การจัดการสวนป่ายั่งยืนแบบ FSC
โดย..วรธาร ทัดแก้ว
การจัดการสวนป่าอย่างยั่งยืนเริ่มมีการพูดถึงมากขึ้นในประเทศไทย โดยเฉพาะซึ่งถือว่าเป็นที่รู้จักและได้รับการตอบรับจากสังคมไทยค่อนข้างมาก ณ เวลานี้ คือการจัดการสวนป่าตามมาตรฐานการจัดการอย่างยั่งยืนของ FSC (Forest Management Certification) ที่ให้ความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจ ทั้งรับผิดชอบต่อสังคม ชุมชน และรักษาสิ่งแวดล้อมให้เกิดความยั่งยืนต่อไป
รู้จักมาตรฐาน FSC
Forest Stewardship Council หรือ FSC เป็นองค์กรเอกชนภายใต้ความร่วมมือของกลุ่มต่างๆ จากทั่วโลก เช่น เอ็นจีโอ กลุ่มนักอนุรักษ์ป่าไม้และสิ่งแวดล้อม ผู้ค้าไม้ ผู้ผลิตสินค้าจากไม้ กลุ่มชนพื้นเมือง และองค์กรผู้ให้การรับรองไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ เพื่อจัดทำระบบการให้การรับรองมาตรฐานไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ เพื่อเป็นการรับประกันว่าไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ที่ได้รับรองมาตรฐาน FSC เป็นไม้และผลิตภัณฑ์ที่ได้จากป่าธรรมชาติหรือป่าปลูกที่มีการจัดการป่าอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการและเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงบอร์น ประเทศเยอรมนี
มาตรฐาน FSC มีหลายประเภท เช่น FSCFM (Forest Management Certification) หมายถึง มาตรฐานการจัดการป่าอย่างยั่งยืนตามแนวทางที่ FSC กำหนดไว้ว่าต้องมีพื้นที่อนุรักษ์อย่างน้อยร้อยละ 10 ของพื้นที่สวนไม้ที่ขอรับรอง ทั้งนี้เพื่อเป็นการปกป้องความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศและฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมให้เกิดความยั่งยืนต่อไป
มาตรฐาน FSCCoC (ChainofCustody) การจัดการห่วงโซผลิตภัณฑ์ เป็นการปฏิบัติตามข้อกำหนดสำหรับองค์กรเพื่อแสดงถึงผลิตภัณฑ์ไม้มีการผลิตหรือจำหน่ายจากสวนไม้ที่ได้รับการรับรอง ตั้งแต่กระบวนการจัดหาแหล่งวัตถุดิบ การรับและการจัดเก็บวัตถุดิบ การควบคุมปริมาณ ตลอดจนการขายและการส่งมอบ จะต้องมีการคัดแยกหรือการกำหนดอย่างชัดเจนในทุกขั้นตอน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะไม่มีการปะปนของวัสดุที่ไม่ได้รับการรับรองจนกว่าจะสิ้นสุดกระบวนการผลิต แปรรูปต่างๆ
ผู้ที่ขอรับการรับรองจะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบและหลักเกณฑ์การประเมินของ FSC เพื่อเป็นการยืนยันว่าสวนป่าดังกล่าวไม่ได้มาจากการทำลายป่าธรรมชาติ โดยจะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของ FSC ตามนโยบายความสมดุล 3 ด้าน ได้แก่ เศรษฐกิจ ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม
“โดยยึดหลักการสำคัญ คือ ความถูกต้องตามกฎหมายของประเทศที่ผืนป่านั้นตั้งอยู่ สิทธิในการใช้ที่ดินบนผืนป่านั้น สิทธิของชนพื้นเมืองดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ในป่านั้น การใช้ประโยชน์จากป่าไม้ให้คุ้มค่าที่สุด ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ การกำหนดแผนการจัดการป่าอย่างเหมาะสม รวมทั้งระบบการควบคุมดูแลรักษาสภาพผืนป่าและการกำหนดแผนการปลูกป่าทดแทน เป็นต้น”
ทั้งนี้ ในประเทศไทย บริษัท สยามฟอเรสทรี ในเอสซีจี เปเปอร์ ถือเป็นรายแรกที่ได้รับมาตรฐาน FSCFM บริษัท สยามเซลลูโลส และบริษัท ฟินิคซ พัลพ์ แอนด์ เพเพอร์ ในเอสซีจีฯ เช่นกัน ได้รับมาตรฐาน FSCCoC และล่าสุด บริษัท สยามคราฟท์อุตสาหกรรม ได้รับมาตรฐาน FSC Recycled สำหรับกระดาษบรรจุภัณฑ์ TTF ที่ผลิตมาจากเยื่อกระดาษรีไซเคิล 100%
การจัดการสวนป่าแนว FSC
ณรงค์ มีนวล หัวหน้าแผนกบริหารสวนไม้ และ FSC บริษัท สยามฟอเรสทรี เล่าการจัดการสวนป่าของสยามฟอเรสทรี ว่า ดำเนินธุรกิจการปลูกไม้โตเร็วอย่างครบวงจร เช่น การผลิตกล้าไม้ การปลูกสวนป่า การส่งเสริมการปลูกในระบบคอนแทรกต์ฟาร์มมิง และมีนโยบายที่จะส่งเสริมให้สมาชิกของบริษัทมีระบบการจัดการสวนใหม่ตามมาตรฐาน FSC เพื่อให้เกิดความยั่งยืนทั้งสามด้าน ประกอบด้วย
ด้านเศรษฐกิจ มีการวางแผนดำเนินการและควบคุมกิจกรรมส่งเสริมการปลูกสร้างสวนป่าที่ให้ผลผลิตอย่างยั่งยืน การประเมินผลผลิตของสวนป่า จัดทำสูตรประเมินไม้ การควบคุมการตัดไม้มีระบบ Chain of Custody (CoC) สามารถตรวจสอบที่มาของไม้ได้ และป้องกันการปลอมปน การดูแลสวนไม้หลังตัดไม้ สนับสนุนปุ๋ยอินทรีย์เพื่อเพิ่มผลผลิตของสวนป่า ตลอดจนอบรมให้ความรู้การเผาถ่านและเก็บน้ำส้มควันไม้ ให้คำแนะนำตามหลักวิชาการ เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ชุมชนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ด้าน สังคม ชุมชน มีการส่งเสริมให้มีการพัฒนาเกษตรกรสมาชิก พนักงาน ผู้รับเหมาและผู้เกี่ยวข้องให้มีความรู้ ความสามารถในการดำเนินงาน ด้วยจิตสำนึกด้านชีวอนามัยและความปลอดภัย รวมทั้งการสนับสนุนให้ชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตรอบพื้นที่สวนไม้โดยคำนึงถึงสิทธิของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย มีการศึกษาผลกระทบที่มีต่อชุมชนและกำหนดแนวทางการแก้ไขข้อขัดแย้งกับชุมชนอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม
ด้านสิ่งแวดล้อม มีแผนงานสนับสนุนการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ร่วมกับชุมชนและผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดความสมดุลของระบบนิเวศ และเพิ่มพูนความหลากหลายทางชีวภาพ
“ปี 2549 บริษัทได้นำระบบการจัดการสวนป่าอย่างยั่งยืน FSC มา ปรับปรุงและประยุกต์ใช้กับสวนป่ายูคาลิปตัสที่ จ.กำแพงเพชร เพื่อให้เกิดความยั่งยืนต่อบริษัท ชุมชน และระบบนิเวศโดยรวม ใช้เวลา 1 ปี ก็ได้รับการรับรอง ถัดมาอีกก็ได้นำระบบนี้ไปประยุกต์ใช้กับการจัดการสวนป่าของสมาชิกที่เป็นเกษตรกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือหลายร้อยราย ต่อมาเมื่อปีที่แล้วก็ได้รับการรับรองร่วมกับสมาชิกเกษตรกร จ.กาญจนบุรี
ณรงค์ อธิบายว่า ในอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ การใช้ประโยชน์จากไม้จากป่าธรรมชาตินั้น ณ ปัจจุบันถือว่าหมดยุคแล้ว อีกทั้งมีการปิดป่ามาตั้งแต่ปี 2531 ฉะนั้นยุคนี้จึงควรเป็นยุคของการปลูกสร้างสวนป่าที่มีการจัดการที่ดี และสวนป่าที่ดีจะต้องได้รับการจัดการที่ดีอย่างเป็นระบบทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม ชุมชน และเศรษฐกิจอย่างสมดุล โดยความสมดุลไม่ได้หมายถึงความเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจที่เป็นรายได้อย่างเดียว แต่ต้องเป็นความสมดุลทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไปและไม่สามารถแยกออกจากกันได้
สังคมและสิ่งแวดล้อมต้องไปด้วยกัน
หัวหน้าแผนกบริหารสวนไม้ และ FSC บริษัท สยามฟอเรสทรี เล่าต่อว่า การจัดการสวนป่าอย่างยั่งยืนนอกจากในเชิงของเศรษฐกิจแล้วที่ไม่อาจละเลยได้คือการร่วมกับชุมชนรอบๆ สวนป่าและป่าชุมชนและช่วยเหลือชุมชนในด้านต่างๆ
“เราได้อบรมให้ความรู้ในเรื่องต่างๆ แก่เกษตรกร แรงงาน และสมาชิกของเรา เช่น การใช้สารเคมี การจัดเก็บภาชนะสารเคมี การสนับสนุนพันธุ์ไม้ท้องถิ่น ร่วมมือกับกรมพัฒนาที่ดินในการปลูกต้นไม้เพื่อลดการกระจายของดินเค็มที่ภาคตะวันออกฉียงเหนือ”
นอกจากนี้ โครงการชุมชนรักษ์ป่า เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เอสซีจี เปเปอร์ก็ได้ร่วมกับกรมป่าไม้และคณะกรรมการป่าชุมชน โดยมีเป้าหมายเพื่อดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมด้านป่าชุมชนให้แก่ชุมชนที่ได้รับการอนุมัติจัดตั้งเป็นป่าชุมชนจากกรมป่าไม้แล้ว รวมพื้นที่ประมาณ 1.2 หมื่นไร่ ภายในระยะเวลา 5 ปี โดยต้องไม่เป็นการส่งเสริมให้ชุมชนปลูกไม้ยูคาลิปตัสในพื้นที่ป่าชุมชนไม่ว่ากรณีใดๆ
ทั้งนี้ เอสซีจี เปเปอร์ มีนโยบายที่จะสนับสนุนกิจกรรมของป่าชุมชน เพื่อให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่อนุรักษ์ตามหลักการที่ FSC กำหนดไว้ว่าต้องมีพื้นที่อนุรักษ์อย่างน้อย 10% ของพื้นที่สวนป่าที่ขอรับรองระบบ FSC โดยคัดเลือกจากป่าที่มีคนในชุมชนช่วยกันดูแล ซึ่งเป็นป่าชุมชนที่ผ่านการขึ้นทะเบียนเป็นป่าชุมชน โดยกรมป่าไม้ ในปี 2552 ที่ผ่านมา มีป่าชุมชนจำนวน 5 ป่า ที่เข้าร่วมโครงการ โดย 3 ป่าอยู่ในเขต จ.ขอนแก่น นอกนั้นเป็น จ.ชัยภูมิ และกำแพงเพชรจังหวัดละ 1 ป่า
นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของความร่วมมือระหว่างภาคเอกชน ภาครัฐ และชุมชน ที่จะร่วมกันพัฒนาป่าสู่ความยั่งยืนเพื่อประโยชน์ของลูกหลานต่อไปในอนาคต
ที่มา: http://www.posttoday.com/ไลฟ์สไตล์/ไลฟ์/114872/การจัดการสวนป่ายั่งยืนแบบ-FSC