http://www.csrcom.com/
True ปลูกปัญญา
CSR เด่น

MAKRO มิตรแท้โชห่วย

 

MAKRO มิตรแท้โชห่วย


 


 

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี อธิบายว่าโชห่วย เป็นคำที่มาจากภาษาจีนฮกเกี้ยน สำหรับเรียกร้านขายของชำ สะดวกซื้อ สารพัดสิ่ง ที่มักมีลักษณะอยู่ในตึกแถว หนึ่งห้อง โดยมากเป็นกิจการเล็กๆ กิจการในครัวเรือน สร้างรายรับเล็กๆ น้อยๆ ใช้ในชีวิตประจำวัน ปัจจุบัน ลดน้อยลงไปมาก เพราะความที่เป็นกิจการเล็กๆ ในครัวเรือน  จึงอาจจะมีสภาพเก่าเชย ไม่แตกต่างจากร้านสมัยโบราณ และมีคู่แข่งที่เป็นร้านสะดวกซื้อ ติดแอร์ เปิดตลอดวัน มาแข่งขัน

ร้านโชห่วยเป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมและอยู่คู่กับสังคมไทยมาช้านาน นับเป็นธุรกิจพื้นฐานของคนไทยจำนวนมาก แต่ทุกวันนี้ธุรกิจแบบดั้งเดิมกำลังโดนจำกัดบทบาทให้ค่อย ๆ หายไปจากสังคม

เนื่องจากปัญหาการขยายตัวของห้างและร้านค้าปลีกสมัยใหม่ การขาดความรู้ในการบริหารจัดการและการตลาด การตกแต่ง การจัดรูปแบบร้านที่ไม่สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคและกระแสโลกาภิวัฒน์ และขาดตัวแทนคนรุ่นใหม่สืบทอดกิจการ

ปัญหาเหล่านี้ส่งผลให้ร้านโชห่วยไม่สามารถดำเนินธุรกิจให้มีกำไรและไม่สามารถแข่งขันกับร้านค้าปลีกสมัยใหม่ได้ ในอนาคตอันใกล้นี้หากปัญหาต่างๆ ยังไม่ได้รับการแก้ไขร้านโชห่วยคงหายไปจากสังคมไทย นับเป็นการสูญเสียสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมตลอดกาล

 

บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้จำหน่ายสินค้าอุปโภคและบริโภคในราคาขายส่งให้กับสมาชิกซึ่งเป็นผู้ประกอบการร้านโชห่วย ร้านอาหาร โรงแรม และบริษัท ห้างร้านต่างๆ ในระบบสมาชิก โดยมีสมาชิกทั้งหมด 1.8 ล้านราย เป็นร้านโชห่วยประมาณ 3.5 แสนราย หรือประมาณ 20% ได้เล็งเห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าวและต้องการช่วยเหลือสมาชิกร้านโชห่วยให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืน จึงได้จัดตั้ง แม็คโคร มิตรแท้โชห่วย (เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2550)

 ซึ่งเป็นการเข้าไปถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจถึงการบริหารจัดการ การค้าปลีกแก่ร้านค้าปลีกรายย่อย ตลอดจนให้คำแนะนำเกี่ยวกับกลไกทางการค้าที่จำเป็นสำหรับการเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันให้กับร้านค้า โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ

 

สุชาดา อิทธิจารุกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่ากว่าจะเป็นมิตรแท้โชห่วย  ซึ่งเป็นความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ Corporate Social Responsibility หรือ CSR ของ แม็คโครในวันนี้ที่ประสบความสำเร็จอย่างมากมาย ทั้งๆ ที่มีความสูญเสียเป็นจุดเริ่มต้นอันเนื่องมาจากวิกฤติ 'ต้มยำกุ้ง'

ในห้วงเวลานั้นทุกคนจำได้ดีว่าธุรกิจทั้งรายใหญ่ รายเล็ก ล้มหายตายจากไปมากมาย และเมื่อคลื่นลมสงบอะไรๆ ก็ไม่เหมือนเดิม โดยเฉพาะในแวดวงธุรกิจค้าปลีกไทย ..ส่งผลกระทั่งไม่เหลือที่ยืนสำหรับโชห่วย

สุชาดาพูดว่าการแข่งขันในธุรกิจค้าปลีกหลังพิษต้มยำกุ้งนั้นเปรียบเหมือนช้างชนช้าง หญ้าแพรกอย่างโชห่วยไหนเลยจะไม่ราบเป็นหน้ากลอง แต่คงไม่ใช่สูตรสำเร็จเสมอไป  เพราะย้อนหลังไปในเวลาไล่เลี่ยกับวิกฤติต้มยำกุ้งถ้าจำกันได้ มีหนังชื่อ รักใสๆ หัวใจ 4 ดวง มีนางเอกชื่อ 'ซันไช่' ซึ่งหมายถึงดอกหญ้าที่จะไม่มีวันตาย โชห่วยก็มีสิทธิจะคงกระพันแบบนั้นได้เช่นกัน มันจึงเป็นโอกาสและเป็นที่มาของโครงการแม็คโคร มิตรแท้โชห่วย

 "เรามีการสำรวจก่อนทำโครงการพบว่า ผู้ประกอบการโชห่วยซึ่งเป็นคนในรุ่นลูกรุ่นหลานนั้นอยากจะสืบสานกิจการที่อากง อาม่าก่อตั้งมาทั้งสิ้น ไม่มีใครอยากให้จบลงในรุ่นของตัวเอง ขณะที่เขาต้องการความเป็นอิสระ ไม่ต้องการเป็นทาส ทำตามนโยบายของใคร เขาไม่อยากเสียเงินซื้อแฟรนไชส์ แต่ขอแค่มีพี่เลี้ยงที่คอยชี้แนะก็พอ" สุชาดากล่าว

 

 เพื่อมุ่งเน้นเสริมศักยภาพสร้าง DNA ที่เป็นเลิศให้กับผู้ประกอบการร้านโชห่วย ร้านค้าปลีกรายย่อยรุ่นใหม่ ทำให้ในปีนี้แม็คโครมีการขบคิดจนตกผลึก ออกมาเป็นกิจกรรมที่น่าสนใจดังนี้

 

 1.จัดอบรมสัมมนาหัวข้อ  "สูตรสำเร็จ 7 หัวข้อ ของโชห่วยมืออาชีพ"  ซึ่งว่าด้วยการบริหารจัดการการค้าปลีก 7 หัวข้อหลัก คือ การเลือกทำเลที่ ตั้งร้าน, การเลือกสินค้า, การตั้งราคา, การจัดเรียงสินค้า, การตกแต่งร้านค้า, การส่งเสริมการขาย และการบริหารสินค้าคงคลัง

 

หากแต่แม้มีความรู้สุดท้ายผู้ประกอบการโชห่วยก็อาจจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรๆ ได้เหมือนเดิม  และมีคนเคยพูดไว้ว่า "คนที่ยึดติด หรือคุ้นเคยกับ อะไรก็จะแกะออกยาก ซึ่งไม่มีใครแกะให้เขาได้นอกจากตัวเขาเอง" สิ่งที่พวกเขาต้องการก็คือ 'กำลังใจ' เท่านั้น

แม็คโคร มิตรแท้โชห่วย จึงเพิ่มการธรรมะบรรยายในหัวข้อ  "เติมพลังใจให้โชห่วยไทยกล้าเปลี่ยนแปลง" โดยมีพระอาจารย์ผู้เป็นปราชญ์ คือ พระราชวิจิตรปฏิภาณ วัดสุทัศน์เทพวราราม และพระศรีญาณโสภณ วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก เป็นวิทยากรให้กับโครงการในปีที่ 4 นี้

 2.กิจกรรมแม็คโครและนักศึกษามหาวิทยาลัยร่วมพัฒนาร้านค้าปลีกท้องถิ่น  เน้นให้ความรู้ด้านการบริหารจัดการร้านค้าปลีกแก่นักศึกษาเพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาความรู้สู่ชุมชนทั้งในภาคทฤษฎี และปฏิบัติ  ซึ่งมีความร่วมมือจากสถาบันการศึกษา 47 แห่ง ทั่วประเทศ ส่งนักศึกษาเข้าร่วมกิจกรรม ประมาณ  2,350 คน ในสาขาวิชาบริหารธุรกิจ วิทยาการจัดการ พาณิชย์ศาสตร์ การตลาด และสาขาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการยังได้รับประกาศนียบัตรและมีโอกาสได้รับเข้าทำงานในบริษัทอีกด้วย  แม็คโครตั้งเป้าร้านโชห่วยที่จะเข้าร่วมรับการปรับปรุงจากกิจกรรมนี้ไม่ต่ำกว่า 470 ร้านทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด  

 

 3.การจัดประกวดแผนต่อยอดร้านโชห่วยไทย ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เพื่อค้นหานักพัฒนาร้านโชห่วย และสืบสานกิจการร้านโชห่วยให้ยั่งยืน ในสังคมไทยต่อไป ชิงเงินรางวัลรวมกว่า 120,000 บาท  โดยคุณสมบัติของผู้สนใจสมัครเข้าประกวดแผนจะต้องเป็นทายาทร้านโชห่วย ไม่จำกัดอายุ และระดับการ ศึกษา ร้านโชห่วยหรือร้านค้าปลีกที่ผู้สมัครเลือกพัฒนาจะต้องมีขนาดไม่เกิน 2 คูหา

 

 4. กิจกรรมใหญ่ประจำปี "ตลาดนัดโชห่วย" ในปีนี้จัดบนพื้นที่ขนาด 8 พันตารางเมตร เพื่อเป็นจุดนัดพบเป็นเวทีให้ทายาทโชห่วยมาแสดงความคิด เห็น และเป็นตลาดที่ได้พบปะกันระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย  ด้วยธีม "ต่อยอดอนาคต กำหนดปัจจุบัน สร้างสรรค์อดีต"

 

 สุชาดาเล่าว่าในปีที่ผ่านมาอีเวนท์ตลาดนัดโชห่วยเป็นที่นิยมชมชอบไอเดียการตกแต่งที่ย้อนยุค หน้าตาของร้านรวงที่อยู่ในงานชวนให้คนวัย 40 ขึ้นไปหวนนึกถึงอดีตกันเป็นทิวแถว  เพราะข้อสังเกตหนึ่งก็คือคนมาชมงานต่างก็พก "กล้อง" มากันทุกคน

 

 นั่นอาจหมายถึงหน้าตาโบราณๆ ของโชห่วยไม่ใช่เรื่องเก่า เก็บ แก่ ที่ต้องละเลิก แต่ความโบราณก็ทำให้เซ็กซี่สวยถูกใจไม่แพ้ใคร ข้อควรระวังคือ มันคือต่างขั้วกับคำว่า 'ทึนทึก'  แต่เหมือนกับเพลง 30 ยังแจ๋ว หรือ มะพร้าวยิ่งแก่ก็ยิ่งมัน

 

ส่วนความสำเร็จของโครงการพิสูจน์ง่ายๆ คือพิจารณาว่าที่ผ่านมาครึ่งหนึ่งจากเรือนหมื่นของโชห่วยที่เข้าร่วมกิจกรรมยังดำรงอยู่และมีกำไรดี  แค่ครึ่งเดียวเท่านั้นแต่มีความหมายที่เกินคาด  สำหรับภารกิจต่อลมหายใจให้ชีวิตโชห่วยไทยของแม็คโคร

 

 ที่มา:ชนิตา ภระมรทัต กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ วันที่ 16 กรกฎาคม 2553,     

   suchitra   :    http://www.moneychannel.co.th Wednesday, July 11, 2007

 

aphondaworathan