ปตท.สานต่อแนวคิด สร้างนักประดิษฐ์รุ่นใหม่
ปตท.สานต่อแนวคิด สร้างนักประดิษฐ์รุ่นใหม่ “สร้าง เสริม เติม ปลูก” ความรู้ก่อนผลิตผลงาน
ปตท.สานต่อแนวคิด สร้างนักประดิษฐ์นวัตกรรมรุ่นใหม่ จัดค่ายเรียนรู้พลังงาน 25 - 27 พ.ค.ที่ผ่านมานี้ มุ่ง “สร้าง” แรงบันดาลใจจากพ่อ ผ่านการศึกษาดูงานโครงการในพระราชดำริ “เสริม” ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพลังงาน “เติม” ประสบการณ์ ผ่านกระบวนการเรียนรู้ “ปลูก” หัวใจรักษ์สิ่งแวดล้อม เชื่อว่าคำแนะนำจากวิทยากรและกิจกรรมการเรียนรู้ต่างๆ ในค่ายจะช่วยปลูกฝังให้เยาวชนไทยเป็นทั้งคนเก่งและคนดี ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการสร้างสรรค์สังคมไทยที่มีคุณภาพ
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่การตลาดพาณิชย์และต่างประเทศ และผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สื่อสารองค์กรและกิจกรรมเพื่อสังคม บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการส่งเสริมการศึกษาของเยาวชนในทุกระดับ เพราะเยาวชนถือเป็นพลังที่สำคัญของชาติ โครงการเพื่อเด็กและเยาวชนประจำปี 2554 (PTT YOUTH CAMP 2011) นั้น ถือได้ว่าเป็นโครงการที่ดีโครงการหนึ่งที่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ภูมิใจ เพราะสามารถ “จุดประกาย” ให้เยาวชนไทยได้กล้าแสดงออก กล้าคิด กล้าทำ และได้มีโอกาสเรียนรู้ผ่านกิจกรรมต่างๆ ภายใน “ค่ายเรียนรู้พลังงาน” ซึ่งจะช่วยให้เยาวชนทุกคนเรียนรู้อย่างเชื่อมโยงทุกมิติ โดยเฉพาะการได้ลงมือปฏิบัติจริง ซึ่งนับว่าเป็นการสร้างเสริมประสบการณ์และโอกาสทางการศึกษาให้กับเยาวชนไทย ถือเป็นการสร้างบุคลากรที่ดีและมีคุณภาพสู่สังคมไทย
โครงการเพื่อเด็กและเยาวชนประจำปี 2554 (PTT YOUTH CAMP 2011) เป็นโครงการที่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ดำเนินการจัดมาอย่างต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 3 และค่ายเรียนรู้พลังงาน เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้น เพื่อพัฒนาศักยภาพของเยาวชนและอาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น สร้างกระบวนการคิดอย่างมีระบบ รู้จักนำทฤษฎีมาปรับใช้ปฏิบัติอย่างมีเหตุมีผล และที่สำคัญคือการผลักดันให้เกิดสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมพลังงานที่ยั่งยืน นำไปใช้ได้จริง รวมไปถึงเป็นต้นแบบให้กับชุมชนต่างๆ ต่อไป
ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลา 3 วันในค่ายเรียนรู้พลังงาน น้องๆ เยาวชนจะได้รับประโยชน์ จากการรับฟังแนวคิดเพิ่มเติมด้านเทคนิคในการสร้างสรรค์ประดิษฐ์ผลงาน ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติจากทั้ง 30 ผลงานที่ผ่านเข้ารอบ ตลอดจนข้อแนะนำ ชี้แนะการพัฒนาและประดิษฐ์ผลงานจากอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ และนอกเหนือจากด้านวิชาการที่เกี่ยวกับพลังงานแล้ว ยังมีการผนวกกิจกรรมทางด้านสันทนาการ สร้างเพื่อนใหม่ที่มาจากต่างถิ่น ทั่วทุกภูมิภาคและร่วมกิจกรรมเป็นทีม ก่อให้เกิดความสามัคคีกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ปลูกฝังให้เยาวชนไทยเป็นทั้งคนเก่งและคนดี ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการสร้างสรรค์สังคมไทยที่มีคุณภาพ
สำหรับโครงการเพื่อเด็กและเยาวชนประจำปี 2554 (PTT YOUTH CAMP 2011) นี้ แบ่งการประกวดออกเป็น 3 ระดับคือ มัธยมศึกษาตอนต้น มัธยมศึกษาตอนปลาย และอาชีวศึกษาหรือเทียบเท่า (ปวช. ปวส. ปวท. หรือเทียบเท่า) ผ่านโจทย์ดังนี้ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น : สิ่งประดิษฐ์เหลือใช้ที่ได้จากชุมชน ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย : สิ่งประดิษฐ์ด้านพลังงานเพื่อโลกสีเขียว และระดับอาชีวศึกษาหรือเทียบเท่า : สิ่งประดิษฐ์เพื่อชุมชนบนวิถีพอเพียง โดยเกณฑ์การให้คะแนนจะพิจารณาจากความเป็นไปได้ของผลงาน แนวความคิดสร้างสรรค์ ประโยชน์ที่ได้รับจากผลงาน และที่สำคัญคือทุกโครงการต้องมีการนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มาประยุกต์ใช้ในการสร้างสรรค์ผลงาน โดยทีมที่ผ่านการคัดเลือกทั้ง 30 ทีม จากทั่วประเทศ จะได้เข้าร่วมค่ายพลังงาน ระหว่างวันที่ 25-27 พฤษภาคม 2554
ดร.มยุรพันธ์ สัจจกุลนุกิจ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน หนึ่งในคณะกรรมพิจารณาผลงานรอบแรก กล่าวว่า หลังจากพิจารณาผลงานทั้งหมดแล้ว พบว่าระดับมัธยมศึกษาตอนต้นสามารถคิดสร้างสรรค์ผลงานถูกต้องตามโจทย์ที่ ปตท.ตั้งไว้มากที่สุด โดยทุกโครงการเน้นผลิตผลงานจากวัสดุใกล้ตัว ซึ่งสามารถตอบสนองโจทย์ได้เป็นอย่างดี และสามารถเชื่อมโยงไปถึงการนำไปใช้ประโยชน์ได้เป็นอย่างดี นับว่าเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมมาก ส่วนโครงการอื่นๆ ล้วนมีการน้อมนำแนวพระราชดำริด้านหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาประยุกต์ใช้ทั้งสิ้น อย่างไรก็ตามทั้ง 30 ทีมที่ผ่านการคัดเลือกนั้นถือเป็นแนวคิดและจุดเริ่มต้นของการทำงานเท่านั้น ซึ่งในค่ายเรียนรู้พลังงานนี้ทุกทีมจะได้รับการเติมเต็มความรู้ทั้ง เรื่องแนวคิด และวิธีการทำงานจากวิทยากรหลายๆ ท่าน เพื่อให้ทุกทีมสามารถพัฒนาผลงานได้ชัดเจนเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น
“ตนรู้สึกประทับใจในแนวคิดของทุกโครงการที่มีความหลากหลาย เห็นได้ว่าเด็กๆ ทุกคนพยายามคิด แก้ไขปัญหาที่อยู่รอบตัว ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการทำงาน ตนในฐานะคณะกรรมการพิจารณาผลงานโครงการเพื่อเด็กและเยาวชนประจำปี 2553 และ ปี 2554 เห็นว่าผลงานที่ส่งเข้าร่วมโครงการในปีที่ผ่านมาจะเน้นเกี่ยวกับเรื่องชีวภาพ ส่วนปี 2554 นี้จะเน้นเรื่องงานออกแบบและงานวิศวกรรมมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าประทับใจมากกับการที่เด็กๆ ได้กลายเป็นนักประดิษฐ์ตัวน้อย ซึ่งสุดท้ายแล้วพวกเขาจะได้เห็นว่าสิ่งประดิษฐ์ที่พวกเขาคิดขึ้นสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง ตนเชื่อว่าเด็กไทยทุกคนมีศักยภาพ เพียงแต่การที่จะดึงศักยภาพของพวกเขาออกมาได้นั้น ต้องมีผู้ใหญ่ช่วยปูพื้นฐาน และแนะนำเทคนิควิธีคิด วิธีการทำงานให้ เพื่อในอนาคตเยาวชนกลุ่มนี้จะกลายเป็นกำลังสำคัญของการพัฒนาประเทศต่อไป”
ดร.มยุรพันธ์ กล่าวต่อว่า บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นหน่วยงานที่มีศักยภาพในเรื่องของการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ให้กับประเทศ จึงอยากให้จัดโครงการที่สนับสนุนด้านการศึกษาเช่นนี้ต่อไปในหลากหลายรูปแบบ ไม่ใช่แค่การสร้างสิ่งประดิษฐ์เท่านั้น แต่ต้องมีเรื่องของการคำนวณ ออกแบบ โดยพิจารณาจากพื้นฐานทางทฤษฎีของอาจารย์แต่ละท่าน เพราะอาจารย์เหล่านี้มีส่วนสำคัญ ถ้าอาจารย์เป็นนักประดิษฐ์ที่มีพื้นฐานที่ดี สามารถออกแบบได้ คำนวณได้ นักเรียนก็จะมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน
ด้าน รศ.ดร.สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หนึ่งในคณะกรรมการพิจารณาผลงานรอบแรก กล่าวว่า รู้สึกประทับใจกับผลงานของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายมากที่สุด รู้สึกชื่นชมกับจินตนาการด้านความคิดของเด็กๆ ที่ค่อนข้างสูงแต่ก็มีความเป็นไปได้ เนื่องจากพวกเขาได้เรียนวิชาวิทยาศาสตร์มาบ้างแล้ว จึงสามารถคิดวิเคราะห์ได้ในระดับที่ดี
อย่างไรก็ตาม “การศึกษาสมัยใหม่ต้องเน้นให้เด็กได้ลงมือปฏิบัติจริง โดยเฉพาะสายอาชีพถ้าต้องการให้เด็กมีคุณภาพต้องลงทุนอีกมาก เพราะเด็กกลุ่มนี้มีความรู้พื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์น้อย ผลงานที่ออกมาจึงมีคุณภาพน้อยตามไปด้วย จะเห็นได้ว่าเด็กกลุ่มนี้หลายคนติดกับคำว่า “เครื่อง” สิ่งประดิษฐ์ทุกอย่างที่คิดขึ้นจึงมักเริ่มต้นจากคำว่า “เครื่อง” เสมอ ทำให้เห็นว่าระบบการศึกษาของสายอาชีพ ติดอยู่กับกระบวนการทางกายภาพ ไม่นิยมนำกระบวนการทางเคมีมาประยุกต์ใช้ เช่น เมื่อพูดถึงโจทย์ของการกรองน้ำ ทำอย่างไรให้น้ำใส เด็กสายอาชีพก็จะคิดผลิตเครื่องกรองน้ำขึ้น ทั้งที่ในความเป็นจริงอาจแก้ไขได้ด้วยการใช้สารส้มมาแกว่ง เพื่อให้น้ำสะอาด ซึ่งเป็นกระบวนการทางเคมีที่ทำได้ง่ายกว่า ฉะนั้นวิธีแก้ไขปัญหาดังกล่าวอาจทำให้ได้โดยการเปิดเวทีนำเสนอ ประมวลความคิด ด้วยการเชิญผู้เชี่ยวชาญมานั่งวิพากย์ความคิด และสรุปผล ก็จะได้ความรู้ที่ดีมีประโยชน์ ถือเป็นเวทีเปิดเพื่อให้เกิดการเรียนรู้สู่ภายนอก ให้ผู้อื่นได้มีส่วนร่วมในผลงานของตน เสมือนเป็นการประชันความคิดกัน หรือในการประกวดแข่งขันแต่ละครั้งอาจให้เด็กๆ ช่วยกันวิพากษ์วิจารณ์ และถ้าทีมไหนวิพากษ์วิจารณ์ได้ดี มีความรู้ มีเหตุมีผลที่เป็นไปได้มากที่สุด ก็ให้คะแนนในฐานะที่สามารถแสดงความเห็นเชิงนวัตกรรมได้”
อนึ่งค่ายเรียนรู้พลังงานครั้งนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 25-27 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 ณ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) อาคารสำนักงานใหญ่ ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพมหานคร โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา กรุงเทพมหานคร และอาคารที่พักสวัสดิการ ทอ. (บ่อฝ้าย) อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ที่มา: http://www.pttplc.com/TH/