เรดบูล รอยยิ้มริมคลอง? เพื่อผู้สูงอายุและคนในชุมชนกลับมามีความสุขในสังคมอีกครั้ง
เรดบูล รอยยิ้มริมคลอง… เพื่อผู้สูงอายุและคนในชุมชนกลับมามีความสุขในสังคมอีกครั้ง
ชุมชนคลอง 3 รังสิตประยูรศักดิ์ (ชุมชน 1 ศตวรรษ) ใน อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี แห่งนี้ เป็นชุมชนเก่าแก่มีคนไทยเชื้อสายจีนแต้จิ๋วอาศัยอยู่ ชาวบ้านที่นี่มีวิถีผูกพันกับสายน้ำคลองรังสิตมายาวนาน เมื่ออดีตเคยเป็นท่าเรือขนส่งซื้อขายข้าวที่สำคัญของภาคกลางและคลองรังสิตเมื่อกว่า 100 ปี มาแล้ว ทั้งยังเป็นสถานที่เล็ก ๆ ที่สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีเคยเสด็จประพาส และยังเป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ไทยอมตะเรื่อง “แสนแสบ” ปัจจุบันถูกรายล้อมด้วยพื้นที่ของเอกชนและถนนใหญ่โดยรอบ “ชุมชนคลอง 3” จึงเปรียบดั่งสถานที่แห่งประวัติศาสตร์ที่หาได้ยากยิ่งในเมืองใหญ่
บริษัท เครื่องดื่มกระทิงแดง จำกัด ได้เลือกชุมชนแห่งนี้เป็นที่เปิดตัวโครงการเพื่อสังคม “รอยยิ้มริมคลอง” นำอาสาสมัครกว่า 50 คน เตรียมพร้อมรับกับสภาวะสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) สร้าง “ชุมชนในฝัน” โดยจับมือกับกลุ่มสถาปนิกชุมชน (openspace) และสมาชิกชาวชุมชนคลอง 3 รังสิตประยูรศักดิ์ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี พร้อมกับเรียนรู้ประวัติศาสตร์อันยาวนานของคนไทยเชื้อสายจีนแต้จิ๋ว
สุทธิรัตน์ อยู่วิทยา ผู้อำนวยการแผนกกิจกรรมเพื่อสังคม บริษัท เครื่องดื่มกระทิงแดง จำกัด กล่าวในวันเปิดตัวโครงการเพื่อสังคม “รอยยิ้มริมคลอง” เมื่อเร็ว ๆ นี้ว่าได้นำอาสาสมัครกว่า 50 คน เตรียมพร้อมรับกับสภาวะสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) สร้าง “ชุมชนในฝัน” โดยจับมือกับกลุ่มสถาปนิกชุมชน (openspace) และสมาชิกชาวชุมชนคลอง 3 รังสิตประยูรศักดิ์ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี พร้อมกับเรียนรู้ประวัติศาสตร์อันยาวนานของคนไทยเชื้อสายจีนแต้จิ๋ว ผ่านกิจกรรมอาสาสมัครต่าง ๆ อาทิ การปรับปรุงสภาพแวดล้อมของชุมชนให้เหมาะกับการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ พัฒนาสุขภาวะของผู้สูงอายุ เสริมกำลังใจ เติมรอยยิ้ม เพื่อให้ผู้สูงอายุและสมาชิกทุกคนในชุมชนได้กลับมาใช้ชีวิตร่วมกันอย่างมีความสุขในสังคมอีกครั้ง ไม่ว่าจะอยู่ในวัยใด
“อีกไม่กี่ปีข้างหน้า ปัญหาผู้สูงอายุจะเป็นเรื่องใหญ่ ผู้สูงอายุจะมากกว่าวัยรุ่น แล้วเราจะทำอย่างไรต่อไป ความสะดวกสบายเราเตรียมพร้อมให้เขาดีไหม เอาในบ้านก่อน เช่น ขึ้นบ้านยากไหม ห้องน้ำเป็นอย่างไร เวลาว่างของเขาจะทำอะไรดี เขาจะปลูกพืชผักทานเองหรือเปล่า ปัจจุบันไม่มีซึ่งเราสามารถเอาสิ่งเหล่านี้คืนมาได้ เพื่อให้เขาฟื้นฟูเรื่องของงานอดิเรก ไม่รู้สึกว่าอยู่ไปวัน ๆ แล้วเบื่อ ขณะเดียวกันก็มีเรื่องของสุขภาพกายและใจ แต่ละบ้านต้องพึ่งพากันเองอาจจะไม่ไหว ถ้าแต่ละบ้านจะมารวมตัวกันเป็นหนึ่ง โดยบ้านที่มีผู้สูงอายุมารวมตัวกัน มีส่วนกลางมีที่ออกกำลังกาย มีที่พูดคุยเฮฮา แลกเปลี่ยนความรู้ เล่นหมากรุก สิ่งเหล่านี้ก็จะเพิ่มรอยยิ้มมากขึ้น” ผู้อำนวยการฝ่ายกิจกรรมเพื่อสังคม บริษัท เครื่องดื่มกระทิงแดง จำกัด กล่าว
โดยกลุ่ม “openspace” ซึ่งเป็นทีมสถาปนิกชุมชนคนรุ่นใหม่ ลงพื้นที่ร่วมทำงานกับชุมชนนับหลายเดือน เพื่อออกแบบสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสม และตรงตามความต้องการของชุมชน ร่วมกับพลังของทีมอาสาสมัครเรดบูล สปิริต อีกนับ 50 คน ร่วมกันสร้าง “ชุมชนในฝัน” ผ่านการลงมือทำงานด้วย “ใจอาสา” โดยแบ่งพื้นที่กิจกรรมเป็น 3 ส่วนด้วยกัน ได้แก่
“มุมสมุนไพร” ปรับพื้นที่ซึ่งมีอยู่จำกัดให้เป็นพื้นที่สีเขียว และเป็นแหล่งรวมพืชอาหารและยารักษาโรคสำหรับผู้สูงอายุ “มุมสังสรรค์” พื้นที่ซึ่งผู้สูงอายุในชุมชนจะได้ใช้ชีวิตประจำวันอย่างปลอดภัย พร้อมกับได้ออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ “มุมสงบ” ร่วมกันทำความสะอาด ทาสีรั้ว ปรับภูมิทัศน์โดยรอบรูปปั้นเจ้าแม่กวนอิมซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของชุมชน
ด้าน “พลอย” กษมา แย้มตรี สถาปนิกกลุ่ม openspace เล่าให้ฟังว่า จากการที่เราได้ทำรีเสิร์ช จริง ๆ แล้วพื้นที่ของผู้สูงอายุที่ดีมันควรเป็นพื้นที่ที่เหมาะกับวัยอื่น ๆ ด้วย คือมันเป็นการผสมผสาน ระหว่างผู้สูงอายุ วัยกลางคน และเด็ก พื้นที่ของผู้สูงอายุมันไม่มากเพราะเคลื่อนไหวได้ไม่มาก ก็จะนั่งเป็นส่วนใหญ่ ก็จะเหงาได้ง่าย พอมีวัยใด ๆ มาอยู่คลุกคลีก็จะก่อให้เกิดจิตใจที่ดี ให้มีความสุขขึ้น จากแนวคิดแบบนี้เราก็จะสร้างพื้นที่ ที่เป็นมุมที่ผู้สูงอายุและวัยเด็ก ๆ สามารถใช้ร่วมกันได้
อย่างเก้าอี้ที่เราออกแบบมา ก็เป็นสองระดับคือผู้สูงอายุนั่งได้ และให้เด็กนั่งได้ และคำนึงถึงสรีระของผู้สูงอายุจะนั่งพื้นแข็งก็เจ็บ ก็เน้นเรื่องการใช้วัสดุ เลยใช้ยางในของรถยนต์ที่มีความยืดหยุ่นรองรับสรีระได้ เด็ก ๆ ก็เล่นได้เด้งดึ๋ง”
“การผสมผสานไอเดียกับพื้นที่ปลูกผัก มีส่วนของเครื่องออกกำลังกายที่เน้นไปที่ความช้า เพราะจะเร็วแบบวัยรุ่นไม่ได้ เครื่องบริหารมือใช้จากยางใน ใช้ไม้ไผ่เป็นหลัก ทำพื้นเดินที่มีกรวดนูนขึ้นมาเพื่อให้ผู้สูงอายุได้นวดจุดที่เท้า ฯลฯ”
ทั้งนี้โครงการ “รอยยิ้มริมคลอง” คือ 1 ใน 13 โครงการทั้งหมดของ เรดบูล สปิริต ตลอดปี 2554 ที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการจุดประกาย เป็นแรงเสริม แรงผลักดัน ให้ชุมชนหันมาสนใจมาดูแลพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนเอง โดยมีเครือข่ายพลัง “ใจอาสา” ช่วยหนุนเสริม.
ที่มา : http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=546&contentId=154012