TK park ผนึก สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน พัฒนาแหล่งเรียนรู้ใกล้บ้านแก่ 4 ชุมชนต้นแบบ
TK park ผนึก สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน เพิ่มทักษะ การพัฒนาแหล่งเรียนรู้ใกล้บ้านแก่ 4 ชุมชนต้นแบบ
กรุงเทพฯ--12 ก.ย.--อุทยานการเรียนรู้
เมื่อวันที่ 27-29 สิงหาคม 2554 ที่ผ่านมา สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (TK park) ร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. จัดกิจกรรมค่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ในโครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ใกล้บ้านให้กับเยาวชนและแกนนำจากศูนย์การเรียนรู้ชุมชน 4 ชุมชนต้นแบบในพื้นที่ภาคกลาง เพื่อพัฒนาห้องสมุดชุมชนหรือศูนย์การเรียนรู้ชุมชนให้เป็นแหล่งรวบรวมองค์ความรู้ของท้องถิ่นในรูปแบบห้องสมุดมีชีวิต โดยมีเยาวชนและแกนนำเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้กว่า 78 คน ณ เวลเนสโฮม รีสอร์ท แอนด์ สปา อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา
โครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ใกล้บ้าน มีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันให้ชุมชนในท้องถิ่นร่วมกันพัฒนาแหล่งเรียนรู้ใกล้บ้านและขยายแหล่งเรียนรู้ให้กระจายไปยังพื้นที่แหล่งชุมชนอื่นๆ เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ เพื่อต้องการให้เด็กๆ เยาวชน และบุคคลทั่วไป ได้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ในชุมชนที่มีการรวบรวมองค์ความรู้ และสืบสานภูมิปัญญาของท้องถิ่น รวมทั้งสามารถถ่ายทอดความรู้ไปสู่หน่วยงานและชุมชนอื่นๆ เพื่อประโยชน์ในการศึกษาและนำไปประยุกต์ใช้กับท้องถิ่นของตนต่อไป
ดร.ทัศนัย วงศ์พิเศษกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) และผู้อำนวยการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ TK park กล่าวว่า โครงการแหล่งเรียนรู้ใกล้บ้านเป็นโครงการที่ทางTK park และ พอช. ร่วมกันจัดทำขึ้นเป็นครั้งแรก โดยในส่วนของ TK park จะนำองค์ความรู้การจัดทำแหล่งเรียนรู้ในรูปแบบของห้องสมุดมีชีวิตเข้ามาให้ความรู้ คำแนะนำแก่แกนนำชุมชนและเด็กที่เข้าร่วมโครงการฯ เพื่อนำไปจัดทำแผนและพัฒนาแหล่งเรียนรู้ใกล้บ้าน
“ แหล่งเรียนรู้นั้น เปรียบเสมือน ‘เสาหลักทางปัญญา’ เช่นเดียวกับ บ้านจะมั่งคงได้ ก็ต้องมีเสาหลักไม่ว่าบ้านจะมีรูปลักษณะแบบใดก็ตาม ดังนั้นการที่เรามีแหล่งเรียนรู้ที่ให้คนในชุมชนเข้ามาใช้บริการ ค้นคว้าหาความรู้ และถ่ายทอดองค์ความรู้ในพื้นที่ที่คนในชุมชนเองสามารถเดินหรือขี่จักรยานเข้าถึงได้สะดวก ถือเป็นการสร้างเสาหลักทางปัญญาให้กับชุมชมนั่นเอง ซึ่งเรื่องนี้เป็นแนวคิดแหล่งเรียนรู้ในแนวราบของ TK park และเมื่อแหล่งเรียนรู้ใกล้บ้านทั้ง 4 ชุมชนต้นแบบ สามารถเปิดให้บริการได้ภายในเดือนกันยายนนี้ ก็เชื่อว่าเราจะสามารถขยายแหล่งเรียนรู้หรือห้องสมุดมีชีวิตกระจายออกไปได้ทั่วประเทศ”
นายสังคม เจริญทรัพย์ ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหาร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. กล่าวเพิ่มเติมว่า พอช.ต้องการเห็นคนในชุมชนมีความเข้มแข็ง จึงมีแนวคิดในการเสริมสร้างให้ชุมชนมีความเข้มแข็งอย่างแท้จริง ด้วยการสนับสนุนการจัดทำโครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ใกล้บ้าน เพื่อส่งเสริมการอ่าน การเรียนรู้ และการปลูกฝังนิสัยรักการอ่านของเด็กและเยาวชนในชุนชน รวมทั้งสนับสนุนให้คนในชุมชนรวบรวมเรื่องราวที่เป็นองค์ความรู้ วัฒนธรรม และภูมิปัญญาของท้องถิ่น เพื่อการอนุรักษ์สืบสานให้กับคนรุ่นหลังได้เรียนรู้ และสื่อสารให้ชุมชนอื่นๆ ได้รับรู้เรื่องราวในชุมชนด้วย
“ ชุมชนเปรียบเหมือนห้องเรียนขนาดใหญ่ที่เราอยู่ตั้งแต่เกิดจนตาย หากเราไม่สามารถทำความเข้าใจกับคนในห้องเรียนและคนที่เกี่ยวข้องได้ ชุมชนนั้นก็คงไม่สามารถมีความสุขได้ จึงหวังว่า แกนนำและเยาวชนที่ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมในโครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ใกล้บ้านในพื้นที่นำร่อง 4 ชุมชนนี้ จะเป็นต้นกล้าที่มีคุณภาพและขยายสู่คนรุ่นใหม่ที่จะเป็นเมล็ดพันธุ์ที่เข้มแข็งของชุมชนต่อไป จึงถือว่าโครงการนี้ เป็นจุดเริ่มต้นในการจุดประกายที่สำคัญยิ่ง”
ด้านนายรังสรรค์ เสลาหลัก รองประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลบ้านเลือก จ.ราชบุรี กล่าวถึงโครงการนี้ว่า เดิมชุมชนก็มีแนวคิดที่จะทำเป็นศูนย์เรียนรู้อยู่แล้ว โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกจะทำเป็นห้องสมุด อีกส่วนจะทำเป็นหอวัฒนธรรมลาวเวียง เพื่อใช้เป็นแหล่งรวบรวมองค์ความรู้และภูมิปัญญาของชุมชนในท้องถิ่นจากทุกพื้นที่มาไว้ที่ศูนย์เรียนรู้ เพื่อให้เด็กและเยาวชน รวมถึงผู้สูงอายุในชุมชนเข้ามาค้นคว้าหาความรู้ได้ จึงนับว่าโชคดีที่ได้มีโครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ใกล้บ้านดังกล่าวขึ้น ซึ่งจะทำให้การจัดทำแหล่งเรียนรู้ของชุมชนเกิดขึ้นและเป็นจริงได้ เพราะในพื้นที่ตำบาลบ้านเลือก ซึ่งมีด้วยกัน 9 ชุมชน ยังไม่มีแหล่งเรียนรู้สำหรับคนในชุมชน ส่วนใหญ่เป็นห้องสมุดในโรงเรียน
สำหรับชุมชนต้นแบบทั้ง 4 แห่ง ประกอบด้วย ชุมชนบ้านเลือก อ.โพธาราม จ.ราชบุรี , ชุมชนเกษตรพัฒนา อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร , ชุมชนบางระกำ อ.บางเลน จ.นครปฐม และชุมชนสรรพยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ทั้งนี้ สาระสำคัญของการจัดกิจกรรมค่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ตลอดช่วงระยะเวลา 3 วัน นอกจากนำเสนอแผนงานและกระบวนการเล่าเรื่ององค์ความรู้ชุมชนในโครงการจัดทำแหล่งเรียนรู้ใกล้บ้าน และเปิด ‘ห้องสมุดมีชีวิต’ ในรูปแบบตลาดนัดแหล่งเรียนรู้ โดยแต่ละชุมชนทำการจำลองแบบหรือโมเดลห้องสมุดมีชีวิตในจินตนาของตนเอง พร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและนำไปสู่การปรับปรุงพัฒนาให้เกิดเป็นรูปธรรมต่อไปแล้ว ในโอกาสนี้ แกนนำและเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการใน 4 ชุมชน ทั้ง 78 คน ยังได้เดินทางไปศึกษาดูงานรูปแบบห้องสมุดมีชีวิตต้นแบบ ณ อุทยานการเรียนรู้ TK park ชั้น 8 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ซึ่งได้เปิดโลกทัศน์ เพิ่มทักษะ ความรู้ และสร้างความประทับใจให้แก่ผู้เข้าร่วมเดินทางในครั้งนี้ด้วย
ที่มา: http://www.ryt9.com/s/prg/1234736