http://www.csrcom.com/
True ปลูกปัญญา
ข่าว CSR

?ขีดจำกัด? ของการเติบโต : คำเตือนข้ามยุคจากหนังสือ 40 ปี โดย คุณสฤณี อาชวานันทกุล

“ขีดจำกัด” ของการเติบโต : คำเตือนข้ามยุคจากหนังสือ 40 ปี โดย คุณสฤณี อาชวานันทกุล

 

ฉายภาพปัจจุบันและแลกเปลี่ยนจินตนาการถึงอนาคตมาหลายตอนแล้ว วันนี้จะพาทุกท่านขึ้นยานย้อนเวลากลับไปหาอดีตบ้าง -- ถอยไปก่อนเกิดวิกฤติน้ำมันครั้งแรก ก่อนที่คนทั่วไปจะเคยได้ยินคำว่า “โลกร้อน” หรือ “การพัฒนาที่ยั่งยืน” และก่อนที่ผู้เขียนบทความนี้จะเกิด


ปี 1972 กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ นักอุตสาหกรรม นักการศึกษา นักเศรษฐศาสตร์ และอีกหลายนักจาก 10 ประเทศ เรียกตัวเองว่า “Club of Rome” ร่วมกันพิมพ์หนังสือชื่อ “The Limits to Growth” (ขีดจำกัดของการเติบโต) หนังสือเล่มนี้ติดอันดับหนังสือขายดีอย่างรวดเร็ว ถูกแปลเผยแพร่กว่า 30 ภาษา และขายได้ถึง 30 ล้านเล่มทั่วโลก


ที่หนังสือเล่มนี้ขายดีเป็นพลุแตกก็เพราะบทสรุปของมันน่าตกใจไม่น้อย กลุ่มผู้เขียนใช้โมเดลคอมพิวเตอร์ที่ทันสมัยที่สุดในตอนนั้นของมหาวิทยาลัยเอ็มไอที ลากเส้นการเติบโตอันน่าทึ่งของประชากรโลกหลังสงครามโลกครั้งที่สองต่อไปในอนาคต ภายใต้แบบจำลอง (scenarios) หลายชุด แทบทุกชุดได้ข้อสรุปตรงกันว่า เศรษฐกิจโลกจะเติบโตอย่างร้อนแรงเกินขีดจำกัดของทุนธรรมชาติ และจะเข้าสู่ภาวะล่มสลายระหว่างปี 2050-2070 -- แบบจำลองฐาน (base scenario) ประเมินว่าจุดล่มสลายนี้จะมาถึงหลังปี 2020
                      

บทสรุปของโมเดลที่ใช้ใน The Limits to Growth มาจากการประเมินระดับประชากร ทุนอุตสาหกรรม (industrial capital) ทุนบริการ (service capital อย่างเช่นการศึกษาและบริการสุขภาพ) และทรัพยากรที่มีวันหมด โดยคำนวณจาก “วงจรป้อนกลับ” (feedback loops) ระหว่างตัวแปรเหล่านี้ (จากภาพที่ 25 ในหนังสือ) ซึ่งวงจรนี้ก็เป็นภาพสะท้อนแบบแผนการเติบโตของแทบทุกประเทศหลังสงครามโลกสิ้นสุด
                      

วงจรป้อนกลับนี้สรุปได้สั้นๆ ว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ผ่านมาต้องใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีวันหมดบางประเภท เช่น ถ่านหินและน้ำมัน เพื่อผลิตสินค้าและบริการให้คนซื้อไปบริโภค ยิ่งประชากรโลกทวีคูณ ยิ่งต้องใช้ทรัพยากรมากขึ้น วันใดวันหนึ่งทรัพยากรก็จะหมด นอกจากนี้ ยิ่งโลกมีประชากรมากขึ้น มีทรัพยากรน้อยลง มลพิษก็จะยิ่งเป็นปัญหา ทั้งหมดนี้หมายความว่า เมื่อเราเติบโตถึงจุดหนึ่ง เราก็จะชน “ขีดจำกัด” ที่ข้ามไม่ได้ เช่น เมื่อถึงจุดที่ทรัพยากรใกล้หมด เราก็จะไม่สามารถขุดมันขึ้นมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ (กล่อง “ประสิทธิภาพของทุน” ในแผนผัง) อีกต่อไป ไม่ว่าจะมีเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมก้าวล้ำนำสมัยเพียงใดก็ตาม


ตัวอย่างของประสิทธิภาพของทุนที่ลดลงเมื่อทรัพยากรใกล้หมด คือการผลิตน้ำมัน -- อัตราการผลิตทั่วโลกแทบไม่เพิ่มขึ้นถึงแม้ว่าราคาพุ่งสูงขึ้นมาก (ผู้เขียนเคยสรุปก่อนหน้านี้ในตอน “วิทยาศาสตร์และการเมืองของจุดผลิตน้ำมันสูงสุด (Peak Oil)”


ไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อว่า 40 ปีหลังจากที่มันถูกตีพิมพ์ บทสรุปของหนังสือเล่มเล็กแต่ทรงพลังเล่มนี้ยังถูกเข้าใจผิดและบิดเบือนอย่างกว้างขวาง นักอุตสาหกรรมพลังงานหลายคนหัวเราะเยาะว่าคณะผู้เขียน “ประเมินพลาด” เพราะน้ำมันไม่ได้หมดโลกก่อนสิ้นสุดศตวรรษที่ 20 ดังที่กล่าวอ้าง – ทั้งที่ The Limits to Growth ไม่เคยคาดการณ์ว่าน้ำมันจะหมดโลกเมื่อใด ทั้งเล่มไม่มีข้ออ้างใดๆ ว่าทรัพยากรชนิดใดชนิดหนึ่งจะหมดโลก เพียงแต่ย้ำเตือนอย่างชัดเจนและสละสลวยว่า มนุษยชาติมีแนวโน้มที่จะเผชิญกับหายนะอันสลับซับซ้อนจากการปะทะสังสรรค์ของปัญหาจำนวนมากซึ่งสถาบันและนโยบายเดิมๆ ไม่อาจรับมือได้ สาเหตุส่วนหนึ่งเพราะมนุษย์เรามักจะมองไม่เห็นการเติบโตแบบชี้กำลัง (exponential) – เรามักจะคิดเอาเองแบบไร้เดียงสาว่าการเติบโตจะเป็นเส้นตรง คณะผู้เขียน The Limits to Growth เตือนว่าการตักตวงทุนธรรมชาติและมลพิษที่เกิดขึ้นจะทำให้ทรัพยากรโลกร่อยหรอลงอย่างรุนแรง และเมื่อถึงจุดนั้นการเติบโตก็จะล่มสลายเข้าสู่ภาวะถดถอยที่อาจกินเวลานานหลายทศวรรษ


คณะผู้เขียนโมเดลใน The Limits to Growth ไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบของหนี้หรือราคาทรัพยากร (ซึ่งหลายชนิดถูกเก็งกำไรในระบบตลาด) -- ซึ่งอาจทำให้ภาวะฟองสบู่และภาวะล่มสลาย “ชัน” กว่าที่คาดการณ์เอาไว้ (คนกู้เงินมาบริโภคส่งผลให้เศรษฐกิจโตเร็วกว่าถ้าไม่มีหนี้ แต่พอใช้หนี้ไม่ได้ เศรษฐกิจก็จะถดถอยแรงกว่าถ้าไม่มีหนี้)


หมุนนาฬิกากลับมา 40 ปี เข้าสู่ปี 2012 ภัยธรรมชาติที่รุนแรงและกระชั้นกว่าเดิมยังมีแนวโน้มที่จะทำลายสถิติความเสียหายอย่างต่อเนื่อง ปัญหาสิ่งแวดล้อมนานัปการก่อความเดือดร้อนและสูญเสียที่ชัดเจน และปัญหาหนี้สินระดับประชาชนและชาติหลายประเทศกำลังสอนเราอย่างชัดเจนถึงอันตรายของ “เศรษฐกิจกาสิโน” ในนิยามของอังก์ถัด


ในเวลาแบบนี้ น่าจะถึงเวลาเสียทีที่เราจะหันกลับมามองงานชิ้นเอกที่ถูกเข้าใจผิด ยอมรับว่า Club of Rome พูดถูกในสาระสำคัญ พร้อมใจกันฟื้นฟูทุนธรรมชาติและแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างเร่งด่วน แทนที่จะคิดผิดต่อไปว่า เทคโนโลยีและนวัตกรรมจะทำให้สังคมของเราเติบโตได้อย่างไร้ที่สิ้นสุด

 

ที่มา: มูลนิธิโลกสีเขียว http://www.greenworld.or.th/columnist/ecosaveworld/1641

aphondaworathan