กระดาษไอเดียเติมยิ้มให้น้อง
กระดาษไอเดียเติมยิ้มให้น้อง
หนังสือพิมพ์บ้านเมือง -- อังคารที่ 13 ธันวาคม 2554 00:00:17 น.
นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ศูนย์พักพิงกลายเป็นบ้านหลังที่ 2 ของเด็กๆ จำนวนมาก เด็กๆ ได้ใช้เวลาส่วนใหญ่ที่นี่ แม้น้องๆ จะต้องหยุดพักการเรียนวิชาการชั่วคราว เพราะโรงเรียนต่างๆ ต้องเลื่อนวันเปิดเทอมออกไป แต่ที่นี่ก็ได้ให้บทเรียนและประสบการณ์ที่มีค่าและไม่มีในตำราเล่มไหนแก่น้องๆ มากมาย
กระดาษไอเดียเล็งเห็นความสำคัญของการใช้เวลาว่างในช่วงนี้สร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้กับเด็กๆ โดยไม่ปล่อยเวลาไปโดยศูนย์เปล่า จึงได้จัดกิจกรรม "ไอเดียเติมยิ้มให้น้อง" ขึ้น เพื่อปลูกฝังแนวคิดให้รักธรรมชาติและจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ให้น้องๆ ที่ศูนย์พักพิงผู้ประสบภัยน้ำท่วม ณ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ ศูนย์นนทบุรี และศูนย์พักพิงกองบัญชาการกองทัพไทย สำนักงานทหารพัฒนา
กิจกรรมไอเดียเติมยิ้มให้น้องเริ่มต้นด้วยการพูดคุยและเล่นเกมเพื่อสร้างความคุ้นเคยกันก่อน จากนั้นพี่ๆ ทีมงานไอเดียได้นำกระดาษไอเดีย กรีน กระดาษซึ่งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะช่วยลดการใช้ต้นไม้มาให้น้องๆ ได้ใช้ฝึกวาดภาพและพับกระดาษพร้อมกับฟังนิทานสนุกๆ แฝงแนวคิดความรักสัตว์และธรรมชาติซึ่งเด็กๆ ได้ให้ความสนใจกันอย่างมาก และเมื่อนิทานจบลงก็จะได้ผลงานศิลปะน่ารักๆ ด้วยเช่นกัน
ตลอดกิจกรรมนั้น น้องๆ ตั้งอกตั้งใจฟังนิทานและตั้งหน้าตั้งตาวาดรูปและพับกระดาษกันอย่างสุดความสามารถ ภาพน้องๆ คอยช่วยเหลือกันและกัน ทำให้พี่ๆ สังเกตเห็นว่ามีสิ่งหนึ่งก่อตัวขึ้นมาในทุกศูนย์พักพิงที่ได้ไปเยี่ยมเยือน สิ่งเล็กๆ แต่ยิ่งใหญ่ที่ว่านี้คือมิตรภาพที่เด็กๆ มีให้กัน ด.ญ.นิศามณี ขันธวิธิ นักเรียนชั้น ป.5 โรงเรียนการเคหะท่าทราย ซึ่งได้อพยพพร้อมกับครอบครัวมาอาศัยอยู่ที่ศูนย์พักพิงได้ 3 อาทิตย์แล้ว เล่าให้ฟังว่า "ตั้งแต่มาอยู่ที่นี่ หนูไม่เหงาเลย เพราะมีกิจกรรมให้ทำตลอด ได้เรียนภาษาอังกฤษ ได้ทำศิลปะ ซึ่งเป็นสิ่งที่หนูชอบทั้งนั้น และหนูยังได้เพื่อนใหม่อีกด้วย ซึ่งถ้าถึงวันที่เราต้องแยกย้ายกันกลับบ้าน หนูคงคิดถึงเพื่อนๆ ที่นี่มาก"
แม้แต่เจ้าหน้าที่ของศูนย์ฯ ก็อดประทับใจในความมีน้ำใจของผู้พักพิงด้วย น.ส.สุธิดา วัฒนชัย ผู้เปลี่ยนบทบาทจากอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มาทำหน้าที่ช่วยเหลือดูแลผู้ประสบภัยที่ศูนย์พักพิงของมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ได้เล่าถึงประสบการณ์ดีๆ ตลอดเวลากว่า 1 เดือนที่มาช่วยดูแลศูนย์แห่งนี้ด้วยจิตอาสาว่า "เราพยายามหากิจกรรมให้เด็กๆ ได้มีส่วนร่วมตลอด แม้จะมีข้อจำกัดเรื่องความหลากหลายของอายุ ทำให้ต้องสรรหากิจกรรมที่เด็กๆ ทุกคนสามารถทำและเรียนรู้ได้ทุกเพศทุกวัย เช่น การทำเครื่องกรองน้ำ ที่ผ่านมาก็มีอุปสรรคบ้าง ช่วงแรกทุกคนต้องพยายามปรับตัวเมื่อต้องมาอยู่รวมกัน แต่เมื่อปรับตัวได้ ทุกอย่างเข้าที่ ก็ไม่มีปัญหาและไม่หนักใจอะไร ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างมีระเบียบวินัย มีความสุข ช่วยเหลือกันและกัน ซึ่งไม่ใช่แต่เพียงเจ้าหน้าที่เท่านั้น ผู้พักพิงก็ให้ความช่วยเหลือตามความสามารถของตนอย่างเต็มที่ เด็กที่โตหน่อยก็อาสามาช่วยกันดูแลน้องๆ คุณยายท่านหนึ่งก็ตื่นมาช่วยพวกเราทำครัวตั้งแต่ตีสี่ถึงเย็นทุกวัน ทั้งหมดนี้ทำให้ลืมความเหนื่อยไปหมด"
แม้ว่าน้องๆ และครอบครัวจะต้องจากบ้านที่ตนรักมาด้วยความจำเป็น แต่อีกไม่นานทุกคนจะได้กลับบ้าน พร้อมความประทับใจและมิตรภาพดีๆ ที่ได้รับ แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ที่ได้มาอยู่ร่วมกัน แต่สิ่งเหล่านี้จะอยู่ในความทรงจำของพวกเขาตลอดไป
ที่มา: http://www.ryt9.com/s/bmnd/1299868