คายาริ?ทางเลือกใหม่ที่เป็นมิตร และปลอดภัยต่อสุขภาพของผู้ใช้มากขึ้น
คายาริ…ทางเลือกใหม่ที่เป็นมิตร และปลอดภัยต่อสุขภาพของผู้ใช้มากขึ้น
โดย : จีราวัฒน์ คงแก้ว
วรรณี ควรสถาพร ซีอีโอ บริษัท สถาพร มาเก็ตติ้ง จำกัด“คายาริ”ภาษาญี่ปุ่นแปลว่า“ผู้พิชิต”ผลิตภัณฑ์กำจัดแมลงสายพันธุ์ใหม่ที่ใช้ “ธรรมชาติ”จัดการกับ “ธรรมชาติ”ได้อย่างน่าสนใจ
คำว่า “นวัตกรรม” กลายเป็นสูตรสำเร็จของหลายๆ องค์กร เช่นเดียวกับ “สถาพร มาเก็ตติ้ง” อดีตคนรับจ้างผลิต (OEM) ยาจุดกันยุงแบบขดให้กับแบรนด์ดังทั้งในและต่างประเทศ ที่ขยับตัวเองมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ “คายาริ” ผู้พิชิตแมลงสายพันธุ์รักษ์โลก
“วรรณี ควรสถาพร” ซีอีโอสาว แห่งบริษัท สถาพร มาเก็ตติ้ง จำกัด บอกเล่าไอเดียธุรกิจน้ำดี ว่ามาจากการจับสังเกตจุดอ่อน ของผลิตภัณฑ์กำจัดแมลงแบบเดิม ที่ดูอันตราย กลิ่นฉุน และรูปลักษณ์โบราณ ที่สำคัญดูไม่เป็นมิตรกับทั้งคนและสิ่งแวดล้อม พวกเธอจึงวิจัยและพัฒนานวัตกรรมกำจัดแมลงเพื่อมากอบกู้โลกและสุขภาพของผู้ใช้ โดยนำเอาเหล่าฮีโร่จากธรรมชาติ อาทิ ตะไคร้หอม ยูคาลิปตัส ขมิ้นชันและดอกไพรีทรัม มาสวมบทมือปราบแมลงผู้ภักดีต่อโลก
การตั้งต้นธุรกิจด้วยอาวุธที่ชื่อ “นวัตกรรม” อาจสร้างความยากในการทำตลาดช่วงเริ่มต้น เพราะคำว่า “ของใหม่” คนจึงยังไม่กล้าใช้ หลายแบรนด์ที่เข้ามาในสนามนี้ เลยเลือกที่จะนำเสนออะไรแบบเดิมๆ แต่สำหรับสถาพร พวกเขากล้าฉีกตัวเองให้ต่างจากตลาด เพราะคิดแค่ว่าอยากเพิ่มทางเลือกให้กับผู้คนบนโลก ทางเลือกที่ใช้วิธีคิด “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” ถ้าต้องเลือกผลิตภัณฑ์กำจัดแมลงให้กับตนเองและคนในครอบครัว พวกเขาจะเลือกแบบไหน ระหว่างผลิตภัณฑ์แบบเดิม หรือทางเลือกใหม่ที่ดูเป็นมิตร และปลอดภัยต่อสุขภาพของผู้ใช้มากขึ้น
เวลาเดียวกัน เมื่อธุรกิจหลักคืองานรับจ้างผลิต ก็ต้องรับผิดชอบต่อลูกค้าของตัวเองด้วย การคิดของใหม่ ก็เพื่อไม่ต้องไปทับไลน์กับผลิตภัณฑ์เดิมของลูกค้า แต่สามารถเปิดตลาดใหม่ๆ ขยายมูลค่าธุรกิจนี้ให้เติบโตสูงขึ้นต่อไป
“ทำธุรกิจต้องมีคุณธรรม สิ่งที่เราทำสะท้อนความซื่อสัตย์ที่เรามีต่อลูกค้า คืออะไรที่เป็นของเขาเราจะไม่ไปเดินซ้ำ แต่จะสร้างสิ่งใหม่ เพื่อเปิดตลาดใหม่ๆ ไม่ต้องไปแย่งตลาดเดิม”
สำหรับ สถาพร มาเก็ตติ้ง “คุณธรรม” คือเสาค้ำกิจการ และวิธีคิดแบบนี้ที่ทำให้แม้มีผลิตภัณฑ์ในแบรนด์ตัวเองออกมาแต่พวกเขาก็ยังสามารถรักษาลูกค้ารับจ้างผลิตเอาไว้ได้
การทำของดีไม่จำเป็นต้องขายราคาถูก แค่จับทางตลาดให้ถูก ก็ประสบความสำเร็จได้ สินค้าตัวแรกของสถาพร คือ “บั๊กซ์ อเวย์” ยาจุดกันยุงสำหรับสุนัขและทุกคนในครอบครัว ที่จับกลุ่มลูกค้าไฮเอนด์ แต่พอเป็น Niche Market ทำให้ยังผลิตสินค้าได้ไม่เต็มกำลังการผลิต ที่ทำได้ถึง 700 ล้านขดต่อปี ที่มาของการกลับสู่ตลาดแมส กับยาจุดกันยุงแบบขด “คายาริ” เปลี่ยนภาพยาขดสีเขียว กลิ่นฉุน และโบราณ มาเป็นสีหวานๆ กลิ่นหอมๆ อย่าง สมุนไพรธรรมชาติ โรสแมรี่ ลาเวนเดอร์ และล่าสุดกับซากุระ
เมื่อกล้าประกาศตัวเองว่าเป็นผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ ก็ต้องมาจากธรรมชาติอย่างแท้จริง เธอบอกว่าทำธุรกิจต้อง “พูดจริง ทำจริง” หลายผลิตภัณฑ์ที่เปลี่ยนโฉมยาขดแบบเดิม มักเป็นแค่การเปลี่ยนสี เปลี่ยนกลิ่น แต่ทุกอย่างยังคงเหมือนเดิม ขณะที่ “คายาริ” เรียกว่าต้องธรรมชาติกันตั้งแต่เนื้อใน จึงพูดได้เต็มปากว่าปลอดภัยกับผู้คนและสิ่งแวดล้อม
คำว่านวัตกรรมยังรวมถึงรูปลักษณ์ผลิตภัณฑ์แบบเดิมๆ อย่างกระป๋องสเปรย์กันยุงที่เคยเห็นเป็นแท่งๆ ดูดุดัน พวกเขาก็พัฒนามาเป็นขวดทรงโค้งจับถนัดมือ รูปลักษณ์ภายนอกก็ดูเป็นมิตรมากขึ้น จากที่แม่บ้านเคยฉีดสเปรย์กันยุงแล้วต้องหนีออกจากห้อง แต่ผลิตภัณฑ์ใหม่ทำให้คนฉีดยังอยู่ในห้องต่อได้ และแม้เผลอสูดดมเข้าไปก็ไม่เป็นอันตราย
“ผลการทำลายยังคงมีประสิทธิภาพ แต่จะไม่เห็นผลทันตาเหมือนสารเคมี ถ้าคนจะเอาแบบสะใจตายทันตาเห็น แบบนั้นผลิตภัณฑ์ของเราคงให้เขาไม่ได้ เพราะเราไม่ใช่สารสังเคราะห์ที่รุนแรง แต่มันมาจากธรรมชาติ”
การใช้ธรรมชาติจัดการกับธรรมชาติ คือคอนเซ็ปต์ของพวกเขา และนั่นก็ดูจะรับกับกระแสรักษ์โลกห่วงใยสุขภาพของผู้คนในยุคนี้ ทำให้ตลาดผลิตภัณฑ์กำจัดแมลงสูตรใหม่ เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ที่น่าสนใจกว่านั้น คือช่วยขยายตลาดผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ชนิดนี้ให้เติบโตขึ้นได้ในภาพรวม
“ความภูมิใจของเราก็คือ จากอดีตตลาดยาจุดกันยุงแบบขดมูลค่าตลาดอยู่ที่ปีละไม่เกิน 700 ล้านบาท แต่หลังจากคายาริเข้ามาในตลาด ตลาดยาจุดกันยุงกลับเพิ่มสูงขึ้นเป็นพันล้านบาทต่อปี นับเป็นการปลุกตลาดนี้ให้เติบโตเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งคือมีกลุ่มใหม่ๆ ที่ไม่กล้าใช้ผลิตภัณฑ์แบบเดิมหันกลับมาใช้ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติเพิ่มมากขึ้น และมีหลายแบรนด์ที่เริ่มปรับตัวเองมาคำนึงถึงผู้บริโภคมากขึ้นนับจากเราเข้ามาในตลาด”
การมีนวัตกรรมเป็นธงนำ ต้องเริ่มจากการพัฒนาคนในองค์กรให้รู้จักบริหารความคิด วรรณีบอกเราว่า สำหรับพวกเขา พนักงานไม่ใช่ลูกจ้าง แต่คือ “เพื่อนคู่คิด” การขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ จึงเปิดโอกาสให้พนักงานได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิด แชร์ไอเดีย เพื่อก้าวไปสู่เป้าหมายด้วยความร่วมมือจากทุกค
“เราจะบอกพนักงานเสมอว่า คุณคือคู่คิด ไม่ใช่เพียงแค่คนรับคำสั่ง เราจึงเปิดกว้างและมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอยู่ตลอดเวลา ความคิดที่ไม่มีใครผิด ไม่มีใครถูก แต่มันจะนำพาพวกเราไปสู่เป้าหมายเดียวกัน”
หนึ่งในกิจกรรมที่น่าสนใจของการสร้างคนแบบ สถาพร มาเก็ตติ้ง พวกเขาเรียกมันว่า “คอมมานโด” กิจกรรมที่จะให้พนักงานในทุกแผนกมีโอกาสออกไปสัมผัสตลาด เรียกว่าจะฝ่ายผลิต หรือพนักงานธุรการ บัญชี ก็มีโอกาสพบเจอลูกค้าเช่นเดียวกับฝ่ายตลาด
“ฝ่ายตลาดมักจะได้รับเสียงเรียกร้องจากลูกค้ามาว่าอยากได้ผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุด แต่คนรับโจทย์คือฝ่ายผลิตซึ่งบางทีเขาก็ไม่เข้าใจ รู้สึกว่ามันจะอะไรนักหนา แค่นี้ก็น่าจะดีแล้ว พอเราให้เขาไปสัมผัสลูกค้าด้วยตัวเอง แล้วบอกเขาว่านี่ไงล่ะผลงานของพวกคุณ ดูสิว่าลูกค้ารู้สึกอย่างไร และลูกค้าเขาต้องการอะไร เขาก็จะเข้าใจทันที ว่าคนที่ร้องขอคือลูกค้าไม่ใช่ฝ่ายตลาด และเมื่อกลับมาเขาก็จะเต็มที่กับงานในส่วนของตนเองมากขึ้น”
เวลาเดียวกับเปิดหูเปิดตาพนักงาน ก็หาทางลดความขัดแย้งในองค์กร คือใส่ใจพนักงานให้มากขึ้น ใครที่ทะเลาะกัน เมินเฉยใส่กัน ก็จะถูกจับมาวิ่งชนงานกันทันที ให้ทำงานด้วยกันจนกว่าจะปรับความเข้าใจกันได้ รวมถึงการคอยว่ากล่าวตักเตือนพนักงานที่ประพฤติตนไม่เหมาะสม ให้กลับสู่เส้นทางที่ดีงามให้ได้
ความสงบเรียบร้อยที่เกิดขึ้น นำมาซึ่งพลังคนที่พร้อมขับเคลื่อนองค์กร เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรม มาตอบโจทย์ผู้คนบนโลก ตามจุดยืนตั้งแต่ต้นของพวกเขา การสร้างความยั่งยืนให้กับองค์กรและรักษาแนวคิดเช่นนี้ไว้ ผู้บริหารองค์กรน้ำดีบอกไว้แค่ว่า
“องค์กรจะยั่งยืนได้ ต้องเริ่มต้นจาก “ความสุข” แม้จะเหนื่อยหน่อยแต่ถ้าทุกคนมีความสุข ก็พร้อมเดินหน้าทำสิ่งดีต่อไป องค์กรเรามันประเภท โหด มัน ฮา โหดคือทำงานเต็มที่ แต่ต้องมัน ต้องสนุกด้วย และสามารถหัวเราะเริ่มใหม่ได้กับสิ่งที่พลาดไปแล้ว เวลาเจอปัญหาจะบอกลูกน้องเสมอว่า มันคือ Happy Problem อย่างเราผลิตของไม่ทันขาย ลูกค้าก็บ่นมา แต่ถ้ามองดีๆ มันคือ Happy Problem มันย่อมดีกว่า ทุกอย่างราบรื่นไปหมด แต่มีของเต็มสะต๊อกรอขาย เราสร้างทัศนคติด้านบวก เพื่อให้เขามองปัญหาในมุมที่ต่างออกไป และหันมาจัดการกับปัญหานั้นด้วยความเต็มใจ”
นี่คือวิธีคิดขององค์กรผู้พิชิต ที่เลือกอยู่ฝ่ายธรรมะมากกว่าอธรรม มุ่งขับเคลื่อนองค์กรน้ำดีให้ยั่งยืนคู่โลก