สมดุลห่วงโซ่สังคม โมเดลคิดการใหญ่ 'ดีแทค'
สมดุลห่วงโซ่สังคม โมเดลคิดการใหญ่ 'ดีแทค'
โดย : ชนิตา ภระมรทัต
มนุษยเป็นสัตว์สังคม ระหว่างทางอาจมีแก็บหรือสุญญากาศระหว่างกัน จำเป็นต้องการสื่อสารเพื่อเชื่อมร้อยมนุษย์ด้วยความเข้าใจ
เมื่อดินฟ้าอากาศเปลี่ยนแปลงไป แล้วอะไร ๆ จะไม่เปลี่ยนตาม ในวันนี้มิติซีเอสอาร์ของ 'ดีแทค' จึงขอเดินตามแนวทางที่ชื่อว่า " สมดุลห่วงโซ่สังคม "
"ความสมดุล หมายถึง โครงการใดๆ ก็ตามต้องมีเจ้าภาพจากภาคส่วนต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมเพราะต่างมองเห็นถึงความยั่งยืนที่ปลายทาง ตรงกันข้ามหากทำเพียงลำพัง ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้น จะเป็นการรับภาระที่ใหญ่จนเกินไป" พีระพงษ์ กลิ่นละออ ผู้อำนวยการสำนักงาน สำนึกรักบ้านเกิด บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าว
ซึ่งล่าสุด โครงการปั่นจักรยานเพื่อน้อง ก็ได้พิสูจน์ความสำเร็จจากแนวทางนี้มาหมาด ๆ
เพราะโครงการดังกล่าวใช้เวลาเพียง 3 ปีเท่านั้น สร้างระยะทางสะสมได้กว่า 260,000 กิโลเมตร จนทำให้มียอดเงินเพื่อ การซื้อรถจักรยานให้น้องที่อยู่ในท้องที่ทุรกันดารมีจำนวนมากกว่า 2,600,000 บาท
พีระพงษ์ อธิบายปรากฏการณ์นี้ว่า เป็นเพราะ 'ฐานราก' ที่แข้มแข็งจึงนำไปสู่ความสำเร็จ
ฐานรากที่ว่า ก็คือ การมีส่วนร่วม ไม่ว่าของประชาชน ผู้ว่าราชการจังหวัด ตำรวจ ทหาร อบจ. อบต. ฯลฯ ไม่ยกเว้นเด็กอายุ 2 ขวบกว่าๆ ที่ตามคุณแม่มาปั่นจักรยาน หรือ ชายวัย 91 ปีที่ใจยังเยาว์จึงไม่หวั่นที่จะขอเข้าร่วมในโครงการ
" สำหรับโมเดลของสมดุลห่วงโซ่สังคม เมื่อมีฐานรากดีแล้วจะวิ่งไปสู่เสา ที่ประกอบด้วยความรัก การริเริ่ม ความรู้ จากนั้นก็ตรงไปสู่ฐานข้างบนที่มีคำว่ายั่งยืนรออยู่ ซึ่งโครงการปั่นจักรยานเพื่อน้อง มีความรักของคนทุกภาคส่วน เป็นเสา เป็นตัวเชื่อม ถามว่าทำไมจึงรัก ก็เพราะพวกเขาเห็นผลดีจากการปั่นจักรยาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสุขภาพ การลดพลังงาน และสิ่งแวดล้อม สำคัญที่สุดคือเห็น ความยั่งยืน"
การคิดให้รอบด้าน มองถึงความต้องการของคนทุกฝ่าย ความสมดุลของฐานรากและฐานข้างบนก็จะเกิดความสมดุล เป็นข้อคิดที่ไม่ควรละเลย
ความสำเร็จของธุรกิจจะเกิดขึ้นได้อย่างไร หากน้ำหนักดีมานด์มากกว่าซัพพลาย ในมิติของซีเอสอาร์ก็เช่นเดียวกัน หากจากฐานรากแคบเข้าจนกลายเป็นปิระมิดที่ฐานข้างบน หรือ เเริ่มต้นด้วยฐานรากเล็กๆ แต่ข้างบนกลับเป็นปลายบาน
"ในทุกรากฐาน ในทุกความคิดของผมจะพิจารณาถึงความสมดุลเสมอ ถ้าเราคิดอย่างเดียวแต่ไม่มีส่วนร่วม ถ้ามีความรักแล้วแต่ไม่มีแรงส่ง ก็ไม่มีการสนองตอบ อย่าง ไรก็ดีเมื่อมีการพัฒนาทุกอย่างแล้วแต่กลับไม่มีจุดจบ แทนที่จะเกิดความยินดีก็อาจกลายเป็นความงุนงง แต่ถ้าพัฒนาแล้วเห็นความสุขรออยู่ แสดงว่ามันมีสมดุลแล้ว"
แต่จะให้ยั่งยืนต้องเกิดวงจร ริเริ่ม- รับรู้ -มีส่วนร่วม สามคำนี้ต้องวิ่งวนอย่างไม่รู้จบสิ้น
โชคร้ายที่หลายๆ โครงการกลับต้องเจอทางตัน เพราะเมื่อ ริเริ่ม-รับรู้ สุดท้ายมักจะร่วงโรย พีระพงษ์แนะแก้สมการนี้ด้วย สุ จิ ปุ ลิ หรือ ฟัง คิด ถาม เขียน
" มนุษยเป็นสัตว์สังคม ระหว่างทางที่กำลังเดินไปสู่ปลายทางอาจมีแก็บหรือสุญญากาศระหว่างกัน จำเป็นต้องอาศัยการสื่อสาร ฟัง คิด ถามความคิดเห็นกันตลอดเวลา จะสามารถเชื่อมร้อยมนุษย์ด้วยความเข้าใจ"
ทั้งนี้หลายเรื่องราวบนโลกใบนี้มักเป็นนามธรรม เช่นคำว่า ความเป็นธรรม ซึ่งโดยสามัญคนเราจะนิยามคำๆ นี้แตกต่างกันไปยาก แต่ถ้าสื่อสารทำ ความเข้าใจ จนเกิดความรักขึ้นมาได้ ความเป็นธรรมเป็นอะไรที่ไม่เหนือความคาดหมายและสร้างกันเองได้ระหว่างกันอย่างเป็นรูปธรรม
โครงการปั่นจักรยานเพื่อน้องเลยเป็นอะไร ๆ ที่พีระพงษ์หมดห่วง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าโครงการอื่นๆ เช่น *1677 ทางด่วนข้อมูลการเกษตร (Farmer Information Superhighway) หรือ 'โมบายแบตเตอรี่ฟอร์ไลฟ์ และโครงการอื่นๆ จะสร้างความหนักใจกับเขา เพราะทุกโครงการซีเอสอาร์ของดีแทคเดินด้วยแนวทางสมดุลห่วงโซ่สังคม
"โครงการ *1677 สิ้นปีเราจะขยายฐานเกษตรกรได้ 2.5 แสนราย จากเดิมแค่หลักหมื่นจากนี้มันจะขยายเพิ่มเป็นเท่าตัว เพราะแนวทางของห่วงโซ่สังคม ทำให้เกษตรกรจะบอกต่อสอนต่อกันไป ส่วนโครงการแบตเตอรี่ฯ เราก็พัฒนาสองแกนไปพร้อมกันคือ ขยายฐานการบริจาคจากแบตเตอรี่เก่าไปสู่มือถือเก่า และขยายฐานของจำนวนบริษัทที่ทำร่วมกันกับเรา เพื่อลดสิ่งที่เป็นสารพิษสู่สังคมภายนอก และนี่ก็คือห่วงโซ่ที่สมดุลเช่นกัน"
เมื่อดินฟ้าอากาศเปลี่ยนแปลงไป แล้วอะไร ๆ จะไม่เปลี่ยนตาม มิหนำซ้ำยังมีเทคโนโลยีที่แอดวานซ์ขึ้นทุกวันเป็นตัวเร่ง " สมดุลห่วงโซ่สังคม " ก็ย่อมมีวันที่หมดอายุ ถามว่าเมื่อไหร่ ? พีระพงษ์บอกว่าปีพ.ศ. 2558 ปีที่เป็นจุดเริ่มต้นของประชาคมอาเซียน
จะมีอะไรเกิดอะไรขึ้นบ้าง?
เขาบอกว่า แน่ๆ คือความร่วมไม้ร่วมมือ อย่างประเทศไทยมี ซีเอสอาร์คลับ ดังนั้นในอนาคตก็คงต้องมี ซีเอสอาร์อาเซียน
"กลุ่มประเทศอาเซียนต้องการซีเอสอาร์ที่คล้ายกัน อย่างไรก็ดีก็มีความแตกต่างกันไปบ้าง เราต้องหาจุดร่วมและจุดต่างเพื่อหาแนวทางที่สอดคล้องเหมาะสมในแต่ละประเทศ แต่สุดท้ายมนุษย์ก็มักหนีพ้น เรื่องปัจจัยสี่ ได้แก่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่พักอาศัย และ ยารักษาโรค"
แม้ว่าอะไรๆ เมื่อหลงยุคก็ไร้ค่า แต่คำว่ามนุษย์ยังคงเป็นอมตะเสมอ ขึ้นอยู่กับฝีมือในการถอดรหัส เพราะยังไงเรื่องของ คน หรือคำว่า คน ก็ยังสร้างความวุ่นวาย วกวนอยู่เรื่อยมา