?หลังคาเขียว?ภารกิจกล่อง UHT กู้โลก
“หลังคาเขียว”ภารกิจกล่อง UHT กู้โลก
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
“หลังคาเขียว”คือภาคต่อของพันธกิจกอบกู้โลกฉบับ“เต็ดตรา แพ้ค”วันนี้พวกเขามุ่งสนับสนุนเอสเอ็มอีเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์รีไซเคิลให้มีโอกาสเชิงพาณิชย์
หลายปีก่อนเราได้รู้จักกับ “กรีนบอร์ด” แผ่นกระดานอัดจากกล่องเครื่องดื่มรีไซเคิล ที่นำไปผลิตเฟอร์นิเจอร์ได้งามงดไม่แพ้วัสดุอื่นใด ผลงานของ บริษัท กรีนบอร์ด (ประเทศไทย) จำกัด ที่ได้รับการสนับสนุนวัตถุดิบจากผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์กล่องเครื่องดื่มรายใหญ่ อย่าง บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด
เปิดโลกความเข้าใจของผู้คนใหม่กันว่า “กล่องเครื่องดื่ม” ที่มีส่วนผสมของ กระดาษ พลาสติก และอะลูมิเนียมฟอยล์ มีค่ามากกว่า "ขยะ"
ปลายปีที่ก่อน วงการรีไซเคิลได้ต้อนรับแผ่นหลังคาจากกล่องเครื่องดื่มรีไซเคิลที่เรียกตัวเองว่า “หลังคาเขียว”
ผลงานของ บริษัท ไฟเบอร์พัฒน์ จำกัด แผ่นหลังคารักษ์โลก ซึ่งเข้าไปทำหน้าที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัย ในโครงการ "หลังคาเขียวเพื่อมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก" อีกหนึ่งแรงผลักดันจาก “เต็ดตรา แพ้ค” เพื่อเติมเต็มวงจรรีไซเคิลให้หมุนกงล้อได้ต่อเนื่องและยั่งยืน
"เราเป็นผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์กล่องเครื่องดื่มที่เห็นอยู่ในท้องตลาด ผลิตอยู่ที่กว่า 4 หมื่นตันต่อปี ซึ่งหากเทียบกับขยะบรรจุภัณฑ์อื่นๆ แล้ว นี่อาจเป็นเพียง 0.28-0.3% เท่านั้น แต่ในฐานะผู้ผลิตที่มีความรับผิดชอบ เราอยากเห็นการจัดการบรรจุภัณฑ์ของเราอย่างเหมาะสม จึงทำโครงการรณรงค์เพื่อการสนับสนุนการคัดแยกจัดเก็บและรีไซเคิลกล่องเครื่องดื่มใช้ แล้วมาอย่างต่อเนื่อง"
กลอยตา ณ ถลาง ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กรและสิ่งแวดล้อม บริษัท เต็ดตราแพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด
บอกเล่าจุดมุ่งหมายของพวกเขา ที่เข้ามาขับเคลื่อนงานรีไซเคิลกล่องกระดาษตลอดหลายปีที่ผ่านมา และเพื่อร่วมขับเคลื่อนจุดมุ่งหมายนี้ นอกจากการสื่อสารในวงกว้างแล้ว ที่สำคัญกว่านั้นคือการลงมาสนับสนุนโรงงานรีไซเคิลกล่องเครื่องดื่ม ให้พัฒนาผลิตผลจากกล่องรีไซเคิล ไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่มีความต้องการในท้องตลาดมากขึ้น เพราะนั่นย่อมส่งผลให้กล่องเครื่องดื่มใช้แล้ว ถูกดึงกลับสู่กระบวนการรีไซเคิลมากขึ้นตามไปด้วย
“เราพยายามหาความรู้ใหม่ๆ และเทคโนโลยีที่เหมาะสมที่จะช่วยให้การรีไซเคิลกล่องเครื่องดื่ม สามารถพัฒนาเป็นวัตถุดิบอื่นไปได้เรื่อยๆ”
นั่นคือสิ่งที่กลอยตา บอกกับเรา
ที่มาของการลงมาทำงานใกล้ชิดกับ “ไฟเบอร์พัฒน์” ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์กระดาษ จำพวกทิชชู กระดาษชำระ กระดาษอนามัย ซึ่งตัดสินใจขยับขยายมาทำโรงงานมารีไซเคิลกล่องเครื่องดื่ม เมื่อ 5 ปี ที่ผ่านมา หลังได้รับการเชื้อเชิญและสนับสนุนเต็มสองมือจาก “เต็ดตรา แพ้ค” โดยการพาไปดูงานรีไซเคิลกล่องเครื่องดื่มของเครือข่าย เต็ดตรา แพ้ค ในต่างประเทศ
“ตรีวิจักษ์ ยิบยินธรรม” กรรมการผู้จัดการศูนย์รีไซเคิลกล่องเครื่องดื่ม บริษัท ไฟเบอร์พัฒน์ จำกัด บอกเราว่า เขามีโอกาสเดินทางไปดูงานรีไซเคิลกล่องเครื่องดื่มเพื่อทำเป็นหลังคาที่ประเทศบราซิลและอินเดีย ซึ่งมีประสบการณ์มานานกว่า 10 ปี และผลงานเป็นที่ยอมรับ จากนั้นจึงได้นำความรู้ มาปรับใช้ที่โรงงานของพวกเขา
"เต็ดตรา แพ้ค ส่งเสริมความรู้เรื่องเทคโนโลยีให้กับเรา โดยให้ไปเรียนรู้เทคโนโลยีของเขาที่ต่างประเทศ ไปชมการผลิตจากประเทศที่มีประสบการณ์ในเรื่องพวกนี้ สุดท้ายก็ได้ความรู้การทำหลังคากลับมา ซึ่งก็ลองผิดลองถูกจนทำออกมาได้สำเร็จ"
ในที่สุด "แผ่นหลังคา" ที่ผลิตจากกล่องรีไซเคิลก็ปรากฏโฉมขึ้นเป็นครั้งแรกในแผ่นดินสยาม ด้วยคุณสมบัติที่สู้หลังคากระเบื้องได้สบาย อย่างทนทาน ไม่แตกหักง่าย ทนไฟ ไม่ดูดซับความร้อน ช่วยประหยัดพลังงาน ปลอดเชื้อรา และซ่อมแซมง่าย ที่สำคัญ “เป็นมิตรกับโลกและสิ่งแวดล้อม”
ตรีวิจักษ์ บอกเราว่า หลังคาเขียว 1 แผ่น จะมีขนาด 0.90x2.40 เมตร ซึ่งใหญ่กว่าแผ่นกระเบื้องหลังคาทั่วไป หรือเทียบได้กับบานประตูหนึ่งบาน ซึ่งพวกเขาต้องใช้กล่องเครื่องดื่มประมาณ 2,000 กล่อง ในการผลิต โดยในเบื้องต้นไฟเบอร์พัฒน์ ผลิตหลังคาเพื่อร่วมใน โครงการหลังคาเขียวเพื่อมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยากเป็นหลัก และเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ปลายปีนี้ ซึ่งตรงกับเป้าหมายของ "เต็ดตรา แพ้ค" ที่กลอยตาบอกว่า
“แผ่นหลังคาเขียวนี้ ในท้ายที่สุด ต้องกลายเป็นธุรกิจ เพื่อที่จะเลี้ยงตัวเองได้”
การจะสร้างโอกาสในเชิงพาณิชย์ ขึ้นกับปริมาณกล่องเครื่องดื่มใช้แล้วที่ต้องมีเพียงพอเพื่อรองรับการผลิตที่มากขึ้นด้วย ตรีวิจักษ์ บอกเราว่า จากแนวโน้มการรณรงค์ของเต็ดตรา แพ้ค ในปีที่ผ่านมา และปริมาณกล่องที่เก็บได้จริงในปีนี้ คิดว่าจะยังมีจำนวนที่เพียงพอต่อการผลิตในเชิงพาณิชย์ ซึ่งกล่องเครื่องดื่มที่เข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลของไฟเบอร์พัฒน์ ไม่เพียงมาจากการบริจาค หากรวมถึงการรับซื้อจากหน้าโรงงานด้วย
โดยพวกเขาสร้างแรงจูงใจให้กับคนขาย ด้วยการรับซื้อกล่องเครื่องดื่มหน้าโรงงานสูงกว่าในตลาด หรือกิโลกรัมละ 5 บาท จากราคากล่องในท้องตลาดจะขายกันที่ กิโลกรัมละ 3-4 บาท และเพื่อให้กระบวนการรีไซเคิลของไฟเบอร์พัฒน์เดินหน้าได้อย่างต่อเนื่อง เต็ดตรา แพ้ค จึงสนับสนุนด้วยการสร้างเครือข่ายอาสาสมัครตั้งจุดรับกล่องเครื่องดื่ม จัดเก็บกล่องเครื่องดื่มผ่านทางมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก และอาสาหลังคาเขียว การร่วมกับบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ เป็นศูนย์รับบริจาคกล่องเครื่องดื่มใช้แล้ว รวมถึงร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรต่างๆ เพื่อรวบรวมกล่องส่งให้กับไฟเบอร์พัฒน์ ไปรีไซเคิลอีกทางด้วย
"เราหวังว่าจากการรณรงค์นี้ จะทำคนทราบว่ากล่องเครื่องดื่มรีไซเคิลได้ และไม่จำเป็นต้องนำมาร่วมโครงการอย่างเดียว แต่สามารถนำไปขายด้วยตัวเองได้ อีกเป้าหมายที่อยากให้เกิดขึ้น คือ ทำให้กล่องเครื่องดื่มใช้แล้ว มีมูลค่ามากพอที่ผู้รับซื้อของเก่าอยากรับซื้อ นี่คือหน้าที่ของเรา ยิ่งทำให้ความต้องการในผลิตภัณฑ์รีไซเคิลมากขึ้นเท่าไร มูลค่าของกล่องเครื่องดื่มใช้แล้วยิ่งเพิ่มขึ้นเท่านั้น" ผอ.ฝ่ายสื่อสารองค์กรและสิ่งแวดล้อม เต็ดตรา แพ้ค บอกกับเรา
ปัญหาสำคัญสำหรับผู้ผลิตอย่างไฟเบอร์พัฒน์ในวันนี้ ไม่ใช่การมีวัตถุดิบรีไซเคิลไม่เพียงพอ หากอยู่ที่กระบวนการผลิตซึ่งใช้เวลาค่อนข้างนานกว่าจะทำหลังคาเขียวออกมาได้แต่ละแผ่น ตรีวิจักษ์ บอกว่า ใน 1 ชั่วโมง พวกเขาผลิตหลังคารักษ์โลกได้เพียง 5 แผ่นเท่านั้น หรือคิดเป็นวันละ 50 แผ่น ซึ่งอนาคตคงต้องพัฒนาเรื่องกระบวนการผลิตให้ดีขึ้น เพื่อขยายกำลังการผลิตให้เพิ่มขึ้นทันความต้องการ
ขณะที่ผู้สนับสนุนอย่างเต็ดตรา แพ้ค บอกเราว่า จะใช้ศักยภาพจากการที่มีธุรกิจอยู่ในหลายประเทศทั่วโลก ทำให้สามารถใช้เครือข่าย และประสบการณ์จากประเทศที่ประสบความสำเร็จมาแนะนำให้กับทางไฟเบอร์พัฒน์ เพื่อเรียนรู้เทคโนโลยีที่ตอบโจทย์การรีไซเคิลและมีทางเลือกให้กับกล่องเครื่องดื่มรีไซเคิลมากขึ้น ซึ่งคงไม่เพียงแค่แผ่นหลังคาเขียวในวันนี้เท่านั้น .. และนี่คือความมุ่งมั่น ที่ยังไม่สิ้นสุดลงของพวกเขา
สำหรับราคาขายหลังคารักษ์โลก ผู้ผลิตบอกเราว่า อยู่ที่แผ่นละ 350-400 บาท ซึ่งแพงกว่าแผ่นกระเบื้องปกติถึงเกือบเท่าตัว แต่เป็นธรรมดาของสินค้ารีไซเคิล ที่ความต้องการยังน้อย วัตถุดิบหายาก ต้องใช้เทคโนโลยีที่ลงทุนสูง ทว่าพวกเขายังหวังว่า หากสามารถทำให้ความต้องการในผลิตภัณฑ์สีเขียวเพิ่มขึ้นได้ ก็ยิ่งเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้สินค้ากลุ่มนี้ราคาถูกลง เมื่อความต้องการมากขึ้น การผลิตก็จะทำได้เพิ่มขึ้น ท้ายที่สุดแล้วของรีไซเคิล ก็จะถูกนำกลับมาใช้ใหม่อย่างต่อเนื่องต่อไป
"การทำให้โลกน่าอยู่อย่างยั่งยืน เป็นสิ่งที่ทุกคนทำได้ง่ายๆ ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเอง เต็ดตรา แพ้ค เป็นผู้รับผิดชอบการผลิตกล่องเครื่องดื่ม ถ้าผู้บริโภคดื่มเครื่องดื่มจากกล่องของเราแล้วทิ้งไป มันก็กลายเป็นขยะ เป็นส่วนที่ทำให้โลกไม่น่าอยู่ยิ่งขึ้น แต่ถ้าไม่ทิ้งแล้วนำไปรีไซเคิล ก็ยังช่วยสร้างรายได้ให้กับเขา สำคัญกว่านั้น คือเป็นการช่วยสังคมและสิ่งแวดล้อมไปด้วย"
พวกเขาฝากความมุ่งหวังไว้ในตอนท้าย