สกอ.หนุนมหาวิทยาลัยปฏิรูปการเรียนการสอนครั้งใหม่ สร้างบัณฑิตคุณภาพ ? รับผิดชอบต่อสังคม
สกอ.หนุนมหาวิทยาลัยปฏิรูปการเรียนการสอนครั้งใหม่ สร้างบัณฑิตคุณภาพ – รับผิดชอบต่อสังคม
สกอ. - มูลนิธิสยามกัมมาจล จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ "การพัฒนาวิชาการสายรับใช้สังคม" หวังเป็นก้าวแรกของการปฏิรูปการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยครั้งใหม่ เพื่อให้ตอบโจทย์ชุมชน - สังคม และบ่มเพาะเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้เป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพ และมีสำนึกของความเป็นพลเมือง
เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ร่วมกับมูลนิธิสยามกัมมาจล จัดเวทีสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่อง "การพัฒนาวิชาการสายรับใช้สังคม" ขึ้น โดยมีผู้บริหาร ตลอดจนคณาจารย์จากสถาบันอุดมศึกษา 166 แห่งทั่วประเทศ รวมกว่า 500 ท่านร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันถึงบทบาทหน้าที่ของสถาบันอุดมศึกษาต่อการรับใช้สังคมผ่าน ตัวอย่างความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมของสถาบันอุดมศึกษานำร่อง ซึ่งมีนโยบายและยุทธศาสตร์บริหารจัดการการศึกษา จัดการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ ให้นิสิตนักศึกษาสามารถ "บูรณาการวิชาการเข้ากับการรับใช้สังคม" ได้อย่างสอดคล้องเหมาะสม
ดร.สุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา กล่าวว่า ในช่วงหลังวิกฤติทางการเมืองและสังคมเมื่อปี 2553 ที่ผ่านมา สังคมไทยได้เกิดข้อเรียกร้องถึงการแสดงบทบาทของสถาบันอุดมศึกษาในหลายข้อเพื่อนำพาชาติออกจากวิกฤติดังกล่าว อาทิ การเรียกร้องให้สถาบันอุดมศึกษาจัดการศึกษาที่ตั้งอยู่บนฐานของชีวิตจริง การมีพื้นที่ยืนของนักวิชาการสายรับใช้สังคมในสถาบันอุดมศึกษา ตลอดจนถึงความพยายามที่จะกำหนดนิยามใหม่ของ “การศึกษา” ในความหมายที่กว้างขึ้นเพื่อครอบคลุมถึง “การเรียนรู้ตลอดชีวิตและอยู่บนฐานวัฒนธรรม” โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อ 21 กันยายน 2553 ได้เห็นชอบต่อแนวทางการผลักดันของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาให้สถาบันอุดมศึกษาต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม และมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาของชุมชนสังคมมากขึ้น หนึ่งในนั้นคือ “การพัฒนาวิชาการสายรับใช้สังคม”
“การจัดประชุมในวันนี้เป็นอีกก้าวหนึ่งของสถาบันอุดมศึกษา ในการแสดงบทบาทและการปฏิรูประบบอุดมศึกษาให้มีความใกล้ชิดกับสังคมไทย ให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ สังคมอุดมปัญญา ด้วยการเปิดโอกาสให้สถาบันอุดมศึกษาและภาคส่วนอื่นๆ ของสังคมร่วมกันทำงานสร้างสรรค์งานวิชาการสายรับใช้สังคม เพื่อตอบโจทย์ปัญหาของสังคม ชุมชน ท้องถิ่น รวมทั้งการสนับสนุนให้ผลงานวิชาการสายรับใช้สังคมได้รับการยอมรับ ได้รับการนำเสนอและเผยแพร่ผลงาน ตลอดจนได้รับการประเมินคุณภาพ คุณค่า เพื่อใช้เป็นผลงานเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการได้” เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษากล่าว
จากนั้นได้มีปาฐกถาพิเศษเรื่อง "การพัฒนาวิชาการสายรับใช้สังคม ทิศทางการผลิตบัณฑิตในศตวรรษที่ 21" โดย ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานคณะกรรมการการอุดมศึกษา และรองประธานมูลนิธิสยามกัมมาจล กล่าวว่า สังคมไทยในปัจจุบันกำลังอยู่ในวิกฤติความขัดแย้ง และความไม่เท่าเทียมกัน สถาบันอุดมศึกษาถือเป็นภาคส่วนสำคัญที่ต้องมีส่วน “ป้องกัน” และ “แก้ไข” วิกฤติการณ์ดังกล่าว ทั้งนี้ เพื่อให้สังคมไทยมีความรู้เท่าทันโลก และก้าวเข้าสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ เป็นสังคมแห่งปัญญา รู้จักและมั่นใจในตัวเอง ช่วยเหลือตัวเอง ตลอดทั้งสามารถจุนเจือช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้ ซึ่งในท้ายที่สุด เพื่อให้คนไทยโดยภาพรวมมีจิตสำนึกความเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศ
ประธานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กล่าวด้วยว่า พร้อมกันนั้น การอุดมศึกษาของประเทศไทยก็กำลังก้าวเข้าสู่ความเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 เช่นกัน ซึ่งทั่วโลกจะเปลี่ยนแปลงไปในอัตราเร็วที่สูงขึ้น ส่งผลถึงคุณลักษณะของนิสิตนักศึกษาที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย โดยเฉพาะการที่นักศึกษายุคใหม่สามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้โดยง่าย ทำให้ขาดความกระตือรือร้นในการเรียนรู้ ซึ่งที่ผ่านมา การศึกษาแบบเก่าเน้นการเรียนรู้ตัวทฤษฎีมากกว่าการลงมือปฏิบัติ
“สถาบันอุดมศึกษาจึงจำเป็นต้องปรับตัว หันมาเสริมสร้างให้นิสิตนักศึกษามีทักษะที่จำเป็นในการดำรงชีวิตท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงในศตวรรษหน้า โดยเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง อาจารย์จึงต้องจัดการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ ให้นักศึกษาได้เรียนรู้จากโจทย์ปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในชุมชนสังคม ย้ายห้องเรียนจากห้องสี่เหลี่ยมมาใช้ชุมชนเป็นพื้นที่การเรียน พื้นที่ปฏิบัติการจริง นักศึกษาจะได้เรียนรู้จากการปฏิบัติ (Project Based Learning) การจัดการเรียนรู้เช่นนี้ อาจารย์จะต้องปรับเปลี่ยนบทบาทจากการเป็นผู้สอน เป็น ผู้อำนวยการเรียนรู้ ชี้แนะแต่ไม่ครอบงำ และเสริมสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ลูกศิษย์ของตน เป็นการยิงกระสุนนัดเดียวได้นกสองตัว คือเป็นทั้งวิธีการที่ทำให้นักศึกษาได้เกิดการเรียนรู้ความรู้ ทักษะ และทัศนคติที่จำเป็น และยังจะเป็นการฝึกฝนให้พวกเขาเป็นคนที่ไม่นิ่งดูดายสังคม รู้จักให้ และเผื่อแผ่ออกไปรับใช้สังคมพร้อมๆ กัน” ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าว
ทั้งนี้ ไฮไลต์สำคัญของเวทีสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่อง "การพัฒนาวิชาการสายรับใช้สังคม" ยังได้แก่ การนำเสนอตัวอย่างความสำเร็จที่เป็นรูปธรรม ของสถาบันอุดมศึกษานำร่องที่มีตัวอย่างความสำเร็จของ การพัฒนาวิชาการสายรับใช้สังคม อย่างเป็นรูปธรรมแล้ว 6 แห่ง ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ และสถาบันอาศรมศิลป์ โดยในช่วงบ่ายของเวทีสัมมนาได้แบ่งการเรียนรู้ออกเป็น 4 ห้องย่อย ได้แก่ ห้องที่ 1 ห้องผู้บริหาร ซึ่งจะมาเรียนรู้กันว่า มหาวิทยาลัยทั้ง 6 แห่งต้องปรับระบบการบริหารจัดการเช่นใดจึงจะรองรับการปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนแบบใหม่
ห้องที่ 2 อาจารย์ผู้สอนกับบทบาทของผู้สนับสนุนการเรียนรู้ เน้นการปรับบทบาทของผู้สอนจากการเป็น Lecture มาเป็นการสนับสนุนการเรียนรู้ในชุมชน การจัดวงวิพากษ์ และการสนับสนุนให้ผู้เรียนเรียนรู้จากการทำโครงงาน ห้องที่ 3 นักศึกษากับการเรียนรู้ในชุมชน และห้องที่ 4 ชาวบ้านคิดอย่างไรเมื่อมหาวิทยาลัยเข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาชุมชนสังคม
“ การปฏิรูปประเทศไทยได้สำเร็จในยุคสังคมความรู้จึงต้องดึงเอาวงวิชาการเข้าไปรับใช้สังคมได้อย่างทรงประสิทธิผล ให้อุดมศึกษานำไปทำงานแนบแน่นกับสังคม ไม่ใช่ห่างเหินสังคมอย่างที่ผ่านมา เป็นการเอาวิชาการ การเรียนรู้ การสร้างความรู้ และการใช้ความรู้ไปสู่ชีวิตจริงของสังคม ในขณะเดียวกัน อุดมศึกษาก็จะอาศัยภาคชีวิตจริงมาพัฒนาตนเองด้วย
“การที่มหาวิทยาลัยจะสามารถทำงานวิชาการแนบแน่นกับภาคส่วนต่างๆ ที่เป็นชีวิตจริงของสังคม มหาวิทยาลัยต้องเปลี่ยนแปลงตัวเอง เป็นการเปลี่ยนทั้งวัฒนธรรม และปรับโครงสร้างการจัดการมารองรับ การประชุมในครั้งนี้จึงเป็นการทำให้มหาวิทยาลัยต่างๆ ได้เห็นแนวทางปฏิบัติ เกิดเครือข่ายการเรียนรู้ จึงไม่ใช่การเริ่มต้นจากศูนย์เพียงลำพัง โดยมหาวิทยาลัยทุกแห่งสามารถเริ่มทำได้ทันที ไม่ต้องรอการสั่งการจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ซึ่งจากทั้งหมดนี้ ผมหวังว่าวิชาการสายรับใช้สังคมก็จะพัฒนาเป็นฐานใหญ่ของการศึกษาในภาคอุดมศึกษาของไทยต่อไป” ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าวปิดท้าย
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมที่ฝ่ายสื่อสารสังคม มูลนิธิสยามกัมมาจล คุณสมเกียรติ พุทธิจรุงวงศ์ (เซ้ง)โทร. 02-937-9901-7 ต่อ 108 โทรสาร : 02-937-9900