ยดาห์อะเดย์..เว็บไซต์บรรณาการ ?เอสเอ็มอี?
ยดาห์อะเดย์..เว็บไซต์บรรณาการ “เอสเอ็มอี”
เมื่อการตลาดคือจุดอ่อนของเอสเอ็มอี ทำอย่างไรให้ของที่ผลิตขึ้นมีช่องทางขายมากกว่านี้ ที่มาของบริการเว็บไซต์ฟรีสำหรับเอสเอ็มอี "ยดาห์อะเดย์
“ยดาห์อะเดย์” คือธุรกิจบริการด้านเว็บไซต์ครบวงจร สนองตอบธุรกิจและหน่วยงานต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ ก่อตั้งขึ้นเมื่อประมาณ 8 ปีที่ผ่านมา จากอุดมการณ์ร่วมกันของ “ผศ.ดร.พิเชฐ ม่วงนวล” และ “ปรานต์ ภูกองไชย” นักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมการสื่อสาร กับอีกหนึ่งหนุ่ม “ตุลกานต์ กิตติกูลกิจ” พวกเขาต่างมีไฟฝันมุ่งมั่นอยู่เต็มกำลัง
กับภารกิจสำคัญหลังการเกิดขึ้นของ “ยดาห์อะเดย์” คือการช่วยเหลือเอสเอ็มอีไทย ให้มีโอกาสเติบใหญ่ทั้งในและต่างประเทศ ด้วยแฟลทฟอร์มการตลาดที่เรียกว่า “เว็บไซต์”
“ย้อนกลับไปหลายปีก่อน การที่เอสเอ็มอีจะลุกขึ้นมามีเว็บไซต์เป็นของตัวเอง ไม่ใช่เรื่องง่าย ส่วนหนึ่งเพราะกลัวไม่กล้าลงทุน เนื่องจากค่าใช้จ่ายในตอนนั้นค่อนข้างสูง และไม่รู้ว่าใครจะดูแลเรื่องพวกนี้ให้เขาได้ เราเองก่อนหน้านี้ทำธุรกิจบริการด้านซอฟแวร์ มีเทคโนโลยีอยู่กับตัว และพัฒนามันขึ้นมาเองด้วย จึงคิดขยายมาให้บริการเว็บไซต์ครบวงจร โดยมุ่งไปยังลูกค้าเอสเอ็มอีเป็นหลัก” ปรานต์ ภูกองไชย ประธานบริหาร บริการเว็บไซต์เพื่อสังคมบอกกับเรา
เหตุผลสำคัญเพราะพวกเขาเชื่อว่า ถ้าเอสเอ็มอีมีตลาด คนขายของได้ เศรษฐกิจชาติก็จะเติบโตตามไปด้วย และนั่นย่อมสะท้อนถึงความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
น่าชื่นชมในความ“คิดการดี” ของพวกเขา
ที่มาของการตั้งต้นธุรกิจ ด้วยแนวคิดผู้ประกอบการสังคม (Social Enterprise) โดยแบ่งธุรกิจออกเป็นสองส่วน ส่วนแรก คือ “การแสวงหาผลกำไรเช่นเดียวกับธุรกิจทั่วไป” เพื่อหารายได้มาหล่อเลี้ยงองค์กร โดยจับกลุ่มลูกค้าธุรกิจทั้งเล็ก กลาง ใหญ่ รวมถึงหน่วยงานที่ต้องการพัฒนาเว็บไซต์ของตัวเอง ทั้งภาครัฐและเอกชน จุดยืนคือ บริการด้วยความเป็นธรรม ทำของดี ในราคาที่เหมาะสมและสอดรับกับความต้องการของลูกค้า ผ่านแนวคิดการทำงานที่ว่า ต้องเป็นผู้ให้บริการด้านเว็บไซต์ ที่ให้ลูกค้าได้มากกว่าแค่ “เว็บไซต์”
ส่วนที่สองคือ “การสนองความต้องการในใจของพวกเขา” คือ การให้บริการเพื่อสังคม โดยลงมือพัฒนาโปรแกรมสร้างเว็บไซต์สำเร็จรูป สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ให้พื้นที่จัดเก็บข้อมูล ซื้อ-ขายสินค้า จำนวนไม่จำกัด และจัดฝึกอบรมการทำเว็บไซต์ ซึ่งทั้งหมดนี้ให้กัน แบบฟรีๆ ไม่มีค่าใช้จ่าย
…ให้มันรู้กันไปว่าของฟรีจะไม่มีในโลก
“เราเทรนนิ่งให้เอสเอ็มอีฟรี ไม่จำกัดจำนวนครั้ง เพื่อสอนวิธีการใช้งานออนไลน์ การแก้ไขปัญหาเบื้องต้น หากเขายังทำไม่เป็น หรือสร้างไม่ได้ เราก็ยังมีทีมงานคอยให้คำปรึกษา และช่วยออกแบบร่วมกับเขา ซึ่งทั้งหมดนี้ ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายหลายคนไม่เข้าใจว่าทำไมถึงฟรี ก็พยายามอธิบายเขาว่าเราต้องการช่วยเหลือเอสเอ็มอีจริงๆ”
แม้จะเป็นของฟรี แต่ก็มีคุณภาพ เทียบเท่ากับบริการที่เขามอบให้ลูกค้าทั่วไป ผ่านการทำงานบนความเชื่อที่ว่า…
“เว็บไซต์ที่ดี ไม่เพียงแสดงรายละเอียดสินค้าและบริการที่ต้องการได้ดีเท่านั้น แต่ยังต้องช่วยสร้างภาพลักษณ์ให้สินค้า เสริมธุรกิจให้โดดเด่น และช่วยให้สามารถบริหารจัดการธุรกิจได้อย่างชาญฉลาด”
อยากจะให้ฟรีเต็มที่ แต่ยังมีคนตั้งคำถามและไม่กล้าใช้ พวกเขาจึงเปลี่ยนวิธีมาเป็นการเข้าหาหน่วยงานภาครัฐที่ทำหน้าที่ส่งเสริมเอสเอ็มอี เพื่อยื่นความประสงค์ขอความช่วยผู้ประกอบการในการดูแลของหน่วยงานนั้นๆ
“ปี 2010 เราร่วมกับ สสว. มอบสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการ จำนวนพันราย โดยให้เขาใช้ฟรีโปรแกรมสร้างเว็บไซต์สำเร็จรูป ให้พื้นที่จัดเก็บข้อมูลจำนวนไม่จำกัด ซื้อ-ขายสินค้าได้จำนวนไม่จำกัด บริการรายชื่ออีเมลจำนวนไม่จำกัด บริการหลังการขายตลอด 24 ชม. เป็นระยะเวลา 1 ปี พร้อมฝึกอบรมการจัดทำเว็บไซต์ และปีนี้ก็เพิ่มอีกพันราย”
ในเวลาเดียวกับการสนับสนุนเทคโนโลยี พวกเขายังขยันจัดกิจกรรม เพื่อหวังให้เอสเอ็มอีได้มาพบปะกันอีกด้วย เช่นการจัดดูหนังฟรีทุกเดือน ด้วยเหตุผลว่า อยากให้ผู้ประกอบการได้มาเจอกัน รู้จัก และแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน
แน่นอนว่าการทำสารพัด ต้องใช้เงินหลายล้านบาท แต่การที่ธุรกิจยังอยู่ได้ เขาบอกว่า เป็นเพราะการหารายได้จากลูกค้าที่มีกำลังจ่าย แม้ส่วนใหญ่จะเชียร์ให้ใช้ฟรี แต่ปรานต์บอกว่าหลายคนก็เลือกที่จะจ่าย เพราะเห็นความตั้งใจดี
ธุรกิจจึงเป็นการหมุนเงินจากคนที่พร้อม มายังคนที่ไม่พร้อม
“คนบางคนยอมจ่าย เพราะเขามีกำลังพอ และเห็นว่าเราตั้งใจจริง สิ่งที่เขาได้จากบริการของเราไม่ใช่แค่ตัวสินค้าหรือบริการ หากคือคุณค่าที่ได้ร่วมกันในการสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการรายอื่น ให้มีโอกาสเข้าถึงเว็บไซด์เช่นเดียวกับเขา”
ยดาห์อะเดย์ เรียกธุรกิจของพวกเขาว่า Business for social หรือ ธุรกิจเพื่อสังคม รูปแบบธุรกิจที่ผลกำไรไม่ได้มีเพียงตัวเงินเท่านั้น หากคือ “คุณค่า” ของการได้ทำอะไรเพื่อสังคม และประเทศชาติ ที่สำคัญยังต่อยอดออกดอกออกผล ไปไม่รู้จบ
“เมื่อธุรกิจเขาดีขึ้น จากบริการของเรา ผมจะบอกลูกค้าเสมอว่า ถ้าได้ประโยชน์จากเรา ก็ให้ไปช่วยเหลือคนอื่นต่อไป อาจบริจาคให้สังคมบ้าง หรือสนับสนุนผู้อื่นให้มีโอกาสเหมือนกับเขาในวันนี้ และนั่นก็คือเป้าหมายสูงสุดที่ผมอยากเห็น”
ปรานต์บอกว่า ทั้งเขาและดร.พิเชฐ ไม่ได้เติบโตมาในครอบครัวที่มีฐานะ แต่การได้โอกาสทางการศึกษาและประสบความสำเร็จในชีวิตได้ทุกวันนี้ มาจากการได้รับโอกาสจากคนรอบข้าง จึงอยากที่จะใช้โอกาสนี้ทำอะไรเพื่อตอบแทนสังคมบ้าง ด้วยความเชื่อในพลังของคำว่า “ยิ่งให้ ยิ่งได้รับ”
การดำเนินธุรกิจให้ยั่งยืน ตามแบบ “ยดาห์อะเดย์” พวกเขาให้ความสำคัญกับการปฏิบัติต่อลูกค้าและผู้เกี่ยวข้องอย่างเป็นธรรม มีความซื่อสัตย์ สุจริต ดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานการแข่งขันที่เป็นธรรม สนับสนุนการใช้ทรัพยากรในประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ คำนึงถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมควบคู่การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ...
และนี่คือมุมคิดดีๆ ของธุรกิจที่กล้าบอกว่า “ของฟรี (คุณภาพเจ๋ง) ก็มีในโลก”..................