ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ
ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติบังคับใช้แล้ว
ผู้สื่อข่าว "มติชนออนไลน์"รายงานว่า ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๔ มีผลบังคับวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๔
ระเบียบฯ โดยที่การประกอบกิจการหรือการดำเนินการของภาคเอกชนจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นบุคคล กลุ่มบุคคล หรือชุมชน ได้มีเป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชน สังคม หรือสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือเป็นการประกอบกิจการหรือการดำเนินการเพื่อสังคม ประกอบกับการสนับสนุนให้มีภาคเอกชน ประกอบกิจการหรือดำเนินการเพื่อสังคมมากขึ้นและเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยได้รับการสนับสนุน และความร่วมมือจากภาครัฐ ภาคเอกชน สมาคม มูลนิธิ องค์กรสาธารณประโยชน์ และสถาบันการศึกษาต่าง ๆ แล้ว จะมีผลให้ชุมชน สังคมหรือสิ่งแวดล้อม ได้รับการแก้ไขปัญหา และพัฒนาได้อย่างเหมาะสมและยั่งยืน
ในระเบียบนี้ นิยามคำว่า “กิจการเพื่อสังคม” หมายความว่า การที่ภาคเอกชนซึ่งเป็นบุคคล กลุ่มบุคคล หรือชุมชน ได้ประกอบกิจการหรือดำเนินการโดยมีเป้าหมายอย่างชัดเจนตั้งแต่เริ่มต้นเพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชน สังคมหรือสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก และมีรายรับจากการขาย การผลิตสินค้า หรือการให้บริการซึ่งมิได้ มุ่งสร้างกำไรสูงสุดต่อผู้ถือหุ้นหรือเจ้าของกิจการหรือการดำเนินการ รวมทั้งมีลักษณะพิเศษ ดังต่อไปนี้
(๑) มีกระบวนการผลิต การดำเนินกิจการ หรือการดำเนินการในส่วนของผลิตภัณฑ์ หรือบริการซึ่งมิได้ก่อให้เกิดผลเสียในระยะยาวต่อสุขภาวะ สังคม และสิ่งแวดล้อม
(๒) มีการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้
(๓) มีศักยภาพที่จะมีความยั่งยืนทางการเงินได้ด้วยตนเอง
(๔) ผลกำไรส่วนใหญ่จากการประกอบกิจการหรือการดำเนินการถูกนำไปขยายผลเพื่อการ บรรลุเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชน สังคม หรือสิ่งแวดล้อม หรือคืนผลประโยชน์ ให้แก่สังคม
(๕) สามารถมีรูปแบบองค์กรที่หลากหลาย
(๖) มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี
ทั้งนี้ รายชื่อและประเภทของกิจการเพื่อสังคมให้เป็นไปตามที่ คกส. ประกาศกำหนด
ระเบียบกำหนดให้มี คณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ” เรียกโดยย่อว่า “คกส.” และให้ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า “Thai Social Enterprise Promotion Board”ประกอบด้วย
(๑) นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ
(๒) รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นรองประธาน กรรมการคนที่หนึ่ง
(๓) ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้มีคุณสมบัติตาม (๖) เป็นรองประธาน กรรมการคนที่สอง
(๔) กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวง สาธารณสุข เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการ ส่งเสริมการลงทุน ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริม วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
(๕) ผู้แทนผู้ประกอบกิจการเพื่อสังคมซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง จำนวนไม่เกินสี่คน
(๖) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำ นวนหกคน
คกส. มีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) จัดทำนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนแม่บทการสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมและเสนอต่อ คณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติ เพื่อให้ส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติ
(๒) ศึกษา เสนอแนะนโยบาย และให้คำปรึกษาแก่คณะรัฐมนตรีให้มีการสนับสนุนและเร่งรัด เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนแม่บทการสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคม อย่างมีประสิทธิภาพ
(๓) เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีให้มีกฎหมายว่าด้วยการสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคม ตลอดจน เสนอแนะให้มีการปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้อง กับการสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมในประเทศไทย
(๔) ประสานกับส่วนราชการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีการดำเนินการส่งเสริม และสนับสนุนกิจการเพื่อสังคมตามระเบียบนี้
(๕) สนับสนุนให้มีการพัฒนาขีดความสามารถ ศักยภาพ และรูปแบบที่เหมาะสมของกิจการ เพื่อสังคม
(๖) สนับสนุนการพัฒนาช่องทางการเข้าถึงเงินทุนและทรัพยากรเพื่อให้มีกิจการเพื่อสังคม มากขึ้น
(๗) ออกระเบียบ คำสั่ง ข้อบังคับ หลักเกณฑ์ และประกาศที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเสริม กิจการเพื่อสังคม เพื่อปฏิบัติการตามระเบียบนี้
(๘) รายงานผลการดำเนินงาน รวมทั้งปัญหาและอุปสรรคให้คณะรัฐมนตรีทราบอย่างน้อย ปีละหนึ่งครั้ง
(๙) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของ คกส. หรือตามที่ คณะรัฐมนตรีมอบหมาย
ที่มา: http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1305725186&grpid=03&catid&subcatid