เศรษฐกิจพอเพียง..วิถียั่งยืนแบบบางจากยุคการตลาด 3.0
เศรษฐกิจพอเพียง”..วิถียั่งยืนแบบบางจากยุคการตลาด 3.0
โดย : จีราวัฒน์ คงแก้ว
การต่อกรการตลาดยุค3.0ไม่ได้มีแค่ทฤษฎีตลาดเดิมๆ แต่ยังมีอาวุธชื่อ“เศรษฐกิจพอเพียง”ที่ไม่ได้หวังผลแค่ชัยชนะแต่คือวิถีแห่งความยั่งยืน
ขณะที่หลายกิจการ ยังจมอยู่กับการตลาดแบบเก่า ฟาดฟันกันด้วย “ท่าไม้ตาย” เดิมๆ ยังมีคนอีกจำนวนหนึ่งเลือกที่จะเดินหน้ากิจการ ด้วยเชิงชั้นใหม่ๆ เป้าหมายของพวกเขา คือ “วิถีแห่งความยั่งยืน” การอยู่รอดอย่างสง่างามท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของธุรกิจที่เกินจะคาดเดา
หนึ่งในเชิงชั้นที่เรากำลังพูดถึง คือแนวคิด “เศรษฐกิจพอเพียง” ที่ดูเหมือนจะห่างไกลคำว่า “ธุรกิจ” ซึ่งต้องแสวงหากำไรสูงสุด แต่กับคนที่ร่วมขับเคลื่อนแนวคิดนี้มาตั้งแต่ต้น อย่าง “ผศ.ดร.สุขสรรค์ กันตะบุตร” ผู้อำนวยการโครงการพัฒนามาตรฐานธุรกิจเศรษฐกิจพอเพียง สำนักคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กลับเชื่อว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” คือ คำตอบที่ทำให้ธุรกิจเกิดความสามารถในการแข่งขัน สร้างประโยชน์สุขให้กับสังคมได้
สิ่งที่หลอมรวมเป็น “เศรษฐกิจพอเพียง” ตามคำบัญญัติของพวกเขา คือ การมี ภูมิคุ้มกัน ความเพียร ความพอประมาณ ความโอบอ้อมอารี จริยธรรม การพัฒนาภูมิสังคม และการคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่หลากหลาย คำตอบของธุรกิจยั่งยืน
วินาทีนี้ “กำไรสูงสุด” อาจไม่สำคัญเท่า “ความยั่งยืน” ขององค์กรธุรกิจ
เขายกตัวอย่าง Nordstrom ธุรกิจที่มีอายุกว่า 100 ปี ผู้ที่ไม่ได้มุ่งหวังกำไรสูงสุดเพื่อผู้ถือหุ้นเพียงอย่างเดียว หากแต่ยังลงทุนเพื่อพัฒนา ลูกค้า พนักงาน สังคม และสิ่งแวดล้อม
แคลเซียมชั้นดีที่ Nordstrom ใช้ เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับองค์กร นั่นคือการพัฒนาบุคลากรและรักษาคน หลีกเลี่ยงการปลดพนักงานแม้จะเกิดวิกฤติ ที่มาของการเติบโตยั่งยืนจนถึงทุกวันนี้
ไม่ต่างกับ “GC Rieber& Co.” ธุรกิจน้ำมันจากสัตว์ทะเล หนังสัตว์ และเกลือ ที่มีอายุกว่า 130 ปี แม้จะอยู่มานาน แต่ “จิตวิญญาณ” และ “ค่านิยมร่วม” ของพวกเขายังคงเดิม คือการให้ความสำคัญกับพนักงาน ค่านิยมยังถูกส่งผ่านจากรุ่นสู่รุ่น ทำให้องค์กรเติบโตได้อย่างยั่งยืน
“องค์กรพอเพียง จะมีความสามารถปรับตัวรับกับการเปลี่ยนแปลงได้ดี เราพบว่าองค์กรที่ปลดพนักงานในช่วงวิกฤติจะฟื้นยาก แต่พวกที่ไม่ปลดพนักงานจะใช้เวลาไม่นานก็ฟื้นตัว เพราะคนเขามีความพร้อม”
ยังมีหลายกรณีศึกษาในไทยที่ยึดวิถีแห่งความพอเพียง หนึ่งในนั้นคือ บมจ.บางจากปิโตรเลียม ธุรกิจพลังงาน ที่ตอบโจทย์ทั้ง “ธุรกิจ” และ “สังคม” พวกเขานำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้กับธุรกิจ และยังคงเชื่อว่าเป็นหลักสำคัญที่ทำให้บางจากก้าวสู่ความยั่งยืนแม้จะต้องเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจ
“ช่วงที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ เราได้ปรับกระบวนการบริหารจัดการใหม่ โดยมีสติมากขึ้น ใช้ปัญญาพัฒนานวัตกรรม ทำธุรกิจตอบโจทย์ ทั้งเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ทำให้เราแข็งแรงขึ้น เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง” วัฒนา โอภานนท์อมตะ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.บางจากปิโตรเลียม เล่า
ใครแวะเติมน้ำมันที่ปั้มบางจาก คงจะคุ้นเคยกันดีกับเหล่าของแถม “ผลิตภัณฑ์ชุมชน” นี่เป็นเพียงหนึ่งในผลิตผลทางความคิด ยุคการตลาด 3.0 การตลาดอนาคตที่แบ่งใจมาคิดเผื่อแผ่สังคมและโลกมากขึ้น การทำธุรกิจของบางจากจะมุ่งสร้างสมดุลให้กับ “มูลค่า” และ “คุณค่า” ฉวีวรรณ เกียรติโชคชัยกุล ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารองค์กรและชุมชนสัมพันธ์ กล่าวเสริม
“ทุกคนแจกน้ำ แจกทิสชู่ แต่เรานำสินค้าชุมชนมาแจก อย่างลูกหยีกวน เราพบว่าภาคใต้เขามีอาชีพหลักคือทำสวนยางพารา แต่เขาไม่สามารถกรีดยางได้เพราะปัญหาความไม่สงบ อาชีพเสริมเขาคือทำลูกหยีกวน เราก็ไปรับซื้อผลิตภัณฑ์เหล่านี้มา ทำให้พวกเขามีรายได้ มีความสุข เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราโตไปพร้อมกับเขา”
วิธีคิดที่ไกลไปกว่านั้น คือการแก้ปัญหาชุมชนไปพร้อมกัน โมเดลธุรกิจที่เดินหน้าด้วย “ความจริงใจ” นี้เอง ที่ทำให้บางจากสามารถสร้าง “แฟนคลับบางจาก” ขึ้นมาได้โดยไม่ต้องอาศัยการโฆษณา เพียงแต่ใช้คำพูดปากต่อปาก
“มีหลายปั้มที่อยากทำแบบเรา แต่การที่เราเข้าถึงชุมชนก่อน คุ้นเคยกันมานาน สร้างความผูกพันให้เกิดขึ้น เขาก็ไม่อยากเปลี่ยนใจไปจากเรา นี่แหล่ะคือ “คุณค่า” ที่แท้จริง ที่ทำให้เราเติบโตขึ้นมาได้”
ความซื่อสัตย์และจริงใจต่อลูกค้า เป็นหัวใจของการทำธุรกิจแบบบางจาก เช่นเดียวกับความพยายามไม่ปรับขึ้นราคาน้ำมันในช่วงวันหยุดยาวเพื่อช่วยเหลือผู้บริโภค ขณะที่ราคาน้ำมันดิบพุ่งสูงลิ่ว แม้จะทำให้ต้องแบกรับตัวเลขขาดทุนนับ 10 ล้านบาท แต่ “ดร.อนุสรณ์ แสงนิ่มนวล” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.บางจาก ก็มีวิธีคิดที่น่าสนใจกว่าแค่ทำกำไรระยะสั้นๆ
“ถึงมีกำไร เราก็ต้องจ่ายภาษี ก็แค่ใช้โอกาสนี้คืนกำไรให้กับประชาชน”
ขณะที่แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงในแบบ “ดร.สมศักดิ์ ชลาชล” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชลาชล จำกัด ช่างทำผม 3 ทศวรรษ คือคำว่า “ประมาณตน” key success ของ “ชลาชล” ในวันนี้...
“ผมเปิดสาขาแรกมีลูกน้องแค่ 4 คน เมื่อมีเงินก็เอาไปลงทุนสาขาถัดไป ผมไม่เคยกู้เงินใครมาทำ ไม่แข่งขันกับใครเพราะรู้จัก “ประมาณตน” ถนัดเรื่องอะไร ชอบทำอะไร ก็แค่ทำในสิ่งที่ชอบ สั่งสมความเชี่ยวชาญให้เกิดขึ้น ธุรกิจช่างทำผม ขายอารมณ์ ผมตีแตกตรงนี้ถึงอยู่อย่างยั่งยืนได้”
สินทรัพย์ของชลาชล คือ “ทุนมนุษย์” นั่นคือเหตุผลที่สมศักดิ์ให้ความสำคัญอย่างมากกับคนของเขา
“ลูกน้องต้องไม่เจ็บ ไม่จน ต้องอยู่ดีกินดี เพราะเขาเหมือนต้นไม้ ที่ออกดอกผลให้เจ้าของตลอดเวลา เราจึงต้องดูแลเขาอย่างดี มีสวัสดิการให้เต็มที่ ที่ผมทำมาตลอดคือ “ฉันได้ เธอได้” มีเงินเข้ามาก็แบ่งให้พนักงานของเราด้วย”
ใครอยากดำเนินธุรกิจตามวิถีพอเพียง ช่างผมกรรไกรทองบอกแค่ว่า ให้ลองนำหลักพุทธศาสนามาปรับใช้ ง่ายๆ แค่ “ลด ละ เลิก” โดยเริ่มจากตัวเองเป็นอันดับแรก
“พอธุรกิจเราใหญ่โต ก็เหมือน “ซุป’ตาร์” มีคนมาชวนทำโน่นทำนี่เยอะแยะไปหมด ตัวเองก็หลงคิดไปว่าดี แต่ความชำนาญส่วนตัวไม่มีเลย ทำไปก็ล้มเหลว ฉะนั้นความพอเพียงจึงต้องเริ่มจากตัวเองก่อน เพราะเรารู้ดีที่สุดว่าเท่าไรถึงจะพอสำหรับเรา ถ้ายังไม่พอก็ลอง “ลด ละ เลิก” ดู ธุรกิจก็จะพอเพียงได้”
และนี่คือตัวอย่างความสำเร็จของธุรกิจ กับ วิธีคิด สู่วิถี “ยั่งยืน” ยุคการตลาด 3.0