"ล่องเรือปล่อยปู...ฟื้นฟูป่าชายเลน"
"ล่องเรือปล่อยปู...ฟื้นฟูป่าชายเลน"
BIG Camera & Oska กับโครงการ Go Green 2010
เมืองไทยมีพื้นที่ชายทะเลอยู่ยาวพอสมควร ดังนั้นเรื่องอาหารการกินที่เกี่ยวข้องกับทะเลจึงมีหลากหลาย รวมทั้งปูชนิดต่างๆ ซึ่งเราคุ้นเคยกันอยู่ไม่ว่าจะเป็นปูม้า ปูดำ หรือที่เรียกกันว่าปูทะเล ปูแสมหรือปูเค็ม ฯลฯและก็ยังมีปูอีกหลากหลายชนิด ที่เป็นทั้งแหล่งอาหารของมนุษย์โดยตรง และอีกหลายชนิดที่มนุษย์ไม่ได้บริโภคโดยตรงแต่ก็เป็นตัวเชื่อมต่อวงจรชีวิตของสัตว์อื่นๆ ซึ่งบางทีแล้วเราอาจนึกไม่ถึงว่าปูต่างๆ ที่ถึงเราจะไม่ได้บริโภคมัน แต่กลับมีผลเกื้อหนุนอันยิ่งใหญ่ต่อป่าชายเลนอย่างยิ่ง
ซึ่งปูน้ำเค็ม กับ ป่าชายเลน เป็นการสะท้อนภาพการอยู่อย่างเกื้อหนุนกันที่หลายคนอาจไม่เคยรู้และไม่เคยสังเกตป่าชายเลนซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีพันธุ์ไม้ป่าชายเลนรวมกันอยู่มากมายหลายชนิดเปรียบเสมือนปราการที่ยิ่งใหญ่ที่ปกป้องแนวชายฝั่งทะเลไม่ให้ถูกกัดเซาะจากแรงของคลื่นแหล่งที่อยู่อาศัยและอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนและยังเป็นแหล่งหากินของชุมชนริมฝั่ง ทะเล ขณะเดียวกันหากสังเกตดี ๆจะเห็นว่าป่าชายเลนทุกแห่งต้องมีปูน้อยใหญ่ ที่วิ่งกันขวักไขว่ไปมานั่นอาจเป็นเพราะปูกับต้นไม้ในป่าชายเลนมีสัมพันธภาพที่ลึกซึ้งเกื้อกูลกันเป็นอย่างดีต้นไม้ทุกชนิดจำเป็นต้องมีธาตุอาหารสำหรับการเจริญเติบโต
แต่คำถามคือต้นไม้ในป่าชายเลนได้ธาตุอาหารมาจากที่ไหนคำตอบก็คือจากเจ้าปูตัวน้อย ๆ ที่เดินกันไปมาในป่าชายเลนปูจะทำหน้าที่เป็นผู้หมุนเวียนสารอาหาร และ เร่งอัตราการย่อยสลายของอินทรียสารให้กับป่า ชายเลน โดยหลัก ๆ
จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ 1. ปูกลุ่มที่กินอาหารได้หลากหลายชนิด เช่น ปูแสม(หรือปูเค็ม) ปูกลุ่มนี้จะกินใบไม้ในป่าชายเลนที่ร่วงหล่นลงบนพื้นป่าโดยการนำมาฉีกตัดให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วนำกลับไปเก็บไว้ในรูเพื่อให้จุลินทรีย์ได้ช่วยย่อยสลายเศษใบไม้ก่อนจากนั้นปูจึงค่อยกินเศษซากใบไม้อาหารเหล่านี้จะผ่านกระเพาะและทางเดินอาหารอย่างรวดเร็วแต่จะสามารถดูดซึมสารอาหารได้น้อย ปูจึงต้องกินในปริมาณมากเพื่อให้ได้สารอาหารที่เพียงพอซึ่งอินทรียสารที่ได้รับการย่อยสลายจากปูกลุ่มนี้จะถูกส่งต่อไปเป็นอาหารทั้งทางตรงและทางอ้อมให้กับสัตว์ชนิดอื่นที่เป็นสัตว์ที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ เช่น ปลากระบอก กุ้งทะเล หอยแมลงภู่ และหอยอีกหลายชนิด
2. ปูอีกกลุ่มหนึ่ง คือ ปูที่กินดินกินทรายซึ่งได้สารอาหารส่วนหนึ่งจากมูลของปูกลุ่มแรกเมื่อปูกินอินทรียสารแล้วขับถ่ายออกมา มูลของปูจะกลายเป็นปุ๋ยที่เป็นแร่ธาตุกลับคืนสู่ดิน และสู่ต้นไม้อย่างเป็นวัฏจักรหรือแม้แต่พฤติกรรมการขุดรูของปูที่ขุดชอนไชลงไปในดินเพื่ออาศัยยังเป็นเส้นทางนำพาออกซิเจนเข้าสู่ชั้นดินเบื้องล่างเพิ่มความสามารถในการย่อยสลายอินทรียสารให้กับจุลชีพซึ่งสร้างแร่ธาตุให้กับดินอีกด้วย
จะเห็นได้ว่า สิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดล้วนมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันหากขาดสิ่งมีชีวิตตัวใดตัวหนึ่งไป ก็อาจจะส่งผลกับระบบนิเวศทั้งหมดได้เป็นเหตุผลที่ว่าเหตุใดมนุษย์อย่างเราจึงควรหันมาให้ความรักกับธรรมชาติก็เพราะมนุษย์เองก็ไม่อาจจะอยู่รอดได้ หากขาดทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้และสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ
เพราะเล็งเห็นสิ่งเหล่านี้ คุณชิตชัย เธียรกาญจนวงศ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท บิ๊กคาเมร่า จำกัด ซึ่งมีแนวคิดว่า "จากอุทกภัยที่เกิดขึ้นทั่วประเทศในปีนี้ ทำให้ภาวะโลกร้อนไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป ปัจจัยหลักของภัยธรรมชาติต่างๆ ที่เกิดขึ้น ล้วนแล้วเกิดขึ้นจากพวกเราทั้งสิ้น หลายๆ ประเทศในโลก ต่างมีการรณรงค์ลดภาวะโลกร้อนด้วยวิธีต่างๆ อย่างต่อเนื่อง” ซึ่งบิ๊กคาเมร่าคือหนึ่งในผู้ที่รับผิดชอบสิ่งดังกล่าว เพราะในทุกครั้งที่ผู้ใช้กล้องเก็บบันทึกความสุขและเรื่องราวต่างๆ นั้น จะมีขยะจากความสุขซึ่ง ก็คือแบตเตอรี่ที่หมดอายุการใช้งาน ซึ่งถูกทิ้งโดยไม่มีการกำจัดอย่างถูกวิธี ด้วยเหตุนี้บิ๊กคาเมร่า จึงร่วมกับออสก้า จัดโครงการ Go Green ขึ้นเป็นปีที่ 2 เพื่อร่วมรณรงค์ลดภาวะโลกร้อน ด้วยการตั้งกล่องรับแบตเตอรี่เสื่อมสภาพ เพื่อนำกลับมาทำลายอย่างถูกวิธี ที่บริษัท ออสก้า โฮลดิ้ง โดยจะไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมที่ร้าน บิ๊กคาเมร่า ทุกสาขา และจะมีการทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมด้วยการขยายพันธุ์ปูน้ำเค็ม เพื่อเพิ่มจำนวนประชากรปู ฟื้นฟูระบบนิเวศป่าชายเลนในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2554
สำหรับโครงการ Go Green นี้ประกอบไปด้วยความร่วมมือของบริษัท บิ๊กคาเมร่า จำกัด ศูนย์รวมกล้องดิจิตอลที่มีความสุขให้เลือกมากที่สุด , บริษัท ออสก้า โฮลดิ้ง จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านแบตเตอรี่ไอทีครบวงจร, และศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
โครงการ Go Green ในปีนี้ ซึ่งเป็นครั้งที่ 2 จัดขึ้นเพื่อสานต่อเจตนารมณ์เดิมในการมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อมทางระบบนิเวศวิทยา ด้วยการทำกิจกรรมร่วมกับสื่อมวลชน เพื่อเป็นตัวแทนของลูกค้าที่ร่วมกิจกรรม ในปีนี้จะเป็นการรวบรวมนำแบตเตอรี่ที่เสื่อมคุณภาพแล้ว นำไปกำจัดอย่างถูกวิธี โดยจะมีการตั้ง "กล่องรับแบตเตอรี่เสื่อมสภาพ" ที่หน้าร้านบิ๊กคาเมร่าทุกสาขาทั่วประเทศ โดยผู้ที่นำแบตเตอรี่เสื่อมคุณภาพมาทิ้ง หรือซื้อแบตเตอรี่ Oska, Toriyama หรือ Infini จะมีค่าเท่ากับลูกปูน้ำเค็มเพื่อนำไปปล่อย เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเล โดยจะมีการทำกิจกรรมร่วมกันกับสื่อมวลชน ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ณ วนอุทยานปราณบุรี อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขัณธ์
1. ตั้ง "กล่องรับแบตเตอรี่เสื่อมสภาพ" เพื่อนำกลับมาทำลายอย่างถูกวิธีที่หน้าร้านบิ๊กคาเมร่าทุกสาขาทั่วประเทศ
2. สำหรับผู้ที่ซื้อแบตเตอรี่ Oska, Toriyama หรือ Infini ทุกๆ ชิ้น จะได้เป็นส่วนหนึ่งของการเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเล ด้วยการปล่อยลูกปูน้ำเค็มในเดือนกุมภาพันธ์ (ทำกิจกรรมร่วมกับสื่อมวลชน)
กิจกรรมในเดือน กุมภาพันธ์ 2554
จัดโครงการปล่อยพันธุ์ลูกปูน้ำเค็มบริเวณปากแม่น้ำปราณบุรี บนเนื้อที่กว่า 700 ไร่ ในบริเวณวนอุทยานปราณบุรี รวมทั้งชมระบบนิเวศของป่าชายเลนเพื่อรักษาระบบนิเวศทางธรรมชาติ
สำหรับการกำจัดทิ้ง แบตเตอรี่ที่เสื่อมสภาพ บ.ออสก้า โฮลดิ้ง จก.ซึ่งบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญด้านแบตเตอรี่ไอทีครบวงจร ได้ ร่วมกับบริษัท บิ๊ก คาเมร่า เป็นตัวแทนและกำลังสำคัญในการนำแบตเตอรี่เสื่อมสภาพไปทำลายอย่างถูกวิธี
และศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ซึ่งมีส่วนร่วมกับโครงการนี้ โดยได้จัดพื้นที่ในการรับบริจาคแบตเตอรี่ถึง 10 จุด ได้แก่ 1.เคาน์เตอร์ประชาสัมพันธ์โซนเซ็นทรัลคอร์ท 2.เคาน์เตอร์ประชาสัมพันธ์ โซนอีเดน 3.เคาน์เตอร์ประชาสัมพันธ์อาคารสำนักงาน ชั้น 3 4.เคาน์เตอร์ประชาสัมพันธ์สำนักงานเซ็นทรัลเวิลด์ ชั้น 8 5.เคาน์เตอร์ทัวร์ โซนแดซเซิล 6. ที่ให้บริการข้อมูลร้านอาหาร ชั้น 3 7.ที่ให้บริการข้อมูลร้านอาหาร ชั้น 6 8.แผนกอาคาร 9.แผนกงานระบบ และ 10.เคาน์เตอร์ฝากกระเป๋า และสามารถนำแบตเตอรี่มาทิ้งลงกล่องได้ตั้งแต่วันนี้จนถึงเดือนสิงหาคม 2554
สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่
บริษัท บิ๊กคาเมร่า จำกัด คุณชาวุฒิ โพธิ์สอาด (โจ๊ค) มือถือ 089-660-5002 อีเมล์ joke.chawut@gmail.com
บริษัท ออสก้า โฮลดิ้ง จำกัด คุณอาภาพรรณ ปิ่นเกสร (ปู) มือถือ 087-511-6786 อีเมล์arparphan.p@oskabatt.com
ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ : คุณกฤษฎาพร ช่วยบำรุง (ปุ๋ม) มือถือ 081-448-7753 อีเมล์ chkridsadaporn@cpn.co.th
ที่มา: http://bigcamera.co.th , เดลินิวส์ออนไลน์ 18 ก.พ.2552 , เรียบเรียงโดย ทีมงาน CSRcom.com