http://www.csrcom.com/
True ปลูกปัญญา
ข่าว CSR

วิถี CSR โตโยต้า ของ วุฒิกร สุริยะฉันทนานนท์

 

Road Map ของบริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่ระดับโลกอย่าง "โตโยต้า"ก็ต้องการก้าวไปสู่เป้าหมายความ "ยั่งยืน" ด้วยการสวมบท "นักบุญ

อย่างเป็นเอกฉันท์ว่าปัจจุบันองค์กรธุรกิจได้ตีโจทย์ความยั่งยืนว่าจะสำเร็จหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับคุณงามความดีที่ปฏิบัติต่อชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อม ดังนั้นภารกิจหลักจึงต้องเป็นเรื่องของ  CSR-Corporate Social Responsibility อย่างหมดข้อสงสัยหากแต่ว่าจากนี้ไปคือห้วงเวลาที่จะพิสูจน์ว่า ใครกันแน่ที่เป็นนักบุญที่แท้ (ไม่เทียม)

วุฒิกร สุริยะฉันทนานนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด บอกว่าสำหรับ CSR ของโตโยต้านับจากนี้จะเป็นเหมือนละครเรื่องยาว (ยิ่งกว่าซีรีส์เกาหลี)  หมายถึงการทำต่อเนื่องอย่างไม่รู้จบ  และจะมีแต่คำว่า "โปรดติดตามตอนต่อไป"เหตุผลก็คือชีวิตนั้นต้องมีอะไรให้ติดตามตลอดเวลา..แล้วละครเรื่องสั้นจะสนุกกว่าได้อย่างไร

ทั้งนี้ก็เป็นการเดินตามแนวทาง Global Vision 2020 ของบริษัทแม่โตโยต้า ใจความว่า "วัฏจักรธรรมชาติกับวัฏจักรอุตสาหกรรมจะสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืนและยั่งยืนตลอดไป"อีกทั้งเป็นโอกาสที่โตโยต้ากำลังเดินหน้าสู่การฉลองครบรอบวาระการดำเนินงานในประเทศไทยครบ 50 ปี  (ในปี พ.ศ. 2555) ซึ่งเมื่อเร็วๆ  นี้

มร.เคียวอิจิ ทานาดะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ได้ประกาศชัดเจนว่าจะทำ CSR แบบเข้มข้น และ วุฒิกร ก็คือผู้ที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อน 

และเขาได้กำหนดคอนเซปต์หรือเค้าโครงเรื่อง CSR ของโตโยต้าด้วยธีม  Integrated CSR across Value Chain  หรือ การทำ CSR แบบบูรณาการครบห่วงโซ่ธุรกิจ

มันหมายถึง การทำ CSR ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ หรือการทำ CSR ที่อยู่ในกระบวนการทางธุรกิจ หรือ "CSR in-process"และ  CSR ที่ไม่เกี่ยวข้องกับกระบวนการทางธุรกิจ หรือ "CSR after-process"

เริ่มตั้งแต่การคัดเลือกวัตถุดิบเข้ามายังโรงงาน การผลิต การส่งมอบสินค้าที่มีคุณภาพให้แก่ลูกค้า การขาย ตลอดจนการให้บริการหลังการขาย นอกจากนั้น ยังมีการส่งเสริมให้เครือข่ายธุรกิจ อันได้แก่บริษัทในเครือ ผู้ผลิตชิ้นส่วน ตลอดจนผู้แทนจำหน่าย ซึ่งมีเครือข่ายครอบคลุมทุกพื้นที่ของประเทศให้เข้ามามีส่วนร่วมในการทำทุกกิจกรรม CSR ของโตโยต้า ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามในการเดินไปข้างหน้าเคียงคู่ พัฒนาการอันยั่งยืนของสังคมไทย

โดยจากนี้เป็นต้นไปโตโยต้าจะสื่อสารด้วยสโลแกนใหม่  "อนาคตสังคมไทย ความภูมิใจของเรา" 

"โตโยต้าจะทำเรื่อง CSR ให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมโดยการบูรณาการ  ซึ่งเป็นการทำให้ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในธุรกิจของเราทั้งหมดมีความเข้าใจว่างานที่ตัวเองทำส่งผลต่อCSR ในมุมไหน เพราะคนมักคิดว่ามันเป็นหน้าที่ของแผนกหรือฝ่ายที่ดูแลรับผิดชอบเท่านั้นแต่ความเป็นจริงมันเป็นเรื่องของทุกๆ คน"

วุฒิกรบอกว่าโตโยต้าเริ่มสื่อสารคอนเซปต์การทำ CSR ดังกล่าวให้กับพนักงานตลอดจนผู้ผลิตชิ้นส่วน ตัวแทนจำหน่ายได้รับรู้เมื่อปลายปีที่ผ่านมา โดยเน้นหนักไปที่พนักงานของโตโยต้าเป็นพิเศษ ด้วยถือเป็นหัวใจของความสำเร็จ

อาทิ งานบริหารบุคคลก็ต้องคำนึงถึงสวัสดิการ การดูแลพนักงานไม่ว่าสุขภาพกายหรือใจ  งานด้านการตลาดก็ต้องคำนึงเรื่องการปฏิบัติอย่างเป็นธรรมต่อลูกค้า คู่ค้า เป็นต้น

"เราประกาศว่าจะทำ CSR ขณะที่คนในองค์กรยังไม่รู้เรื่องดังนั้นทำไปคงไม่มีความสำเร็จอย่างแน่นอน  เราต้องทำให้พนักงานมีความเข้าใจCSR ในบทบาทของตัวเองเสียก่อนไม่ใช่อะไรๆ ก็จะไปปลูกป่าซึ่งมันเป็น CSR after-process แต่ถึงวันนี้ผมสบายใจขึ้นเพราะพนักงานเขาแสดงว่าเขาเข้าใจในบทบาทของตัวเองมากขึ้น"

ประมาณเดือนกันยายนหรือตุลาคมปีนี้เป็นระยะเวลาที่วุฒิกรคาดว่าพนักงานทุกคนของโตโยต้าน่าจะสามารถพูดจากภาษา  CSR ได้อย่างไม่ผิดเพี้ยน  และเมื่อนั้นโตโยต้าน่าจะมีแผนงานที่เป็น Best Practice จากผลงานของพนักงานนำไปขยายความต่อและสามารถสร้างสิ่งดีๆ ให้เกิดกับสังคม ชุมชน สิ่งแวดล้อมในประเทศไทยต่อไป

โตโยต้านั้นมุ่งเน้นทำกิจกรรมเพื่อสังคมใน  4 ด้านหลัก ได้แก่   1. กิจกรรมส่งเสริมความปลอดภัยบนท้องถนน ภายใต้โครงการ "ถนนสีขาว"

2. กิจกรรมส่งเสริมสิ่งแวดล้อม ภายใต้โครงการ "ป่านิเวศในโรงงาน" 3. กิจกรรมส่งเสริมการศึกษาและถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่สังคมไทย โดยนอกจากการสนับสนุนทุนการศึกษาให้กับสถาบันต่างๆ และ 4. กิจกรรมส่งเสริมคุณภาพชีวิต และการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนของชุมชน ภายใต้การดำเนินงานของมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย

ซึ่งกิจกรรม CSR ของโตโยต้าในปีนี้จะมีอะไรบ้าง วุฒิกรย้ำคำเดิม   "โปรดติดตามตอนต่อไป"

หากแต่เขามีแผนจะใช้ Social Network กระทั่ง Multimedia มาเป็นเครื่องมือในการประชาสัมพันธ์ CSR ของโตโยต้า

"จะเสียภาพมั้ย  ผมขอใช้คำว่าพูดกับทำ  การพูดกับทำขององค์กรมันควรจะเท่าๆ  กัน คือทำเท่าไหร่พูดเท่านั้น ถ้าเราใช้วิธีทำน้อยแล้วพูดเยอะก็คงไม่ยั่งยืนเพราะไม่นานคนคงมองเห็นแล้วเขาจะถามว่าคุณทำอะไร  ดังนั้นเราควรจะเดินสายกลาง"

 

เขามองว่าในวันที่โลกทั้งโลกต้องหันกลับมาตระหนักในเรื่องสังคมและสิ่งแวดล้อม การโฆษณาประชาสัมพันธ์จำเป็นต้องทำคู่ขนานกันไป  แน่นอนว่าคงปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนหนึ่งทำเพื่อภาพลักษณ์ขององค์กร หากแต่ตรงกันข้ามองค์กรธุรกิจจำเป็นต้องโฆษณาประชาสัมพันธ์เพื่อ CSR ด้วยเช่นเดียวกัน 

"ผมกำลังจะบอกว่า ก็เพื่อให้คนและสังคมตระหนักถึงความจำเป็นที่เราทุกคนทุกภาคส่วนต้องรับผิดชอบต่อกระทำของตัวเองซึ่งล้วนส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสังคม  มันต่างจากการประชาสัมพันธ์เพื่อหวังผลว่า ฉันทำดีแล้วนะชื่นชมฉันหน่อย  เพราะโตโยต้ากำลังบอกและชวนทุกคนว่ามาทำดีกันเถอะ"

"CSR ในความคิดของผมก็คือ ทำไมทุกๆ องค์กรเพิ่งตื่นตัวมาทำกันจริงๆ จังๆ ในวันนี้ เพราะภาวะโลกร้อนที่เห็นมันแสดงว่าเราทำกันช้าเกินไป"

มันอาจจะช้าไปบ้างสำหรับหน้าที่กู้โลกของผู้บริหารท่านนี้ แต่เชื่อว่า "ถูกที่ถูกเวลา" เป็นอย่างยิ่งสำหรับการมาของเขา ..มาช้ายังดีกว่าไม่มา

 

 

ที่มา;ชนิตา ภระมรทัตกรุงเทพธุรกิจออนไลน์  19 พ.ค. 2553

 

aphondaworathan