สุวรรณกอล์ฟ
สุวรรณ กอล์ฟ สนามกอล์ฟปลอดสารเคมี 100 %
สนามกอล์ฟมองเห็นหญ้าเขียวขจีสุดลูกหูลูกตา ความสวยงามที่เคลือบยาพิษ เพราะทุกตารางนิ้วของสนามกอล์ฟถูกหล่อเลี้ยงด้วย "สารเคมีและยาฆ่าแมลง"
การเป็นสนามออร์แกนิค หรือสนามปลอดสารเคมี ของ สุวรรณ กอล์ฟ แอนด์ คันทรี คลับ จึงแตกต่าง และน่าสนใจอย่างยิ่ง
อาจจะเรียกว่าเป็นสนามกอล์ฟแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทยที่ "ปลอดสารเคมี" ซึ่งเป็นการยากในการบริหารจัดการสนามกอล์ฟที่มีความเสี่ยงกับโรคเชื้อราที่มากับความชื้น และแมลงชอนไชมากับดิน
พงศกร พงษ์ศักดิ์ ผู้อำนวยการบริหาร สนามกอล์ฟ สุวรรณ กอล์ฟ แอนด์ คันทรี คลับ ยอมรับว่า การตัดสินใจทำสนามกอล์ฟปลอดสารเคมีเป็นสิ่งท้าทาย โดยเฉพาะสนามในประเทศไทยที่ยังไม่มีต้นแบบ หรือแม้กระทั่งต่างประเทศแม้จะมีการพูดถึง แต่ยังมีจำนวนน้อย และการประสบความสำเร็จไม่ยาก เพราะทุกอย่างล้วนต้องอาศัยโนว์ฮาว และการลองผิดลองถูก
แต่ 1 ปีที่ผ่านมา หลังจากเริ่มหันใช้โปรแกรม Back to Basic ได้รับผลที่น่าพอใจ ทั้งในเรื่องคุณภาพของสนามที่ไม่ตก การันตีได้จากผลโหวต Best Course Renovation in Asia-Pacific จาก Asian Golf Monthly Award 2010 ทำให้พงศกร มั่นใจที่จะพัฒนาสนามกอล์ฟแห่งนี้ให้ในแนวคืนสู่ธรรมชาติเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ ทั้งในส่วนของการบริการ ร้านอาหาร หลังจากที่ได้พัฒนาในส่วนของสนามและการบริหารจัดการบุคลากรภายในมาแล้ว
สำหรับสเต็ปแรก ในส่วนของสนามกอล์ฟ พงศกร ได้ลงทุน 30 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงสนาม และลงหญ้าใหม่ โดยเลือกใช้พันธุ์ "ซีชอร์ พาสพาลัม" มาปูในแฟร์เวย์ ซึ่งเป็นหญ้าที่ทนต่อสภาพอากาศของประเทศไทยได้ดี และหญ้าจากสหรัฐ พันธุ์ "เบอร์มิวดา อัลตราดวาร์ฟ มินิ เวอร์ดิ" ใช้ปูบริเวณกรีน
การปรับปรุงสนาม และเลือกใช้พันธุ์หญ้า นอกเหนือจากความคงทน แต่พงศกร มองลึกไปกว่านั้น เพราะการเลือกพันธุ์หญ้าเป็นส่วนหนึ่งให้สามารถใช้โปรแกรมแบ็คทูเบสิกได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
โดยส่วนใหญ่สนามกอล์ฟจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ส่วน กรีน แฟร์เวย์ และรัฟ ซึ่งใน 3 ส่วนนี้จะมีปัญหาแตกต่างกัน การแก้ปัญหาจะแตกต่างเช่นกัน
"อย่างกรีนเวลามีโรคลง บางสนามหรือเมื่อก่อนผมจะลงยาฆ่าเชื้อราไม่ให้ลาม แต่ตอนนี้หลังจากปราศจากสารเคมีก็ใช้การคลอลิ่งกรีน เจาะอากาศ ให้อาหาร เพิ่มวิตามินเพิ่ม เป็นการดูแลเอาใจใส่มากขึ้น จำกัดปริมาณน้ำ หรือส่วนแฟร์เวย์ ที่มักมีวัชพืช แมลง หอยเชอร์รี ผมจะใช้น้ำเกลือค่อยๆ รด อาจจะต้องทำ 4-5 ครั้ง เพื่อกำจัดให้หมด ถามว่าหญ้าตายมั้ย อาจจะมีบางส่วนตาย แต่ผมใช้ลักษณะเด่นของหญ้ามาใช้ในการลดสารเคมี ซึ่งหญ้าที่ใช้ทนความเค็มได้ดี เป็นวิธีการทำให้รากแข็งแรง สังเคราะห์แสงได้ดีขึ้น ทำให้เขาเติบโตเป็นหญ้าที่แข็งแรง"
แต่กว่าจะให้ได้เป้าหมายปลายทางที่สัมฤทธิผลต้องมีการสื่อสารกับบุคลากรให้เห็นในทิศทางเดียวกัน เพราะเมื่อลดการใช้สารเคมี ยาฆ่าหญ้า ต้องหันมาใช้ "ใจใส่" ใช้ "มือ" ถอนวัชพืช เวลาการทำงานต้องยาวขึ้น
โดยส่วนใหญ่สนามกอล์ฟจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ส่วน กรีน แฟร์เวย์ และรัฟ ซึ่งใน 3 ส่วนนี้จะมีปัญหาแตกต่างกัน การแก้ปัญหาจะแตกต่างเช่นกันเมื่อหญ้าแข็งแรงแล้ว จิตใจพนักงานต้องแข็งแรงเช่นกัน
เพราะหลังจากโจทย์ Back to Basic เขามองว่า ทุกส่วนโดยเฉพาะผู้ปฏิบัติจะต้องเข้าใจ และ "อิน" กับเนื้องาน เพื่อให้เป้าหมายสัมฤทธิผล มีการเปลี่ยนแปลงระบบการบริหารภายใน รวมทั้งรายละเอียดงานของแต่ละคน
"พนักงานเราจะใส่ใจสนามมาก เมื่อพบว่าเป็นเชื้อราเขาจะรีบดูว่าจะต้องลงทราย หรือเพิ่มวิตามิน หรือพรวนดิน แอ็คชั่นจะออกมาก่อน ทำให้คุณภาพของสนามเราไม่ได้ลดลงเลย ซึ่งเราไม่ได้เพิ่มจำนวนพนักงาน แต่กลับลดลงด้วย แต่เขาทำหน้าหน้าที่ได้ดี เข้าทำงานเร็วขึ้นเพื่อมาเตรียมงาน"
โดย 3 ปีข้างหน้า พงศกร ได้ให้มิชชั่นในการทำงานกับพนักงานว่า จะเป็นปีแห่ง E-N-J-O-Y
N - Nature คือ Back to Basic
J - Joy มีความสนุกในการทำงาน
O - Opinion การรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น
Y - You การนึกถึงคนอื่นมากกว่าตัวเอง
"คุณพ่อสอนเสมอว่าถ้าเราทำในสิ่งที่ตัวเองรัก ผลลัพธ์จะออกมาดีไม่ดีช่างมัน อย่างน้อยได้ทำในสิ่งที่เรารัก แต่ส่วนใหญ่คนที่ทำในสิ่งที่ตัวเองรักจะดูแลดี แล้วผลจะประสบความสำเร็จ อย่าดูผลลัพธ์อย่างเดียว ผมก็อยากให้พนักงานได้ Enjoy ในสิ่งที่ตัวเองทำ แล้วลูกค้าจะรับรู้ได้ถึงความรู้สึกตรงนั้น"
ผู้บริหารหนุ่ม บอกอีกว่า ผู้บริหารต้องดูแลพนักงานให้ทั่วถึง และเสมอภาคเป็นสิ่งสำคัญ
"การใช้ดับเบิลสแตนดาร์ดในการดูแลพนักงานเป็นการบริหารงานที่ล้มเหลว เพราะความเท่าเทียมกันของพนักงานเป็นสิ่งสำคัญ แค่คนสวนเราก็ต้องดูแลเขาเหมือนพนักงานสำคัญคนหนึ่ง พนักงานที่นี่จะอยู่กันเหมือนเป็นพี่เป็นน้อง เขาจะมีทีมสปิริตสูง แล้วต่อมาคือพนักงานต้องมีความรับผิดชอบ ผมเชื่อว่าถ้าเราให้ความสำคัญกับเขา เขาเองก็จะรู้สึกและรู้ว่าควรให้ความสำคัญกับลูกค้าเช่นกัน"
หลังจากนำโปรแกรม Back to Basic และการใส่ใจในทีมงาน ทำให้ค่าใช้จ่ายเรื่องสารเคมีลดลง 25% ขณะเดียวกันยังเพิ่มรายได้ให้กับสนามกอล์ฟประมาณ 30% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา แต่ที่ได้มากกว่านั้นคือ สุขภาพของแคดดี้ และลูกค้าที่มาเล่นกอล์ฟ ซึ่งทำให้สุขภาพแข็งแรงขึ้น
"กอล์ฟเป็นกีฬาหนึ่งที่ช่วยเรื่องสุขภาพ จึงไม่อยากให้เอาสุขภาพมาเสี่ยงกับสารเคมีในสนาม"
หลังจากประสบความสำเร็จในการพัฒนาสนาม และบุคลากรที่พร้อม จากนี้ไปเป็นก้าวสู่สเต็ปที่สอง ในการพัฒนาสนามกอล์ฟสุวรรณในส่วนของภาคบริการ คลับเฮ้าส์ รวมถึงห้องอาหารให้เข้าสู่โปรแกรม Back to Basic ในองค์รวมทั้งหมด
"ในส่วนของห้องอาหารเราจะดูแลเรื่องแคลอรี การใช้ผักปลอดสารพิษ เป็นการดูองค์รวมทั้งหมด โดยคำนึงถึงความต้องการของผู้เล่นเป็นหลัก"
แม้ว่าสุวรรณ สนามกอล์ฟ เป็นการทำธุรกิจ แต่สิ่งสำคัญคือการใส่ใจลูกค้า และเมื่อลูกค้าเล่นกอล์ฟเพื่อหวังสุขภาพ สนามกอล์ฟจึงต้องไม่ใช่ตัวการเพิ่มความเสี่ยงด้านสุขภาพให้แก่นักกอล์ฟ