คำต่อคำ มีชัย วีระไวทยะ กับ Social Enterprise
คำต่อคำ มีชัย วีระไวทยะ กับ Social Enterprise
*แนวทางการทำงานเพื่อสังคมที่ทั้งแก้ปัญหา สร้างโอกาสทางสังคม และยั่งยืน
*หยุดดำเนินงานในรูปแบบมูลนิธิ หากต้องการความก้าวหน้า
*5 กิจกรรมหลักที่รัฐและเอกชนควรให้ความสำคัญ
*แนวคิดแบบองค์รวม คือพัฒนาธุรกิจและเข้าถึงแหล่งทุน
ท่ามกลางการขับเคลื่อนของภาคธุรกิจในการดำเนินงานเรื่อง CSR ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาที่ขยายขอบเขตจากองค์กรของตนเอง มาสู่การชักชวนคู่ค้าและสมาชิกในสายอุปทานให้ดำเนินงานร่วมด้วย กระทั่งถึงการขยับความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรธุรกิจไปสู่การเป็น SE (Social Enterprise) อีกขั้นความรับผิดชอบที่หลายฝ่ายกำลังให้ความสนใจ โดยมองว่าหลายองค์กรทั้งธุรกิจ และเอ็นจีโอ น่าจะ และควรจะดำเนินไปในทิศทางที่ว่านี้ เพราะธุรกิจประเภทนี้ผลกำไรจะถูกนำกลับไปเพื่อใช้ในการแก้ปัญหาและพัฒนาโอกาสทางสังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก
แนวทางแบบ SE จะเป็นอย่างไร มีชัย วีระไวทยะ ที่ปัจจุบันเป็นประธานคณะกรรมการบริหารโครงการเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชน เป็น “คุณครูใหญ่” โรงเรียนมัธยมลำปลายมาศ อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ และอีกหลายต่อหลายตำแหน่ง ยกเว้นตำแหน่งนายกสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน เพราะเพิ่งลาออกเมื่อไม่นานมานี้ จะมาอธิบายให้ฟัง
“มีชัย” ที่หลายต่อหลายคนรู้จักพอๆกับชื่อ มิสเตอร์ คอนดอม ในฐานะคนแรกที่เคลื่อนไหวรณรงค์วางแผนครอบครัวในเมืองไทย พูดถึงแนวทางการดำเนินงาน โครงการเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชน และการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจว่า โครงการเศรษฐกิจพอเพียงหรือชุมชนพอเพียงจะเกิดผลสำเร็จได้ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจ เนื่องจากทั้ง 3 ภาคส่วนนี้จะเป็นแหล่งเงินทุนสนับสนุนงบประมาณในการจัดกิจกรรมต่างๆในชุมชน โดยเฉพาะภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจเป็นองค์กรที่มีทั้งองค์ความรู้และทุนทรัพย์มาก
ทั้งนี้ องค์กรเอกชนและรัฐวิสาหกิจควรเข้ามามีบทบาทเพื่อช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตและขจัดความยากจน โดยมีส่วนร่วมในการลงทุนกับรัฐบาล เน้นให้ภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจนำผลกำไรที่ได้จากการทำธุรกิจมาช่วยภาคประชาชนและให้ความสำคัญในการพัฒนาสังคมด้านต่างๆมากขึ้น เน้น 5 กิจกรรมหลัก คือ 1. การพัฒนาองค์กรประชาชน ให้เข้มแข็งและยั่งยืน 2. การพัฒนาเศรษฐกิจ (สร้างรายได้ เพิ่มทักษะทางธุรกิจ และแหล่งเงินกู้) 3. การพัฒนาสิ่งแวดล้อม 4. การดูแลสุขภาพอนามัยและผู้สูงอายุ 5. การศึกษาและพัฒนาเยาวชน ประชาชนแต่ละชุมชนมีความรู้ความสามารถในการบริหารจัดการโครงการต่างๆ แต่ยังขาดการมีส่วนร่วม และยังขาดการสนับสนุนเงินทุนทำให้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา ซึ่งหากได้รับการช่วยเหลืออย่างจริงจัง จะส่งผลดีเกิดแก่ประชาชนทุกระดับ
มีชัย ยังอธิบายถึงความจำเป็นที่ต้องมี SE ก็เนื่องมาจาก หากเอ็นจีโออยู่ได้ด้วยการบริจาคก็จะไม่มีอนาคต ดังนั้น จึงควรต้องมีอีกขาที่เป็นธุรกิจเพื่อสังคม หรือที่เรียกว่า Social Enterprise
“ในเอเชียเมื่อ 35 ปีที่แล้วเริ่มจากบริษัท พัฒนาประชากร จำกัด บริษัทนี้เริ่มต้นจากการเป็นมูลนิธิก่อน ต่อมาจึงค่อยตั้งเป็นบริษัท เพราะคาดคะเนว่ามูลนิธิจะไม่มีทางก้าวไปข้างหน้า หากยังหวังพึ่งเงินคนอื่น พึ่งความกรุณาปราณีจากคนอื่นมันไม่ได้ตลอดไป เรากู้เงิน 62,500 เหรียญ แล้วเราก็ใช้คืนไป ใช้คืนตรงเวลา เพราะมีแผนและทำตามแผน เขาเลยพึงพอใจ ให้จ่ายแค่ครึ่งเดียว ซึ่งต่อมาค่อยๆมาทำที่เมืองไทย การจะทำอะไรก็ตามเพื่อสังคมอย่าเริ่มจากกการตั้งเป็นมูลนิธิ เพราะมันเหมือนกับการไปขอทาน เริ่มต้นจากการไปขอชาวบ้าน ควรทำให้ตนเองเลี้ยงตัวเองได้ก่อน”
อดีตรัฐมนนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ในประเทศอังกฤษมีกรมหนึ่งดูแลเรื่อง Social Enterprise ชื่อในงานว่ากิจการเพื่อสังคม แต่อยากเรียกว่าวิสาหกิจเพื่อสังคม ซึ่งมันชัดเจนว่าเป็นธุรกิจที่กรมในอังกฤษดูแลถึงกว่า 2.3 แสนองค์กร สัดส่วนมากถึง 7% ของจีดีพี ขณะที่เมืองไทยกำลังเริ่ม ดังนั้น จึงอยากแนะนำว่าควรแยกให้ชัดเลยว่า หากองค์กรมีกำไรสามารถนำไปใช้ได้แค่ 3 อย่างคือ สำรอง ขยายธุรกิจ และสาธารณประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำอะไรให้สังคม เพราะจะได้ยั่งยืน แล้วประกาศออกไปให้ใครมาร่วมก็ได้ ไม่มีการแบ่งกำไรให้ใครทั้งสิ้น สำหรับประเด็นของการออกกฏหมายใหม่ จำเป็นต้องทำ 3 ประการดังกล่าว ที่สำคัญผู้ถือหุ้นต้องทำตาม และต้องประกาศให้ชัดเจน นอกจากนี้ควรมีการเสียภาษีสัก 10-20% โดยเริ่มจากการเสียภาษี 20% ก่อน จากนั้นค่อยลดลงเหลือ 10%
Bird&Bee และ BREAD
ตัวอย่างที่น่าสนใจในการทำธุรกิจเพื่อมาดูแลสังคมก็คือ การทำโครงการเพื่อส่งเสริมการศึกษา หรือที่เรียกว่า BREAD (Business for Rural Education and Development) เป็นการศึกษาเพื่อพัฒนาชนบท ที่ตัวเขาเองเป็นประธานและผู้ก่อตั้งบริษัท ธุรกิจเพื่อพัฒนาการศึกษาและชนบท จำกัด ขึ้นมาเพื่อหารายได้จากการดำเนินธุรกิจไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของ ชุมชนในชนบทให้ดีขึ้น
"ที่ผ่านมาเราดำเนินการผ่านองค์กรเอกชนสาธารณประโยชน์ทางด้านการศึกษา เกื้อกูลชีวิตและการพัฒนาชุมชนมากว่า 30 ปี องค์กรเอกชนสาธารณประโยชน์ต่างๆ ในเครือข่ายของผม ไม่ว่าจะเป็น สมาคม, มูลนิธิ, ศูนย์พัฒนาชนบท, โรงเรียน, วิทยาลัย ฯลฯ หน่วยงานเหล่านี้ได้ช่วยเหลือและส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนจำนวนมากมุ่งให้มีชีวิตที่ดีขึ้น ผ่านโครงการต่างๆ มากกว่า 200 โครงการ ทำหน้าที่ในพื้นที่ครอบคลุม 137 อำเภอ ใน 46 จังหวัดทั่วประเทศ"
BREAD เป็นแนวทางที่ถูกก่อร่างสร้างขึ้นมาตั้งแต่ปี 2552 มีภารกิจหารายได้ในเชิงธุรกิจ เพื่อใช้ในองค์กรสาธารณประโยชน์ในเครือข่าย โดยจะนำผลกำไรที่ได้ทั้งหมดหลังหักสำรองและขยายธุรกิจแล้วไปใช้ในกิจกรรมสาธารณประโยชน์ด้านการศึกษา และการพัฒนาคุณภาพชีวิตในชนบท มีพันธสัญญาว่าจะดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใส มีคุณธรรม จริยธรรม มีจุดยืนชัดเจนในการช่วยเหลือสังคม และพัฒนาประสิทธิภาพในการทำงานเทียบเท่าองค์กรธุรกิจเอกชนชั้นนำ
เหตุผลที่ทำให้ “มีชัย” ต้องก่อตั้งธุรกิจของตนเองขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็น ร้านอาหารแคบเบจส์ แอนด์ คอนดอมส์ (Cabbage & Condom) และโรงแรมเบิร์ด แอนด์ บี (Bird & Bee) ที่พัทยา ขนาด 54 ห้องที่เปิดบริการเกือบ 10 ปี เนื่องจากมองเห็นแล้วว่า ความช่วยเหลือจากแหล่งต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชนนับวันจะยิ่งมีแต่ลดน้อยลอยลง ขณะที่ความจำเป็นในการพัฒนายังมีอีกมาก ดังนั้น จึงสร้างแหล่งรายได้ของตนเองขึ้นมาเพื่อลดความช่วยเหลือจากภายนอกให้ได้มากที่สุด เพราะจากประสบการณ์ในการพัฒนาชุมชนกว่า 40 ปี พบว่าการช่วยเหลือแบบแจกเงินหรือประชาสงเคราะห์ ไม่สามารถประสบความสำเร็จในการพัฒนาชุมชนให้พ้นจากความยากจนได้ เพราะการช่วยเหลือรูปแบบนี้ไม่ได้เพิ่มทักษะใหม่ๆ ไม่ได้สร้างการพึ่งพาตนเองและความเข้มแข็งให้กับชุมชน แต่กลับสร้างวัฒนธรรมการขอและรอความช่วยเหลือให้เพิ่มขึ้น
ดังนั้น การจัดการของแนวคิดแบบองค์รวม ต้องเน้นพัฒนาทักษะด้านธุรกิจ และการเข้าให้ถึงแหล่งทุน เพื่อประกอบธุรกิจ สร้างรายได้ ขณะเดียวกันความสำเร็จของชุมชนจะไม่ยั่งยืน ถ้าขาดการพัฒนาองค์กรชุมชนที่เข้มแข็ง ภายใต้กระบวนการจัดการตนเอง
“เราตั้งได้ด้วยกำไรจากบริษัทหนึ่ง แล้วนำมาสร้างอีกแห่ง คือ เบิร์ดแอนด์บีมาสร้างโรงเรียน จ่ายค่าบริหารจัดการของโรงเรียน ช่วยจ่ายค่างบประมาณให้เป็นเวลา 5 ปี ด้วยจำนวนเงินที่ค่อยๆลดลง บริษัทที่ 2 ชื่อ BREAD เป็นเรื่องของการศึกษา เป้าหมายคือให้เด็กมีความก้าวหน้าไม่แพ้เด็กในเมือง เรามีโครงการอะไรใหม่ต้องมองที่ความยั่งยืน ต้องมีเงินเตรียมตั้งบริษัทรองรับ เพราะเงินบริจาคให้กับโครงการไม่นานมันก็หมดไป บริษัทก็จะเข้ามาดูแลต่อได้”
ปัจจุบัน BREAD เป็นผู้จัดจำหน่ายข้าวถุงเพื่อการบริโภคภายใต้ชื่อ “ข้าวโรงเรียน” เป็นข้าวหอมมะลิ 100% มีวางจำหน่ายที่ร้านท็อปส์ซูเปอร์มาร์เก็ต, ร้านใบจาก, ร้านเลมอนกรีน ภายใต้การร่วมมือผลิตของนักเรียน ครู ผู้ปกครอง และชุมชนใกล้เคียงโรงเรียนลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ กับสโลแกนที่ว่า “ข้าวทุกคำ เพื่อสร้างเด็กดีและขจัดความยากจน” และเพียงแค่เดือนเดียวสามารถขายได้กว่า 5 พันถุง
สำหรับรูปแบบของธุรกิจที่มิสเตอร์คอนดอมทำอยู่ขณะนี้อาจสรุปได้ว่ามี 2 รูปแบบ คือ อย่างแรก ทำกับคนที่ที่มีเงิน ร่ำรวย เน้นกำไร เช่น ร้านอาหาร โรงแรม อย่างที่สอง ไม่เน้นทำกับคนมีเงิน เช่น การซื้อผลผลิตกับเกษตรกรสูงกว่าราคาตลาด 10% แต่ขายต่ำราคาตลาด 10% เช่น ซื้อปุ๋ย อาหารสัตว์
“อีกอย่างที่สำคัญคือมีอาคารโรงงานที่เชื้อเชิญบริษัทไปอยู่นอกกรุงเทพฯ มี 59 โรง เพื่อไม่ให้คนเข้าเมือง ใกล้บ้านคนงาน เพื่อที่จะได้ไม่ทิ้งบ้าน เราทำไม่ขาดทุน แต่ไม่เอากำไรมาก เช่น คิดค่าเช่าตารางเมตรละ 63 บาทต่อเดือน อยู่ที่โคราช บุรีรัมย์ ขอนแก่น มหาสารคาม มีพื้นที่ 30-40 ไร่ มีอาคาร ช่วยหาคนงาน จัดการเรื่องความสะอาด แนวคิดคล้ายกับนิคม แต่ไม่ใช่ คนมาทำงานที่นี่อยู่ไม่ไกลเกินกว่า 20 กิโลเมตร เขาสามารถมาทำงานได้อย่างสะดวก”
ที่มา: http://mgr.manager.co.th/mgrWeekly/ViewNews.aspx?NewsID=9540000038194