http://www.csrcom.com/
True ปลูกปัญญา
ข่าว CSR

?เอสซีจี? เยียวยาผู้ประสบภัย ด้วย "นวัตกรรม"

เอสซีจีเยียวยาผู้ประสบภัย ด้วย "นวัตกรรม"

โดย : ประกายดาว แบ่งสันเทียะ

"สุขาลอยน้ำ" นวัตกรรมกู้น้ำหลากจาก เอสซีจี

อุดมคติที่วาดหวังให้ธุรกิจเติบโตคู่สังคมอย่าสมดุล มูลนิธิเอสซีจีจึงขอเป็นตัวเชื่อมบริษัทแม่ให้เยียวยาสังคมโดยการพัฒนานวัตกรรมกู้น้ำหลาก

เก่งและดีคือคำจำกัดความของ คนเอสซีจี ที่วางรากฐานแข็งแกร่งให้กับองค์กรของพวกเขา

การกำหนดเกมธุรกิจที่ผ่านมาด้วยพลังของความเก่งคู่ความดี  จึงล้วนตอบโจทย์การพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainability Development) ทั้งสิ้น

ไม่ว่าจะเป็นการมุ่งทำธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม คิดค้นสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ เพื่อผลประโยชน์สูงสุดต่อผู้คน เพื่อให้ธุรกิจเดินคู่ไปกับสังคมอย่างไม่มีอคติ

หนึ่งในความมุ่งมั่นคือการตั้ง มูลนิธิเอสซีจีเพื่อทำงานให้สังคมอย่างจริงจัง ด้วยระบบตรวจสอบที่เข้มข้นไม่ต่างจากรูปแบบการดำเนินธุรกิจ

มูลนิธิแห่งนี้ กลายเป็นจุดเริ่มต้นให้คนเอสซีจี ลุกขึ้นมาใช้พรสวรรค์และพรแสวงที่มี คิดและทำสิ่งดีๆ เพื่อสังคม เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับบริษัทแม่ เพื่อให้มีรายได้เข้ามาหล่อเลี้ยงมูลนิธิ มีแนวทางการทำงานที่ชัดเจน

"สุรนุช ธงศิลากรรมการและผู้จัดการ มูลนิธิเอสซีจี คือ ผู้ถูกวางตัวให้เป็นคนเข้ามาจัดการปัญหาของสังคมในทุกรูปแบบ  ความมุ่งมั่นของเธอ คือเข้ามาเติมความชื่นใจให้ผู้คน ปลดเปลื้องทุกข์ให้คนร้อนมาพึ่งเย็น

เธอเล่าให้ฟังว่า ก่อนมหาอุทกภัย โครงการเพื่อสังคมภายใต้งานมูลนิธิเอสซีจี มีเจ้าหน้าที่ร่วมทีมอยู่ราว 20 คน คอยทำหน้าที่ช่วยเหลือสังคมในหลายด้าน โดยเน้นไปที่ "การพัฒนาคน" ในหลากมิติและหลายช่วงอายุ เรียกว่า ตั้งแต่เด็กแรกเกิดไปจนเด็กโต อย่างการเล่านิทานเพื่อพัฒนาสมองสำหรับเด็กแรกเกิด การส่งเสริมความสามารถพิเศษในเด็กและเยาวชน ให้เข้าถึงศิลปะและกีฬา พร้อมสอดแทรกจิตสาธารณะบำเพ็ญประโยชน์เพื่อสังคม

นอกจากโครงการที่มูลนิธิฯคิดขึ้นเองแล้ว ที่น่าสนใจไปกว่านั้น คือ การเปิดโอกาสให้พนักงานร่วมแชร์ความคิด อย่างโครงการ ปันโอกาส วาดอนาคตโดยเปิดโอกาสให้คนเอสซีจีรวมตัวกันตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป คิดสิ่งดีๆ เพื่อสังคม โครงการนี้ทำมาเป็นปีที่ 4 แล้ว โดยมีพนักงานไม่ต่ำกว่า 8,000 คนเข้าร่วม ผ่าน 600 โครงการ ที่เป็นความคิดสร้างสรรค์ของพวกเขา

สิ่งสะท้อนกลับมาคือ จิตอาสาที่แฝงอยู่ในตัวพนักงาน โดยบางคนยังหาวิธีเรี่ยไรระดมทุนเพิ่ม อย่างการเล่นกีตาร์เปิดหมวกทำให้หวนไปนึกถึงชีวิตเด็กมหาวิทยาลัย สร้างบรรยากาศการช่วยเหลือสังคมให้คึกคักมีสีสันยิ่งขึ้น

ไม่เพียงเท่านั้น พนักงานที่อยากมีส่วนร่วมช่วยเหลือสังคม รายได้ส่วนหนึ่งที่เข้าสู่มูลนิธิเอสซีจี ยังมาจากการบริจาคเงินของพนักงาน รวมถึงการอุดหนุนสินค้าของมูลนิธิฯ

สุรนุช เล่าว่า มูลนิธิเอสซีจี เข้าไปทำงานอย่างเข้มข้นและมียุทธศาสตร์มากขึ้นเป็นลำดับ หลังเกิดมหาอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ตั้งแต่ปลายปี 2553 ดินโคลนถล่มทำบ้านเรือนเสียหาย ทำให้พวกเขามีโอกาสแสดงบทบาทนักสร้างสรรค์ อย่างการเข้าไปสร้างบ้านในพื้นที่เสียหายกว่า 1,000 หลัง ในเวลา 3 เดือน โดยใช้องค์ความรู้เรื่องบ้านจาก 5 หน่วยธุรกิจ (Business Unit) ของพวกเขา

เกิดเป็นแบบบ้านเอสซีจี ที่สร้างได้รวดเร็ว ราคาถูก คงทน วัสดุอุปกรณ์บางชนิดที่มาจากเอสซีจีก็จะได้รับส่วนลด

บทเรียนในการกู้ภัยธรรมชาติทางภาคใต้ ยังช่วยให้มูลนิธิเอสซีจี วางแผนแก้ไขปัญหาสังคมอย่างมียุทธศาสตร์มากขึ้น เมื่อประเทศไทยต้องการเผชิญเหตุการณ์อุทกภัยครั้งล่าสุดในกลางปี 2554 ที่ผ่านมา

เวลาเดียวกับที่น้องน้ำกำลังเล่นงานใครหลายคน พลังสมองคนเอสซีจี ก็ทุ่มเทไปกับการคิดค้น "สินค้านวัตกรรม" เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย สินค้าที่ไม่ได้มุ่งหวังกำไรในเชิงพาณิชย์ แม้พวกเขารู้ดีว่าทำออกมาในจังหวะอย่างนี้คงขายดิบขายดี ก็ตาม

แต่นี่คงไม่ใช่เวลาที่เหมาะนัก หากภาคธุรกิจจะกอบโกยกำไร ขณะคนในประเทศกำลังเดือดร้อน เธอบอก

นวัตกรรมสินค้าจากเอสซีจี มีเป้าหมายคือการแก้ปัญหา คลายทุกข์ให้บ้านเมืองยามเกิดวิกฤติ มีให้เห็นตั้งแต่ ส้วมกระดาษพวกเขาเปิดไลน์ผลิตกว่า 1 แสนชิ้น เพื่อแจกฟรีให้กับผู้คนในช่วงน้ำท่วม ผลิตภัณฑ์ปลดทุกข์แบบพกพาง่าย สะดวกและแข็งแรงทนทาน สินค้านวัตกรรมถัดมาคือ "สุขาลอยน้ำ" ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีระบบบำบัดในตัว โดยพวกเขาตั้งเป้าที่จะแจกให้ได้ถึง 100 หลัง

ไม่เท่านั้นในเร็วๆ นี้พวกเราจะได้เห็น บ้านลอยน้ำสิ่งประดิษฐ์ชิ้นใหม่ของพวกเขา ที่กำลังจะไปทดลองในชุมชนซึ่งเกิดปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก อย่างอำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก หรือ อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยใช้ซีเมนต์ลอยน้ำไว้ใต้บ้าน

เราอยู่ระหว่างทดสอบความแข็งแรง เพื่อดูว่าเมื่อน้ำซีเมนต์จะสามารถยกบ้านลอยขึ้นเหนือน้ำได้หรือไม่ เช่นเดียวกับเวลาน้ำแห้งก็รองรับบ้านได้ทั้งหลัง โดยผูกติดกับเสาบ้าน

เหล่านวัตกรรม ที่เกิดจากแนวคิดดีๆ อยากช่วยแก้ปัญหาสังคม นำมาสู่การแก้ปัญหาที่ตรงจุด ตรงความทุกข์ของชาวบ้าน และแน่นอนว่านวัตกรรมเหล่านี้ สามารถคืนกลับมาเป็นผลกำไรให้ธุรกิจของพวกเขาได้  จากความต้องการในตลาดที่อาจจะเพิ่มขึ้นในอนาคต

"กานต์ ตระกูลฮุน" กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี บอกเราว่า นวัตกรรมเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนสินค้าของพวกเขา เพราะในอีกไม่เกิน 5 ปีจากนี้ สินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจะเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้นเรื่อยๆ เขาประเมิน

เป้าหมายอันใกล้ เอสซีจีจะเพิ่มสินค้ากลุ่มมูลค่าเพิ่มที่เป็นนวัตกรรม (HVA-High Value Product and Service) จาก 31% เป็นสินค้า เป็น 50% ของยอดขายในปี 2558

วิกฤติที่ผ่านมา ยังทำให้ เอสซีจีได้โชว์สปิริตของความเป็นนักคิดค้นนวัตกรรม แม้จะไม่มีผลในเชิงพาณิชย์ แต่การใช้งบช่วยเหลือน้ำท่วมมูลค่า 200 ล้านบาท นับเป็นโมเดลต้นแบบของการสอนบทเรียนให้สังคม เรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตแบบพึ่งพาตนเองในภาวะวิกฤติ

 

สุรนุช บอกว่า ถึงเวลาที่สังคมไทยต้องปรับทัศนคติใหม่ โดยต้องหันมาร่วมมือกันในชุมชน แทนการเป็นผู้ประสบภัยที่นั่งรอความช่วยเหลือเท่านั้น

นี่คือความมุ่งหวังของเหล่านักพัฒนานวัตกรรมกอบกู้โลก

 

ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/business/csr/20111215/423591/เอสซีจี-เยียวยาผู้ประสบภัย-ด้วย-นวัตกรรม.html

 

aphondaworathan