http://www.csrcom.com/
True ปลูกปัญญา
CSR เด่น

ไบโอแก๊สจากระบบบำบัดน้ำเสีย ของCPF

ไบโอแก๊สจากระบบบำบัดน้ำเสีย ของCPF



ในยุคปัจจุบันประเด็นด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมนับเป็นเรื่องที่ทุกองค์กรที่ทำธุรกิจอยู่บนพื้นฐานแห่งความรับผิดชอบต่อสังคมต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกๆโดยเฉพาะประเด็นปัญหาเรื่องสภาวะโลกร้อนจากก๊าซเรือนกระจก ซึ่งมีสาเหตุสำคัญมาจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซมีเทน ส่งผลให้อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ผลกระทบที่ตามมาก็คือสภาพภูมิอากาศโลกที่วิปริตแปรปรวนอย่างน่าตกใจ แต่นี่อาจเป็นสัญญาณแรกที่เตือนเราว่าถึงเวลาแล้วที่เราต้องร่วมมือกันเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าวก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินแก้

ด้วยความตระหนักต่อปัญหาดังกล่าวและการให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานแห่งความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งนับเป็นนโยบายหลัก ของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ได้นำนวัตกรรมใหม่ที่ได้พัฒนาขึ้นโดยฝีมือคนไทย คือ ระบบบำบัดน้ำเสียแบบ Anaerobic Baffle Reactor (ABR) มาปรับใช้ที่โรงงานแปรรูปเนื้อไก่และอาหารแปรรูป มีนบุรี เป็นแห่งแรกในประเทศไทย โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณส่วนหนึ่งจากสำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ภายใต้ "โครงการส่งเสริมเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพ" ซึ่งสามารถลดเหตุรำคาญด้านกลิ่นและก่อให้เกิดพลังงานทดแทนสำหรับใช้ภายในโรงงาน

จุดเริ่มต้นของโครงการนี้เริ่มขึ้นเมื่อชุมชนที่อาศัยอยู่รอบๆ โรงงานเริ่มขยายตัวเข้ามาใกล้โรงงานมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ ชุมชนรอบโรงงานขยายตัวสูงขึ้นกว่า 500 ครัวเรือน และซีพีเอฟเองได้ให้ความสำคัญกับการอยู่ร่วมกันอย่างผาสุกของโรงงานและชุมชนมาโดยตลอด ด้วยเหตุนี้โครงการระบบบำบัดน้ำเสียที่มีประสิทธิภาพสูงยิ่งขึ้นจึงถือกำเนิดขึ้น ซึ่งเป็นโครงการที่ช่วยป้องกันเหตุรำคาญด้านกลิ่นที่เกิดจากการบำบัดน้ำเสียแบบเดิมที่เป็นแบบบ่อเปิด โดยพัฒนามาเป็นระบบบำบัดน้ำเสียที่มีกระบวนการที่สามารถควบคุมปัญหากลิ่นได้อย่างสมบูรณ์ ด้วยการเปลี่ยนมาเป็นระบบบำบัดแบบไร้อากาศชนิดปิดคลุม หรือที่เรียกว่า Cover Lagoon และระบบตะกอนเร่ง (Activated Sludge)

 

ระบบบำบัดน้ำที่ได้รับการพัฒนาขึ้นนี้ ด้านบนของบ่อบำบัดจะถูกปิดด้วยผ้าใบ PVC อย่างมิดชิด ภายในบ่อที่ถูกออกแบบให้มีกำแพงบังคับทิศทางการไหลของน้ำเสีย (Anaerobic Baffle Reactor : ABR) ด้วยลักษณะการไหลขึ้น-ลงภายในบ่อจะทำให้เกิดการสัมผัสกับเชื้อจุลินทรีย์อย่างเต็มที่ ส่งผลให้เกิดการย่อยสลายอย่างสมบูรณ์ ซึ่งนอกจากจะช่วยกักเก็บกลิ่นได้เป็นอย่างดีแล้ว ยังสามารถผลิตก๊าซชีวภาพที่เกิดขึ้นจากการย่อยสลายน้ำเสียได้สูงสุดถึง 2,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน และด้วยระบบบำบัดแบบใหม่นี้ ทำให้สามารถนำก๊าซชีวภาพที่ได้ ทั้งก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซมีเทน ไปใช้ทดแทนพลังงานจากน้ำมันเตา ในกระบวนการผลิตไอน้ำ (Boiler) ภายในโรงงาน

 

ระบบบำบัดแบบปิดที่ถูกพัฒนาขึ้นนี้ทำให้ใช้พื้นที่น้อยลงถึง 3 เท่า จากเดิมเคยใช้พื้นที่ 8 ไร่ในการบำบัด เหลือเพียง 2.5 ไร่ ทำให้สามารถนำพื้นที่ที่เหลือ 5.5 ไร่ ไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ ส่วนน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วก็ยังมีคุณภาพที่ดีกว่าค่ามาตรฐานของน้ำที่จะปล่อยลงสู่ลำธารสาธารณะที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมกำหนดไว้ว่าต้องมีค่าบีโอดีไม่เกิน 20 โดยน้ำที่ผ่านการบำบัดของโรงงานแห่งนี้มีค่าบีโอดีเพียง 13-14 เท่านั้น ซึ่งโรงงานได้มีการนำน้ำที่ผ่านการบำบัดส่วนหนึ่งกลับมาใช้ภายในโรงงานเพื่อรดต้นไม้ที่อยู่รายรอบโรงงานด้วย

หากจะกล่าวถึงประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการผลิตก๊าซชีวภาพจากระบบบำบัดน้ำนี้ คงต้องยอมรับว่าเป็นโครงการที่คุ้มค่าเป็นอย่างมากเมื่อคำนวณจากงบประมาณที่ลงทุนไปในโครงการนี้ทั้งหมด 24.5 ล้านบาท โดยความคุ้มค่าที่ได้ไม่ใช่แต่เพียงมิติของเงินหรือกำไรเพียงด้านเดียว แต่เป็นความคุ้มค่าในด้านการประสานผลประโยชน์ขององค์กรและการรักษาสิ่งแวดล้อมของส่วนรวมได้อย่างลงตัว จากการดำเนินงานของโครงการนี้ทำให้โรงงานสามารถลดการใช้น้ำมันเตาในกระบวนการผลิตได้มากถึง 366,000 ลิตรต่อปี หรือสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานถึงปีละ 6.6 ล้านบาท สำหรับด้านสิ่งแวดล้อมนับว่าช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 15,000 ตันต่อปี ซึ่งเทียบเท่ากับการปลูกป่า 88 ไร่เลยทีเดียว

 

โครงการผลิตก๊าซชีวภาพจากระบบบำบัดน้ำนี้ ถือเป็นโครงการต้นแบบที่ซีพีเอฟจะนำไปประยุกต์ใช้กับโรงงานอาหารแปรรูปอื่นๆ ของบริษัทต่อไป โดยก๊าซชีวภาพที่เกิดขึ้นนี้มีส่วนผสมของก๊าซมีเทนประมาณ 60-70% ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานสำคัญที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายรูปแบบ เช่น ใช้แทนเชื้อเพลิงในการผลิตไอน้ำ ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าโดยผ่านเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (Gas Generator) หรือใช้เป็นเชื้อเพลิงในการประกอบอาหาร ทั้งยังเป็นเชื้อเพลิงสะอาด สอดคล้องกับหลัก CDM : Clean Development Mechanism ที่ช่วยลดปัญหาภาวะเรือนกระจกของโลกด้วย

 

 

ที่มา: http://matichon.co.th  /  หนังสือพิมพ์บ้านเมือง -- อาทิตย์ที่ 26 ธันวาคม 2553

aphondaworathan