http://www.csrcom.com/
True ปลูกปัญญา
ข่าว CSR

ศิลปากรคว้าแชมป์แผนธุรกิจ เนรมิตกิจการเพื่อสังคมอย่างยั่งยืน

 

ศิลปากรคว้าแชมป์แผนธุรกิจ เนรมิตกิจการเพื่อสังคมอย่างยั่งยืน

 ทีม "ปาล์มรักเมฆ" มหาวิทยาลัยศิลปากร คว้ารางวัลชนะเลิศสุดยอดความคิดสร้างสรรค์เพื่อสังคม คิดแผนธุรกิจท่องเที่ยวเชิงอาสา "Star Voluntours" ภายใต้โจทย์งานอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ ขึ้นแท่นรับถ้วย Innovation World’s Care Award 2010 พร้อมเงินรางวัลถึง 150,000 บาท พร้อมทริปเดินทางไปทัศนศึกษาดูงานธุรกิจเพื่อสังคมที่ฮ่องกงต้นเดือนเมษายนนี้

จบลงไปแล้วสำหรับโครงการประกวดแผนธุรกิจเพื่อสังคม iCARE Award 2010 ฉลาดแกมดี! Creative Social Business Contest จัดขึ้นโดยองค์กรสร้างสรรค์เพื่อสังคม iCARE ร่วมกับ มูลนิธิอโชก้า ประเทศไทย สถาบัน Change Fusion สำนักงานศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) และนิตยสาร BE เพื่อกระตุ้นนักพัฒนาเลือดใหม่ที่มีใจสร้างสรรค์และพร้อมจะพัฒนาสิ่งดี ๆ อันจะเป็นทางออกในการแก้ไขปัญหาสังคมได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ในโครงการฯเปิดโอกาสให้ผู้สนใจได้ส่งไอเดียเปลี่ยน "กิจกรรมเพื่อสังคม" เป็น "กิจการเพื่อสังคม" โดยกำหนดโจทย์การประกวดไว้ 3 ด้าน ได้แก่ 1) งานอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ 2) งานพัฒนาวิถีชุมชน และ 3) งานสถาปนิกชุมชน

จากโจทย์การประกวดทั้ง 3 ด้าน ทุกทีมต้องลงพื้นที่ทำงานอย่างเข้มข้นถึง 8 เดือนเต็ม และเมื่อกลับมานำเสนอผลงานต่อคณะกรรมการ ผลปรากฎว่า ทีม "ปาล์มรักเมฆ" จากมหาวิทยาลัยศิลปากรสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศ "สุดยอดความคิดสร้างสรรค์เพื่อสังคม" ไปได้ในที่สุด รับถ้วยรางวัลและเงินรางวัลไปครองได้สำเร็จ แถมงานนี้ ทีมผู้ชนะยังมีโอกาสได้เดินทางไปทัศนศึกษาดูงานธุรกิจเพื่อสังคมที่ฮ่องกงอีกด้วย

โก้-กิตติคุณ จันทร์แย้ม นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร จากทีมปาล์มรักเมฆ กล่าวว่า จากโจทย์ที่ได้รับทั้ง 3 โจทย์ ทางทีมเราได้เลือกที่จะทำในโจทย์ของการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ โดยได้ร่วมกันเสนอเป็นแผนการท่องเที่ยวเชิงอาสา เพราะยังไม่เคยเห็นมาก่อนในเมืองไทย เราใช้วิธีเปิดเว็บไซต์ starvoluntours.com ขึ้นมาใหม่ เพื่อให้คนทั่วไปเข้ามาซื้อทัวร์ไปเที่ยวได้ที่เว็บไซต์นี้ โดยเริ่มที่พื้นที่อำเภอเชียงดาว จ.เชียงใหม่ก่อนเป็นที่แรก และในแต่ละทัวร์ก็จะมีกิจกรรมเชิงอาสามาให้ร่วมกันทำอีกด้วย

"กิจกรรมที่เราคิดขึ้นมา เช่น การทาสีบ้าน การซ่อมแซมสถานที่ในชุมชน การเข้าไปช่วยงานสถานีวิจัยสัตว์ป่า เป็นครูอาสา ฯลฯ ซึ่งจากการได้ลองทำจริง ทั้งผู้จัด ผู้เข้ามาร่วมทัวร์ และคนในพื้นที่ได้รับความประทับใจกันไปทุกฝ่าย ซึ่งผมหวังว่า ทัวร์ที่พวกเราจัดขึ้นน่าจะมีส่วนช่วยกระตุ้นให้หลายคนมีจิตสำนึกในการอนุรักษ์ธรรมชาติและชุมชนมากขึ้นครับ" โก้ กล่าว

นอกจากนี้ ยังมีทีมที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จากโจทย์งานสถาปนิกชุมชน ได้แก่ทีม "Architects for All" จาก คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งตัวแทนจากทีม อย่าง แนน-ชญานี ขุนกัน ได้เล่าถึงการประกวดแผนธุรกิจครั้งนี้ว่า ทางทีมได้คิดแผนธุรกิจที่ชื่อว่า CAN ขึ้นมา ซึ่งย่อมาจาก Community Act Network โดยเป็นแผนที่เน้นแนวคิดเรื่องธุรกิจเพื่อสังคม รวมถึงแนวความคิดในการทำงานด้านสถาปนิกชุมชน เนื่องจากมีความชื่นชอบในด้านนี้เป็นทุนเดิม

"ส่วนตัวมีความสนใจแนวคิดแบบนี้อยู่แล้ว พอมีโครงการนี้ก็เลยสมัครเข้ามาประกวดดูเพื่อที่จะได้เรียนรู้ประเด็นนี้ให้มากขึ้น พร้อมทั้งผลักดันสิ่งที่เราสนใจให้เกิดเป็นรูปธรรม งานที่ทีมของเราทำก็คือ การผลักดันให้เกิดเครือข่ายสถาปนิกชุมชน โดยสิ่งที่เราทำตอนนี้และหวังว่าจะทำอย่างต่อเนื่องต่อไป

ก็คือ พวกเราจะเข้าไปช่วยผลักดันและพัฒนาชุมชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยเริ่มจากเรื่องที่อยู่อาศัยเป็นแกนหลัก แต่ก็ต้องร่วมพัฒนาเรื่องอื่น ๆ ในชุมชนไปด้วย โดยผ่านการจัดงานเสวนาเพื่อเปิดมุมมองให้นักเรียน สถาปัตย์และสถาปนิกอาชีพและผลักดันให้พวกเขาร่วมกันพัฒนาชุมชนให้เติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป" แนน กล่าว

ปิดท้ายกับทีม "หมู่บ้าน" ของนักศึกษาคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่คิดค้นแผนธุรกิจเพื่อสังคมโดยใช้ชื่อว่า "ตายาย" ออกมาในโจทย์งานพัฒนาวิถีชุมชน ที่สามารถคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ไปครอง โดยมีตัวแทนของทีม อย่าง เฮี้ยง-กนกพร แสนสุขสม เล่าถึงการออกแบบแผนธุรกิจนี้ว่า มีโอกาสได้ลงพื้นที่ไปทำงานจริง ๆ ถึงจังหวัดเชียงรายที่พิพิธภัณฑ์เล่นได้ของชุมชนบ้านป่าแดด โดยแผนธุรกิจที่ทำคือ การเข้ามาช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ของเล่นของชุมชน อาทิ งูดูด จานบิน ลูกข่างโว่ เป็นต้น

สนุกมากค่ะที่มีโอกาสได้เข้ามาทำแผนธุรกิจประกวดกับ iCARE ในส่วนแผนขั้นตอนต่อไปที่เราอยากทำต่อก็คือ การออมทรัพย์ของเล่น ที่เปิดโอกาสให้คนในชุมชนเอาของเล่นมาฝากกับสหกรณ์แทนเงิน แต่สามารถตีมูลค่าเป็นเงินฝากให้ผู้ฝากได้ คิดว่านอกจากจะช่วยอนุรักษ์ภูมิปัญญาชาวบ้านแล้ว ยังทำให้ของเล่นแต่ละชิ้นเกิดมูลค่าเพิ่มมากขึ้นด้วยค่ะ" เฮี้ยงกล่าว

 

 ที่มา : http://www.manager.co.th/Campus/ViewNews.aspx?NewsID=9540000033773

 

aphondaworathan