http://www.csrcom.com/
True ปลูกปัญญา
CSR เด่น

ปณิธาน นู สกินสู่ชีวิตใหม่ที่ มาลาวี

ปณิธาน นู สกินสู่ชีวิตใหม่ที่ มาลาวี

โดย : จีราวัฒน์ คงแก้ว

มุมคิดดีๆ ของนูสกินสามารถเปลี่ยนประเทศมาลาวีให้ผู้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้กับโมเดลธุรกิจเพื่อสังคมที่มีวิธีคิดลึกซึ้งไปกว่าแค่การบริจาค

การเสียสละเพื่อโครงการพลังแห่งความดี อาจเป็นสิ่งที่เราทำเพียง 5% แต่มันเป็น 95% ที่แสดงตัวตนของเรา

 นี่คือปณิธานสะท้อนตัวตนคน นู สกินที่ มร.เบลค โรนีย์ ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหาร บริษัท นู สกิน เอ็นเตอร์ไพร์ส อิงค์ สหรัฐอเมริกา กล่าวไว้ เพื่อแทนเข็มทิศนำทางพวกเขาให้ดำเนินธุรกิจ ควบคู่ไปกับการทำสิ่งดีๆ คืนสู่สังคม

หนึ่งในผลิตผลที่สำคัญของนโยบายพลังแห่งความดี คือ ชีวิตใหม่ที่มาลาวี ประเทศเล็กๆ ในทวีปแอฟริกา

แม้ มาลาวี จะไม่ได้แห้งแล้งความช่วยเหลือ เมื่อทั่วโลกส่งของบริจาคไปให้อย่างต่อเนื่อง แต่สิ่งที่ผู้ก่อตั้งนู สกินมองต่างออกไปคือ ผู้คนที่นี่ยังอดอยาก ไร้อาชีพ และขาดปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต ขณะที่เด็กๆ ก็เป็นโรคขาดสารอาหาร

นั่นหมายความว่า สิ่งที่คนที่นี่ต้องการอาจไม่ใช่แค่ ของบริจาคเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเพียงแค่ชั่วครู่ชั่วยามเท่านั้น

นู สกินจึงเริ่มโครงการเพื่อช่วยเหลือชาวมาลาวีขึ้น ในปี 2545 วิธีคิดที่ต่างออกไปคือ มุ่งเน้นพัฒนาศักยภาพของชาวมาลาวี ให้สามารถเลี้ยงชีพและพึ่งพาตัวเองได้อย่างยั่งยืน

ภคพรรณ ลีวุฒินันท์ประธานกรรมการบริหาร บริษัท นู สกิน เอ็นเตอร์ไพร์ส (ประเทศไทย) จำกัด อธิบายความคิดนี้ว่า นู สกินเริ่มเข้าไปตั้งโรงงานที่มาลาวี เพื่อผลิต ข้าวไวตามีลข้าวที่ไม่ได้มีไว้ขาย แต่เพื่อบริจาคให้กับเด็กขาดสารอาหารทั่วโลก มีโรงงานแต่จะหาผลผลิตเข้ามาป้อนโรงงานอย่างไร เมื่อคนที่นี่ไม่ได้ทำการเกษตร และเหตุที่ไม่ทำเพราะยังขาดความรู้ จึงต้องต่อยอดมาสร้างโรงเรียนที่พวกเขาเรียกว่า School of Agriculture for Family Independence หรือ SAFI เพื่อถ่ายทอดทักษะด้านการเกษตร ให้กับพวกเขา

เรามองถึงการช่วยเหลือทั้งวงจร ไม่ใช่แค่บริจาคเงิน หรือบริจาคข้าวแล้วจบไป แต่ต้องทำให้ชาวมาลาวีอยู่ด้วยตัวเองได้ด้วย จึงเลือกสร้างโรงเรียน สอนให้เขารู้จักการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ เพื่อจุนเจือครอบครัว เมื่อให้มีผลผลิตส่งเข้าโรงงาน และข้าวไวตามีลที่ผลิตได้นู สกินจะรับซื้อไว้ทั้งหมด แล้วส่งไปแก้ปัญหาเด็กขาดสารอาหารทั่วโลก ไม่ใช่แค่ที่มาลาวี

นี่คือวิธีคิดแบบนู สกิน ที่ผู้บริหารนู สกินประเทศไทยเล่าให้เราฟัง

แต่ภาคธุรกิจที่ไม่ต่างจาก คนแปลกหน้าการที่จะเข้าไปทำภารกิจใหญ่ขนาดนั้นจึงถือว่าไม่ใช่เรื่องง่าย ทำอย่างไรจึงจะได้รับความร่วมมือจากชาวมาลาวี พวกเขาเริ่มจากการเข้าไปหาผู้นำชุมชน เพื่อเปิดใจสร้างการยอมรับ จากนั้นก็คิดกลยุทธ์ จูงใจให้ชาวมาลาวี ได้มาเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะของตนเองด้วยความสมัครใจ สูตรที่ว่าก็แค่...

สร้างบ้านให้อยู่ฟรีเป็นเวลา 2 ปี บ้านหนึ่งหลังอยู่กันได้ทั้งครอบครัว บวกรายได้และอาหาร แต่ละครอบครัวจะมีโควตา พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์อารมณ์ประมาณ จ้างมาเรียน  หลักสูตรที่สอนก็มีตั้งแต่การเกษตร เพาะปลูก ทำปุ๋ย ทำระบบชลประทาน และเลี้ยงสัตว์

จากนั้นคนที่จบออกไปแล้วก็จะต้องไปถ่ายทอดความรู้ที่เรียนมา ให้กับคนในชุมชนของตัวเอง ส่วนบ้านที่ว่างลงก็จะหมุนเวียนให้นักเรียนหน้าใหม่เข้ามาแทนที่ เป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ และนี่คือความยั่งยืนที่พวกเขาว่า

เมื่อชาวบ้านสร้างผลผลิตได้มากขึ้น วิธีคิดต่อมา คือ จะต้องรับซื้อผลิตภัณฑ์พวกนั้น เพื่อให้การแก้ปัญหาของชาวมาลาวีเกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืน

ผลิตผล ข้าวไวตามีลจากโรงงานมาลาวี มีแนวคิดเพื่อบริจาคให้เด็กขาดสารอาหารทั่วโลก พวกเขาจึงส่งมอบนโยบายนี้ไปยังชาวนู สกินใน 47 ประเทศทั่วโลก เพื่อรณรงค์ให้ตัวแทนจำหน่ายและผู้ใช้สินค้าของนู สกิน ร่วมทำความดีด้วยการบริจาคเงินซื้อข้าวสร้างบุญทั่วโลก

สิ่งหนึ่งที่เราถ่ายทอดให้ผู้แทนจำหน่ายของเราตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาร่วมงานกัน คือสอนให้รู้จักการให้ และตอบแทนสู่สังคม เมื่อนู สกินให้โอกาสพวกเขาได้มีธุรกิจของตัวเอง มีรายได้ และประสบความสำเร็จ เขาก็ต้องตอบแทนสู่สังคมด้วยทำให้เราได้รับความร่วมมือจากผู้แทนจำหน่ายเป็นอย่างดี เมื่อมีโครงการข้าวไวตามีลออกมา ทุกคนร่วมกันบริจาค ทำให้ข้าวจากส่วนกลางถูกส่งไปแก้ปัญหาได้อีกในหลายพื้นที่ทั่วโลก

สิ่งที่สะท้อนกลับมา จากวัฒนธรรมที่เริ่มต้นด้วย การให้คือ มีตัวแทนจำหน่ายที่มีจิตใจดี คิดถึงผู้อื่น คิดถึงองค์กร และซื่อสัตย์ ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ แน่นอนว่าผลดีย่อมสะท้อนกลับมาสู่ธุรกิจนู สกินในที่สุด

นับจากวันเริ่มต้น ที่ข้าวไวตามีลถูกผลิตจากโรงงานมาลาวี นับถึงปี 2010 นู สกินสามารถบริจาคข้าวได้แล้วถึง 200 ล้านมื้อ ขณะที่ประเทศไทยก็บริจาคไปแล้วที่ 550,000 มื้อ การช่วยเหลือที่เกิดขึ้นจึงไม่ได้สิ้นสุดที่มาลาวีเท่านั้น แต่หมายถึงเด็กที่ประสบปัญหาทั่วโลก

และหนึ่งในความช่วยเหลือนั้น รวมถึงเด็กๆ ในพื้นที่ภาคเหนือของบ้านเราด้วย !

หลายโครงการของนู สกินดูผูกพันอยู่กับเด็ก ภคพรรณบอกเราว่า สำหรับเธอเด็ก คืออนาคตของโลกใบนี้ การให้โอกาสกับเด็ก ย่อมเป็นการสร้างสังคมที่ดีในอนาคตเช่นเดียวกัน

ในประเทศไทย ผู้บริหารหญิงเก่งก็ได้รับโจทย์หินจากบริษัทแม่ โจทย์ที่มาตั้งแต่วันตอกเสาเข็มธุรกิจในแผ่นดินสยามเมื่อ 14 ปี แล้ว คือให้เธอไปหาดูว่าประเทศไทยยังมีปัญหาอะไร และนู สกินจะทำอะไรเพื่อประเทศไทยได้บ้าง

พูดได้ว่า ในวันนั้นธุรกิจนู สกิน ยังไม่ได้ตั้งตัวด้วยซ้ำ จะกำไรหรือขาดทุนก็ยังไม่รู้ แต่ผู้บริหารบอกว่าให้ไปหาโครงการดีๆ ในประเทศไทยมา เราจะทำเพื่อสังคมควบคู่ไปกับนโยบายด้านธุรกิจ นี่คือแนวคิดของนู สกิน

นั่นคือที่มาของการเข้าไปสอดส่องหลายๆ มูลนิธิในประเทศไทย ที่ยังต้องการความช่วยเหลือ จนไปเจอกับมูลนิธิน้องใหม่ในวันนั้นที่เพิ่งเปิดตัวมาได้เพียง 1 ปี นั่นคือ มูลนิธิเพื่อสนับสนุนการผ่าตัดหัวใจเด็ก

ความช่วยเหลือที่ไม่ได้ทำแล้วจบไป แต่คือการให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน พิสูจน์ความตั้งใจจริงของพวกเขา จนสามารถช่วยชีวิตเด็กไปแล้วถึง 3,900 คน

ในช่วงแรกเราเริ่มจากบริจาคเงินก่อน จากนั้นก็มาดูว่ามูลนิธิยังขาดอะไรอีกบ้าง พัฒนามาเป็นเครื่องมือผ่าตัด ห้องไอซียู จนมาถึงสนับสนุนทุนการศึกษาให้กับหมอเพื่อกลับมาทำงานให้มูลนิธิ เรียกว่าเป็นการแก้ปัญหาไปได้ทีละขั้นตอน จาก ไม่มีเงิน ไม่มีห้องไอซียู ไม่มีเครื่องมือ ไม่มีหมอ เราพยายามขยายวงออกไป เพื่อจะสามารถผ่าตัดหัวใจเด็กได้เพิ่มขึ้นในแต่ละปี

จากการปลูกฝังแนวคิดเพื่อสังคมให้กับพนักงานและเหล่าตัวแทนจำหน่าย กลายเป็น ดีเอ็นเอของคนนู สกิน ภคพรรณ บอกว่า สิ่งที่น่าประทับใจในวันนี้ คือผู้แทนจำหน่ายระดับบริหารหลายคนเดินมาพบเธอ เพื่อขอให้หักรายได้ 1%  จากคอมมิชชั่นของพวกเขาในแต่ละเดือน เพื่อมอบเข้ามูลนิธิ กลายเป็นความสำเร็จของความร่วมมือที่ไม่ต้องกระตุ้นให้ทำ แต่เป็นไปโดยอัตโนมัติ

ทุกวันนี้เราไม่ต้องพูดเองแล้ว แต่มีคนพูดสิ่งดีๆ เหล่านี้แทนเราเธอกำลังพูดถึงความร่วมแรงร่วมใจจากตัวแทนจำหน่ายที่บอกต่อความงดงามนี้ออกไปในวงกว้าง

พูดถึงธุรกิจ กับการทำสิ่งดีเพื่อสังคม ผู้บริหารนู สกินบอกเราว่า พวกเธอมองไกลไปกว่า CSR  หรือการที่ธุรกิจมีผลกำไรแล้วจึงเอามาแบ่งปันเพื่อสังคม แต่มองเข้าใกล้ Social Enterprise ให้มากขึ้น คือ ตั้งต้นธุรกิจที่สร้างสรรค์สังคม เป็นมิตรกับโลกและสิ่งแวดล้อม แล้วคิดวิธีอยู่รอดอย่างยั่งยืนให้ได้

 แนวความคิดนี้อาจจะยังใหม่สำหรับประเทศไทย แต่มันจะดีมาก ถ้าความคิดแบบนี้ซึมซับอยู่ในทุกๆ บริษัท ขอแค่เชื่อว่า ถ้าตั้งใจจริง เราสามารถทำในลักษณะที่ยั่งยืนได้ และนี่จะเป็นคอนเซปต์ที่ช่วยทั้งประเทศ ไม่ใช่แค่องค์กรนั้นๆ เพราะจะทำให้ประเทศเราเติบโต และยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนให้สูงขึ้นได้

นี่คือวิธีคิดของพวกเขา ที่จะทำให้ ปณิธานกลายเป็นผลลัพธ์ที่ดี คืนสู่ผู้คนและโลก

 

 ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/business/csr/20110922/409074/ปณิธาน-นู-สกินสู่ชีวิตใหม่ที่-มาลาวี.html

 

aphondaworathan