โครงการ ?BETTER? ของไมโครซอฟท์ โครงการเพื่อสังคมยอดเยี่ยมประจำปี 2554
หอการค้าอเมริกันในประเทศไทยยกย่องโครงการ “BETTER” ของไมโครซอฟท์ โครงการเพื่อสังคมยอดเยี่ยมประจำปี 2554
นับเป็นปีที่ 4 ที่ไมโครซอฟท์ ประเทศไทยได้รับรางวัลบริษัทที่ดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมยอดเยี่ยม สำหรับปีนี้โดยคว้ารางวัลจากโครงการการพัฒนาศักยภาพด้านไอทีให้แก่แรงงานไทย
บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับรางวัลองค์กรที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมดีเด่น ประจำปี 2554 หรือ Corporate Social Responsibility Excellence Recognition 2011 จากหอการค้าอเมริกันในประเทศไทย ซึ่งได้รับการคัดเลือกจาก 36 บริษัทสมาชิกที่ดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมในประเทศไทย ในปีนี้ โครงการ “แรงงานไทยก้าวไกลด้วยไอที หรือ BETTER” ซึ่งช่วยเพิ่มศักยภาพด้านไอทีและโอกาสในการทำงานที่ดีขึ้นให้แก่แรงงานไทย ทำให้ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย ได้รับรางวัลเป็นปีที่ 4 จากกิจกรรมAMCHAM ACE Recognition ซึ่งจัดขึ้น 5 ปีต่อเนื่องกันโดยหอการค้าอเมริกันในประเทศไทย
ในปี 2550 โครงการ “Microsoft Unlimited Potential — Community Technology Skills Program” ทำให้ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย ได้รับรางวัลองค์กรที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมดีเด่น จากกิจกรรม Corporate Social Responsibility Excellence Recognition ซึ่งหอการค้าอเมริกันในประเทศไทยจัดขึ้นเป็นครั้งแรก ในปี 2552 ไมโครซอฟท์ ประเทศไทยได้รับรางวัลเป็นครั้งที่ 2 จากโครงการ “MultiPoint Mouse” ภายใต้ โครงการ “Partners in Learning” ต่อมาในปี 2553 ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย ก็ได้รับรางวัลอีกจากโครงการ “การแข่งขันออกแบบและพัฒนาซอฟต์แวร์ หรือ Imagine Cup” และในปีล่าสุดนี้เอง โครงการ “แรงงานไทยก้าวไกลด้วยไอที หรือ BETTER” ก็สามารถคว้ารางวัลประจำปี 2554 อีกครั้งด้วยการผ่านเกณฑ์การตัดสิน อาทิ สร้างการเติบโตทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาว เปิดโอกาสให้พนักงาน และผู้ที่เกี่ยวข้องได้มีส่วนร่วม มีการถ่ายทอดความรู้และแนวทางการดำงานที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนในสังคมไทย
นายปีเตอร์ เอเลียต ประธานหอการค้าอเมริกันในประเทศไทย กล่าวว่า “ขอแสดงความยินดีกับบริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ได้รับรางวัลองค์กรที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมดีเด่นเป็นปีที่ 4 นับตั้งแต่หอการค้าอเมริกันในประเทศไทยได้เริ่มมอบรางวัลนี้เป็นครั้งแรก สำหรับปีนี้ คณะกรรมการผู้ตัดสินได้ยกย่องให้ไมโครซอฟท์ ประเทศไทยเป็นองค์กรที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมดีเด่นจากโครงการ “แรงงานไทยก้าวไกลด้วยไอที หรือ BETTER” เนื่องจากสามารถส่งเสริมทั้งภาคเศรษฐกิจและสังคมให้ก้าวหน้าไปพร้อมๆ กัน โดยการให้ความรู้และทักษะด้าน ไอทีพื้นฐานให้แก่แรงงานไทยอันจะช่วยเพิ่มความก้าวหน้าในอาชีพ ในขณะเดียวกัน ก็ส่งเสริมการเข้าถึงไอทีและความก้าวหน้าด้านการใช้งานไอทีในประเทศไทยด้วย”
โครงการ “แรงงานไทยก้าวไกลด้วยไอที หรือ BETTER” เกิดจากความร่วมมือของบริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด สถาบันคีนันแห่งเอเชีย และกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ซึ่งได้ดำเนินงานต่อเนื่องมาเป็นเวลา 3 ปี เพื่อพัฒนาทักษะ ความสามารถในการใช้งานไอทีเพื่อการสร้างอาชีพให้แก่แรงงานไทย ซึ่งจะช่วยเตรียมความพร้อมและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของแรงงานไทย รองรับการเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน ซึ่งจะเริ่มต้นในปี 2558
นายพีรธน เกษมศรี ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย ดำเนินธุรกิจควบคู่กับการตอบแทนสู่สังคมมาอย่างต่อเนื่อง เราเชื่อมั่นว่าการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยีและการถ่ายทอดทักษะด้านไอทีจะช่วยเปลี่ยนแปลงชีวิต ความเป็นอยู่และสังคมไทยให้ดียิ่งขึ้น ไมโครซอฟท์ให้ความสำคัญกับโครงการ BETTER ซึ่งจะช่วยพัฒนาศักยภาพแรงงานไทยให้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้ซึ่งอยู่บนพื้นฐานความเชื่อสำคัญที่ว่า เทคโนโลยีสามารถช่วยลดช่องว่างระหว่างคนในสังคมได้ และความรู้ด้านการใช้งานไอทีจะช่วยเสริมขีดความสามารถในการทำงานและความเจริญในหน้าที่การทำงานให้แก่แรงงานไทยได้ ที่สำคัญจะช่วยเตรียมความพร้อมให้แรงงานไทยเข้าสู่การเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียนในอนาคตอันใกล้นี้ได้อย่างดี”
โครงการ “แรงงานไทยก้าวไกลด้วยไอที หรือ BETTER” ได้รับการตอบรับที่ดีจากแรงงานไทยทั่วประเทศ เนื่องจากมีหลักสูตรที่ช่วยอบรมให้แรงงานไทยมีความรู้และทักษะในการใช้งานคอมพิวเตอร์ สามารถใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ และอินเทอร์เน็ต เพื่อเป็นเครื่องมือในการทำงาน ประกอบธุรกิจ และหาความรู้ด้วยตนเอง อันจะนำไปสู่การเรียนรู้ที่ไม่สิ้นสุด ปัจจุบันมีผู้ที่ผ่านการอบรมในโครงการ BETTER แล้วทั้งสิ้น 21,467 คน และคาดว่าจะมีผู้ที่เข้าร่วมอบรมเพิ่มรวมทั้งสิ้นประมาณ 40,000 คน จากการสำรวจผู้ที่ได้รับการอบรมเปิดเผยว่า มีความรู้และทักษะด้านไอทีมากขึ้น และมีความมั่นใจในการทำงานมากขึ้นด้วย ทำให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อีกทั้งผู้เข้าอบรมบางส่วนยังมีความก้าวหน้าในอาชีพหลังจากได้เข้ารับการอบรมจากโครงการนี้
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
คุณเพ็ญศรี เอี่ยมคล้าย
ฮิลล์ แอนด์ นอลตัน ประเทศไทย
โทรศัพท์: 0-2627-3501 ต่อ 105
อีเมลล์: piem-klai@th.hillandknowlton.com
ที่มา: http://www.ryt9.com/s/prg/1288063