ราชบุรีโฮลดิ้ง จับมือ ยันฮี โซล่า เพาเวอร์ เดินหน้าโครงการพลังงานแสงอาทิตย์
ราชบุรีโฮลดิ้ง จับมือ ยันฮี โซล่า เพาเวอร์ เดินหน้าโครงการพลังงานแสงอาทิตย์
บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ยันฮี โซล่า เพาเวอร์ จำกัด เปิดเดินเครื่องโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ไทรเสนา ขนาดกำลังผลิต 3 เมกะวัตต์ อย่างเป็นทางการวันนี้ โครงการดังกล่าวดำเนินงานโดยบริษัท โซลาร์ต้า จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัทฯ กับ บริษัท ยันฮี โซล่า เพาเวอร์ จำกัด นอกจากนี้ยังมีอีก 7 โครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนา มีกำลังการผลิตรวมประมาณ 31 เมกะวัตต์ คาดว่าจะเดินเครื่องและผลิตกระแสไฟฟ้าได้ประมาณปี 2555
นายนพพล มิลินทางกูร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า "การขยายการลงทุนในพลังงานทดแทนเป็นเป้าหมายหนึ่งของการสร้างการเติบโตทาง ธุรกิจ โดยบริษัทฯ มุ่งเน้นที่พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และชีวมวล เป็นสำคัญ
สำหรับโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ไทรเสนา เป็นก้าวแรกของความสำเร็จในการพัฒนาด้านพลังงานแสงอาทิตย์ และยังตอบสนองนโยบายภาครัฐที่ต้องการลดการใช้พลังงานฟอสซิลและส่งเสริมให้มี การนำพลังงานจากธรรมชาติซึ่งไม่มีวันหมดมาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าให้มากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของบริษัทฯ ที่ต้องการมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก (Climate Change Commitment) และโครงการนี้สามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ปีละ 2,500 ตัน นอกจากนี้ บริษัทฯยังร่วมกับบริษัท ยันฮี โซล่า เพาเวอร์ จำกัด ภายใต้บริษัท โซลาร์ต้า จำกัด พัฒนาโครงการพลังงานแสงอาทิตย์อีก 7 แห่งในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นครปฐม และสุพรรณบุรี ขณะเดียวกันบริษัทฯ ก็จะเดินหน้าพัฒนาโครงการพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการใช้ พลังงานทางเลือกของประเทศและของโลกที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น
บริษัท โซลาร์ต้า จำกัด เป็นผู้พัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์จำนวน 8 โครงการ (รวมโครงการไทรเสนา) กำลังการผลิตติดตั้งรวม 34.25 เมกะวัตต์ มีบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) และบริษัท ยันฮี โซล่า เพาเวอร์ จำกัด ถือหุ้นร้อยละ 49 และ 51 ตามลำดับ สำหรับโครงการทั้งหมดจะผลิตกระแสไฟฟ้าจำหน่ายแก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าประเภท Non-Firm สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กมากที่ใช้พลังงานทดแทน อีกทั้งยังได้รับเงินสนับสนุน (Adder) จากกองทุนพัฒนาไฟฟ้าจำนวน 8 บาทต่อหน่วยเป็นเวลา 10 ปี
นายแพทย์สุพจน์ สัมฤทธิวณิชชา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยันฮี โซล่า เพาเวอร์ จำกัด กล่าวว่า“ผมรู้สึกยินดีที่การพัฒนาโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าไทรเสนาประสบความ สำเร็จและสามารถเดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าเข้าสู่ระบบของการไฟฟ้าส่วน ภูมิภาค(กฟภ.)มาตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งไม่เพียงจะช่วยทำให้ระบบไฟฟ้าของประเทศมีเสถียรภาพดีขึ้นเท่านั้น แต่ยังเป็นการนำพลังงานในธรรมชาติซึ่งเป็นพลังงานสะอาดมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดี เราตั้งใจที่จะให้โครงการนี้เป็นแหล่งเรียนรู้ของนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไปเพื่อจุดประกายให้เกิดแนวคิดประยุกต์ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ในชีวิตประจำวัน เพราะประเทศไทยอุดมไปด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งมีศักยภาพทั้งด้านปริมาณความ เข้มของแสงและด้านระยะเวลาที่มีอยู่ตลอดทั้งปี”
โครงการดังกล่าวนี้เป็นระบบ ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบ Fixed Mounting-Decentralized Photovoltaic Power Plant เริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อเดือนมีนาคม 2553 โดยมีบริษัท Conergy และ Annex Power เป็นผู้ออกแบบและติดตั้งระบบ ตลอดจนรับผิดชอบงานวิศวกรรม และบริหารโครงการ
มร.มาร์ค โลฮอฟ กรรมการผู้จัดการใหญ่ โคเนอยี ประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกและตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติเยอรมนีที่ให้บริการเกี่ยวกับระบบพลังงานแสงอาทิตย์ กล่าวว่า "สภาพแวดล้อมของประเทศไทยมีความเหมาะสมอย่างมากต่อการพัฒนาโครงการพลังงาน แสงอาทิตย์ ไม่เพียงปริมาณแสงอาทิตย์ที่พอเหมาะต่อการพัฒนาโครงการเท่านั้น แต่ยังมีการสนับสนุนด้านการเงินและนโยบายระดับชาติที่ส่งเสริมต่อการเติบโต ของโครงการประเภทนี้
ทั้งนี้ ราชบุรีโฮลดิ้งและยันฮี โซล่า เพาเวอร์ ถือเป็นผู้นำและผู้บุกเบิกโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทย บริษัทฯ ขอแสดงความยินดีกับบริษัททั้งสองในความสำเร็จของโครงการไทรเสนา และหวังว่าบริษัทฯ จะได้เข้ามาสนับสนุนการพัฒนาโครงการประเภทนี้ในประเทศไทยต่อไป เพื่อให้คนไทยได้ใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันก็เป็นที่ชัดเจนว่า ประเทศไทยกำลังก้าวไปสู่เป้าหมายที่จะทำให้พลังงานทดแทนเป็นส่วนสำคัญของ กลยุทธ์พลังงานของประเทศ
การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทยมีแนวโน้มเติบโตมากขึ้น เพราะรัฐบาลได้กำหนดให้นโยบายด้านพลังงานหมุนเวียนเป็นวาระแห่งชาติ โดยกำหนดเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนให้ได้ประมาณ 20% ในปี 2565 และพลังงานแสงอาทิตย์ก็มีศักยภาพที่จะพัฒนาเพื่อใช้ประโยชน์ได้สูงมาก
ข้อมูลทั่วไปของโครงการผลิตกระแสไฟฟ้า จากพลังงานแสงอาทิตย์ไทรเสนา
ข้อมูลทั่วไปของระบบ
กำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าสูงสุด 3 เมกะวัตต์
ปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้ 4,500,000 หน่วยต่อปี (kWh/ปี)
ลดก๊าชเรือนกระจกได้ 2,500 ตันของก๊าชคาร์บอนได้ออกไซด์ต่อปี
ลดการการนำเข้าน้ำมัน 8,500 บาร์เรลต่อปี
ระบบผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์
ระบบผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ประกอบด้วยแผงเซลล์แสงอาทิตย์ (PV Modules) ซึ่งจะทำหน้าที่เปลี่ยนพลังงานคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในแสงอาทิตย์เป็นพลังงาน ไฟฟ้ากระแสตรง ไฟฟ้ากระแสตรงที่ผลิตได้จากแผงเซลล์แสงอาทิตย์แต่ละแผงจะมีแรงดัน ประมาณ 60-69 โวลต์
ไฟฟ้ากระแสตรงที่ผลิตได้จะถูกแปลงเป็นไฟฟ้ากระแสสลับแรงดันต่ำแบบเฟสเดียว (Single phase low voltage) โดย String Inverters ไฟฟ้ากระแสสลับที่ผลิตได้จะมีแรงดันอยู่ในช่วง 220-380 โวลต์ ซึ่งจะถูกส่งไปที่ AC Switchboard ไฟฟ้าที่ออกจาก AC Switchboard จะเป็นไฟฟ้าแรงดันต่ำ 3 เฟส 380 โวลต์ จากนั้นจะถูกส่งไปเพิ่มแรงดันโดยหม้อแปลงแรงดันไฟฟ้า (Transformer ) ขนาด 1250 kVA ให้มีแรงดัน 22,000 โวลต์ เพื่อแรงดันจะได้มากพอที่จะจ่ายเข้าสู่ระบบของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การจ่ายกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้เข้าสู่ระบบสายส่งของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ต้องมีระบบความปลอดภัยในการเชื่อมต่อ โดยผ่าน MV Switch Gear ที่ทำหน้าที่ตัด-ต่อการเชื่อมโครงข่ายของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
ส่วนประชาสัมพันธ์ ฝ่ายประชาสัมพันธ์
บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) บริษัท ยันฮี โซล่า เพาเวอร์ จำกัด
วิวรรณ พยัฆวิเชียร, นวลนาง ชงัดเวช รัชดาภรณ์ ศุภพอดี
โทร. 0 2794 9941 และ 0 2794 9944 โทร. 0 2879 0300 ต่อ 59927
ที่มา: http://www.corehoononline.com/