แนวทาง CSR ของ LPN ขยายวงสู่ชุมชนจิตอาสา
แนวทาง CSR ของ LPN ขยายวงสู่ชุมชนจิตอาสา
โดย...สุวัฒน์ ทองธนากุล
น่าสังเกตว่าหลายทำเลเด่นที่เข้าสู่ใจกลางเมืองหลวง เราจะเห็นอาคารคอนโดมิเนียมโดดเด่นคล้ายสีครีมสลับแถบเขียวติดตราสัญลักษณ์ LPN ให้เห็นเป็นแลนด์มาร์คของย่านนั้นๆ ก็ว่าได้
เป็นเรื่องน่าคิดว่า การประเมินว่ากิจการธุรกิจประสบความสำเร็จอย่างแท้จริงนั้น ในยุคนี้เราต้องดูที่มีความดี และ เก่ง คือ ผลผลิตมีคุณภาพ ประสิทธิภาพ และมีคุณธรรม เป็นแก่นแกนองค์กรที่มีความเจริญก้าวหน้า “อย่างยั่งยืน” ก็จะมีคุณลักษณะดังกล่าว
บริษัท แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) เป็นกิจการตัวอย่างที่น่าศึกษาในแง่การประกอบกิจการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ก่อสร้างและขายอาคารคอนโดมิเนียมที่คำนึงถึงความพอใจของลูกค้าทั้งในตัวผลิตภัณฑ์ และราคาขณะที่ไม่สร้างปัญหาแก่ชุมชนแวดล้อม
ขณะนี้จิตสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคมได้ขยายจากความสัมพันธ์เชิงธุรกิจในโครงการต่างๆ ของแอลพีเอ็น หรือ “ลุมพินี” เกิดเป็นชมรมลูกบ้านแล้ว 4 โครงการ ได้แก่
เหล่าจิตอาสาหย่อนเมล็ดพันธุ์ข้าวโพด เก็บอ้อยในไร่เพื่อเป็นอาหารช้าง
1. ชมรมฅนอาสา ลุมพินี บดินทรเดชา-รามคำแหง ได้ทำกิจกรรมมาแล้ว 4 ครั้ง ได้แก่ 1)บริจาคสิ่งของ และเลี้ยงอาหารกลางวันเด็กผู้ด้อยโอกาส ณ สถานสงเคราะห์เด็กอ่อนรังสิต 2)ปลูกป่าชายเลน ณ ศูนย์อนุรักษ์ป่าชายเลน คลองโคน จ.สมุทรสงคราม 3)ปลูกปะการัง เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ณ หาดเตยงาม หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน 4)นำเงินและสิ่งของบริจาคแบ่งปันเติมฝันเพื่อน้อง ณ โรงเรียนบ้านราษฎร์บำรุง อ. ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี ล่าสุด 5)เติมเต็มความสุขให้ช้างไทย ณ บ้าน ช. ช้างชรา จ.กาญจนบุรี
2.ชมรมรวมพลคนใจดี ลุมพินีอาสา ทำกิจกรรม1)เลี้ยงอาหารกลางวันน้องๆ โรงเรียนบ้านโคกสว่าง จ.สระแก้ว2)บริจาคสิ่งของ ณ ศูนย์วิวัฒน์พลเมือง จ.นครราชสีมา 3บริจาคสิ่งของ ณ สถานสงคราะห์คนชรา เฉลิมราชกุมารี/บ้าน ช.ช้างชรา จ.กาญจนบุรี
3. ชมรมชุมชนน่าอยู่ ลุมพินีสัมพันธ์ ทำกิจกรรม 1)บริจาคสิ่งของและเงิน 330,000 บาท แด่วัดพระบาทน้ำพุ จ.ลพบุรี 2)สร้างฝายชะลอน้ำ จ.นครนายก 3)เลี้ยงเด็กกำพร้า จ.กาญจนบุรี 4) ปลูกปะการัง จ.ชลบุรี 5) Unseen อิ่มบุญ จ.สมุทรสงคราม
4. ชมรม ลุมพินี เดิน-วิ่ง เพื่อสุขภาพ มีกิจกรรม1) มินิมาราธอนวันแม่ 12 สิงหาคม 2554 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ 2) พาผู้พิการทางสายตาจากสมาคมสตรีตาบอด ในประเทศไทย ทำบุญไหว้พระ และเที่ยวตลาดน้ำดอนหวาย จ.นครปฐม
กิจกรรมล่าสุดของ ชมรม “ฅนอาสา ลุมพินี บดินทรเดชา-รามคำแหง” ที่พาไปเติมเต็มความสุขให้ช้างไทย ณ ศูนย์อนุรักษ์ช้างกาญจนบุรี จ.กาญจนบุรี ซึ่งเป็นศูนย์ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์เพื่อให้คนกับช้างได้ใกล้ชิดและเรียนรู้การใช้ชีวิตซึ่งกันและกันท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติ ในศูนย์ฯ ช้างส่วนใหญ่เป็นช้างด้อยโอกาสไม่สามารถทำงานที่ปางช้างได้ เนื่องจากบาดเจ็บ ชรา และเร่ร่อน ชมรมฅนอาสาฯ จึงเห็นว่าควรรีบช่วยกันดูแลก่อนที่จะสูญพันธุ์
กิจกรรมครั้งนี้มีลูกบ้าน โครงการลุมพินี คอนโดทาวน์ บดินทร์เดชา-รามคำแหงและชุมชนใกล้เคียงกว่า 90 คน ไปด้วยจิตอาสาช่วยกันเลี้ยงช้าง ให้อาหาร อาบน้ำ ดูแลสุขภาพช้างเบื้องต้น และบริจาคเงินเพื่อให้ความช่วยเหลือ กิจกรรมไฮไลท์คือ การปลูกหญ้าบาน่าและข้าวโพดหวานเพื่อเป็นอาหาร สมาชิกจิตอาสาลงแรงคนละไม้ละมือจับจอบ จับเสียม ขุดดินหย่อนเมล็ดพันธุ์กันอย่างขะมักขเม้น อย่างไม่กลัวกับแสงแดดที่ร้อนจ้า เพียงแค่หวังว่าช้างจะมีอาหารกินอย่างอุดมสมบูรณ์ตลอดทั้งปี
ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ ย่อมมีโอกาสสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมมาก โดยเฉพาะจากผู้ประกอบการที่ไม่คำนึงถึงคุณภาพและไม่เห็นความสำคัญในการมุ่งพัฒนากิจการให้เจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืน
ผมได้รับการยืนยันและติดตามดูแนวทางการดำเนินงานของบริษัท แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ก็พบว่า ให้ความสำคัญต่อความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยกำหนดไว้ในแผนธุรกิจของบริษัท ทั้งความรับผิดชอบในกระบวนการ (In Process) หรือนอกกระบวนการ (After Process) มีการปลูกจิตสำนึกด้านความรับผิดชอบให้กับพนักงานทุกสายงาน และขยายวงสู่ผู้พักอาศัยในชุมชน “ลุมพินี” เรียกว่าแนวทาง CSR (Corporate Social Responsibility to Community Social Responsibility) จากในองค์กรได้ขยายบทบาทสู่ชุมชน และได้ตั้งงบประมาณในการดำเนินการตามเป้าหมายโดยกำหนดเป็นสัดส่วนต่อยอดขายของบริษัทอีกด้วย
ด้วยจิตสำนึกความรับผิดชอบที่เริ่มต้นจากระดับบริหารองค์กรจึงมีผลต่อนโยบายธุรกิจที่เริ่มจากองค์กรและภายในชุมชนที่เป็น “ลูกบ้าน” แล้วขยายสู่สังคมภายนอก นับว่าเกิดความมีส่วนร่วมจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม เช่น พนักงาน ลูกค้า คู่ค้า
แนวคิดเช่นนี้จึงส่งผลให้เกิดแนวทางการปฏิบัติของทุกส่วนงานในองค์กร และการบริหารจัดการชุมชนที่ชูจุดยืนเชิงยุทธศาสตร์ (Positioning)ให้ทุกโครงการเป็น “ชุมชนน่าอยู่” และเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคและสังคมที่ยืนได้ด้วยอัตราการขยายธุรกิจการลงทุนอย่างต่อเนื่อง
ที่มา: http://www.manager.co.th/mgrWeekly/ViewNews.aspx?NewsID=9540000107250