http://www.csrcom.com/
True ปลูกปัญญา
CSR เด่น

สู้เพื่อลูกแฟรนไชส์แม่ลูกอ่อน

สู้เพื่อลูกแฟรนไชส์แม่ลูกอ่อน

คุณแม่ที่มีลูกวัยเตาะแตะ แต่อยากทำธุรกิจแบ่งเบาภาระครอบครัว มีตัวเลือกชื่อสู้เพื่อลูกแฟรนไชส์รถเข็นขายอาหารที่มีบริเวณให้เลี้ยงลูกน้อย

วีรนุช สุวัฒน์วงศ์ชัยหรือ แม่เต๋อ ของน้อง ตื่นเต้น เธอเป็นทั้งนักออกแบบ และผู้เขียนหนังสือ เมนูหนูน่าหม่ำสอนทำอาหารน่ารักน่าโซ้ยให้กับเจ้าตัวเล็ก

ภารกิจที่เพิ่มเติมขึ้นในวันนี้ คือ การเป็นเจ้าของแฟรนไชส์ สู้เพื่อลูกธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ใหม่แกะกล่อง จากการสนับสนุนของ UnLtd Thailand พี่เลี้ยงคนมีฝันอยากทำกิจการเพื่อสังคม

ภาพของคุณแม่ที่อุ้มลูกตัวน้อย อยู่ริมคลองข้างชุมชนแออัด กระทบใจคนมีลูกเข้าอย่างจัง คุณแม่ที่เคว้งขว้าง อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เลวร้าย จะทำให้เด็กเติบโตมามีคุณภาพได้อย่างไร แม่ส่วนหนึ่งต้องทิ้งลูกไปทำงานเพื่อประคองชีวิตครอบครัวให้อยู่รอด ความอบอุ่นที่เด็กๆ ควรได้รับก็คงเลือนหายตามไปด้วย...

ภาพบาดใจนี้สะกิดต่อมคิดให้ วีรนุชลุกขึ้นมาทำอะไรดีๆ เพื่อสร้างสังคมนี้ให้งดงามขึ้น

มีใจอยากช่วยเต็มร้อย แต่แค่ผู้หญิงตัวเล็กๆ เงินทุนก็ไม่มี จะคิดการใหญ่ไม่ใช่เรื่องง่าย เธอมีแค่ ไอเดียแต่จะให้ภาพในฝันเป็นจริงได้...ต้องมีผู้ช่วย

วีรนุช เลือกหาช่องทางทำฝันให้เป็นจริง โดยลองเสนอโครงการไปขอทุนสนับสนุนจาก UnLtd Thailand หน่วยงานสานฝันผู้ประกอบการสังคม ด้วย เงินทุน ความรู้ และเครือข่าย

เธอเขียนความตั้งใจไปว่า อยากให้คุณแม่ได้ทำงานและดูแลลูกไปได้ด้วย

ที่มาของโอกาสในการฝึกอบรมเพื่อก้าวสู่เวที ผู้ประกอบการสังคมอย่างจริงๆ จังๆ นำมาสู่การก่อประกอบแนวคิด จนเกิดเป็น แฟรนไชส์ สู้เพื่อลูกพร้อมเงินทุนตั้งต้นกิจการ ที่ 50,000 บาท

สู้เพื่อลูกคือแฟรนไชส์รถเข็นขายอาหาร ที่ให้ผู้เป็นแม่ได้ดูแลลูกพร้อมทำงานไปได้ด้วย จินตนาการภาพของรถเข็นที่มีบริเวณให้ลูกน้อย พักผ่อนและนอนเล่น อยู่ในสายตาของคนเป็นแม่ตลอดเวลา พร้อมอุปกรณ์การขายและสอนทำอาหาร โดยคิดค่าแฟรนไชส์ที่ไม่เอารัดเอาเปรียบ

เธอหวังเพียงว่าเมื่อแม่มีอาชีพ ครอบครัวมีรายได้มาจุนเจือ บวกกับได้ดูแลลูกน้อยอย่างใกล้ชิดในช่วงวัยอันสำคัญของเขา เด็กก็จะเติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพ ไม่เป็นภาระของสังคมอย่างแน่นอน..

 อีกแนวคิดดีๆ เพื่อสร้างสรรค์สังคม สอดแทรกอยู่ในเมนูอาหาร คุณแม่ลูกหนึ่งบอกเราว่า อยากยกระดับร้านอาหารข้างทาง ให้มีคุณภาพมากขึ้น จึงเลือกพัฒนาเมนูเพื่อให้ ง่ายต่อการทำและ เป็นประโยชน์ต่อการทาน

ประเดิมด้วย เมนู ข้าวหน้าไก่ จากนั้นก็พัฒนาสู่เมนูที่ใช้วัตถุดิบใกล้เคียงกัน เพื่อให้ง่ายเวลาหาซื้อวัตถุดิบ และประหยัดต้นทุนไปพร้อมกัน อย่างข้าวไก่กระเทียม ข้าวไข่เจียวกุนเชียง บะหมี่ราดหน้าไก่ เป็นต้น

อาหารที่แปลกหาทานยาก เมนูหลากหลาย ก็น่าจะทำให้ขายดีกว่าเมนูที่มีอยู่เกลื่อนตลาด นั่นคือสิ่งที่เจ้าคอนเซปต์สู้เพื่อลูกคิดเผื่อไว้แต่ต้น

ที่ต้องเริ่มจากเมนูเหล่านี้ เพราะมองถึงความปลอดภัยของลูกด้วย โดยคุณแม่สามารถทำอาหารให้เสร็จจากที่บ้าน มาถึงก็แค่ตักใส่กล่องแล้วขาย ทำให้สะดวกขึ้น และดูแลลูกไปได้ด้วย แต่ถ้าต้องมาทำระหว่างเลี้ยงลูกคงไม่เวิร์ค อย่างก๋วยเตี๋ยวนี่ต้องตัดไปเลยเพราะอันตรายต่อเด็ก

เรียกว่า เอาใจเขามาใส่ใจเรามองให้ขาด 360 องศา กระทั่งการคิดค่าแฟรนไชส์

ชื่อว่าแฟรนไชส์แต่เราก็ไม่ได้คิดค่าลอยัลตี้ฟี ค่าการตลาดใดๆ ทั้งสิ้น คุณแม่จะได้รถเข็นและอุปกรณ์ครบ พร้อมกับการสอนทำอาหารให้ คิดค่าแฟรนไชส์ไม่เกิน 25,000 บาท โดยไม่ต้องซื้อวัตถุดิบจากเราสามารถทำทุกอย่างได้เองหมด ไม่ผูกมัด เพียงแต่ขอแค่ช่วยขายน้ำดื่มสู้เพื่อลูก ให้เราเท่านั้นเพื่อให้กิจการเราพออยู่ได้

เงินลงทุนที่ไม่สูงมาก มาจากความร่วมมือของเครือข่ายเพื่อสังคม ตั้งแต่การเลือกซัพพลายเออร์ที่มีจิตใจอยากทำอะไรเพื่อสังคม จึงผลิตรถเข็นให้ในราคาที่ไม่สูงมาก

เวลาเดียวกันก็คิดโมเดลที่จะมาช่วยคุณแม่ให้เริ่มต้นธุรกิจเพื่อลูกได้ แม้ไม่มีเงินในกระเป๋า

ตั้งแต่ประสานธนาคารชุมชน เพื่อขอสนับสนุนสินเชื่อเพื่อธุรกิจของคุณแม่ ขณะเดียวกันก็เปิดเว็บไซต์  www.supermomthailand.com เพื่อเปิดรับบริจาคให้ผู้มีจิตกุศลทั่วสารทิศ ได้ร่วมส่งพลังบุญสร้างชีวิตใหม่ให้คุณแม่

 เราเปิดเว็บไซต์เพื่อให้ผู้มีน้ำใจยื่นความประสงค์เข้ามาว่าอยากสนับสนุนคุณแม่คนไหน โดยอาจรวมกลุ่มกันมาก็ได้ เพื่อช่วยเหลือคุณแม่ให้มีอาชีพ ซึ่งการทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ เราตัวเล็กๆ คงทำอะไรไม่ได้มาก แต่มันเป็นไปได้แน่ ถ้าเราร่วมมือกับคนอื่นๆ ช่วยเหลือจุนเจือซึ่งกันและกัน เพื่อให้สังคมของเราน่าอยู่ขึ้น

พลังของความร่วมมือหลั่งไหลมาทั่วสารทิศ เวลาเดียวกันเธอก็ต้องพิสูจน์ความอยู่รอดของธุรกิจ ด้วยการลองทำร้านต้นแบบขึ้นมา ที่ทางขึ้นรถไฟฟ้าเอกมัย เพื่อทดสอบตลาด ทดลองตั้งราคาขายที่จะไม่ขาดทุน และศึกษาโอกาสที่จะทำให้กิจการอยู่รอด

ธุรกิจมันจะอยู่รอดหรือไม่ เราต้องพิสูจน์ด้วยตัวเองนั่นคือสิ่งที่เธอคิด และลงมือทำ

เธอบอกว่า ลูกค้าของสู้เพื่อลูกร้านต้นแบบ คือกลุ่มพนักงานออฟฟิศ ที่แวะซื้อเมนูสู้เพื่อลูก ไปทานตอนเช้าและมื้อกลางวัน ซึ่งกลุ่มนี้เป็นตลาดที่น่าสนใจ เพราะมีกำลังซื้อ

ในวันนี้ สู้เพื่อลูก ยังเปิดรับแม่ลูกอ่อน ที่พอมีฝีมือด้านการทำอาหาร มาสร้างโอกาสดีๆ ให้ชีวิต หลังจากเปิดตัวได้ไม่นาน และอยู่ระหว่างการพัฒนารถเข็นตอบโจทย์ขายไปเลี้ยงลูกไปได้ด้วย

วีรนุช บอกว่ามีคุณแม่หลายคนที่สนใจเข้ามาร่วมธุรกิจนี้ ซึ่ง สู้เพื่อลูกยังมีพื้นที่ให้กับคุณแม่ที่ ใจพร้อมอยู่เสมอ โดยเข้ามาดูรายละเอียดได้ที่ในเว็บไซต์

การทำกิจการเพื่อสังคม อาจมีวิธีคิดสวนทางกับโลกธุรกิจ พวกเขาตั้งต้นกิจการเพื่อเป้าหมายคือ แก้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยไม่มุ่งแสวงหากำไรสูงสุด แค่มีรายได้เลี้ยงตัวเอง อยู่ได้อย่างยั่งยืน และมีโอกาสเติบโตตามวิถี

สำหรับ วีรนุช  เธอยอมรับว่าก่อนหน้านี้ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าอะไรคือ กิจการเพื่อสังคม อย่างไหนที่เรียกว่าผู้ประกอบการสังคม รู้เพียงว่าสิ่งที่ติดอยู่กับความคิดของเธอตลอดมาคือ...

สักวันหนึ่งฉันจะทำงานเพื่อตอบแทนสังคม

 สิ่งที่คุณแม่นักออกแบบทำต่างออกไปจากใครหลายคน คือเธอ ไม่เพียงคิด แต่เลือกลงมือทำ เพื่อให้ความตั้งใจนั้น กลายเป็นจริงขึ้นมาได้ เธอว่า เมื่อคิดอยากทำก็ให้ลงมือทำ อย่าไปกังวลว่าจะทำได้หรือไม่ เพราะถ้ามีความตั้งใจจริง ทุกอย่างจะเป็นไปได้เอง มีปัญหาก็ค่อยๆ แก้กันไป และคงสำเร็จได้ในวันหนึ่ง

แม้จะเขียนโครงการไปนาน แต่เวลาใครถามว่า อะไรทำให้เลือกมาทำตรงนี้ ภาพที่มองเห็นแม่ ลูก อยู่ตรงคลองสลัมก็ย้อนมาให้คิด มาให้รู้สึก มันกระทบใจมาก จนต้องลุกขึ้นมาทำอย่างทุกวันนี้"

ภาพที่อยากเห็น ก็แค่แม่ที่เคว้งคว้าง แม่ที่ไม่รู้ว่าจะทำอะไร ได้มีงานดีๆ ทำ และได้ดูแลลูกอย่างใกล้ชิด เพื่อที่ อีกหน่อยลูกเติบโตขึ้นก็จะมีคุณภาพ เพราะแม่เป็นคนดูแลเอง ที่ใช้คำว่า สู้เพื่อลูก เพราะรู้สึกว่า สิ่งที่แม่ทุกคนทำนั้นเป็นการสู้เพื่อลูกจริงๆ  ไม่ต้องใคร แม่นี่แหละจะสู้เพื่อลูกเอง

อีกหนึ่งเมล็ดพันธุ์ธุรกิจดีๆ จากคุณแม่เจ้าคอนเซปต์ แรงกายมีอยู่ ใจ สู้เพื่อลูก

 

ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/business/csr/20111006/411327/สู้เพื่อลูกแฟรนไชส์แม่ลูกอ่อน.html

 

aphondaworathan