?ร้าน 0 บาท? ครั้งแรกที่ ?ขยะ? จะถูกเปลี่ยนเป็นเงิน เพื่อเลือกช็อปปิ้งสินค้า
“ร้าน 0 บาท” ครั้งแรกที่ “ขยะ” จะถูกเปลี่ยนเป็นเงิน เพื่อเลือกช็อปปิ้งสินค้า
สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิล เพื่อสิ่งแวดล้อม(TIPMSE) ร่วมผนึกพลังภาคีเครือข่าย ทำโครงการต้นแบบ ร้าน0บาท สอดรับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงของศูนย์วัสดุรีไซเคิลกลุ่มอาชีพซาเล้ง ชุมชนอ่อนนุช เขตประเวศ โดยการให้ชาวบ้านรวมตัวกันตั้งร้านค้าขึ้นมาในชุมชน ซึ่งแทนที่จะซื้อของด้วยการจ่ายเป็นเงินสด แต่กลับให้เก็บขยะที่สามารถนำไปผลิตใหม่ได้หรือรีไซเคิล มาจ่ายแทนการใช้เงินสด
ทั้งนี้แม้จะไม่มีเงินสดก็สามารถซื้อสินค้าได้ด้วยการหาวัสดุรีไซเคิลมาแลกเปลี่ยนไม่ว่าจะเป็นบรรจุภัณฑ์ ขวดแก้ว ขวดพลาสติก กระป๋องเครื่องดื่ม กล่องกระดาษ กล่องเครื่องดื่ม โดยจะมีบริษัทใหญ่ๆ เข้ามาร่วมสนับสนุน เช่น บริษัท บางกอกกล๊าส จำกัด จะเข้ามาช่วยรับซื้อเศษแก้ว ในขณะที่บริษัท เอสซีจี จำกัด(มหาชน) จะช่วยรับซื้อถุงพลาสติกที่ขายไม่ได้ วัสดุพิษ เช่น หลอดไฟ ถ่านไฟฉาย เป็นต้น
ด้านนายสมพงษ์ ตันเจริญผล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)และประธานคณะกรรมการบริหาร สถาบันบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิล เพื่อสิ่งแวดล้อม ส.อ.ท.กล่าวว่า ปัจจุบันคนไทยมีปัญหาเรื่องค่าครองชีพสูง รายได้กับรายจ่ายไม่สมดุจกัน TIPMSE ได้หาทางออกด้วยการให้ประชาชนนำวัสดุรีไซเคิล ซึ่งมีมูลค่าเป็นเงินสด สามารถนำมาจับจ่ายใช้สอย เพื่อช่วยลดค่าครองชีพของประชาชนได้ ซึ่งจะช่วยลดปริมาณขยะในประเทศและเป็นการสร้างวัฒนธรรมการคัดแยกขยะให้กับคนไทยอีกด้วย
นายยุทธพงษ์ วัฒนะลาภา ผู้อำนวยการสถาบัน TIPMSE กล่าวว่า วัตถุประสงค์ในการทำโครงการ ร้าน0บาท ครั้งนี้ มี 3 ประการ ได้แก่
1.เพื่อลดภาระค่าครองชีพของประชาชน โดยการใช้วัสดุรีไซเคิลแทนเงินสด
2.เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนมองเห็นมูลค่าของวัสดุรีไซเคิล ก่อนทิ้งเป็นขยะ
3.เพื่อรณรงค์ให้เกิดวัฒนธรรมใหม่ที่คนรุ่นใหม่ ร่วมใจคัดแยกวัสดุรีไซเคิล
ซึ่งทั้งหมดนี้คาดว่าจะทำให้สร้างวัฒนธรรมที่คนในชุมชนจะสามารถจัดการคัดแยกขยะจากต้นทาง และจะช่วยให้ปัญหาขยะในชุมชนลดลง รวมถึงสามารถลดค่าครองชีพของคนในชุมชนได้อย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ ร้านต้นแบบโครงการ “ร้าน 0 บาท” ได้เปิดให้บริการร้านแรก ณ ศูนย์คัดแยกวัสดุรีไซเคิลกลุ่มอาชีพซาเล้ง อ่อนนุช 14 ไร่ เขตประเวศ พร้อมกันนี้ ในเฟสแรก จะมีร้านต้นแบบ อีก 2 ร้าน ได้แก่ ร้านชุมชนเคหะดินแดง และชุมชนวัดกลาง ที่จะเปิดเป็นร้าน 0 บาทต้นแบบ ให้ชุมชนที่สนใจเข้าศึกษารูปแบบการจัดการได้ นอกจากนี้ ทาง TIPMSE ยังเปิดรับสมัครบุคคลหรือชุมชน หมู่บ้านที่มีความสนใจจะเปิดดำเนินกิจการร้าน 0 บาท สามารถติดต่อสถาบันได้โดยตรง เพื่อศึกษารูปแบบและเงื่อนไขการดำเนินการ โดยทาง TIPMSE จะเป็นผู้ให้ การสนับสนุนสื่อส่งเสริมการขายและให้การอบรมก่อนการดำเนินการเปิดร้าน
โดยผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม (TIPMSE) โทร 02-272-1552 ต่อ 19
ข้อมูลเพิ่มเติม : http://www.tipmse.or.th/2012/th/index.asp
http://news.mthai.com/general-news/179750.html
============================================================== ประวัติความเป็นมา TIPMSE:
สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ TIPMSE เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร ริเริ่มก่อตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2548 โดยกลุ่มอุตสาหกรรม ภายใต้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมและสมาชิกที่ผลิตสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการใช้บรรจุภัณฑ์ เพื่อรณรงค์ ให้ทุกภาคส่วนร่วมกันคัดแยกบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วออกจากขยะตั้งแต่ต้นทาง เพื่อให้ปริมาณ บรรจุภัณฑ์ใช้แล้วในกองขยะทั่วประเทศลดลงด้วยวิธีที่ปลอดภัยและเหมาะสม ภายใต้แนวคิด "บรรจุภัณฑ์ ไม่ใช่ขยะ" คัดแยกก่อนทิ้ง เงินสนับสนุนหลักมาจากผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่มอุตสาหกรรม และสมาชิกที่ผลิตสินค้าที่เกี่ยวข้องกับบรรจุภัณฑ์ สถาบันฯ ถือเป็นหน่วยงานหนึ่งในสังกัดสภาอุตสาหกรรม แห่งประเทศไทย โดยผู้สนใจสามารถชมข้อมูล สถาบันเพิ่มเติมได้ที่ www.tipmse.or.th