เพื่อนชุมชน....อยู่อย่างมิตร"ธุรกิจ + ชุมชน"
เพื่อนชุมชน....อยู่อย่างมิตร"ธุรกิจ + ชุมชน"
โดย : ลมลเพ็ชร อภิสิทธิ์นิรันดร์
แม้เป็นจะ"โรงงาน"แต่ก็อยู่ร่วมกับ"ผู้คน"ได้อย่างสันติเช่นเดียวกับโครงการ"เพื่อนชุมชน" สายใยแห่งมิตรสลายปมขัดแย้ง สู่การอยู่ร่วมอย่างยั่งยืน
1 ปี ที่ผ่านมา โครงการดีๆ ที่ชื่อ "เพื่อนชุมชน" ก่อตัวขึ้นบนความร่วมมือของ 5 องค์กรพันธมิตร ได้แก่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ,เครือเอสซีจี ,บริษัทบีแอลซีพี เพาเวอร์ จำกัด ,บริษัท ดาว เคมิคอล (ประเทศไทย) จำกัด และกลุ่มบริษัทโกลว์ จุดร่วมของพวกเขาคือ ต่างเป็นผู้ประกอบการใน "นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด" จ.ระยอง
พื้นที่ที่ถูกประทับตราว่า เป็นเมืองอุตสาหกรรม หนึ่งใน "ตัวการ" สำคัญที่สร้างมลภาวะให้กับคนระยอง แม้จะไม่อาจปฏิเสธได้ว่าพื้นที่แห่งนี้ช่วยผลักดันการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทย เป็นอย่างมาก
ความหลังฝังจำเกิดขึ้นในปี 2552 เมื่อสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ร่วมกับชาวบ้านมาบตาพุด รวม 43 ราย ฟ้องหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กรณีได้ร่วมกันให้ความเห็นชอบอนุมัติ อนุญาติ โครงการหรือกิจกรรมจำนวน 76 โครงการ ที่ดำเนินการในพื้นที่มาบตาพุด และบริเวณใกล้เคียง โดยไม่ดำเนินการให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในมาตรา 67 วรรคสองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 กรณีเป็นโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพซึ่งจะกระทำมิได้
เว้นแต่จะได้ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย รวมทั้งให้องค์กรอิสระซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติ หรือด้านสุขภาพให้ความเห็นชอบก่อนมีการดำเนินการ
ที่สำคัญยังขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งระงับโครงการ หรือกิจกรรมใดของ 76 โครงการ ในเขตมาบตาพุด บ้านฉาง จ.ระยอง และใกล้เคียง ไว้จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา
จนในที่สุดศาลปกครองได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้ระงับการดำเนินโครงการและกิจกรรมทั้ง 76 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวมกว่า 4 แสนล้านบาท ไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าจะมีคำพิพากษา
ขณะที่ผลของคำพิพากษาทำให้มีโครงการหรือกิจการเข้าข่ายถูกเพิกถอนใบอนุญาต “2 โครงการ” จาก 76 โครงการ ซึ่งต้องกลับไปนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมอีกครั้ง ประกอบด้วย โครงการโรงงานผลิตเอทิลีนออกไซด์และเอทิลีน ไกลคอล (ส่วนขยาย) ของบริษัท ทีโอซี ไกลคอล จำกัด ในเครือ บริษัท ปตท.เคมิคอล จำกัด (มหาชน) และ โครงการขยายกำลังการผลิตไวนิลคลอไรด์โมโนเมอร์ของ บริษัทไทยพลาสติกและเคมีภัณฑ์ จำกัด (มหาชน)
ฝันร้ายของผู้ประกอบการ ที่สะท้อนให้เห็นถึง "พลัง" ที่ยิ่งใหญ่ของภาคประชาชน !
เตือนผู้ประกอบการแบบหนักๆว่า ธุรกิจจะอยู่รอดได้อย่างยั่งยืน จำเป็นต้องมีชุมชน เป็นหลังอิง
กลายเป็นที่มาของโครงการเพื่อนชุมชน !
กับเป้าหมายที่จะเปลี่ยนมุมมองของคนที่พื้นที่ จากที่มองพวกเขาเป็น "ผู้ร้าย" ให้กลายเป็น "มิตรที่ดี"
โดยค่อยๆขยายผลโครงการความร่วมมือให้กว้างขวางขึ้นเรื่อยๆ พร้อมๆ กับสมาชิกหน้าใหม่ๆที่เดินเข้ามา
ในที่สุดโครงการเล็กๆจากเหล่าผู้ประกอบการพี่เบิ้ม ก็ถูกยกระดับขึ้นเป็น “มูลนิธิเพื่อนชุมชน” ไปเรียบร้อยแล้ว
“วีรศักดิ์ โฆสิตไพศาล” กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ปตท.เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ในฐานะประธานกลุ่มและนายกสมาคมเพื่อนชุมชน บอกเราว่า เป้าหมายของพวกเขาคือต้องการขยายผลโครงการนี้ออกไปให้มากขึ้น โดยเฉพาะโรงงานที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดทั้งหมด เพราะเชื่อว่าหากโรงงานอุตสาหกรรมสามารถรวมกลุ่มกันได้อย่างเข้มแข็ง นั่นหมายถึงจะมีพลังทำอะไรๆเพื่อชุมชนได้อีกมหาศาล
“ถ้ารวมตัวกันได้นั่นหมายความว่าเราจะมีทั้งกำลังคน กำลังแรง และกำลังเงิน ที่จะทำกิจกรรมดีๆ ให้ชุมชนได้มากขึ้นขึ้น จากที่ทำกันอยู่แค่ 5 บริษัท แต่ตอนนี้เพิ่มมาเป็นกว่า 10 บริษัท ซึ่งที่ผ่านมามีงบประมาณปีละ 100 ล้านบาท แต่ในอนาคตจะเพิ่มขึ้นกว่านี้ เพื่อนำไปใช้ในกิจกรรมชุมชน ให้ชุมชนในพื้นที่ได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่”
ผลิตผลจากโครงการน้ำดี สื่อให้เห็นเป็นรูปธรรม เช่น การจัดงานสัมมนาให้กับ 160 โรงงานอุตสาหกรรมในนิคมฯมาบตาพุดทั้งขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ เพื่อนำความรู้ไปปรับปรุงและพัฒนาโรงงานให้อยู่คู่ชุมชนและสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นสุข
เหตุผลที่เริ่มต้นด้วยสัมมนาให้ความรู้ วีรศักดิ์บอกว่า เนื่องจากยังมีอีกหลายโรงงาน ที่มีความรู้ในเรื่องของการลดมลภาวะเป็นพิษในโรงงานไม่มากพอ บางโรงงานต้องการความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ แต่อาจไม่มีทุน หรือไม่พร้อมจะลงทุนในเรื่องเหล่านี้ โครงการ “เพื่อนชุมชน” จะเข้าไปชี้แนะ
"การเพิ่มพื้นที่สีเขียว" ยังเป็นอีกความตั้งใจดีที่พวกเขาทำมาโดยตลอด ประธานกลุ่มเพื่อนชุมชน บอกเราว่า จากเดิมผู้ประกอบการไม่ได้ให้ความสนใจเรื่องนี้เท่าไรนัก แต่เมื่อเพื่อนชุมชนเข้าไปทำความเข้าใจ ก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี ผลตอบแทนที่ได้กลับมาคือ สามารถเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้นิคมฯมาบตาพุดได้ถึง 270 ไร่ ปลูกต้นไม้ให้งอกงามถึง 1 แสนต้น เพื่อให้พื้นที่แห่งนี้กลายเป็นปอดฟอกอากาศให้บริสุทธิ์ขึ้น
ที่น่าสนใจกว่านั้น คือการเปลี่ยนภาพโรงงานแห่งความลับ มาทำให้ “เพื่อนชุมชน” เป็นเสมือนประตูสู่การเรียนรู้ของคนชุมชนและผู้ที่สนใจ โดยการเปิดบ้าน เพื่อให้ชุมชนเข้ามาดูกระบวนการผลิตถึงในโรงงาน ทำให้ทราบเกี่ยวกับขั้นตอนการทำงาน ความปลอดภัย หรือแม้แต่เปิดให้โรงงานต่างๆ เข้ามาศึกษาเรียนรู้ เพื่อนำความรู้ไปปรับใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมของตนเองด้วย
“สิ่งที่เพื่อนชุมชน ได้รับกลับมาถือว่าดีมาก เพราะทำให้ชุมชนเกิดความเข้าใจถึงกระบวนการทำงานของโรงงานอุตสาหกรรม กลายเป็นการลดความขัดแย้งระหว่าง คน กับ โรงงานอุตสาหกรรม” เขาเชื่อเช่นนั้น
ควบคู่ไปกับการเปิดใจของโรงงานอุตสาหกรรม พวกเขาก็เลือกที่จะ "ดูแลคุณภาพชีวิตชุมชน" ไปพร้อมกัน โดยการจัดกิจกรรมต่างๆ ทั้งที่มาจากความต้องการของชุมชน และสิ่งที่พวกเขามองว่าสามารถเติมเต็มให้ชุมชนได้ อย่างการแก้ไขปัญหาบริการด้านสุขภาพ ด้วยการจัดหาบุคลากรทางการแพทย์เข้ามาให้บริการแก่คนในพื้นที่
ทุ่มงบประมาณ 30 ล้านบาท เพื่อจ้างแพทย์ที่เกษียณอายุราชการ พยาบาล เทคนิคการแพทย์ นักวิชาการสาธารณสุข และพยายาลวิชาชีพ มาประจำที่ ศูนย์สุขภาพชุมชน โรงพยาบาลมาบตาพุด โครงการหน่วยแพทย์เคลื่อนที่เพื่อนชุมชนและเพิ่มศักยภาพของงาน ยังได้ผนึกความร่วมมือกับบริษัททั้งในกลุ่มและนอกกลุ่มเพื่อนชุมชน เพื่อให้บริการอย่างครอบคลุมทั้ง 89 ชุมชน ในวันนี้
เวลาเดียวกันก็มอบทุนการศึกษาหลักสูตรพยาบาลศาสตร์ 200 ทุน เป็นเวลา 4 ปี สำหรับนักเรียนที่มีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่ จ.ระยอง กับความหวังให้ลูกหลานคนระยองได้กลับมาทำงานในพื้นที่ แก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานพยาบาลในอนาคต รวมถึงมอบทุนการศึกษาปริญญาตรีด้านวิศวกรรมศาสตร์และครุศาสตร์ เป้าหมาย 60 ทุนในระยะเวลา 4 ปี
วีรศักดิ์ บอกเราว่า นี่เป็นเพียงงานบางส่วนที่พวกเขาได้ลงมือทำไปแล้ว ในอนาคตยังมีแผนขับเคลื่อนชุมชนในแง่มุมต่างๆ อีกมากมาย รวมถึงหวังที่จะขยายผลให้ครอบคลุมทั้งจังหวัดระยองตลอดจนพื้นที่ใกล้เคียง
“เพื่อนชุมชนในวันที่เป็นมูลนิธิฯ จะมีความคล่องตัวมากขึ้น ทั้งงานในพื้นที่และการดึงหน่วยงานต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วม นั่นจะทำให้โครงการนี้ประสบผลสำเร็จมาก”
ขณะที่แผนการดำเนินงานในปี 2554 ยังอยู่ระหว่างการจัดทำ ผ่านความร่วมมือของเพื่อนพ้องผู้ประกอบการที่เพิ่มจำนวนขึ้น สิ่งที่พวกเขาเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ไม่ว่าจะกับชุมชน ตลอดจนโรงงานอุตสาหกรรม คือการที่เพื่อนชุมชน จะเป็นสื่อกลางทำให้ “ผู้ประกอบการ” และ “ชุมชน” ได้ทราบข้อมูลของกันและกันอย่างถูกต้องและชัดเจน เปิดใจที่จะเรียนรู้และเข้าถึงกันได้มากขึ้น
หากทั้งคนและโรงงานอยู่ร่วมกันได้อย่างมี “ความสุข” ก็จะทำให้กิจการนั้นไปสู่วิถีแห่งความยั่งยืน
สิ่งที่พวกเขาหวังไปกว่านั้น คือการที่ “เพื่อนชุมชน” จะกลายเป็นโครงการต้นแบบ เพื่อให้นิคมอุตสาหกรรมอื่นๆ นำไปจัดการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ของตนเอง
ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา “เพื่อนชุมชน” ดูเหมือนจะก้าวพ้นในเรื่อง “ความไว้วางใจกันและกัน” ไปได้ในระดับหนึ่ง
"จุดเริ่มต้น" ของชุมชนและโรงงาน ที่จะอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ