แปลงโฉม GreenToy สู่ Sustainable แปลนทอยส์
แปลงโฉม GreenToy สู่ Sustainable แปลนทอยส์
โดยวันเพ็ญ แก้วสกุล
แม้จะทำธุรกิจของเล่น แต่แปลนทอยส์จริงจังกับทุกสิ่งที่ทำ ไม่เฉพาะกับธุรกิจเอง
การไม่คิดเฉพาะตัวเอง แต่คิดและทำเพื่อคนอื่น เป็นแนวทางที่ใครๆ ในยุคนี้ต้องรู้จัก และหวังจะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการ CSR หรือ ความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility) กับเขาบ้าง ทั้งพวกที่คิดอย่างจริงจัง และที่ตื่นทำตามกระแส แต่สำหรับ วิฑูรย์ วิระพรสวรรค์ ประธานกรรมการ บริษัท แปลน ครีเอชั่นส์ จำกัด แล้ว เขาบอก
"เพิ่งรู้ไม่นานมานี้เอง ว่าสิ่งที่ผู้บริหารและพนักงานแปลนทอยส์ทำกันมาตลอด 30 ปีมานี้ เรียกว่า ซีเอสอาร์ เพราะสิ่งที่คิดและทำมาตลอดนี้...เกิดมาจากจริตล้วนๆ"
หลักคิด
จาก GreenToy-Green Company สู่ Sustainable Play วิฑูรย์ มองการเปลี่ยนแปลงของแปลนทอยส์ ตลอด 30 ปีนี้ กับเส้นทางเดินต่อไปข้างหน้าที่เห็นว่า...ต้องมีการเปลี่ยนแปลง
Green Toy - Green Company กรอบคิดที่ยึดหลักของเล่นที่เป็นมิตรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยมีองค์ประกอบของ
Green Material การเป็นบริษัทแห่งแรกของโลกที่ผลิตของเล่นที่มาจากไม้ยางพาราที่หมดอายุการให้น้ำยางแล้ว (Recycled Rubber Wood) มาเข้าสู่กระบวนการผลิตที่ทุกส่วนของการทำงานต้องปลอดจากสารเคมี
Green Manufacturing การผลิตสีเขียวที่ แปลนทอยส์ ใช้ความพยายามอยู่นานกว่า 10 ปี ในการสร้างองค์ความรู้เพื่อการผลิตของเล่นจากไม้ยาง
Green Mind การทำงานที่คิดเรื่องคุณภาพชีวิตดี และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด หรือ เป็นศูนย์
"เราเป็นเจ้าแรกในโลกที่เอาไม้ยางมาทำของเล่นเมื่อ 30 ปีก่อน แต่ก่อนชาวสวนยางพอกรีดยางเสร็จแล้วจะเผาทิ้ง แต่เราเห็นว่าจะเผาทิ้งทำไม รู้สึกเสียดาย น่าจะเอามาทำประโยชน์อะไรได้อีก ทำให้เราเริ่มศึกษาและหาวิธีที่จะเอาไม้ยางมาทำเป็นของเล่นได้อย่างไร"
วิฑูรย์ บอก แรก ๆ คนจะไม่เข้าใจว่าทำไมถึงเอาไม้ยางมาทำของเล่น เพราะประเทศไทยยังมีไม้อีกมากที่สามารถนำมาผลิตเป็นของเล่นได้ อาทิ ไม้สัก แต่เราก็ยังรู้สึกว่าเสียดาย ก็ใช้ความพยายามอยู่หลายปี ตั้งแต่ใช้น้ำยาอัดเนื้อไม้ เท่ากับว่ายังไม่พ้นการใช้สารเคมีเป็นส่วนประกอบ ในที่สุดความพยายามก็เป็นผลสำเร็จ
นอกจากองค์ความรู้ที่ได้จากกระบวนการผลิต สิ่งที่เกิดขึ้นตามมากลับเป็นความภูมิใจ จากแต่ก่อนชาวสวนยางจะโทรเรียกเพื่อให้แปลนทอยส์ไปขนไม้ยางออกมาเพราะเป็นสิ่งที่เปล่าประโยชน์ วันนี้ต่อไร่ขายได้ 80,000-100,000 บาท เป็นรายได้ที่เกิดขึ้นในชุมชน
จากที่ได้ทำมาตลอด 30 ปี มาวันนี้ แปลนทอยส์ กำลังจะก้าวเข้าสู่โลกของ Sustainable อย่างเต็มรูปแบบ พร้อมๆ กับการเปลี่ยนวิสัยทัศน์เป็น Sustainable Play
กระบวนการ
30 ปีมานี้ทุกความคิด และ การกระทำ แปลนทอยส์ มองเรื่องความปลอดภัย และปลอดสารเคมีในกระบวนการผลิต มาเป็นลำดับแรก หลายแนวทางเป็นลักษณะของการ "ล้ำหน้า" ก่อนที่กฎหมาย หรือ กฎระเบียบด้วยซ้ำ
มาตรฐานระบบคุณภาพ ISO 9000 ที่เกี่ยวกับระบบบริหารงานคุณภาพขั้นพื้นฐานที่ใช้เพื่อการบริหารหรือจัดการคุณภาพและการประกันคุณภาพโดยเน้นการสร้างคุณภาพภายในองค์กร แปลนทอยส์ ได้รับการรับรองก่อนปี 2543
ขณะที่ ISO 14000 ซึ่งเกี่ยวกับมาตรฐานการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม เป็นมาตรฐานที่บริษัทได้รับการรับรองในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังมี SA 8000 หรือ Social Accountability 8000 ระบบมาตรฐานสากลที่ให้ความสำคัญกับสิทธิ ขั้นพื้นฐานของแรงงาน
"แปลนทอยส์ เป็นบริษัทผลิตของเล่นรายเดียวในโลกที่ได้รับการรับรองคุณภาพทุกระบบ นั่นก็เป็นเพราะเราคิดว่า แม้จะเป็นบริษัทผลิตของเล่น แต่เราก็ไม่ทำอะไรเล่น ๆ แต่ต้องเป็นองค์กรที่ต้องมีองค์ความรู้ เพื่อสร้างพัฒนาการให้กับเด็ก"
ผลแห่งวิถีพอเพียง
"หากพูดไปคนอื่นอาจจะหมั่นไส้เอาได้ แต่เราก็เป็นบริษัทแรกๆ ที่ทำจริงๆ" วิฑูรย์ กล่าวพร้อมหัวเราะอย่างอารมณ์ดี
วิถีของแปลนทอยส์ อย่างที่เป็นในวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทแรกที่ผลิตของเล่นจากไม้ยาง การปฏิบัติกับคนรอบข้างที่เกี่ยวข้อง กรณีของการเปิดรับคนพิการเข้าเป็นพนักงานในส่วนของการผลิต เป็นอีกวิธีคิดที่ วิฑูรย์ มองเรื่องของ "คุณค่า" เหนือ "ผลิตภาพ" (Productivity)
เริ่มต้นจากสงสัยว่าทำไมถึงไม่ค่อยมีใคร (บริษัท) ไหนรับคนพิการเข้าทำงาน นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่วันนี้ วิฑูรย์ บอก แปลนทอยส์ เกิดประโยชน์อย่างมากจากการรับคนพิการกลุ่มนี้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในองค์กร "ผมไม่ได้สงสาร แต่คิดว่าทุกคนมีศักยภาพ มีอยู่คนหนึ่งเป็นคนตาบอด แต่ประกอบล้อ ได้เร็วมาก ส่วนอีกคนเป็นลูกของพนักงานแต่มีอาการออทิสติกส์ เวลาทำงานเขาเอาลูกไปขังไว้ ก็ให้เริ่มมาฝึกทำงาน เดี๋ยวนี้กลายเป็นขวัญใจของพนักงานในโรงงานไปแล้ว หากมองในเรื่องความรู้ความสามารถเขาอาจด้อยกว่าคนอื่น แต่สิ่งที่เราได้ คือ ให้พนักงานคนอื่นซึ่งปกติดี เข้าใจคนพิการว่า เขาไม่ใช่น่าสงสาร แต่ก็ดีขึ้นได้ ทำงานได้ หากได้รับการพัฒนา เราเองก็ทำของเล่นเพื่อให้เด็กได้พัฒนาเช่นกัน ซึ่งทำอย่างนี้จะทำให้พนักงานมีความเห็นอกเห็นใจ ได้ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และได้เห็นถึงคุณค่าของความเป็นมนุษย์ เข้าใจคุณค่าของการอยู่ร่วมกัน ผมว่ามันมีความหมายมากกว่า Productivity เยอะ"
ผลจากการคิดและปฏิบัติโดยใช้ "ใจ" เป็นตัวนำ "ธุรกิจ" วันนี้แปลนทอยส์ ได้รับรางวัลมาแล้วทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศ เช่น รางวัล Reddot Design Award, รางวัล German Design Prize และรางวัล Best Toy of the Year (จากนิตยสาร Parenting) ฯลฯ เป็นต้น
ย่างก้าวสู่ยั่งยืน
การเติบโตจาก GreenToy-Green Company วันนี้จะเบนเข็มสู่ Sustainable Play อย่างจริงจัง ภายใต้แนวทางของประโยชน์ 3 ขา
หนึ่ง ธุรกิจยังคงเติบโตและได้รับผลตอบแทน
สอง การทำอะไรก็ตาม นอกจากไม่ เบียดเบียนสังคมแล้วยังต้อง "เกื้อกูล" สังคมด้วย
สาม การไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
"การที่เราจะก้าวสู่โลก Sustainable ได้ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้องค์กรเรามีวัฒนธรรม ค่านิยมของการอยู่ร่วมกัน สัมพันธภาพ การทำงานรวมหมู่ ที่สำคัญที่สุด ผลิตโปรดักท์ที่ดี ขณะเดียวกันก็ไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อมและสังคม เราอยากทำให้ครบทั้ง 3 ขา"
ภายใต้แนวคิดว่า ในโลกนี้ไม่มีขยะ ทำให้เริ่มคิดว่าขยะประเภท ขี้เลื่อย เศษไม้ ก็แปรเปลี่ยนเป็นของที่มีประโยชน์ ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่จะสร้างโรงงานผลิตพลังงานจากชีวมวล (Biomass Gasification & Power Generation) ขนาด 4.5-5 เมกะวัตต์ต่อวันขึ้น ที่ตั้งอยู่ที่จังหวัดตรัง โดยโรงงานแห่งนี้จะใช้วัสดุเหลือใช้จากการทำของเล่น ซึ่งมีปริมาณวันละ 120 ตัน อาทิ ขี้เลื่อย รากไม้ กิ่งไม้ มาใช้ในกระบวนการผลิตพลังงาน
แม้มูลค่าการลงทุนสูงถึง 400 ล้านบาท และต้องหาเงินทุนด้วยการกู้อยู่อีกบางส่วน แต่ วิฑูรย์ บอก อาจมีความเสี่ยง เพราะไม่รู้ว่า ใน 7-8 ปี จะคืนทุนหรือเปล่า แต่มันก็เป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างมากสำหรับแปลนทอยส์ ในการเป็นบริษัทที่พึ่งพาตนเองมากที่สุด และลดความสูญเสีย (Waste) ในกระบวนการผลิตลงได้
ส่วนหนึ่งของพลังงานชีวมวลที่ผลิตได้ นำมาใช้เองบางส่วน ส่วนหนึ่งขายให้กับหน่วยงานรัฐ อีกส่วนกระจายให้กับชาวบ้านบริเวณใกล้เคียง ซึ่งระยะยาวแล้ว วิฑูรย์ มองไกลถึงการขายคาร์บอนเครดิต ซึ่งจากแนวทางที่กล่าวมา จะขับเคลื่อน แปลนทอยส์ ไปสู่องค์กรที่พึ่งพาตัวเองให้ได้มากที่สุด และเกื้อกูลสังคม ให้มากที่สุดด้วย
Sustainable Play โจทย์ใหญ่ที่ แปลนทอยส์ กำลังมุ่งหน้าและท้าทาย
ที่มา: http://daily.bangkokbiznews.com/detail/21679