http://www.csrcom.com/
True ปลูกปัญญา
CSR เด่น

แมน คราฟท์..หัตถกรรมฟื้นภูมิปัญญา

แมน คราฟท์..หัตถกรรมฟื้นภูมิปัญญา

โดย : จีราวัฒน์ คงแก้ว

แมน - ปราชญ์ นิยมค้า เจ้าของแบรนด์ แมน คราฟท์” (mann craft)

แมน คราฟท์ภูมิปัญญาอีสานสู่ผลิตภัณฑ์ดีไซน์เฉียบ ด้วยมือเล็กๆ ของผู้ที่เชื่อว่า คุณค่าสู่สังคมสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า ผลกำไร

ภูมิปัญญา คือกำไรของคนอีสานนี่คือบทสนทนาของคนหนุ่มรุ่นใหม่ แมน - ปราชญ์ นิยมค้า ที่แนะนำเราเข้าสู่โลกของแบรนด์ แมน คราฟท์” (mann craft) ของแต่งบ้านและแฟชั่นจากภูมิปัญญาพื้นถิ่น ผลงานจากสองมือเล็กๆ ของเขา

การเห็นคุณค่าในสิ่งที่เรียกว่า ภูมิปัญญามาจากแรงบันดาลใจในวัยเยาว์ ที่สนใจภูมิปัญญาท้องถิ่น ประทับใจในศิลปหัตถกรรม ตลอดจนวัฒนธรรมและประเพณีอันดีงามของชาวอีสาน โดยเชื่อว่าสิ่งนี้คือความได้เปรียบที่คนพื้นถิ่นควรสืบสาน และรักษาไว้ให้ยั่งยืน

คนสกลนครมีฝีมือด้านการทอผ้า สิ่งที่น่าใจหายคือช่างทอผ้าพื้นเมืองล้วนมีอายุ 50-60 ปี แล้วทั้งนั้น ถามว่าลูกหลานไปไหน ไปทำงานในเมืองกันหมด ทำไมคนอีสานถึงต้องไปเป็นคนรับใช้ ไปทำงานโรงงาน ทั้งที่ภูมิปัญญาเหล่านี้ สามารถยึดเป็นอาชีพให้เขาได้ ช่วยให้เขายืนได้ด้วยลำแข้ง และน่าภาคภูมิใจกว่าการเป็นลูกจ้าง เป็นไหนๆ

ความคิดนี้ กระตุ้นให้คนตัวเล็กๆ อย่างเขาอยากลุกขึ้นมาทำอะไรเพื่อท้องถิ่น ถ้าจะให้คนกลับมารักษาภูมิปัญญาเหล่านี้ไว้ ก็ต้องทำให้เขาเห็นว่าเป็นอาชีพเลี้ยงตัวได้ ที่มาของการปลุกปั้นธุรกิจ แมน คราฟท์” (mann craft) ดึงทักษะด้านการทอผ้าพื้นเมืองชาวสกลนคร มาผสานงานดีไซน์ของคนยุคใหม่ จนเป็นผลิตภัณฑ์ของตกแต่งบ้าน  ทั้ง โคมไฟ หมอนอิง ผ้าพันคอ กระเป๋า และเหล่าของที่ระลึก ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

ภูมิปัญญาคือ จุดแข็งของ แมน คราฟท์ หากสำคัญกว่านั้น คือการพัฒนาผลิตภัณฑ์บนพื้นฐานของการห่วงใยโลก ที่เขาบอกว่าได้แรงบันดาลใจมาจาก ภาพยนตร์สารคดีเรื่อง An Inconvenient Truth ผลิตภัณฑ์ของพวกเขาจึงมาจากธรรมชาติเกือบ 100% ไล่มาตั้งแต่กระบวนการผลิต เช่น การใช้สีย้อมจากธรรมชาติซึ่งหาได้ในท้องถิ่น อย่าง ประดู่ ครั่ง และ ขี้เหล็ก ที่เก๋ขึ้นมาหน่อยก็ต้องยกให้ สีจาก ดินโคลน และ มูลควาย

"สีจากมูลควาย พระอาจารย์ท่านหนึ่งในสกลนครคิดค้นขึ้นมา มันให้สีเขียวของยอดหญ้าที่หลากหลายเฉดสี ขึ้นกับชนิดของเส้นใยที่นำไปย้อม และควายแต่ละตัวที่ให้สีแตกต่างกันไป หรืออย่างดินโคลนก็จะให้สีน้ำตาลใสๆ ดูแล้วสบายตา ทำให้ชาวบ้านไม่ต้องไปเสียเงินซื้อสีย้อมเคมี

แม้จะรู้ว่าเป็นของดีจากธรรมชาติ แต่ถ้าเล่นมาทั้งสี ทั้งกลิ่น ใครจะกล้าใช้ เขาบอกว่า ต้องเอามาผ่านกระบวนการสยบกลิ่น โดยมูลควายจะต้องเอามาต้มและกรองเอาหญ้าออก ให้เหลือแต่น้ำ จากนั้นก็นำไปต้มกับสมุนไพรพื้นบ้าน เพื่อทำให้กลิ่นหายไป และปลอดภัยจากเชื้อโรค เพื่อพูดได้เต็มปากว่า เป็นของดีจากธรรมชาติ และปลอดภัยต่อผู้ใช้

การต่อยอดจากภูมิปัญญา คือหัวใจการทำธุรกิจแบบ แมน คราฟท์ เราเลยได้เห็นการประยุกต์และพัฒนา ทักษะการย้อม การทอผ้า และรูปแบบดีไซน์ที่หลากหลาย เพื่อขยายตลาดให้กว้างขึ้น ไม่ต้องติดอยู่กับกลุ่มผู้ใหญ่ คนสูงอายุ อีกต่อไป

เช่น การเบรกความเข้มของผ้าครามด้วยการผสมไม้มะม่วงเพื่อให้ได้สีที่สว่างขึ้น จากผ้าคอตตอนหนาๆ ก็นำมาผสมเส้นใยอื่นๆ เพื่อให้ได้เนื้อผ้าที่นิ่ม และแน่นขึ้น ตลอดจนการพัฒนาลวดลายใหม่รับตลาดคนรุ่นใหม่ เป็นต้น

การพัฒนาชิ้นงาน ผมไม่ได้ออกแบบให้ชาวบ้าน แต่จะใช้วิธีออกแบบร่วมกับพวกเขา เพราะคนทอจะมีข้อจำกัดในการทอ และแต่ละกลุ่มก็มีความถนัดที่แตกต่างกันไป เราต้องนำศักยภาพที่โดดเด่นของแต่ละกลุ่มมาใช้ จึงจะได้ชิ้นงานที่งดงามและสร้างการเรียนรู้ให้กับพวกเขาไปพร้อมกัน

การเรียนรู้ของคนทอยุคเก่า ที่เข้าใจคำว่า ดีไซน์คำว่า เทรนด์ตลาดเพิ่มมากขึ้น จากการได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์

สิ่งที่เกิดขึ้น หลังจากเราเข้าไปพัฒนางานร่วมกับชาวบ้าน ทำให้กลุ่มอื่นๆ ที่เห็นงานของเราเวลาออกงานแสดงสินค้า ได้ไอเดียไปประยุกต์ชิ้นงาน จากที่ผ่านมาเราจะเห็นผ้าไทยมีแต่สีหม่นๆ ตุ่นๆ เวลานี้ก็เริ่มมีสีสันมากขึ้น เขาเริ่มเข้าใจเรื่องดีไซน์ และพัฒนางานของตัวเองให้สวยงามขึ้น ก็รู้สึกภูมิใจเล็กๆ ที่มีส่วนให้ชาวบ้านได้พัฒนางานของพวกเขาในวันนี้

การมองโลกในอีกแง่มุม ทำให้เขาเลิกกลัวในสิ่งที่เรียกว่า การลอกเลียนแบบปราชญ์ บอกเราว่า เขาชอบที่จะพัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ ไม่คิดจะหยุดนิ่งอยู่กับที่ และนั่นก็จะทำให้วิ่งนำคนอื่นอยู่เสมอ การลอกเลียนของชาวบ้านบางทีก็แค่การกระตุ้นให้พวกเขาได้พัฒนางานของตัวเองมากขึ้นเท่านั้น

ตั้งใจทำในสิ่งดี แต่การที่จะทำให้สิ่งที่ทำเกิดความยั่งยืนได้นั้น หัวใจสำคัญคือ การตลาดเขาต้องหาตลาดเพื่อให้สินค้าที่ชาวบ้านผลิตออกมา มีที่ขาย นำรายได้กลับสู่ชุมชน

นำมาสู่ความพยายามหลายๆ อย่าง ตั้งแต่การเปิดหน้าร้านของตัวเอง ที่ อ.เมือง จ.สกลนคร การเปิดเว็บไซต์ แมน คราฟท์ ดอทคอม  ( www.manncraft.com) การใช้สื่อโซเชียลเน็ตเวิร์ค อย่าง facebook เข้ามาช่วยสร้างตลาดอย่างง่ายๆ ตลอดจนใช้การออกงานแสดงสินค้าเพื่อหาคู่ค้าทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ อย่างงาน BIG&BIH ในปีที่ผ่านมา และงาน “Made in Thailand” ครั้งที่ 24 ที่เพิ่งประลองสนามปีนี้เป็นปีแรก โดยมีเป้าหมายที่จะนำพา "แมน คราฟท์"  ให้เป็นแบรนด์ชั้นนำของประเทศให้ได้ในวันหนึ่ง

 ถามถึงสิ่งที่ได้จากความมุ่งมั่นในวันนี้ เขาบอกว่า คงจะเป็น ความสุขสุขที่ได้เห็นรอยยิ้ม เห็นพัฒนาการของผลิตภัณฑ์และฝีมือของชาวบ้าน เห็นความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ที่สำคัญคือเห็นคุณค่าของภูมิปัญญาท้องถิ่น ว่าเลี้ยงชีวิตได้จริง และพร้อมจะถ่ายทอดให้กับลูกหลาน เพื่อให้หลุดพ้นจากวิถีลูกจ้าง

เมืองไทยมีภูมิปัญญาอยู่มากมาย ไม่ใช่แค่การทอผ้า อย่างการสาน งานปั้น การแกะสลัก ล้วนเป็นสิ่งที่ดีอยู่แล้ว สิ่งสำคัญคือเราต้องให้เด็กรุ่นใหม่กลับมาสานต่อกันมากขึ้น เพราะเด็กยุคนี้ต่างมุ่งไปหาเทคโนโลยี ไปตามต่างชาติ ตามคนที่เขาทำมาก่อน สุดท้ายเราก็เป็นได้แค่ผู้ตาม เป็นแค่ฐานการผลิตให้กับเขาเท่านั้น

ภูมิปัญญา คือ สิ่งที่เรามีอยู่แล้ว เรามีกำไร กำไรทางภูมิปัญญา ที่จะทำให้เราได้เปรียบต่างชาติ ถ้าเราไม่ต่อยอดภูมิปัญญาที่เรามี ก็นับว่าเป็นเรื่องน่าเสียดาย

อีกหนึ่งพลังของคนตัวเล็ก ที่หวังใช้สองมือของเขา สร้างคุณค่าที่ยิ่งใหญ่ คืนสู่สังคม

ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/business/csr/20110728/401141/แมน-คราฟท์..หัตถกรรมฟื้นภูมิปัญญา.html

 

aphondaworathan