http://www.csrcom.com/
True ปลูกปัญญา
ข่าว CSR

CoolMode เครื่องหมายเสื้อผ้าลดโลกร้อน

 

CoolMode เครื่องหมายเสื้อผ้าลดโลกร้อน

มีคำถามที่ว่าคุณภาพมาตรฐานผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ที่ผู้ประกอบการต้องพัฒนาตามไปเรื่อย ๆ นั้น ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมสิ่งทอมองว่าเป็นเครื่องมือใหม่ที่สามารถจะแข่งขันในตลาดส่งออกได้จริง แต่ในอีกมุมหนึ่งก็เป็นต้นทุนสำหรับผู้ประกอบการไม่น้อย

มาตรฐานล่าสุดที่เป็นความร่วมมือขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) และสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ กระทรวงอุตสาหกรรม ก็คือเครื่องหมาย CoolMode

เครื่องหมายที่ระบุว่าเป็นเสื้อผ้าใส่สบาย ลดโลกร้อน ซึ่งหมายถึงผ้าที่ทำจากเส้นใยธรรมชาติ หรืออาจจะผสมเส้นใยสังเคราะห์ ทั้งนี้ ผ้าดังกล่าวจะต้องคงทน ปลอดภัยสำหรับผู้สวมใส่ ใส่สบาย ทำความสะอาดง่าย และมีกระบวนการผลิตที่ไม่ทำให้โลกร้อน

ก่อนหน้านี้ ทั้งสองหน่วยงานมีความพยายามที่จะประชาสัมพันธ์ป้ายคูลโหมดอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อผู้บริโภคลงไปสอบถามหาผลิตภัณฑ์ กลับไม่มีผู้ประกอบการรายไหนที่ผลิตออกมาจำหน่าย ยกเว้น "วาโก้" ของเครือสหพัฒน์เท่านั้น ทั้งที่มีผู้ผ่านมาตรฐานถึง 6 ราย

เหตุใดป้ายคูลโหมดจึงไม่ตอบโจทย์ ผู้ประกอบการ ถึงแม้จะมีข้อดีมากมายนั้น ในการสัมมนาเรื่องโลกร้อน โอกาสทางการค้าของอุตสาหกรรมสิ่งทอ เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผˆานมา สะท้อนแง่มุมปัญหาในหลายเรื่อง

รติยา จันทรเทียร กรรมการผู้จัดการ บริษัท เท็กซ์ไทล์ แกลลอรี่ จำกัด หรือพาซาย่า ผู้ประกอบการรายล่าสุดที่เพิ่งได้รับเครื่องหมายคูลโหมด กล่าวว่า มีกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ลดโลกร้อนมาตั้งแต่ต้นแล้ว และมีนวัตกรรมใหม่ ๆ เกี่ยวกับผ้าผืนมาพอสมควรแล้ว แต่ถึงอย่างนั้น การที่ผู้บริโภคจะหันมาใช้ผลิตภัณฑ์ของพาซาย่า มาจากการที่ได้ทดลองใช้แล้วชอบ มากกว่าเข้าใจในตัวมาตรฐานของสินค้า

สำหรับผลิตภัณฑ์ 2 แบบแรกที่มีการติดป้ายคูลโหมด ก็คือผ้าปูลายจุดทั้ง 18 เฉดสี และลายโมเสก ที่มีจำหน่ายแล้วที่แฟกตอรี่เอาต์เลต

รติยากล่าวต่อว่า ประเด็นสำคัญอีกอย่างก็คือมาตรฐานคูลโหมดเป็นโอกาสก็จริง แต่เท่าที่ผ่านมา กระบวนการในการสร้างมาตรฐานเพื่อลดโลกร้อนต่าง ๆ นับเป็นต้นทุนที่สูงมากขึ้นทุกที ซึ่งตรงนี้ ผู้ประกอบการจะต้องทำใจรับให้ได้ว่าเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้น

โดยในปัจจุบัน ต้นทุนในการขอป้ายคูลโหมด คิดค่าธรรมเนียมการใช้เครื่องหมาย "CoolMode" 15,000 บาทต่อโครงสร้างผ้า และต่อทุก ๆ 2 ปี ในกรณีที่ยื่นสมัครมากกว่า 1 โครงสร้างผ้า ต้องชำระค่าธรรมเนียม 5,000 บาทต่อทุก ๆ โครงสร้างผ้าถัดไปต่อ 2 ปี

พูดง่าย ๆ ว่า ลายผ้าละ 15,000 บาท และจะต้องเสียค่าธรรมเนียมทุก 2 ปี ซึ่งหากว่ากระบวนการผลิตทั้งหมดจะช่วยลดโลกร้อน แต่หากผู้ประกอบการจะต้องใช้เครื่องหมายคูลโหมด และต้องลงทุนจ่ายค่าธรรมเนียมต่อแบบที่สูงจนเกินไป ในแง่ของเอสเอ็มอีและกลุ่มวิสาหกิจชุมชนอาจจะยังไม่ตอบโจทย์

สำหรับ "ตลาด" สินค้าฉลากคูลโหมด สองหน่วยงานในฐานะของผู้ผลักดันให้มีการใช้ฉลากคูลโหมดขึ้น ได้มีการกระตุ้นตลาดในสองแนวทาง คือการประชาสัมพันธ์ตามสื่อต่าง ๆ เพื่อให้คนเข้าใจถึงคุณลักษณะของตัวผลิตภัณฑ์ แล้วหันไปถามหาผลิตภัณฑ์ กับแนวทางที่สองคือทางสถาบันจะผลิตและจำหน่ายในตลาด เพื่อให้คนหันมาใช้มากขึ้น โดยเฉพาะ "เสื้อเชิ้ต" ที่ยังไม่มีผู้ประกอบการรายใดยื่นขอฉลากคูลโหมดมาก่อน

สำหรับตลาดในอนาคต ภคมน สุภาพพันธ์ ผู้ช่วยนักวิชาการอาวุโส องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก กล่าวว่า ในโครงการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานรัฐ มีนโยบายในการใช้สินค้าลดโลกร้อน โดยมีการสนับสนุนให้ข้าราชการ-พนักงานหันมาใช้ยูนิฟอร์มที่ใช้ผ้าที่มีป้ายคูลโหมดมากขึ้น ซึ่งจะเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยให้กระตุ้นตลาดเพิ่มมากขึ้น

ที่มา: http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1304674168&grpid=no&catid=14

 

 

 

aphondaworathan