http://www.csrcom.com/
True ปลูกปัญญา
World Content

ตลาดการค้าคาร์บอนเครดิตในสหภาพยุโรปและกฎระเบียบใหม่ของสหภาพยุโรป

 ตลาดการค้าคาร์บอนเครดิตในสหภาพยุโรปและกฎระเบียบใหม่ของสหภาพยุโรปว่าด้วยการปรับปรุง CDM

ตลาดการค้าคาร์บอนเครดิตในสหภาพยุโรปและกฎระเบียบใหม่ของสหภาพยุโรปว่าด้วยการปรับปรุง CDM
รายงาน วิเคราะห์ตลาดการค้าคาร์บอน Point Carbon เปิดเผยว่าสหประชาชาติจะออกคาร์บอนเครดิตประเภท Certified Emission Reduction (CERs) จำนวน 36 000 ล้าน เครดิต ภายใต้
Clean Development Mechanism (CDM) ภายในปี ค.ศ. 2020 คิดเป็นจำนวนมากกว่า CERs ที่มีอยู่ในตลาดปัจจุบันถึง 8 เท่า และมากกว่า CERs ที่คาดว่าจะมีในตลาดภายในปี ค.ศ. 2012 คิดเป็น 4 เท่า

ในขณะที่สหภาพยุโรป ภายใต้ระบบ EU ETS เป็นผู้ซื้อคาร์บอนเครดิต รวมทั้ง CERs รายใหญ่ของโลก รายงานวิเคราะห์ตลาดดังกล่าวคาดการณ์ว่า กฎระเบียบใหม่ของ EU ว่าด้วยการปรับปรุง CDM อาจไม่รวมคาร์บอนเครดิตจำนวน 530 ล้านเครดิต เข้าไปในระบบ Emission Trading Scheme (ETS) ระยะที่ 3 ของสหภาพยุโรป โดยแยกโครงการ ประเภท HFC-23 และ N2O adipic acid ออกมา ซึ่งอาจทำให้เกิดอุปทานหรือซัพพลายของเครดิต CERs ไม่เพียงพอต่อความต้องการซื้อและนำเข้าของสหภาพยุโรป ภายใต้โครงการ CDM จากประเทศกำลังพัฒนา

ร่างกฎระเบียบฉบับใหม่ว่าด้วยการปรับปรุง CDM ดังกล่าวคาดว่าจะได้รับการเปิดเผยภายในเดือน พ.ย. 2553 นี้ และคาดว่าจะแยกเครดิตที่ได้มาจากโครงการประเภท HFC-23 และ N2O adipic acid จะถูกแยกแยะออกจากคาร์บอนเครดิตประเภทอื่นๆ ตั้งแต่ปี 2513 เป็นต้นไป เนื่องจากโครงการประเภท HFC-23 และ N2O adipic acid เป็นโครงการสองประเภทที่ได้รับการถกเถียงกันมากว่าผู้ผลิตเครดิต CERs จากโครงการดังกล่าวมีประสิทธิภาพในการลดก๊าซคาร์บอนและรักษาสิ่งแวดล้อมมาก น้อยเพียงไร


ปัจจุบันมีจำนวนเครดิต CERs อยู่ในตลาดประมาณ 450 ล้าน CERs เครดิต ซึ่งได้มาจากอุตสาหกรรมประเภทต่างๆ อาทิ โครงการประเภท HFC-23 จำนวน 219 ล้าน CERs เครดิต และประเภท N2O adipic acid จำนวน 97 ล้าน CERs เครดิต (คิดเป็นจำนวนร้อยละ 50 และร้อยละ 20 ของคาร์บอนเครดิตในระบบ CDM ทั้งหมด) นอกจากนั้นเป็นโครงการพลังงานทดแทน จำนวน 63 ล้าน CERs เครดิต และโครงการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ 28 ล้าน CERs เครดิต

นอกจากว่าอุปทานหรือซัพพลายของคาร์บอนเครดิตใน ตลาด (เมื่อแยก HFC-23 และ N2O adipic acid ออกไป) อาจไม่เพียงพอต่ออุปสงค์หรือความต้องการซื้อของอุตสาหกรรมภาคส่วนต่างๆ ที่รวมอยู่ในระบบ ETS อีกทั้ง บริษัทและอุตสาหกรรมยุโรปที่อยู่ภายใต้ระบบ EU ETS เองต้องประสบกับการแข่งขันการซื้อคาร์บอนเครดิตกับบริษัทจากประเทศอื่นๆ อาทิ ญี่ปุ่น และรัฐบาลประเทศสมาชิกของประเทศยุโรปเอง และรัฐบาลของประเทศอื่นๆ ทั่วโลก


อาจสังเกตได้ว่า ที่สหภาพยุโรปมีท่าทีว่าจะออกข้อกำหนดเกี่ยวกับ Quality Restriction ในการค้าคาร์บอนเครดิต ในลักษณะข้างต้นนั้นเป็นการป้องกันมิให้บริษัทยุโรปหันไปซื้อเครดิต CERs จากโครงการ CDM ในประเทศกำลังพัฒนาที่มากเกินไป แต่ต้องการส่งเสริมให้บริษัทยุโรปต้องซื้อเครดิตที่มีอยู่ในระบบ EU ETS เอง เพื่อการบรรลุเป้าหมายในการลดก๊าซคาร์บอนของสหภาพยุโรปและประเทศสมาชิกสหภาพ ยุโรปภายในปี ค.ศ. 2020


ที่สำคัญ สำหรับประเทศไทย ในฐานะประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นผู้พัฒนาและดำเนินโครงการ CDM และการค้าคาร์บอนเครดิตอยู่ด้วย ควรจับตาความคืบหน้ากฎระเบียบ CDM ฉบับใหม่ดังกล่าวของสหภาพยุโรปที่กำลังจะออกในช่วงปลายเดือน พ.ย. 2553 นี้ และอาจเห็นได้ว่าทิศทางของโครงการ CDM จะให้ความสำคัญกับโครงการประเภทพลังงานทดแทนที่สุด ในช่วงหลังจากปี ค.ศ. 2012 และการดำเนินโครงการประเภท HFC-23 และ N2O adipic acid จะลดลงถึงร้อยละ 70 ภายในปี ค.ศ. 2020 จึงควรปรับตัวให้ไปในทิศทางเดียวกับความต้องการและทิศทางของตลาดดังกล่าว


ข้อมูลภูมิหลัง
ตลาดการค้าคาร์บอนเครดิต
คือตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตสำหรับให้ ประเทศใดๆ ก็ตามในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว อาทิ สหภาพยุโรป ที่ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายในการจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามพันธกรณีพิธี สารเกียวโต (Kyoto Protocol) กำหนด ประเทศดังกล่าวก็สามารถซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อมาชดเชยกับการปล่อยก๊าซ เรือนกระจกเกินข้อกำหนดในประเทศของตนได้

European Union Emission Trading Scheme (EU ETS) เป็น ตลาดคาร์บอนของสหภาพยุโรปที่มีตัวบทกฎหมายในประเทศกำกับดูแล (Regulated Market) กล่าวคือ ตลาดดังกล่าวมีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตโดยใช้หลัก Cap and Trade ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปใดที่มีพันธกรณีตามพิธีสารเกียวโต หากลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่าที่พันธกรณีพิธีสารเกียวโตกำหนด ก็สามารถนำส่วนเกิน (Allowance) นั้นไปขายใน EU ETS ให้แก่ประเทศที่ไม่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามปริมาณที่พันธกรณี พิธีสารฯ กำหนดได้ โดยประเทศนั้นๆ สามารถซื้อคาร์บอนเครดิตใน EU ETS เพื่อชดเชยกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศของตน

สหภาพยุโรปเริ่มเปิดดำเนินการโครงการนำร่อง EU ETS ในปี ค.ศ. 2005 และเปิดดำเนินการจริงในปี ค.ศ. 2008 ปัจจุบันนับได้ว่า EU ETS เป็นตลาดคาร์บอนที่ใหญ่ที่สุดในโลก การดำเนินการของ EU ETS แบ่งออกเป็น 3 ช่วง (Phase) ได้แก่

1) ช่วงที่ 1 (Phase I) ปี ค.ศ. 2005-2007
เป็นโครงการนำร่อง มีการค้าขายเฉพาะคาร์บอนเครดิตแบบ Allowance เพื่อวางระบบตลาดคาร์บอน และเรียนรู้การจัดสรรปริมาณคาร์บอนเครดิตที่เหมาะสมในแต่ละภาคส่วนของประเทศ สมาชิกสหภาพยุโรป

2) ช่วงที่ 2 (Phase II) ปี ค.ศ. 2008-2012
เป็นจุดเริ่มต้นของการดำเนินการจริงของ EU ETS มีการปรับปริมาณ Allowance ให้ลดลงเพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาคาร์บอนเครดิค และนำ EU Linking Directive มาใช้ ทำให้คาร์บอนเดรดิต อาทิ CER สามารถนำมาซื้อขายในตลาดคาร์บอนเครดิตในสหภาพยุโรปได้จริง ในปัจจุบันสหภาพยุโรปถือได้ว่าเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ที่สุดของตลาด CER โลก

นอกจากนี้ สหภาพยุโรปกำลังร่างกฎหมายการประมูลคาร์บอนเครดิต (Auctioning) ซึ่งคาดว่าจะนำมาประกาศใช้ปลายในปี ค.ศ. 2010 กฎหมายนี้อาจส่งผลดีต่อประเทศไทย เนื่องจากหนึ่งในสาระสำคัญของตัวบทกล่าวถึงการปันผลกำไรจากการประมูลเพื่อ ส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจกในประเทศกำลังพัฒนา

3) ช่วงที่ 3 (Phase III) เริ่มในปีค.ศ. 2013
เป็นช่วงที่มีวิวัฒนาการของตลาดอย่างชัดเจน มีแผนการสำหรับขยายขอบเขตของภาคส่วนเพิ่มขึ้น ไปสู่ภาคอลูมิเนียม (Aluminum) ภาคสารเคมี (Chemicals) และภาคการบิน (Aviation)  

สำหรับประเทศไทย ซึ่งถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา (Non-Annex I Countries) จึง ไม่มีพันธกรณีที่ต้องลดการปล่อยปริมาณก๊าซเรือนกระจก อย่างไรก็ตามประเทศไทยได้มีส่วนร่วมใน EU ETS ผ่านการค้าคาร์บอนเครดิตอีกประเภทหนึ่ง คือประเภทที่ได้จากการโครงการที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกลุ่มประเทศ กำลังพัฒนา หรือ โครงการกลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism: CDM) ซึ่งคาร์บอนเครดิตที่ได้เรียกว่า Certified Emission Reduction (CER)

กลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism: CDM) เป็น กลไกที่กำหนดขึ้นภายใต้พิธีสารเกียวโต ว่าด้วยการอนุญาตให้ประเทศอุตสาหกรรมที่มีพันธกรณีในการลดก๊าซเรือนกระจก สามารถไปลงทุนในประเทศกำลังพัฒนาที่ร่วมในโครงการลดก๊าซเรือนกระจก โดยกลไกนี้จะผลักดันให้เกิด Win-win benefits คือ ประเทศที่พัฒนาแล้ว หรือ Annex I Countries (ประเทศผู้ลงทุน) ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ตามพันธกรณีในต้นทุนที่ต่ำกว่าหากจะลดในปริมาณ ที่เท่ากันภายในประเทศของตน ขณะเดียวกันประเทศกำลังพัฒนา หรือ Non-Annex I Countries (ประเทศเจ้าบ้าน) ก็ได้รับประโยชน์ผ่านการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน จากเม็ดเงินลงทุนที่เพิ่มขึ้น และการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่สะอาด ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้จากโครงการ CDM นับเป็นคาร์บอนเครดิต ประเภท Certified Emission Reduction หรือ CER โดยโครงการเหล่านี้จะได้รับคาร์บอนเครดิต หลังจากที่ได้ขึ้นทะเบียนและได้รับการรับรองจาก CDM Executive Board (CDM EB)

ในประเทศไทยองค์กรที่รับผิดชอบเรื่องโครงการ CDM คือ องค์กรบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)

Written by คณะผู้แทนไทยประจำสหภาพยุโรป   

aphondaworathan