http://www.csrcom.com/
True ปลูกปัญญา
CSR เด่น

เทสโก้ โลตัส กรีนสโตร์ !

เทสโก้ โลตัส กรีนสโตร์ !

     ก่อนหน้านี้  เทสโก้ โลตัส ได้พัฒนานวัตกรรมเพื่อการประหยัดพลังงานและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ทั้งในส่วนของการบริหารจัดการพื้นฐานอื่นๆ เช่น การรีไซเคิลขยะ, การรณรงค์ใช้ถุงที่สามารถนำมาใช้ใหม่ได้ โดยจำหน่ายที่เคาน์เตอร์แคชเชียร์ของห้างเทสโก้ โลตัสทุกสาขา  ในราคาใบละ 11 บาท  โดย 10% ของรายได้ที่มาจากการจำหน่ายถุงนี้จะมอบให้กับการกุศล, สนับสนุนการจำหน่ายสินค้าที่เป็นวัตถุย่อยสลายได้ (Biodegradable product)

      จนถึงการสร้างอาคารอนุรักษ์พลังงาน หรือที่เรียกว่า อาคารสีเขียว (กรีนสโตร์) ที่สาขาพระราม 1 ในปี 2547 ประกอบด้วยโครงการริเริ่มอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น 48 โครงการ   ซึ่งนับเป็นอาคารอนุรักษ์พลังงานแห่งแรกของกลุ่มบริษัทเทสโก้ ทั่วโลก

       กรีนสโตร์  ของเทสโก้ โลตัส ได้รับการออกแบบตั้งแต่พื้นจรดหลังคาให้สามารถประหยัดพลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม  นับตั้งแต่การควบคุมความเร็วการหมุนของพัดลม จนถึงการบำบัดน้ำเสีย เพื่อนำไปใช้ใหม่ในห้องน้ำ  หรือการใช้หน้าต่างกระจกเคลือบพิเศษเพื่อกันไอร้อนจากภายนอกแต่ให้แสงสว่างลอดเข้ามาได้  ซึ่งทำให้สามารถประหยัดไฟที่จะใช้กับเครื่องปรับอากาศและไฟฟ้าในขณะเดียวกัน  

       ภายในอาคารประกอบด้วย  การติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์เรียงรายจำนวนมากบนหลังคา  กินพื้นที่บริเวณกว้างที่สุดสำหรับการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในลักษณะเดียวกันนี้ในอาเซียน   การติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์ดังกล่าว สามารถจ่ายพลังงานให้กับเทสโก้ โลตัส สาขาพระราม 1  ทั้งหมด 12.5% ของจำนวนพลังงานทั้งหมดที่ต้องการ   และเพียงรายการนี้รายการเดียวสามารถช่วยลดการปล่อยคาร์บอนของสาขาได้ถึง 380 ตันต่อปี ซึ่งโครงการเหล่านี้สามารถทำให้โลตัสประหยัดพลังงานได้ 10-15% หรือคิดเป็นค่าใช้จ่ายที่ประหยัดไปได้กว่า 7 ล้านบาทต่อเดือน

       ซึ่งเทสโก้ โลตัส สาขาพระราม 1 จัดเป็นกรีนไฮเปอร์มาร์ทสาขาแรกของโลก ที่กลุ่มเทสโก้ได้เริ่มต้นในปี 2547 เกิดก่อนเทสโก้ กรีนสโตร์ ในอังกฤษถึง 2 ปี โดยมีสาขาศาลายาเป็นแห่งที่ 3

   เนื่องจากสาขาพระราม1 เป็นการประเดิม กรีนสโตร์แห่งแรกของเทสโก้ โลตัส จึงเต็มไปด้วยการ ลองผิดลองถูกซึ่ง กษิดิศ มโนภิเวศ หัวหน้าวิศวกรฝ่ายออกแบบและก่อสร้าง ของเทสโก้ โลตัส ยอมรับว่า เราไม่มีต้นแบบจากต่างประเทศ แต่ปรับใช้จากโครงการและเทคโนโลยีที่มีอยู่

 ด้วยข้อจำกัดทางภูมิศาสตร์ของสาขาแรก นำมาสู่การสร้างกรีนสโตร์แห่งที่ 2 บนพื้นที่ 38 ไร่ ชานเมืองจังหวัดนครปฐม ที่ซึ่งแต่เดิมเป็นที่ดินเสื่อมโทรมเพราะมีการขุดตักหน้าดินไปขาย เทสโก้ โลตัสเริ่มต้นอยู่กับธรรมชาติอย่างง่ายๆ ด้วยการสร้างอาคารครอบสระน้ำ ได้ทั้งประหยัดค่าใช้จ่ายถมกลบดินและช่วยระบายความร้อน

  ซึ่งที่นี่มีพื้นที่เพียงพอต่อการทดลองและดำเนินโครงการประหยัดพลังงานใหม่ๆ ที่สำคัญ ได้แก่ Solar Cooling ที่นำแสงอาทิตย์มาผลิตน้ำเย็นในระบบปรับอากาศที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งช่วยประหยัดพลังงานได้มากกว่าส่วนอื่นๆ เพราะระบบปรับอากาศกินพลังงานมากที่สุดทั้งยังมีการรีไซเคิลน้ำมันพืชใช้แล้วเพื่อผลิตไบโอดีเซลเพื่อใช้กับระบบขนส่งลำเลียงสินค้า ผลิตก๊าซชีวภาพจากขยะ เช่น ผักผลไม้เน่าเสีย นำไปผลิตไฟฟ้าต่ออีกทอด

 อีกทั้งสาขาใหม่นี้ยังให้โอกาสทดสอบการใช้กังหันลม 3 ต้น เปลี่ยนพลังลมเป็นกระแสไฟฟ้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง ตีเป็นไฟฟ้าโดยเฉลี่ย 30 หน่วยต่อวัน สามารถเก็บสะสมไฟฟ้าไว้ใช้ได้อีกด้วย หนำซ้ำกลับกลายเป็นไฮไลต์ที่สวยดึงดูดความสนใจผู้คนที่ผ่านไปมาอย่างมาก

 อีกเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่ง คือ การจับมือเป็นพันธมิตร กรีนกับฟิลิปส์ พัฒนาหลอดไฟที่สามารถปรับระดับความเข้มของแสงตามความสว่างของแสงอาทิตย์ได้เป็นครั้งแรกในเมืองไทย ทั้งยังสร้างสถิติมีป้ายสโตร์ใหญ่ที่สุดในโลก แต่ประหยัดพลังงานมากถึง 70% ด้วยไฟ LED (Light-Emitting Diode)

 กรีนสโตร์ศาลายาจึงกลายเป็น กรีนสโตร์ที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย มีโครงการประหยัดพลังงานทั้งหมดกว่า 50 ซึ่งเป็นผลงานเก่าจากกรีนสโตร์แห่งแรก 27 รายการ สามารถประหยัดพลังงานได้ 30% ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 2,500 ตัน/ปี หรือ 40% ขณะที่สาขาพระราม 1 ประหยัดพลังงานได้เพียง 15 %

รายละเอียดการประหยัดพลังงาน สาขาศาลายา (Diagram)

ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างทั้งหมด : 800 กว่าล้านบาท

ค่าใช้จ่ายเฉพาะระบบประหยัดพลังงาน : 108 ล้านบาท

เป้าหมายรวม

1) ลดการใช้พลังงาน 30 % สำหรับสาขาที่มีขนาดเดียวกันหรือ 3 กิโลวัตต์ (ประหยัดได้ 12 ล้านบาทต่อปี)                   

2) ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่บรรยากาศ 40 % (2,500 ตันต่อปี)

ซึ่งมีรายละเอียดโครงการย่อยดังนี้

1) โครงการพลังงานหมุนเวียน 6 โครงการ (ลด 10%) เช่น Bio-Diesel*** Bio-Gas***

2) โครงการออกแบบใหม่ 30 โครงการ (ลด 11%) เช่น สระน้ำขนาดใหญ่ระบายความร้อน เครื่องทำน้ำเย็น** ระบบฉนวนหลังคา ระบบปรับความสว่างอัตโนมัติทั้งอาคาร***

3) โครงการประหยัดพลังงานมาตรฐาน 14 โครงการ (ลด 9%) เช่น เครื่องปรับความถี่กระแสไฟฟ้า (VSD) คอมพิวเตอร์ควบคุมระบบทำน้ำเย็น ระบบฟลูออเรสเซนต์ปรับความเข้มแสงอัตโนมัติ*

(หมายเหตุ:  *** เป็นโครงการใหม่ที่เกิดขึ้นในศาลายา )

"กรีน สโตร์" จึงเป็นต้นแบบของการประหยัดพลังงานที่น่าสนใจ ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในธุรกิจอื่นๆ โดย จุดเด่นของ "กรีน สโตร์" จะแบ่งออกเป็น 4 ส่วน คือ

 1.การประหยัดพลังงานและพลังงานทางเลือก คือการนำพลังงานแสงอาทิตย์ (solar energy) โดยมีการติดเซลล์พลังงานแสงอาทิตย์ (solar cells) บนหลังคา ซึ่งเป็นการติดตั้งแผงเซลล์พลังงานแสงอาทิตย์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 460 กิโลวัตต์ ซึ่งใช้พื้นที่บนหลังคาอาคาร 70,000 ตารางฟุต (ประมาณ 60% ของพื้นที่หลังคาทั้งหมด) อีกทั้งสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ 600,000 หน่วย/ปี เพื่อเป็นพลังงานทางเลือกที่มีส่วนช่วยในการลดพลังงานไฟฟ้า พร้อมการลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ 380 ตัน/ปี

 2.นวัตกรรมการออกแบบ ที่เกิดจากการนำ เอาเทคโนโลยีที่หลากหลายมารวมเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งเป็นประโยชน์ในการลดการแผ่รังสีความร้อน การใช้แสงสว่างจากธรรมชาติให้มากขึ้น รวมถึงการลดแสงสะท้อนจากผนังอาคาร และการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ให้แสงสว่างที่ทางเดินหน้าอาคารในเวลากลางคืน

 3.ระบบปรับอากาศที่ใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า ซึ่งเป็นการพัฒนาระบบปรับอากาศในตัวอาคาร โดยการลดปริมาณกระแสลมส่วนเกินในเครื่องปรับอากาศ และปรับปรุงคุณภาพของอากาศเพื่อลดการใช้พลังงานและลดการทำลายสภาพแวดล้อม โดยใช้คอมพิวเตอร์ควบคุมระบบการทำความเย็นส่วนกลาง (chiller plant) ให้มีประสิทธิภาพตามการใช้งานจริง

 4.การใช้น้ำอย่างคุ้มค่า ไม่ว่าจะเป็นการกักเก็บน้ำฝนในบ่อใต้ดิน กับเครื่องปรับอากาศที่หอผึ่ง หรือคูลลิ่ง ทาวเออร์ (colling towers) รีไซเคิลน้ำเสียที่บำบัดและฆ่าเชื้อโรคแล้วใช้กับสุขภัณฑ์ในห้องน้ำ และการลดปริมาณละอองนำจากหอผึ่งน้ำได้มากที่สุด เพื่อช่วยในการประหยัดน้ำ

 และไม่เพียงเฉพาะ "กรีน สโตร์" เท่านั้น ปัจจุบันทุกสาขาของ "เทสโก้ โลตัส" ก็มีนโยบายประหยัดพลังงานรวมอยู่ด้วย ซึ่งปัจจุบันทุกสาขาของโลตัสก็มีมาตรการประหยัดพลังงานไม่โดยวิธีใดก็วิธีหนึ่ง และได้ดำเนินงานลดการใช้พลังงานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทางบริษัทถือว่าการจัดทำโครงการนี้เพื่อที่อนาคตเทคโนโลยีต่างๆ ที่นำมาใช้ในเรื่องการประหยัดพลังงานและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจะมีราคาถูกลงและส่งผลให้นำมาใช้ได้ทั่วไป เนื่องจากบริษัทตระหนักถึงพันธกิจที่บริษัทมีต่อชุมชนเป็นสำคัญ

บทเรียนของ "เทสโก้ โลตัส" จึงสะท้อนความสำเร็จชัดเจน ของกระบวนการการทำ CSR ที่เริ่มต้นจากกระบวนการดำเนินธุรกิจภายใน ที่ท้ายที่สุดเวลาก็เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าทั้งสังคมและองค์กรก็ได้ประโยชน์จากการทำเรื่องนั้นไปพร้อมๆ กัน !!

 ที่มา:  ชฎาพันธุ์ มลิพันธุ์ Positioning Magazine กุมภาพันธ์ 2551  /    บิสิเนสไทย - 8 มกราคม 2551 /  

OK NATIONวันที่ อาทิตย์ พฤศจิกายน 2550

 

 

aphondaworathan