เฟเบอร์-คาสเทลล์..250 ปีของผู้ไม่เบียดเบียนโลก
เฟเบอร์-คาสเทลล์..250 ปีของผู้ไม่เบียดเบียนโลก

โดย : จีราวัฒน์ คงแก้ว
“เฟเบอร์-คาสเทลล์”เครื่องเขียนสายพันธุ์ เยอรมนี อยู่ในธุรกิจมานานถึง250ปี โดยยึดแนวทาง ไม่เบียดเบียนโลก-สิ่งแวดล้อม-รับผิดชอบต่อผู้บริโภค
"หากนำแท่งดินสอของเฟเบอร์-คาสเทลล์ มาต่อกัน คงยาวไปถึงดวงจันทร์ สะท้อนให้เห็นถึงความยืนยาวในการดำเนินธุรกิจมานานถึง 250 ปี"
ทว่าเป็น 250 ปีที่ไม่เบียดเบียนโลก แม้กระบวนการผลิตดินสดจะต้องใช้ต้นไม้เยอะมาก ก็ตาม
แต่พวกเขาเลือกที่จะ "ปลูกป่า" เพื่อนำไม้มาผลิตเป็นดินสอทุกแท่ง นอกจากจะทำให้มีวัตถุดิบมาผลิตสินค้าได้อย่างต่อเนื่องแล้ว สำคัญกว่านั้นคือ...การประกาศตัวเองว่าเป็นธุรกิจที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
นี่คือบทสนทนาระหว่างกรุงเทพธุรกิจBizweek กับ “ชูเกียรติ โตกมลธรรม” ผู้จัดการแผนกอุปโภค-บริโภค บริษัทดีเคเอสเอช (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งดูแลสินค้าเครื่องเขียนนำเข้า แบรนด์ “เฟเบอร์-คาสเทลล์” ในประเทศไทย ร่วมแบ่งปัน “สูตรยั่งยืน” ของธุรกิจสายพันธุ์เยอรมนีแห่งนี้ ที่ผลิตดินสอและสีไม้ป้อนโลกถึง 2,000 ล้านแท่งต่อปี
เป็นโรงงานดินสอที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก !
ธุรกิจอมตะ เฟเบอร์-คาสเทลล์ ตั้งต้นกิจการของพวกเขาในปี 1761 ด้วยการผลิตดินสอคุณภาพสูง ก่อนจะพัฒนาตัวเองด้วยการขยายไลน์สินค้าใหม่ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นผู้นำในการผลิตเครื่องเขียนคุณภาพรายหนึ่งของโลก
แนวคิดสำคัญที่ทำให้ธุรกิจเดินไปสู่ความยั่งยืน หลอมรวมเป็นปรัชญาและวิสัยทัศน์ขององค์กร นั่นคือ การใส่ใจกับ “สังคมและสิ่งแวดล้อม” ตั้งแต่กระบวนการเลือกใช้วัตถุดิบ ด้วยการปลูกป่าอย่างมีระบบ และปลูกป่าทดแทนหลังตัดไม้เพื่อนำไปใช้ในการผลิตแล้ว
“เฟเบอร์-คาสเทลล์ ได้รับการรับรองจากสถาบัน FSC (Forest Stewardship Council) ว่า ใช้ไม้จากการปลูกป่าแบบยั่งยืน เป็นการช่วยรักษาความเป็นผืนป่า และช่วยให้สัตว์ป่าหลากหลายชนิดมีที่อยู่อย่างถาวรและมีจำนวนมากขึ้นในอนาคต”
ชูเกียรติ บอกเราว่า วิธีคิดของ เฟเบอร์-คาสเทลล์ เป็นการมองธุรกิจในระยะยาว เพราะถ้ายังคงใช้ไม้ไปเรื่อยๆ โดยไม่มีการบริหารจัดการที่ดี วันหนึ่งไม้ที่มีก็คงต้องหมดไป ไม่เพียงโลกที่เดือด "ร้อน" แต่ธุรกิจของพวกเขาก็จะ "เดือดร้อน" ไปด้วย"
วิธีคิดเพื่อสร้างกิจการไปพร้อมกับการดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน จึงเป็นการตอบโจทย์ความยั่งยืนทั้งต่อ “สังคม และ ธุรกิจ”
นอกจากนี้ การผลิตสินค้าที่กลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่เป็น “เด็ก” ยังเป็นหนึ่งในนโยบายหลักของเฟเบอร์-คาสเทลล์ ที่ให้ความสำคัญกับชีวิตและสุขภาพของผู้ใช้ ด้วยการผลิตสินค้าที่ไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค
เช่นเดียวกับการมาถึงของ “ยางลบปลอดสารพิษ”
ใครจะคิดว่าเครื่องเขียนใกล้ตัวอย่างยางลบ จะเป็นอันตรายต่อชีวิตได้
เฟเบอร์-คาสเทลล์ เริ่มผลิตยางลบตั้งแต่ปี 1980 ปริมาณยางลบที่ผลิตออกมาในแต่ละปีที่มีจำนวนมากถึง 500 ล้านชิ้นต่อปี จนมาต้นศตวรรษที่ 21 ผู้คนเริ่มกังวลต่อการใช้สาร “ทาเลท” (Phthalate) ในการผลิตยางลบ เพราะหากได้รับสารนี้ในปริมาณที่มากเกินไป จะมีโอกาสเสี่ยงทำให้เกิดความผิดปกติของฮอร์โมน จนอาจจะส่งผลต่อการตั้งครรภ์ได้
ดังนั้นสหภาพยุโรปจึงออกกฎหมายมาควบคุมผู้ผลิตสินค้า ทำให้เฟเบอร์-คาสเทลล์ จึงเริ่มจากลดการใช้สารทาเลทในการผลิตยางลบพีวีซี ก่อนจะสามารถผลิตยางลบปลอดสารทาเลทออกสู่ตลาดได้สำเร็จ
กลับมาที่ประเทศไทยปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายใดออกมาบังคับใช้ในเรื่องนี้ ผู้ประกอบการจึงย่ามใจในการผลิต ยิ่งการแข่งขันในธุรกิจรุนแรงขึ้นเท่าไหร่ เรื่องของคุณภาพและปลอดภัย ก็มักจะถูกมองข้ามมากขึ้นเท่านั้น เพราะมันหมายถึงต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น
“การที่เขาเลือกพัฒนาเรื่องคุณภาพสินค้า ผลิตสินค้าที่มีนวัตกรรม และมีกระบวนการดูแลด้านสิ่งแวดล้อมที่ดี ทำให้ต้นทุนของ เฟเบอร์-คาสเทลล์ ค่อนข้างสูงกว่าคู่แข่ง ลูกค้าจึงอาจต้องจ่ายแพงขึ้น 10-20% แต่ที่จ่ายแพงขึ้นนั้น มันคือการดูแลสิ่งแวดล้อม ได้ช่วยกันปลูกป่า ได้สินค้าที่ปลอดภัยมาใช้ แล้วผู้บริโภคจะยอมจ่ายเพื่อสิ่งนี้ได้หรือไม่”
คำถามที่เขายอมรับว่า เป็นเรื่องยากสำหรับตลาดในประเทศไทย ที่จะยอมจ่ายแพงกว่า เพราะผู้บริโภคยังคงมองไม่เห็นความสำคัญของมากเท่าเรื่องราคา จึงเป็นหน้าที่ของพวกเขาในการเดินหน้าสร้างการรับรู้และเข้าใจให้กับผู้บริโภค โดยเฉพาะการทำกิจกรรมร่วมกับเด็ก เพื่อปลูกฝังความสำคัญของเรื่องเหล่านี้
เช่น โครงการประกวดวาดภาพระบายสี ร่วมกับองค์การสวนสัตว์ (เขาดิน) และสวนสัตว์ทั่วประเทศต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 เพื่อปลูกจิตสำนึกให้เยาวชนดูแลรักษาสัตว์ป่าและต้นไม้
การทำธุรกิจโดยมีผู้บริโภคเป็นตัวตั้ง สะท้อนผ่านผลิตภัณฑ์หลายๆ อย่างของเฟเบอร์-คาสเทลล์ ที่ไม่เพียงเน้นขายสินค้าให้ได้มากชิ้น แต่ยังคำนึงถึงการใช้งานที่ “คุ้มค่า” พูดง่ายๆ คือ “ไม่เอาเปรียบผู้บริโภค” เช่น อุปกรณ์ต่อสีเมื่อวันที่แท่งสีหดสั้นลง เพื่อให้สามารถใช้สีไม้ได้จนเสี้ยวสุดท้าย การออกแบบดินสอสีให้จับถนัด ใช้งานได้สะดวก และยาวนาน ทั้งหมดคือการดีไซน์เพื่อ “ผู้บริโภค”
ชูเกียรติ ยังสรุปความสำเร็จของธุรกิจ เฟเบอร์-คาสเทลล์ ในวันนี้ เป็นคำสั้นๆ ว่า...“ทำความจริง”
เมื่อประกาศว่าสินค้าปลอดภัย นั่นหมายความว่าสินค้าต้องปลอดภัยสูงสุดจริงๆ
เขาเล่าให้ฟังว่า เมื่อครั้งที่ผู้บริหารเฟเบอร์-คาสเทลล์ เดินทางมาประเทศไทยว่า ผู้บริหารท่านนั้นได้พิสูจน์ความปลอดภัยของสินค้าด้วยการกินสีให้ดู
“ผมมองว่าความจริงต่างหาก ที่เป็นคำตอบ สู่ความยั่งยืนของเฟเบอร์-คาสเทลล์ เพราะเมื่อไรที่เขาพูดว่าสินค้าปลอดภัย ก็ต้องกล้าพิสูจน์ว่ามันปลอดภัยจริงๆ เมื่อบอกว่าสินค้ารักษ์โลก ก็ลงมือทำจริง ช่วยกันดูแลโลก ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นหัวใจสำคัญ และเป็นจุดแข็งที่ต้องใช้เวลาในการสั่งสม”
สำหรับธุรกิจไทย เขาบอกว่ามีโอกาสที่จะดำเนินกิจการให้ยั่งยืนเหมือน เฟเบอร์-คาสเทลล์ ได้ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจใหญ่น้อยแค่ไหน เพราะปัจจุบันองค์กรต่างๆ หันมาให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับการเติบโตของธุรกิจไปพร้อมกับการดูแลโลกและสิ่งแวดล้อม
ขอเพียงทำองค์กรให้แข็งแกร่ง มองการตอบแทนสู่สังคมเป็นหัวใจ "พูดจริง-ทำจริง" เท่านี้ ก็จะกลายเป็นธุรกิจที่เติบโตยั่งยืน