http://www.csrcom.com/
True ปลูกปัญญา
CSR เด่น

Sputnik Tales..ผู้ผลิตแอนิเมชันเพื่อสังคม

“Sputnik Tales”..ผู้ผลิตแอนิเมชันเพื่อสังคม

โดย : จีราวัฒน์ คงแก้ว

“Sputnik Tales” คือ ผู้ผลิตแอนิเมชันเพื่อสังคม ผลงานจากนักสร้างกำลังใจ "รัฐ จำปามูล"

ผู้ผลิตแอนิเมชัน เพื่อสร้างสรรค์สังคม (Social Enterprise Animation Studio) คือคำจำกัดความของ “Sputnik Tales Studio” (www.sputniktales.com) บทพิสูจน์ความตั้งใจจริงของ รัฐ จำปามูลผู้ผลิตผลงานแอนิเมชันส่งผ่านความห่วงใย เพลงพระอาทิตย์” (Sunset Love Song) ที่ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางในโลกออนไลน์

ผลงานที่ไปคว้ารางวัลหนังไทยแห่งปี 2553 จากนิตยสาร Bioscope และโล่เกียรติคุณสื่อป้องกันการฆ่าตัวตาย จาก รพ.ราชวิถี

เพลงพระอาทิตย์ที่เริ่มต้นจาก คิดเอง ทำเอง ลงทุนเอง ไม่ได้หยิบยื่นเพียง คุณค่าในชีวิตให้ใครหลายคนเท่านั้น หากยังสร้างแรงบันดาลใจให้ รัฐกล้าลุกขึ้นมาทำอะไรที่ยิ่งใหญ่ไปกว่าเดิม เขาบอกเราด้วยน้ำเสียงแห่งความสุขว่า...

ตอนนี้เป็นผู้ประกอบการสังคม (Social Enterprise) อย่างเต็มตัวแล้ว

หลังจากทำเพลงพระอาทิตย์ออกไป ถึงวันนี้ก็ยังมีคนเมลเข้ามาหาผม น้องผู้หญิงคนหนึ่งบอกผมว่า เพราะเพลงของพี่ทำให้หนูไม่กรีดข้อมือตัวเอง...ข้อความแบบนี้ยังคงมีเข้ามาเรื่อยๆ มันให้พลังกับผมมาก จนคิดว่า คงดีสินะ ถ้าสามารถทำให้งานแบบนี้ถูกนำเสนอออกไปอย่างต่อเนื่อง

ครั้งแรกรัฐทำงานนี้เพราะแรงผลักดันบางอย่าง การสูญเสียคนใกล้ชิดด้วยการฆ่าตัวตาย บาดหัวใจเขา จนต้องลุกขึ้นมาคิดทำอะไร ก็แค่ไม่อยากให้ใครต้องตกอยู่ในสถานะเดียวกัน

วันนั้นเขายอมรับว่า หมดตัวก็ยอมอย่างน้อยยังเหลือผลงานที่พอเยียวยาสังคมได้..แต่ทว่าถ้าต้องเริ่มต้นใหม่ คงคิดแบบเฉือนเนื้อตัวเองไม่ได้อีกแล้ว

นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ รัฐ หันมาสนใจโมเดล ธุรกิจเพื่อสังคมกิจการที่มุ่งแก้ปัญหาสังคม แต่มีวิธีหารายได้และทำกำไรในรูปแบบธุรกิจด้วย

โอกาสมาถึงเขา เมื่อมีผู้ใหญ่ใจดีให้การสนับสนุน รัฐและเพื่อนร่วมทีม เริ่มเขียนแผนธุรกิจเพื่อสังคม ส่งเข้าประกวดในโครงการ Banpu Champion for Change จนได้รับเลือกเป็น 1 ใน 10 กิจการเพื่อสังคม มีทุนตั้งต้นความฝัน 50,000 บาท พร้อมคำปรึกษาและการสนับสนุนจากนักปั้น SE อย่าง Change Fusion และองค์กรสาธารณะ

แรงผลักดันจากหลายๆ ฝ่าย พร้อมหัวใจที่ยังมุ่งมั่นเต็มกำลัง ทำให้โลกของ SE ได้ต้อนรับน้องใหม่อย่าง “Sputnik Tales” ผู้ผลิตแอนิเมชันเพื่อสังคม พวกเขาทำในสิ่งที่ต่างจากกิจการทั่วไป เพราะเป็นการผลิตแอนิเมชัน เพื่อสื่อสารประเด็นเชิงสังคมโดยเฉพาะ มีกลุ่มเป้าหมายคือ หน่วยงานราชการ องค์กรสาธารณะ กระทั่งภาคธุรกิจที่มุ่งหมายสื่อสารประเด็นอันเป็นประโยชน์ออกสู่สังคม

“SE เป็นรูปแบบการทำงานที่ผมรู้สึกสนุกมาก โซลูชั่นที่เป็นการสานประโยชน์ระหว่างธุรกิจและสังคม เป็นเรื่องที่ต้อง ชิงไหวชิงพริบผมพยายามหาประโยชน์จากสิ่งพื้นฐานที่เป็นอยู่ แล้วเชื่อมโยงไปยังสิ่งที่เรามี เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้อื่น พอเปลี่ยนวิธีคิดแบบนี้ ทำให้ผมพบว่า คนที่คิดตรงกันกับผม มีอยู่จริงในสังคม

จากแอนิเมเตอร์ฟรีแลนซ์ รับทำงานสนองใจลูกค้า งานใหม่ของรัฐ ซึ่งเขาเรียกว่า ความสนุกดูจะมีบทบาทมากไปกว่านั้น รัฐชอบคิดแทนผู้ว่าจ้าง และหวังจะให้งานที่ทำออกมา ถูกเผยแพร่ในวงกว้างมากที่สุด หลายครั้งที่ผู้ผลิตแอนิเมชันอย่างเขา จะแถมเรื่องสั้น รับทำกิจกรรมเปิดตัว กระทั่ง หาทุนเพื่อสนับสนุนงานเผยแพร่ให้กับองค์กรน้ำดีเหล่านั้น

เวลาทำงานเสร็จผมอยากเผยแพร่ออกไปให้มากที่สุด แต่บางครั้งต้องยอมรับว่างานบางงานอาจถูกเผยแพร่ในวงจำกัด เพราะองค์กรเหล่านี้ไม่ได้มีทุนมากนัก รูปแบบองค์กรเขาไม่เอื้อ แต่สิ่งที่ผมรู้คือทำอย่างไรจะให้งานถูกเผยแพร่ออกไปโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงๆ ผมยินดีทำให้ ยินดีประชาสัมพันธ์ให้ กระทั่งเชื่อมโยงไปยังแหล่งทุนเพื่อสนับสนุนองค์กรเหล่านี้

สิ่งที่รัฐบอกกับเรา จึงดูไม่เหมือนการทำงานของนักธุรกิจ ว่ากันตามตรง เขาอาจแค่กำลังทำงานที่สนองความต้องการของตัวเองอยู่เท่านั้น เมื่อผลที่ได้ คือสิ่งดีๆ ที่จะเกิดกับผู้คนในสังคม ตรงกับความตั้งใจของเขา แล้วจะลำบากอะไรที่จะทุ่มสุดตัวเพื่อทำงานให้คนที่ขึ้นชื่อว่า ลูกค้าได้รับบริการเหนือความคาดหวัง

ในวันเริ่มต้น “Sputnik Tales” คือสตูที่รับทำงานแอนิเมชันเพื่อสังคม แต่ในวันนี้ พวกเขาคือ ผู้สนับสนุนให้เกิดแอนิเมชันเพื่อสังคมทุกวิถีทาง

รัฐ บอกเราว่า การที่ต้องทำงานเกี่ยวข้องกับคนหลายๆ กลุ่ม ทั้งหน่วยงานภาครัฐ องค์กรสาธารณะ ภาคธุรกิจที่ต้องการทำซีเอสอาร์ กลุ่มแฟนคลับที่มาจากสาวกเพลงพระอาทิตย์ ตลอดจนแอนิเมเตอร์และผู้สนใจในการสร้างแอนิเมชัน

เป้าหมายของรัฐจึงไม่ได้ทำเพื่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่พยายามทำงานที่เชื่อมโยงประโยชน์สูงสุดไปยังทุกคนที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่บริการผลิตแอนิเมชันเพื่อสังคมพร้อมกิจกรรมประชาสัมพันธ์ แบบ ทุ่มสุดใจมุ่งมั่นสนับสนุนวงการแอนิเมเตอร์ไทย ด้วยการจัดกิจกรรม ให้ความรู้ในการทำแอนิเมชัน ป้อนงานให้ทำ ตลอดจนให้เงินสนับสนุนคนมีฝันที่อยากเป็นแอนิเมเตอร์ ด้วยการประสานไปยังภาคธุรกิจที่มีงบซีเอสอาร์มาสนับสนุนกิจกรรมดีๆ เหล่านี้ สำหรับแฟนคลับ ก็มีตั้งแต่ให้เงินสนับสนุน ผลิตงานให้ชมฟรี และให้โอกาสในการร่วมผลิต แสดงความคิดเห็นในชิ้นงาน

ตอนเริ่มต้น เราอาจเป็นแค่สตูดิโอ แต่พอทำไปทำมาผมกลับรู้สึกว่า เราเป็นผู้สนับสนุนให้เกิดแอนิเมชันเพื่อสังคมทุกวิถีทาง มันเป็นไปเองโดยอัตโนมัติ ใจผมคงมาทางนี้ และผมก็สนุกเกินกว่าจะเรียกว่าการทำงานแล้ว

วิธีคิดที่เข้าถึงใจคนหลายกลุ่ม เวลาเดียวกันก็มองถึง ผลกระทบต่อสังคมเป็นเข็มทิศนำทาง รูปแบบของบริการที่ออกมา จึงพยายามสร้างตัวเลือก เพื่อเป็นโซลูชั่นให้กับผู้คนที่หลากหลาย เขาบอกว่า แม้แต่องค์กรทุนน้อย ก็อยากให้เข้าถึงแอนิเมชันคุณภาพดีได้

ที่มาของโมเดลเซฟกระเป๋า ลดราคาผลิตแอนิเมชันให้ถูกกว่าอัตราปกติได้เป็นเท่าตัว สำหรับลูกค้ารายไหนที่ไม่สนใจ ลิขสิทธิ์โดยยอมปล่อยไลเซ่นให้คนอื่นนำไปใช้ต่อได้

การทำแอนิเมชัน 3 มิติ ค่าใช้จ่ายเกือบครึ่งอยู่ที่การขึ้นโมเดลใหม่ ผมจึงวางโซลูชั่นไว้ว่าถ้าลูกค้ารายไหนมีความต้องการเต็มที่อยากเก็บงานตรงนี้เป็นลิขสิทธิ์ของตนเอง เราจะคิดราคาเต็ม ซึ่งงานคุณภาพสูงก็อยู่ที่หลักแสนบาทขึ้นไป แต่ถ้าไม่เอาลิขสิทธิ์ ยอมปล่อยไลเซ่น ซึ่งหมายความว่าผมจะสามารถนำฉาก หรืออะไรต่างๆ มาใช้ใหม่ในงานอื่นได้ ก็จะคิดราคาลดลงมาครึ่งๆ เพราะต้นทุนการผลิตเราต่ำลง และนี่จะเป็นตัวเลือกให้องค์กรซึ่งทุนไม่สูงมากนัก ให้สามารถทำแอนิเมชันได้

สิ่งที่รัฐคิดไกลไปกว่านั้น คือในอนาคต ถ้าโมเดลรียูสเหล่านี้มีจำนวนมากขึ้น กลายเป็นโมเดลชุดใหญ่ๆ เขาก็อยากแบ่งปันไปให้ผู้คนที่อยากทำแอนิเมชัน ได้ใช้มันฟรีๆ

ถ้าเด็กๆ สามารถหยิบสิ่งเหล่านี้ไปใช้ได้ทันที ผมว่าเขาจะมีเวลาอีกมากในการคิดเนื้อเรื่องดีๆ คิดประเด็นสร้างงานที่เขารู้สึกกับมันจริงๆ เพราะเรื่องบางเรื่อง ประเด็นบางประเด็นผมคงเล่าได้ไม่ดีเท่าคนที่ประสบกับตัวเอง

นั่นคือสิ่งที่รัฐหวัง เขาอยากเห็นกลุ่มคนที่คิดแบบเดียวกับเขามีมากขึ้น ซึ่งในเชิงธุรกิจหลายคนอาจเรียกว่า คู่แข่งแต่กับรัฐ เขาไม่ได้จำกัดความแบบนั้น

ถ้าเราทำเพื่อการค้า ก็อาจแข่งกันที่ราคา แต่การทำแอนิเมชันเพื่อสังคม สิ่งที่แข่งขันคือผลกระทบต่อสังคม ในงบประมาณเท่ากันใครจะตอบโจทย์สังคมได้มากกว่า ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมากที่จะมีคนทำแบบเรามากขึ้น เพราะต้องยอมรับว่าบางประเด็นผมเล่าไม่ได้หรอก เล่าไปก็ไม่แข็งแรง ถ้ามีใครที่ทำดีกว่า ก็เป็นโอกาสของเขา ฟังดูเหมือนน่ากลัวที่ต้องมีคู่แข่ง แต่ถ้าเขาทำได้ดีกว่า สังคมก็ได้อยู่ดี

นี่คือวิธีคิดของรัฐ คิดแบบนักธุรกิจที่พ่วงคำว่า เพื่อสังคมอยู่ท่อนหลัง

งานนี้มีดีอะไรนักหนา เด็กหนุ่มอย่างเขาถึงดูจะถอนตัวจากมันไม่ได้เสียแล้ว รัฐ เล่าเหตุการณ์แย่ๆ ตลอดช่วงที่ผ่านมา และแรงใจในชีวิตที่ทำให้เขาลุกขึ้นมาได้อีกครั้ง

ผมใช้เวลากับเพลงพระอาทิตย์อยู่นานมาก มีปัญหามากมายระหว่างทาง ในวันที่เริ่มฉาย มีคนแปลกหน้ามากมายรอดูผมอยู่ แต่ไฟล์งานกลับมีปัญหา หนังฉายได้ไม่จบเรื่อง ผมทรุดเลยครับ ห่วงคนดูที่อุตส่าห์มาดูงาน... แต่ผมก็ทำพลาด

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ทุกคนกลับห่วงผม ห่วงความรู้สึกของผม เข้ามาให้กำลังใจเต็มไปหมด เหมือนเราล้มไปแล้วแต่มีคนมาอุ้ม เป็นเรื่องที่น่ารักมากในชีวิตของผม แม้แต่วันนี้ ก็ยังมีคนที่ติดตามงานและคอยส่งข้อความดีๆ มาหา และนี่ก็คือเหตุผลที่ผมอยากทำงานนี้ต่อไป

รัฐ หวังที่จะเห็นกลุ่มมิตรรักแฟนแอนิเมชันของเขาเติบโตขึ้น กลายเป็นสังคมน้ำดี ที่จะช่วยแบ่งปันงานดีๆ ของ “Sputnik Tales” ไปสู่วงกว้าง เพื่อประโยชน์ที่จะกลับคืนสู่สังคมได้อีกมหาศาล

ใครสักคนที่อ่านเรื่องราวของพวกเขา แล้วเกิดแรงบันดาลใจอยากลุกขึ้นมาทำอะไรดีๆ ให้กับสังคมบ้าง รัฐ บอกว่า แค่คิดในสิ่งดี ก็เลือกทำไปเลย ทำเท่าที่ทำได้ แต่ต้องทำให้เต็มที่ พูดคุยกับผู้คนเยอะๆ แล้วจะเห็นทางออก อย่าปิดตัวเอง ค่อยๆ ก้าวเดินไป  เขาเชื่อว่า ถ้าทำโดยเจตนาดี แม้ยังไม่เห็นผล แต่คือสิ่งดีที่ได้ทำแล้ว

คงเช่นเดียวกับ Sputnik Tales ในบทบาทของผู้ผลิตแอนิเมชันเพื่อสร้างสรรค์สังคม ในวันนี้

 

ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/business/csr/20111020/413363/Sputnik-Tales..ผู้ผลิตแอนิเมชันเพื่อสังคม.html

 

aphondaworathan