์กร : บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน)

“ความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศไทยในอดีตคงอุดมสมบูรณ์มากกว่านี้ แต่ในปัจจุบันจากที่ได้เห็นรอบตัวแทบจะไม่มีต้นไม้ ใบหญ้าให้เห็นสักเท่าไหร่แล้ว อาจเป็นเพราะผู้คนมองไม่เห็นความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพที่หล่อเลี้ยงพวกเรามานานแสนนาน คงจะดีไม่น้อยถ้าเยาวชนไทยทุกคนได้มีโอกาสเรียนรู้และเข้าใจความหลากหลายทางชีวภาพด้วยตาตนเอง เพื่อต่อยอดไปสู่การอนุรักษ์ที่ไม่ใช่แค่อนุรักษ์ แต่เป็นการขยายองค์ความรู้ที่เรามีให้แก่ทุกคนต่อไป”

เมื่อเร็วๆนี้ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ผู้นำธุรกิจพลังงานแห่งเอเชียที่มุ่งมั่นพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน ร่วมกับคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นำ 3 เยาวชนโครงการ “ค่ายเพาเวอร์กรีน”  ปีที่ 11 ที่ได้รับคัดเลือก เดินทางไปเรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ เจาะลึกแนวทางการอนุรักษ์พืชพันธุ์และสัตว์ป่าหายาก ณ สวนสัตว์สไตล์ซาฟารี (Taman Safari Indonesia Bogor) และศูนย์อนุรักษ์ลิงอุรังอุตังบอร์เนียว (Borneo Orang Utan Survival) พร้อมศึกษากระบวนการบริหารเหมืองเอ็มบาลุต (Embalut) ของบ้านปูฯ ที่ให้ความสำคัญกับการดูแลสิ่งแวดล้อมและชุมชน ตลอดจนการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและฟื้นฟูพื้นที่เหมืองตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน

เยาวชนที่ได้รับเลือกให้ไปทัศนศึกษา ได้แก่ นายพีรพัฒน์ หริเลิศรัฐ (พีท) ชั้น ม.4 โรงเรียนอัสสัมชัญสมุทรปราการ จ. สมุทรปราการ  นางสาวนินัฎดา หะยีแวสามะ (นัฎ) ชั้น ม.4 โรงเรียนดารุสสาลาม จ. นราธิวาส  นางสาวศศินันท์พร จิรัชญาพงศ์ (หมิว) ชั้น ม.5

โรงเรียนสารภีพิทยาคม  จ. เชียงใหม่ จึงถ่ายทอดประสบการณ์และแบ่งบันเกร็ดความรู้ที่ได้จากสถานที่ที่ได้ไปเยี่ยมชมเพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนรุ่นใหม่ในการเป็นส่วนหนึ่งเพื่อขับเคลื่อนขบวนการพัฒนาชุมชนและทรัพยากรในชุมชนอย่างยั่งยืน ดังนี้

ความหลากหลายทางชีวภาพของไทยเทียบกับอินโดนีเซีย

นัฎ:          ก่อนทัศนศึกษานั้น คิดว่าประเทศไทยเราก็มีทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพสูงพอสมควร สังเกตได้จากผลไม้ที่หลากหลายหากินได้ตลอดปี และสัตว์ต่างๆ แต่เมื่อได้ไปทัศนศึกษาที่อินโดนีเซียแล้ว พบว่าที่นั่นมีความอุดมสมบูรณ์มากกว่าที่ไทยมาก รู้สึกได้ว่าผู้คนที่นั่นจะตระหนักถึงความสำคัญของธรรมชาติและสัมผัสถึงความรักของพวกเขาพลังของการเอาใจใส่ต่อธรรมชาติในการไม่รุกรานป่า ทำให้พื้นที่ส่วนใหญ่จะเต็มไปด้วยต้นไม้ ดูเย็นตา อากาศดีกว่า จึงสามารถพบสัตว์ป่าที่หาดูยากหรือใกล้สูญพันธุ์ได้มากมายได้ที่นี่

พีท:         อินโดนีเซียมีพันธุ์พืชที่เหมือนกับประเทศไทยหลายพันธุ์มาก แต่ขนาดของพืชที่นั่น มีขนาดใหญ่และสมบูรณ์กว่าประเทศไทยหลายเท่า สัตว์ป่าท้องถิ่นที่อินโดนีเซีย มีหน้าตาแตกต่างจากที่ประเทศไทยมาก บางชนิดไม่สามารถพบเห็นที่ประเทศไทยได้ เช่น มังกรโคโมโด ลิงจมูกยาว ลิงทาร์เซียร์ เป็นต้น

การอนุรักษ์พันธุ์สัตว์พื้นเมืองหายาก ณ ศูนย์อนุรักษ์ลิงอุรังอุตังบอร์เนียวและศูนย์อนุรักษ์หมีหมา และสวนสัตว์สไตล์ซาฟารี Taman Safari Bogor

หมิว:       ศูนย์อนุรักษ์ลิงอุรังอุตังบอร์เนียว เป็นสถานที่ที่รวบรวมลิงอุรังอุตัง และหมีหมาที่ถูกลักลอบนำมาเลี้ยง ฝึกสอนเพื่อแสดงในคณะละครสัตว์ หรือแม้แต่ถูกมนุษย์ทำร้าย โดยมีเจ้าหน้าที่ดูแลสัตว์สอนการใช้ชีวิตตามธรรมชาติให้แก่สัตว์ป่าเหล่านี้ก่อนส่งกลับสู่ธรรมชาติ เช่น การสร้างรัง การหาอาหาร และยังสอนให้เกลียดมนุษย์เพื่อให้พวกมันเอาตัวรอดจากมนุษย์ผู้ไม่หวังดีด้วย นอกจากนี้ ยังได้เห็นสัตว์ป่าท้องถิ่นที่ใกล้ที่จะสูญพันธุ์ และสัตว์ป่าหาชมยากกว่า 2,000 ชนิดที่สวนสัตว์สไตล์ซาฟารี Taman Safari Bogor อีกด้วย อย่างเช่น ชะนีเซียมัง เสือโคร่งสุมาตรา เสือโคร่งเบงกอลขาว กระทิงแดง ยามา อูฐ สิงโต กวาง สิงโต ฯลฯ โดยสัตว์เหล่านี้สามารถสัญจรและหากินได้อย่างอิสระ

พีท:         วิธีที่เขาใช้ในการอนุรักษ์สัตว์ก่อนจะปล่อยคืนสู่ป่านั้นเป็นระบบ คือมีการแบ่งเป็นระดับความพร้อมของสัตว์แต่ละตัวพร้อมที่จะถูกปล่อยคืนสู่ป่าหรือไม่และยังมีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย เช่น การฝังชิปในสัตว์แต่ละตัว เพื่อติดตามว่ามันเอาตัวรอดในธรรมชาติได้ตลอดรอดฝั่งหรือไม่ และเป็นครั้งแรกที่ได้ทราบว่า กรงไม่ได้มีความหมายในด้านการจำกัดอิสระของสัตว์เพียงอย่างเดียว แต่ในบางครั้งอย่างเช่นในการอนุรักษ์ Sunbear หมีท้องถิ่นของอินโดนีเซียที่ใกล้สูญพันธุ์ ณ ศูนย์อนุรักษ์หมีหมา เราจำต้องสร้างกรงมาเพื่อป้องกันไม่ให้พวกมันไปใกล้เขตชุมชน เป็นป้องกันอันตรายต่อตัวหมีเองและต่อมนุษย์จนกว่าจะพร้อมกลับคืนสู่ธรรมชาติอย่างปลอดภัย

การจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ ณ เหมืองเอ็มบาลุต

หมิว:       แม้จะเป็นเวลา กว่า 25 ปี ที่มีการขุดเหมืองเอ็มบาลุตเพื่อนำถ่านหินไปเป็นพลังงานไฟฟ้าและเชื้อเพลิงต่างๆ แต่ตลอดระยะเวลานั้นมีการจัดการฟื้นฟูสภาพสิ่งแวดล้อมของชุมชนรอบๆ เหมืองอย่างเป็นระบบอยู่ตลอดเวลา

นัฎ:          การแบ่งส่วนทำเกษตรผสมผสาน และแปลงสาธิตเทคโนโลยีทางการเกษตรที่เรียกว่า Agriculture Techno Park ช่วยสร้างความรู้ใหม่ๆ ให้แก่ชุมชนทั้งเรื่องการ ปรับบ่อน้ำในเหมืองให้เป็นแหล่งน้ำสำคัญของชาวบ้าน ไว้ทำการเกษตรและเพาะพันธุ์ปลาเพื่อแบ่งให้ชุมชนนำไปบริโภคหรือค้าขายสร้างรายได้ รวมถึงสอนการสกัดน้ำมันหอม Patchouli หรือน้ำมันพิมเสน เพื่อส่งขายเป็นหัวเชื้อในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางและน้ำหอมทั้งในและต่างประเทศ และยังเป็นพื้นที่ต้นแบบให้กับเจ้าหน้าที่รัฐในการนำความรู้ไปแจกจ่ายให้กับประชาชนพื้นที่อื่นๆ อีกด้วย ซึ่งถือว่าเป็นการพัฒนาในรูปแบบของการส่งเสริมการเรียนรู้แก่สมาชิกชุมชนไปในตัว

พีท:         ที่นี่เราได้รู้จักการฟื้นฟูแบบใหม่ที่ไม่ใช่การปลูกป่าเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการพัฒนาพื้นที่บริเวณรอบๆ เหมืองให้เป็นพื้นที่สาธิตการเกษตรซึ่งเป็นวิธีการฟื้นฟูที่น่าสนใจอย่างมาก เพราะนอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อคนในชุมชนแล้วยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้กับประเทศไทยได้ด้วย

เยาวชนทั้ง 3 คนอยากฝากคนไทยให้หันมาสนใจกับความหลากหลายทางชีวภาพมากกว่านี้โดยเฉพาะการพัฒนาด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติให้ดียิ่งขึ้น ปลูกฝังจิตสำนึกของคนไทยให้รักษ์ป่า รักษ์สัตว์ และคำนึงถึงคุณค่าของธรรมชาติให้มากขึ้น เพราะนอกจากความหลากหลายทางชีวภาพจะเป็นตัวบ่งบอกเอกลักษณ์ของประเทศแล้ว มันยังสะท้อนถึงคนในประเทศว่าให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากเพียงใด โดยสามารถเริ่มจากการศึกษาหาความรู้ด้วยตนเองจากแหล่งข้อมูลต่างๆ เช่น การอนุรักษ์ป่าไม้ วิธีลดโลกร้อน หรือการเข้าไปมีส่วนร่วมกับแกนนำสิ่งแวดล้อมต่างๆอย่างเช่น การเข้าค่าย Power Green Camp เพื่อเรียนรู้ทั้งเรื่องการจัดการ วิธีการแก้ปัญหา เรื่องความหลากหลายทางชีวภาพและหัวข้อที่เกี่ยวข้องอื่นๆ มากมาย เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกของการร่วมกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมากขึ้น

นางอุดมลักษณ์ โอฬาร ผู้อำนวยการสายอาวุโส-องค์กรสัมพันธ์ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “ความหลากหลายทางชีวภาพมีความสำคัญและเชื่อมโยงกับการดำเนินชีวิตของมนุษย์มากขึ้น ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงกับชีวิตประจำวันของทุกคน ปีนี้จึงเป็นปีที่ 2 ที่บ้านปูฯ จัดทริปทัศนศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพ ณ ประเทศอินโดนีเซีย ประเทศที่ขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ดีในด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ประกอบกับบ้านปูฯ มีนโยบายสำคัญด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน (sustainable development policy) ในกระบวนการดำเนินธุรกิจตั้งแต่ขั้นตอนวางแผนพัฒนากระบวนการผลิต ระหว่างการดำเนินการผลิต และภายหลังการปิดเหมือง ตัวอย่างโครงการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพที่สำคัญคือ โครงการที่เหมืองบารินโต (Barinto) และเหมืองอินโดมินโค (Indominco) รวมถึงโครงการพัฒนาชุมชนและสิ่งแวดล้อมที่เหมืองเอ็มบาลุต ภายใต้การดูแลของ PT.Indo Tambangraya Megah (ITM) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบ้านปูฯ ในประเทศอินโดนีเซีย จึงต้องการต่อยอดการเรียนรู้และสร้างความตระหนักในเรื่องนี้ให้แก่เยาวชน”

“บ้านปูฯ เชื่อว่า พลังความรู้คือพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงและพัฒนา เราจึงส่งเสริมให้เยาวชนได้เปิดโลกทัศน์ เรียนรู้โลกกว้าง เห็นภาพกระบวนการทำงานของภาคธุรกิจที่ดำเนินตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อประกอบธุรกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคม สิ่งแวดล้อม และชุมชน  รวมถึงศึกษาทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมต่างถิ่น ที่นอกจากจะสร้างเสริมประสบการณ์ และแรงบันดาลใจแก่เยาวชนแล้ว ยังเชื่อว่าเยาวชนจะสามารถคิดวิเคราะห์และประยุกต์ใช้สิ่งใหม่ที่ได้เรียนรู้  และนำกลับไปปรับใช้ในการพัฒนาชุมชนและทรัพยากรในชุมชนได้อย่างยั่งยืน”  นางอุดมลักษณ์กล่าวสรุป

aphondaworathan