ซีเอสอาร์ในลู่วิ่งมาราธอน "มิชลิน"
ซีเอสอาร์ในลู่วิ่งมาราธอน "มิชลิน"
โดย : ชนิตา ภระมรทัต
เป้าหมายของกลุ่มสยามมิชลิน โดยเฉพาะเรื่องซีเอสอาร์ก็คือ ไม่ต้องการเป็นนักวิ่งลมกรดในลู่ 100 เมตร แต่ต้องการอยู่ในลู่วิ่งมาราธอน
แม้ว่าในสายตาผู้ชมนั้น นักวิ่งระยะสั้นจะดูมีเสน่ห์ ร้อนแรง คงไม่ต่างอะไรกับพลุที่ถูกจุดขึ้นไปสว่างไสวบนท้องฟ้า แต่ที่สุดมันก็เป็นเปรี้ยงปร้าง ดังได้เพียงชั่ววูบ
จึงหมายความว่า กิจกรรมซีเอสอาร์ของมิชลินจะมีความแตกต่างไปจากองค์กรอื่นๆ คือ มีลักษณะ Bottom-up คือไม่ใช่เบอร์ใหญ่สั่งการ Top-down แต่เปิดโอกาสให้พนักงานคิดริเริ่ม และลงมือปฏิบัติด้วยตัวเอง
"ซีเอสอาร์มันต้องมาจากใจ เพราะถ้ารับคำสั่ง ไม่นานความดีที่ได้ไปทำก็มักจะถูกลืม" เสกสรรค์ ไตรอุโฆษ กรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มสยามมิชลิน กล่าว
แน่นอน แม้ว่าซีเอสอาร์แบบ Top-down เมื่อเจ้านายสั่งมา จ่ายเงินให้ จะสามารถเคลื่อนไหวได้รวดเร็วกว่า ขณะที่ Bottom-up จะล่าช้า ด้วยพนักงานไม่ใช่มนุษย์ซีเอสอาร์มืออาชีพ กว่าจะคิด กว่าจะขยับทำอะไรล้วนมีเหตุติดขัด
ผลลัพท์ที่เกิดคงเหมือนนิทานกระต่ายกับเต่า คนวิ่งช้ากลับถึงเป้าหมายก่อน เช่นเดียวกันกิจกรรมซีเอสอาร์แบบ Bottom-up จะยังคงมีชีวิตยืนยาวชั่วลูกหลาน อะไรคือ หัวใจสำคัญ? เพราะกิจกรรมซีเอสอาร์ที่พนักงานมิชลินคิดเอง ล้วนกลับไปทำที่โรงเรียนเก่า ที่บ้านเกิดทั้งสิ้น ซึ่งโมเดลนี้ เสกสรรค์ บอกว่า ริเริ่มเมื่อปีพ.ศ. 2553 ในชื่อ "โครงการมิชลินอาสา พัฒนา ชุมชน"
"มิชลินมีความคิดว่า ทำอย่างไรดีที่กิจกรรมขององค์กรไม่ใช่แค่การไปปลูกต้นไม้ ปล่อยปลา แต่เราอยากให้พนักงานคิดพัฒนาขึ้นมาเอง และลงมือทำเองด้วย ขณะที่สิ่งที่บริษัทจะสนับสนุนมีเพียง 2 เรื่อง นั่นคือ เงินลงทุนและ หัวข้อในการพัฒนา"
ซึ่งหัวข้อในการพัฒนานั้นเปรียบเป็นหมือนกรอบที่ควบคุมไม่ให้ความคิดของพนักงานไถลลื่นออกนอกเส้นทาง โดยมีด้วยกันอยู่ 3 มิติ ได้แก่ 1. การศึกษา 2. สิ่งแวดล้อม และ3. ความปลอดภัยในชุมชน
ส่วนวิธีการที่ทำให้พนักงานซื้อแนวคิดนี้ ก็คือ ผู้บริหารบอกผ่านไปยังฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ให้สื่อสารไปยังพนักงานกว่า 6,500 คน ซึ่งอยู่ในโรงงานผลิตของมิชลินที่มีอยู่ถึง 5 โรงงานในประเทศไทย ให้ช่วยกันคิด ช่วยนำเสนอไอเดียดีๆ เสกสรรค์บอกว่าโชคดีที่คนไทยชอบทำความดี อีกทั้งพนักงานมิชลินจะเคารพค่านิยมองค์กร 5 ประการ คือ ให้ความสำคัญต่อลูกค้า ให้ความสำคัญต่อบุคคล ให้ความสำคัญต่อผู้ถือหุ้น ให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม และให้ความสำคัญต่อความถูกต้อง
การขับเคลื่อนเลยไม่ยาก ดังนั้นทำให้เกิดโครงการซีเอสอาร์ถึง 8 โครงการเมื่อปีที่ผ่านมา
เสกสรรค์บอกว่าทุกโครงการมุ่งเน้นมิติการศึกษา เพราะส่วนใหญ่เป็นโครงการที่กลับไปพัฒนาโรงเรียนเก่า ที่บ้านเกิดของพนักงาน ซึ่งอยู่ทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นหลัก
" ผมได้เห็นน้ำตาของพนักงาน เวลาที่พูดคุยกับครูของเขาว่า พวกเขามาคืนสิ่งดีๆ ที่เคยได้รับจากโรงเรียน และจากชุมชน เขาขนบรรดาเพื่อนร่วมอุดมการณ์มาช่วยกันทาสี ซ่อมห้องน้ำ ทำให้สิ่งแวดล้อมโรงเรียน ดีขึ้น มากกว่านั้น ความผูกพันที่มีทำให้เขาสามารถดึงชาวบ้าน 30-40 คนในชุมชนมาช่วยกันทำให้โครงการเสร็จสมบูรณ์"
และคงจะเกิดภาพที่แตกต่างไปอย่างสิ้นเชิง ถ้ามิชลินตกลงทำซีเอสอาร์ง่าย ๆ คือ Top-down แล้วทุ่มเงินลงไป จากนั้นก็ถ่ายรูปทำพีอาร์แล้วจบ
"เราไม่ต้องการโฆษณามิชลิน เพราะมิชลินเป็นที่รู้จักดีอยู่แล้ว เราไม่หวังทางการตลาด แต่เราพยายามจะให้พนักงานเป็นฑูตที่สื่อให้เห็นว่าเพราะบริษัททำดีต่อเขา สนับสนุนให้เขาไปช่วยเหลือสังคมและโรงเรียนเก่าของเขา ทั้งนี้ไม่ใช่การบังคับแต่เป็นเพราะพนักงานขออาสา"
สำหรับปี พ.ศ. 2554 โครงการมิชลินอาสา พัฒนาชุมชน เพิ่มจากเดิมเป็น 14 โครงการ เสกสรรค์บอกว่าเกณฑ์ในการคัดเลือกโครงการขึ้นอยู่กับการพิจารณาของผู้ที่เกี่ยวข้องในแต่ละโรงงาน ส่วนตัวเขาแล้วไม่เจาะจง หรือให้สิทธิพิเศษกับโรงงานใดโรงงานหนึ่งเป็นพิเศษ โดยหลักการแล้วก็คือ มอบเงินจำนวน 2 แสนบาท/ โครงการ แล้วให้พนักงานบริหารจัดการกันเอง
"บริษัทก็หวังว่าในอนาคตจะมีจำนวนโครงการเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แน่นอนก็มีคนถามว่า แล้วบริษัทจะมีเงินพอหรือเปล่า มีเวลาพอหรือเปล่า สำหรับผมประมาณ 5 โครงการ / 1โรงงาน น่าจะพอดี แต่ถ้าโครงการดีจริงๆ และไม่ทำให้เวลาทำงานเสียหาย ผมสนับสนุนแน่นอน"
เพราะโครงการดังกล่าวไม่ได้หมายถึง การคิดถึงชุมชน การคิดถึงสิ่งแวดล้อม แต่มันเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่า นั่นคือ มิชลิน ต้องการจะแสดงน้ำใจกับพนักงานซึ่งมีคุณค่ามหาศาล หากขาดพนักงานองค์กรก็ไม่อาจเดินต่อไปหรือยิ่งใหญ่ได้
" ผมหวังให้พนักงานเกิดความรู้สึกดีๆ จากการได้คืนกลับสิ่งดีๆ ให้บ้านเกิด และสุดท้ายถ้าเราทำโครงการนี้อย่างต่อเนื่อง ก็เชื่อว่าคนในชุมชนจะรับรู้ว่ามิชลินสอนให้คนไม่ลืมชุมชนบ้านเกิด"
ดูแลคนในบ้านให้ดี จากนั้นคนในบ้านก็ออกไปดูแลคนนอกบ้าน คนนอกบ้านก็ไปดูแลคนนอกบ้านอีกที ทำแบบนี้วงแห่งการดูแลก็ยิ่งขยายใหญ่
------------------------------------
โครงการมิชลินอาสา พัฒนาชุมชน เป็นโครงการส่งเสริมการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมภายในชุมชนอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมตามแนวทางการดำเนินงานและความรับ ผิดชอบของมิชลินที่มีต่อสังคม (Michelin Performance and Responsibility) โดยในปีนี้ มีโครงการผ่านการคัดเลือกทั้งสิ้น 14 ชุมชน ได้แก่ 1.โรงเรียนวัดโนนสภาราม จ.สระบุรี 2.โรงเรียนบ้านนาข่าท่า จ.นครพนม 3.โรงเรียนวัดบ้านหนองเต่า จ.นครราชสีมา 4. โรงเรียนไพบูลย์ประชานุกูล จ.ฉะเชิงเทรา 5. โรงเรียนบ้านฉกาจช่องโค จ.นครราชสีมา 6. โรงเรียนบ้านหนองหล่มหนองเหล่า จ.อุบลราชธานี 7. โรงเรียนบ้านโนนแดงมะขาม จ.มหาสารคาม 8. ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านหนองส้ม จ.มหาสารคาม 9. โรงเรียนเหมือดป่าตอง จ.ยโสธร 10. โรงเรียนวัดปุณหังสนาวาส วัดสำโรงใต้ จ. สมุทรปราการ 11. ชุมชนวัดสำโรงใต้ จ. สมุทรปราการ 12. โรงเรียนบ้านวังก้นหวด จ.เพชรบูรณ์ 13. โรงเรียนบ้านบุ จ.บุรีรัมย์ 14. ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านโคกทม จ.สุรินทร์