http://www.csrcom.com/
True ปลูกปัญญา
CSR เด่น

เนสท์เล่ ร่วมส่งเสริมการปรับพฤติกรรมด้านโภชนาการด้วยการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์

ชื่อโครงการ : เนสท์เล่ ร่วมส่งเสริมการปรับพฤติกรรมด้านโภชนาการด้วยการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์
ชื่อองค์กร : บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด
รูปแบบโดยย่อ :
เนสท์เล่ ร่วมส่งเสริมการปรับพฤติกรรมด้านโภชนาการด้วยการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ ปั้นฮีโร่ต้นแบบสำหรับเด็ก ขับเคลื่อนสุขภาพที่ดีของคนไทยทุกช่วงวัย
รายละเอียด :

การปลูกฝังความรู้และพฤติกรรมด้านโภชนาการที่เหมาะสมตั้งแต่เยาว์วัยจะเป็นรากฐานไปสู่สุขภาพที่แข็งแรงเมื่อเติบโตขึ้น แต่การส่งเสริมให้เด็กไทยมีพฤติกรรมสุขภาพดีในระยะยาวไม่สามารถสำเร็จลุล่วงได้โดยหน่วยงานใดเพียงหน่วยงานเดียว ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งครอบครัว โรงเรียน และสังคม ในการสื่อสารความรู้ด้านโภชนาการที่เข้าใจง่าย ควบคู่ไปกับการเป็นต้นแบบด้านพฤติกรรมสุขภาพที่ดีให้กับเด็ก ด้วยเจตนารมณ์ในการส่งเสริมโภชนาการเพื่อสุขภาพที่ดีของเด็กไทย ภายใต้พันธกิจ “เนสท์เล่เพื่อเด็กสุขภาพดี” เนสท์เล่ ประเทศไทย จึงผนึกกำลังร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อขับเคลื่อนกิจกรรมเสริมสร้างการเรียนรู้ด้านโภชนาการและสุขภาพอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งพัฒนาเครื่องมือและวิธีการสื่อสารที่สร้างสรรค์ เพื่อสร้างแรงจูงใจที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพของคนไทยทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ภายในงานประชุมวิชาการโภชนาการแห่งชาติ ครั้งที่ 13 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา

นางกนกทิพย์ ปริญญานุสสรณ์ ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาและสื่อสารโภชนาการเพื่อสุขภาพ บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด กล่าวถึงแนวคิดในการสื่อสารเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพของคนไทยว่า “ตลอดหลายปีที่เนสท์เล่ดำเนินโครงการต่างๆ ร่วมกับภาครัฐและเอกชนเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพให้เกิดขึ้นในสังคมไทย เราพบว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ในรูปแบบที่ง่ายต่อการเข้าถึงชุมชนในวงกว้าง ด้วยเนื้อหาที่สนุก เข้าใจง่าย และเหมาะสมกับแต่ละช่วงวัย คือสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เกิดการปรับทัศนคติและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้สำเร็จ ขณะเดียวกัน การจะปลูกฝังและปรับพฤติกรรมที่ดีให้กับเด็กได้อย่างยั่งยืนนั้น นอกจากผู้ใหญ่จะต้องหมั่นสื่อสารเชิงบวกกับเด็กแล้ว ยังต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตนเองให้เป็นแบบอย่างที่ดีของเด็กด้วย”

ด้วยเหตุนี้ เนสท์เล่ ประเทศไทย จึงร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนหน่วยงานการศึกษา และผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาและพฤติกรรม พัฒนาเครื่องมือและวิธีการสื่อสารที่สร้างสรรค์อย่างต่อเนื่อง เพื่อจุดประกายและสร้างแรงจูงใจให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพร่วมกันของคนไทยในทุกช่วงวัยผ่าน 3 โครงการหลักๆ ที่เน้นเข้าถึงผู้ปกครอง โรงเรียน และชุมชนทั่วประเทศ เริ่มด้วยโครงการเนสท์เล่เพื่อเด็กสุขภาพดี (Nestlé for Healthier Kids) ที่มุ่งจุดประกายและสร้างแรงบันดาลใจให้พ่อแม่และผู้ดูแลเด็กอายุ 3-12 ปี ร่วมกันเป็นต้นแบบที่ดีเพื่อปลูกฝัง 5 พฤติกรรมสุขภาพพื้นฐาน ได้แก่ การกินอาหารที่หลากหลายและเพิ่มผักผลไม้ การกินในสัดส่วนที่เหมาะสม การกินอาหารร่วมกันทั้งครอบครัว การดื่มน้ำเปล่าแทนน้ำหวานจัด และการออกกำลังกาย

ผศ.ดร.สุวิมล ทรัพย์วโรบล คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะที่ปรึกษาโครงการฯ กล่าวว่า “สำหรับเด็กวัยนี้ การปรับพฤติกรรมด้านสุขภาพยังสามารถทำได้ง่ายด้วยการสร้างแรงจูงใจเชิงบวก (Positive reinforcement) ทางโครงการฯ จึงคิดค้นเครื่องมือเพื่อกระตุ้นการปรับพฤติกรรมโภชนาการของเด็ก ได้แก่ ‘ถาดฮีโร่’ เพื่อช่วยให้ครูและผู้ปกครองได้เตรียมอาหารครบ 5 หมู่และติดตามพฤติกรรมการกินของเด็ก ‘เมนูฮีโร่’ เป็นเมนูอาหารที่สร้างสรรค์ขึ้นมาให้ทำง่ายได้สารอาหารครบถ้วนในปริมาณที่เหมาะสมกับเด็ก และเด็กๆ สามารถช่วยทำได้ ‘ข้อมูลฮีโร่’ เป็นการให้ความรู้และสร้างแรงบันดาลใจให้ครูและผู้ปกครองผ่าน Facebook Nestlé for Healthier Kids TH และ ‘สติ๊กเกอร์ฮีโร่’ ช่วยสร้างแรงจูงใจเชิงบวกให้เด็กๆ เมื่อเด็กกินอาหารครบตามหลักโภชนาการในถาดก็จะได้รับสติ๊กเกอร์ฮีโร่เพื่อนำไปสะสมและแลกของรางวัลในภายหลัง ทำให้เด็กสนุกกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหารที่มีประโยชน์อย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ เพื่อเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมรอบตัวเด็กให้สอดคล้องกันทั้งที่โรงเรียนและที่บ้าน จึงสนับสนุนให้ทั้งครูและพ่อแม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหารของตนเองให้ถูกต้องด้วย เพื่อเป็นแบบอย่างให้เด็กปฏิบัติตามฮีโร่ต้นแบบของพวกเขานั่นเอง”

ในส่วนของโครงการเด็กไทยสุขภาพดี เป็นโครงการฯ ที่เนสท์เล่เน้นสนับสนุนครูในการปลูกฝังกระบวนการเรียนรู้ด้านโภชนาการที่ถูกต้องให้กับเยาวชนไทยชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 ด้วยการพัฒนาสื่อการเรียนรู้ใหม่ๆ ด้านโภชนาการ ที่เข้ากับยุคสมัยในรูปแบบ Active learning พร้อมด้วยการบูรณาการแนวคิดให้การเรียนรู้หลักโภชนาการเป็นเรื่องง่าย สนุก และเด็กๆ สามารถทดลองทำจริงได้ในห้องเรียน ต่อยอดโครงการฯ ในปีนี้ด้วยการร่วมกับภาครัฐและวิทยาลัยการฝึกหัดครู มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร จัดการประกวดสื่อการสอน ภายใต้กรอบเนื้อหา ‘อ่าน-ปรับ-ขยับ-เปลี่ยน’ เพื่อเสริมสร้างความพร้อมของนักศึกษาครูก่อนลงสนามสอนจริงตามโรงเรียนต่างๆ และนำสื่อที่ชนะการประกวดมาพัฒนาต่อยอดให้เป็นสื่อสร้างสรรค์ที่โรงเรียนทั่วประเทศสามารถนำไปปรับใช้ตามบริบทที่เหมาะสมของแต่ละท้องถิ่น

นายสง่า ดามาพงษ์ นักวิชาการด้านโภชนาการ และที่ปรึกษากรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะที่ปรึกษาโครงการเด็กไทยสุขภาพดี กล่าวว่า “ปัจจุบันความรู้ด้านโภชนาการไม่ได้จำกัดอยู่แค่การสอนภายในห้องเรียนสุขศึกษาเท่านั้น แต่ยังสามารถบูรณาการเข้าไปในทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้พื้นฐาน เช่น คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษได้ด้วย การพัฒนาสื่อการสอนที่สร้างสรรค์ สนุก และทันสมัย ด้วยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่ตรงใจเด็กรุ่นใหม่ ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยสร้างการรับรู้เรื่องโภชนาการได้ตรงตามความสนใจของเด็กเท่านั้น แต่ยังช่วยกระตุ้นให้เด็กปรับพฤติกรรมสุขภาพได้อีกด้วย” นอกจากสองโครงการที่เน้นการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ที่บ้านและโรงเรียนแล้ว เนสท์เล่ยังจัดคาราวานครอบครัวแข็งแรง เพื่อให้ความรู้ด้านโภชนาการและการดูแลสุขภาพแก่ชุมชนทั่วประเทศตามหลัก 3 อ. (อาหาร ออกกำลังกาย และอารมณ์) ผ่านกิจกรรมสร้างสรรค์ที่สนุกสนาน เข้าถึงทุกวัย และสามารถนำไปปฏิบัติได้จริงในชีวิตประจำวัน อาทิ เกมอ่านฉลากโภชนาการเพื่อให้เลือกผลิตภัณฑ์ได้อย่างเหมาะสม กิจกรรมรำวงย้อนยุคเพื่อสนับสนุนการออกกำลังกาย และกิจกรรมหัวเราะออกเสียง 3 ท่าเพื่อสร้างความสุขทางอารมณ์ โดยนับตั้งแต่ก่อตั้งโครงการฯ จนถึงปัจจุบัน สามารถเข้าถึงประชาชนกว่า 3 ล้านคน ใน 493 อำเภอ จาก 65 จังหวัดทั่วประเทศ

รศ.ดร.ชะนวนทอง ธนสุกาญจน์ จากคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ความเห็นเกี่ยวกับกิจกรรมเนสท์เล่คาราวานที่ดำเนินการมาเป็นปีที่ 10 และได้รับความสนใจมีผู้เข้าร่วมงานครั้งละราว 3,500-5,000 คนว่า “เป็นกิจกรรมการให้ความรู้ในการดูแลสุขภาพที่สนุก มาร่วมงานกันได้ทั้งครอบครัว สิ่งสำคัญที่จะทำให้กิจกรรมนี้ประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น คือการทำความเข้าใจในบริบทที่แตกต่างของแต่ละชุมชน ทั้งด้านวิถีชีวิต สภาพแวดล้อม ภาษา และวัฒนธรรมแล้วนำมาผนวกเข้ากับเนื้อหาที่ตั้งใจนำไปสอนผ่านกิจกรรมและเกมต่างๆ จะทำให้เกิดการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ ทำให้ชุมชนเข้าใจ ได้เรียนรู้ และซึมซับเรื่องโภชนาการที่ถูกต้องอย่างเธรรมชาติ อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ การผลิตสื่อกระตุ้นการรับรู้และเรียนรู้ สร้างความเข้าใจให้เข้ากับชุมชน โดยใช้เรื่องเล่าอ้างอิงจากชีวิตจริงที่ใกล้ตัว และเปลี่ยนคำศัพท์ทางวิชาการให้เป็นภาษาท้องถิ่น เพื่อให้ผู้ฟังเข้าถึงเนื้อหาและสามารถจดจำข้อมูลได้ดีขึ้น” ทั้งหมดนี้คือตัวอย่างของแนวทางการส่งเสริมพฤติกรรมเชิงบวก ด้วยการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งเนสท์เล่ขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่องโดยอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อสร้างแรงจูงใจให้คนไทยทุกช่วงวัย ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อสุขภาพที่ดีได้อย่างยั่งยืน

aphondaworathan