กล่องวิเศษ ของอำพลฟูดส์
กล่องวิเศษ ของอำพลฟูดส์
เนื่องจากในแต่ละปีปริมาณการใช้และการทิ้งขยะกล่องบรรจุภัณฑ์ ยูเอชที มีเพิ่มมากขึ้นหลายล้านกล่องต่อปี ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาต่างๆตามมามากมาย เพราะกล่อง UHT มีส่วนประกอบของชั้นต่างๆ อยู่หลายชั้น โดยมีชั้นของกระดาษ (Paper) อะลูมิเนียม ฟอยล์ (Aluminium foil) และพลาสติก (Poly Ethylene) ซึ่งเป็นสารที่ย่อยสลายได้ยาก และหากทำลายด้วยการนำไปเผาก็จะก่อให้เกิดมลพิษ ดังนั้นการนำกล่อง UHT มาแปรรูปเพื่อใช้ประโยชน์ จึงเป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการลดขยะและลดมลพิษ
1. โพลีเอทิลีน ป้องกันความชื้นจากภายนอก
2. กระดาษ เพื่อความคงทนแข็งแรงของกล่อง
3. โพลีเอทิลีน ช่วยผนึกกล่องให้แน่นสนิท
4. อลูมิเนียมฟอยล์ ป้องกันภาวะภายนอก
5. โพลีเอทิลีน ช่วยผนึกกล่องให้แน่นสนิท
6. โพลีเอทิลีน ช่วยป้องกันและยึดติดการรั่วซึมของของเหลว
จากภาพแสดงส่วนประกอบของกล่อง UHTจะเห็นได้ว่า มีส่วนประกอบของชั้นต่างๆ อยู่หลายชั้น ซึ่งล้วนแต่ย่อยสลายได้ยาก และหากทำลายด้วยการนำไปเผาก็จะก่อให้เกิดมลพิษ
อำพลฟูดส์ ได้มองเห็นถึงปัญหาเหล่านี้ ประกอบกับ เป็นผู้ประกอบการที่ มีการใช้กล่องบรรจุภัณฑ์ ยูเอชที ในหลายผลิตภัณฑ์ ฉะนั้นโยบายการดำเนินการความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (CSR) จึงเกิดขึ้น ภายใต้โครงการที่ชื่อว่า “โครงการกล่องวิเศษ” โดยการเริ่มต้นจากสังคมภายในองค์กรและสังคมโดยรอบบริเวณสถานประกอบการ โดยทีมอาสาสมัคร (Volunteer) ของชาวอำพลฟูดส์บริษัท อำพลฟูดส์ โพรเซสซิ่ง จำกัด ได้ทำโครงการกล่องวิเศษขึ้น ในปี พ.ศ. 2552 ด้วยตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ในฐานะผู้ใช้บรรจุภัณฑ์ที่แต่ละปีต้องใช้กล่องยูเอชที ในการบรรจุสินค้าปีละ 100 ล้านกล่อง (ในประเทศไทยมีการใช้กล่องยูเอชที บรรจุสินค้าและจำหน่ายรวมปีละ ไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านกล่อง)
หลังจากได้ลงทุนสร้างโรงงานรีไซเคิลกล่องยูเอชทีให้เป็นแผ่นชิปบอร์ดขึ้นเอง ในปี 2552 ทางบริษัทได้ทำโครงการเชิญชวนให้ประชาชนส่งผลิตภัณฑ์ UHT ที่ใช้หมดแล้วโดยไม่จำกัดตราสินค้า ทั้งที่บ้านและโรงเรียน เพื่อรวบรวมส่งไปให้บริษัทอำพลฟูดส์ โพรเซสซิ่ง จำกัด ทำการรีไซเคิลผลิตเป็นแผ่นชิปบอร์ด ทดแทนไม้ โดยได้ร่วมกับกรุงเทพมหานคร ส่งเสริมให้โรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร ทั้ง 435 แห่งช่วยกันขยายผลด้วย ซึ่งได้รับความร่วมมืออย่างดี โดยแผ่นชิป บอร์ดนี้จะนำไปประกอบเป็นชุดโต๊ะ-เก้าอี้นักเรียน มอบให้โรงเรียนที่ขาดแคลนทั่วประเทศ
ในปี 2553 นี้ ได้มีการต่อยอดโครงการกล่องวิเศษ ไปสู่โครงการกล่องวิเศษปีสอง ที่ได้ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ (สพฐ) และคณะมัณฑศิลป์ สาขาการออกแบบ มหาวิทยาลัยศิลปากร ในการจัดทำโครงการ Magic Box Idea Contestเป็นโครงการที่ร่วมมือกันระหว่างอำพลฟูดส์ และคณะมัณฑศิลป์ สาขาการออกแบบ มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นการจัดการประกวดออกแบบเฟอร์นิเจอร์จากแผ่นชิปบอร์ด โดยนักศึกษา จากมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ โดยได้มีการตัดสินคัดเลือกผู้เข้ารอบ 20 ผลงาน จาก 278 ผลงาน โดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการออกแบบจากมหาวิทยาลัยต่างๆอาทิ อาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นต้น โดยประกาศผลในวันที่ 18 กรกฎาคม 2553 ที่ผ่านมา
ซึ่งที่ผ่านมา บริษัทอำพลฟูดส์ โพรเซสซิ่ง จำกัด ก็ได้ทำการรีไซเคิลกล่องUHTผลิตเป็นแผ่นชิปบอร์ด ทดแทนไม้นำไปประกอบเป็นชุดโต๊ะ-เก้าอี้นักเรียน และได้มอบให้โรงเรียนที่ขาดแคลนไปแล้วหลายๆแห่ง เช่น
5 มิถุนายน 2553 เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก บริษัทอำพลฟูดส์ โพรเซสซิ่ง จำกัด ได้มอบชุดโต๊ะเก้าอี้นักเรียนที่ทำจากแผ่นชิปบอร์ดจากขยะกล่องยูเอชที จำนวน 1,000 ชุดให้กับ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยโต๊ะเก้าอี้ 1,000 ชุดนี้ ต้องใช้จำนวนกล่องยูเอชทีมากถึง 2,321,263 กล่อง ซึ่งเป็นกล่องยูเอชทีที่นักเรียนในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครทั้ง 435 แห่งได้ร่วมกัน แกะล้างเก็บ ส่งเข้าโรงงานรีไซเคิลของอำพลฟูดส์ฯ ซึ่งสามารถช่วยลดการเผาไหม้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากกล่องยูเอชทีได้มากถึง 20,659,240.7 กรัม (กล่องยูเอชที 1 กล่อง จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์ 8.9 กรัม)
เมื่อวันอังคารที่ 7 ธันวาคม พ.ศ.2553 โครงการกล่องวิเศษได้มอบชุดโต๊ะ-เก้าอี้ นักเรียนจำนวน 100ชุด เป็นจำนวนเงิน 100,000 บาท ให้กับทางโรงเรียนบ้านนาสวน ซึ่งนายพิสิทธิ์ ยั้งประยุทธ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านนาสวนเป็นผู้รับมอบ ที่อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี
วันพุธที่ 22 ธันวาคม 2553 โครงการกล่องวิเศษ ได้ปรับปรุงอาคารโรงอาหาร และใช้แผ่นชิปบอร์ดจากโครงการกล่องวิเศษในการประกอบเป็นตู้ใส่หนังสือ ณ โรงเรียนบ้านห้วยกอกพัฒนา หมู่บ้านห้วยกอกพัฒนา อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก
เหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างกิจกรรมที่โครงการกล่องวิเศษ ได้ออกปฏิบัติงานเพื่อโรงเรียนที่ขาดแคลน ซึ่งหากโรงเรียนไหนต้องการโต๊ะนัดเรียน ให้ทำหนังสือขอไปที่บริษัทได้ ตามที่อยู่นี้
บริษัท อำพลฟู๊ด โพรเซลซิ่ง จำกัด ตู้ปณ.19 ปณฝ. หน้าพระลาน กรุงเทพฯ 10202 โทรศัพท์ 02-6221337-8
ปัจจุบัน โครงการกล่องวิเศษ ก็ยังได้พัฒนาต่อไปอย่างไม่หยุดยั้งโดยไม่ได้หยุดอยู่ที่ทำแค่โต๊ะนักเรียน ที่จะทำต่อก็คือชั้นวางหนังสือในห้องสมุด และต่อไปข้างหน้านี้ จะสร้างโรงเรียนที่บุรีรัมย์โดยฝาผนังโรงเรียนทั้งหมดล้วนผลิตจากกล่องรีไซเคิล ซึ่งโครงการนี้จะช่วยให้เด็กไทยเราได้เรียนรู้เรื่องของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น
ที่มา:
www.ampolfood.com http://www.csri.or.th http://www.foodindustrythailand.com
เรียบเรียงโดย ทีมงาน CSRcom.com