http://www.csrcom.com/
True ปลูกปัญญา
ข่าว CSR

เอสซีจี เคมิคอลส์ รักษ์สิ่งแวดล้อม จัดกิจกรรม'สร้างฝายกับ SCG

เอสซีจี เคมิคอลส์ รักษ์สิ่งแวดล้อม จัดกิจกรรม'สร้างฝายกับ SCG เนรมิต'ปอด'ให้ระยอง

คืนชีวีให้เขา ยายดา" รวมพลังพนักงานอาสาสมัครและประชาชนชาวระยองกว่า 2,000 คน ร่วมสร้างฝายชะลอน้ำ เนรมิตเขายายดาเป็น "ปอดขนาดยักษ์" ของเมืองระยอง พร้อมพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้เชิงนิเวศแห่งใหม่

หวังปลูกจิตสำนึกรักษ์ สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน  ฝายมีบทบาทสำคัญต่อการเพิ่มประสิทธิภาพของการอนุรักษ์น้ำและป่าไม้ มีงานวิจัยที่พิสูจน์แล้วว่า การสร้างฝายชะลอน้ำในประเทศไทยให้บทบาทหลายด้านต่อการอนุรักษ์น้ำและป่า รวมถึงมีบทบาทในการให้มูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยผลจากการสร้างฝายต้นน้ำของส่วนวิจัยต้นน้ำ สำนักอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พบว่า ฝายมีบทบาทที่สำคัญในการลดความแรงและความเร็วของน้ำท่า ลดความขุ่นข้นของลำน้ำ เพิ่มความชื้นของดิน บทบาทต่อการพัฒนาตัวของสังคมพืช และทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ

ปัจจุบันเห็นได้จากมูลนิธิโครงการหลวง โครงการตามแนวพระราชดำริ เอสซีจี จึงยึดฝายเป็นแนวทางหลักในการอนุรักษ์น้ำในพื้นที่ต่างๆ รวมทั้งที่เขายายดา ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีโรงงานของเอสซีจีตั้งอยู่ และผลลัพธ์จากฝายในลักษณะนี้ก็เกิดขึ้นให้เห็นที่เขายายดาด้วยเช่นกัน

วิธีสังเกตบทบาทของฝายในการให้น้ำด้วยตาเปล่า อาจจะไม่สามารถวัดเป็นเปอร์เซ็นต์อัตราการไหลของน้ำได้เหมือนแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ แต่ก็สังเกตได้ว่าน้ำที่ไหลผ่านฝายจะไหลช้าลง เพราะน้ำบางส่วนจะถูกขังอยู่ตามฝายแต่ละขั้นที่สร้างขึ้น รวมทั้งสังเกตได้ด้วยตาเปล่าว่า ความขุ่นของน้ำที่ล้นจากฝายจะขุ่นน้อยกว่าน้ำที่ไหลลงมาจากที่สูงโดยไม่มีฝายชะลอน้ำกั้นไว้ ส่วนความชุ่มชื้นที่เกิดขึ้นก็สังเกตได้ง่ายมาก จากบริเวณผิวดินบริเวณรอบตัวฝาย ยิ่งถ้าเป็นดินเหนียวการซึมของน้ำจะขึ้นได้สูง โดยให้สังเกตแนวเปียกของดินบริเวณริมน้ำ ซึ่งจะไม่ใช่ระดับที่น้ำท่วมถึงแต่เป็นน้ำที่ซึมขึ้นมาตามผิวดินเหมือนกับหลอดดูดน้ำ หากเป็นริมฝั่งน้ำที่เป็นที่ราบและมีช่องว่างใต้ดินสูง น้ำจะสามารถซึมผ่านใต้ดินไปได้ไกลเป็น 10 เมตร ผลจากการซึมน้ำของดินรอบฝายสังเกตได้ต่อไปว่าเมื่อดินชื้น ก็ช่วยให้สังคมพืชโดยเฉพาะไม้พื้นราบพัฒนาตัวได้ดี การสร้างฝายเก็บกักและชะลอน้ำจึงเป็นการสร้างป่าในตัว ดังพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงตรัสไว้ชัดเจนแล้วว่าป่าสามารถเติบโตและพัฒนาด้วยตัวเองได้ในธรรมชาติหากมนุษย์ไม่เข้าไปทำลาย

บทบาทของฝายที่โดดเด่นและเห็นได้ชัดในพื้นที่เขายายดา คือบทบาทด้านการให้บริการน้ำกับชุมชน ซึ่งพบได้จากการเปลี่ยนแปลงบริเวณน้ำท่าหรือน้ำผิวดินในพื้นที่ รวมทั้งน้ำในอ่างเก็บน้ำห้วยหินดาดซึ่งอยู่บริเวณเชิงเขายายดาในพื้นที่หมู่ 11 ไม่เคยขาดแคลนน้ำเลยนับจากเริ่มมีการทำฝายชะลอน้ำในพื้นที่ตั้งแต่ พ.ศ.2550 เป็นต้นมา จนถึงกับทำให้ชาวสวนยางพาราบริเวณเชิงเขาซึ่งเคยเผชิญกับปัญหาความแห้งแล้งเริ่มพัฒนาฝายในพื้นที่ของตัวเองนอกเหนือจากการร่วมกันทำฝายกับชุมชนในพื้นที่ป่า รวมทั้งชาวสวนผลไม้ก็สัมผัสได้ถึงอากาศที่เย็นและชุ่มชื้น ซึ่งส่งผลให้ผลผลิตในสวนดีขึ้น บางรายไม่ต้องต่อท่อจากอ่างเก็บน้ำเพื่อดึงน้ำมาใช้ในสวนอย่างที่เคยทำในอดีต เพราะเพียงแค่บ่อน้ำใกล้บ้านก็มีน้ำเหลือให้ใช้

การสำรวจความต้องการฝายในพื้นที่รอบเขายายดาและป่าใกล้เคียง แล้วประเมินว่ามีความเหมาะสมที่จะสร้างฝายได้อีกถึง 2,000 ฝาย ซึ่งฝายเหล่านี้ถ้าสามารถสร้างเพิ่มเติมและทำการซ่อมแซมปรับปรุงต่อเนื่องก็จะช่วยให้เขายายดาเพิ่มศักยภาพและความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

เมื่อฝายให้คุณประโยชน์หลากหลายทั้งต่อตัวทรัพยากรธรรมชาติ แหล่งต้นน้ำ และต่อชุมชนผู้ใช้น้ำในพื้นที่ปลายน้ำ จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะผลักดันและสนับสนุนให้เกิดการทำฝาย เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการฟื้นฟูดูแลรักษาป่าเขายายดาอย่างต่อเนื่อง และใช้ฝายเป็นกลไกของการให้ความรู้ในการดูแลรักษาป่าและอนุรักษ์น้ำ รวมทั้งเป็นการสร้างจิตสำนึกด้านการรักและหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น และส่งเสริมให้เกิดความสามัคคีในชุมชนจากการร่วมแรงร่วมใจในการสร้างฝายไปพร้อมกัน

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา กล่าวว่า กิจกรมสร้างฝายชะลอน้ำตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศไทย ส่งผลให้ป่าต้นน้ำหลายแห่งกลับฟื้นคืนความสมบูรณ์ ทั้งยังก่อให้เกิดองค์ความรู้ตามภูมินิเวศของป่าแต่ละแห่ง นับเป็นชัยชนะของการอนุรักษ์และพัฒนาด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมประการหนึ่ง สำหรับเขายายดาก็เป็นอีกแห่งหนึ่งที่กำลังสั่งสมองค์ความรู้เรื่องการฟื้นฟูระบบนิเวศของป่าด้วยการสร้างฝายชะลอน้ำ โดยเริ่มจากความเข้าใจและความร่วมมือจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมใน จ.ระยอง ซึ่งการทำงานเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติเช่นนี้ต้องยืนอยู่บนแนวคิดเพื่อสังคม บ้านเมือง คนรอบข้าง และคนที่มีชีวิตอยู่ต่อจากเรา ดังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานแนวพระราชดำริและปฏิบัติพระราชกรณียกิจบนพื้นฐานเพื่อประโยชน์สุขแก่ปวงชนชาวไทยตลอดมา

นายชลณัฐ ญาณารณพ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เคมิคอลส์ กล่าวเสริมว่า เอสซีจี เคมิคอลส์ เล็งเห็นถึงความสำคัญในการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของ จ.ระยอง จึงได้ริเริ่มโครงการ "SCG Chemicals รักษ์สิ่งแวดล้อม" และส่งเสริมให้พนักงานร่วมสร้างฝายชะลอน้ำกับชุมชน เพื่อฟื้นฟูสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรมรอบเขายายดา ต.ตะพง อ.เมือง จ.ระยอง ตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปัจจุบันได้สนับสนุนการสร้างฝายชะลอน้ำไปแล้วจำนวน 1,200 ฝาย ล่าสุดได้เชิญชวนชุมชน พนักงาน หน่วยงานราชการ และประชาชนทั่วไปกว่า 2,000 คน มาสร้างฝายชะลอน้ำร่วมกัน ในกิจกรรม "สร้างฝายกับ SCG คืนชีวีให้เขายายดา" เพื่อปลูกจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อมให้หยั่งรากลึกลงในใจทุกคน อันจะนำไปสู่การพัฒนาชุมชนและสังคมอย่างยั่งยืน พร้อมกันนี้ เอสซีจี เคมิคอลส์ ยังประกาศพันธกิจสร้างฝายชะลอน้ำที่เขายายดาให้ครบจำนวน 5,000 ฝาย ภายในปี 2556 เพื่อร่วมเฉลิมฉลองในโอกาสที่เอสซีจีจะก่อตั้งครบ 100 ปี และมีเป้าหมายที่จะสร้างฝายชะลอน้ำในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ให้ครบจำนวน 50,000 ฝาย ในปีดังกล่าว

"ผลจากฝายชะลอน้ำที่เขายายดาจำนวน 1,200 ฝาย ในช่วงเวลาเพียงไม่กี่ปี นอกจากจะเป็นการสานสัมพันธ์ระหว่างบริษัทกับชุมชนเพื่อการพัฒนาร่วมกันอย่างยั่งยืนแล้ว ยังก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสภาพแวดล้อมในบริเวณนั้นอย่างแท้จริง จากเดิมผืนป่าเป็นสีน้ำตาล เกิดไฟป่า และเผชิญวิกฤติขาดแคลนน้ำ แต่หลังจากมีการสร้างฝาย เขายายดาก็กลายเป็นผืนแผ่นดินที่ชุ่มชื้นและเขียวขจี จนมีคนเปรียบเปรยว่า...หากระยองคือร่างกาย เขายายดาก็คือ "ปอด" ที่ช่วยดูดซับอากาศเสียและฟอกอากาศบริสุทธิ์ให้กับร่างกายนั่นเอง นอกจากนี้เขายายดายังเป็นแหล่งเก็บกักน้ำทางธรรมชาติที่สำคัญซึ่งช่วยให้ชาวบ้านจำนวน 10 ตำบล 6 หมู่บ้าน สามารถทำเกษตรกรรมได้ตามวิถีชีวิตแบบพอเพียง เกิดการเรียนรู้ของชุมชนเพื่อนำประสบการณ์ที่ได้รับมาพัฒนาต่อยอดให้เขายายดาเป็นแหล่งเรียนรู้ และเป็นส่วนหนึ่งของการดูแลรักษาธรรมชาติอย่างยั่งยืน" นายชลณัฐ กล่าว

นายสุวิทย์ รัตนมณี อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า เขายายดามีบทบาทที่สำคัญ 2 ด้าน คือ บทบาทของป่าไม้ที่ทำหน้าที่ให้กับระบบนิเวศต้นน้ำ และบทบาทของแหล่งดูดซับสารพิษในอากาศของเมืองระยอง เนื่องจากระยองเป็นจังหวัดที่ถูกหยิบยกเป็นกรณีศึกษาด้านการควบคุมมลพิษที่สำคัญจังหวัดหนึ่ง การสนับสนุนการสร้างฝายชะลอน้ำที่เขา ยายดาของเอสซีจี เคมิคอลส์ ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่านอกจากจะช่วยรักษาพื้นที่ป่าซึ่งสามารถลดผลกระทบปัญหาน้ำและสภาวะการเปลี่ยนแปลงของอากาศ เช่น น้ำท่วม ฝนแล้ง ดินถล่ม และมลพิษในอากาศแล้ว เขายายดายังเป็น "ปอดขนาดยักษ์" ที่ช่วยฟอกอากาศบริสุทธิ์ให้เมืองระยอง อันเป็นเมืองอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศได้

ส่วนนายวราวุธ ปิ่นเงิน รองผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง กล่าวว่า ที่ผ่านมาพื้นที่ป่าต้นน้ำของ จ.ระยอง มีสภาพเสื่อมโทรมอย่างมาก จึงได้น้อมนำแนวพระราชดำริเรื่องการฟื้นฟูระบบนิเวศป่าไม้ โดยการสร้างฝายชะลอน้ำมาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยยึดหลักชุมชนเป็นผู้ปฏิบัติ รัฐเป็นผู้สนับสนุน เน้นให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ จ.ระยองร่วมกัน ซึ่งเอสซีจี เคมิคอลส์ นับเป็นตัวอย่างของหน่วยงานเอกชนที่ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ทั้งด้านงบประมาณและการมีส่วนร่วมโดยพนักงานร่วมมือกับชุมชนในการสร้างฝายใหม่ และซ่อมแซมฝายเดิมที่มีอยู่ จนสามารถช่วยฟื้นฟูสภาพของเขายายดาให้กลับมามีระบบนิเวศที่สมบูรณ์ได้ อีกทั้งยังนำไปสู่การแบ่งปันและถ่ายทอดองค์ความรู้อันจะก่อให้เกิดการพัฒนาร่วมกันระหว่างอุตสาหกรรมและชุมชนอย่างยั่งยืนอีกด้วย

กิจกรรมสร้างฝายชะลอน้ำ ภายใต้โครงการ "SCG Chemicals รักษ์สิ่งแวดล้อม" เป็นการจุดประกายความคิดและมุมมองใหม่ในการรักษาและสงวนไว้ซึ่งทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ และแหล่งต้นน้ำ ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของชุมชน ทั้งด้านเศรษฐกิจและการประกอบอาชีพทางการเกษตรที่ได้ผลผลิตดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ชุมชนเริ่มเกิดจิตอาสาในการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ ภูเขา แหล่งน้ำ ซึ่งเป็นทรัพย์สินส่วนรวมนอกเหนือจากส่วนตน ฝายชะลอน้ำที่เอสซีจี เคมิคอลส์ ริเริ่มขึ้นในพื้นที่เขายายดา นับเป็นการปลูกจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนให้กับชุมชน

นอกจากนี้ โครงการ "SCG Chemi cals รักษ์สิ่งแวดล้อม" ยังอยู่ระหว่างการพัฒนาพื้นที่บริเวณเขายายดาแห่งนี้ให้กลายเป็น "แหล่งเรียนรู้เชิงนิเวศ" แห่งใหม่ ซึ่งจะสามารถจะยกระดับเขายายดาในฐานะพื้นที่ปิดสู่พื้นที่เปิด ให้คนภายนอกเข้ามาสัมผัสและเรียนรู้ธรรมชาติในฐานะที่เป็นธรรมชาติอย่างแท้จริง ตลอดจนได้สัมผัสวิถีชีวิตของชุมชน โดยแหล่งเรียนรู้เชิงนิเวศเขายายดาจะเป็นแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติและชีวภาพที่หลากหลายที่อยู่ใกล้ตัวเมือง ทั้งมาบตาพุดและกรุงเทพฯ มากที่สุด เพื่อเยาวชนและประชาชนทั่วไปจะสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างสะดวกและมีประสิทธิภาพสูงสุด

 

"กิจกรรมสร้างฝายชะลอน้ำตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศไทย ส่งผลให้ป่าต้นน้ำหลายแห่งกลับฟื้นคืนความสมบูรณ์ ทั้งยังก่อให้เกิดองค์ความรู้ตามภูมินิเวศของป่าแต่ละแห่ง นับเป็นชัยชนะของการอนุรักษ์และพัฒนาด้านทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมประการหนึ่ง"

ที่มา: http://www.corehoononline.com/index.php/

 

 

aphondaworathan