http://www.csrcom.com/
True ปลูกปัญญา
ข่าว CSR

Freehap ? ภารกิจ "ผลิตสุข"

Freehap  ภารกิจ "ผลิตสุข"

โดย : จีราวัฒน์ คงแก้ว

ไม่ได้เป็นแค่แผนธุรกิจอีกต่อไปแล้ว เมื่อวันนี้“Freehap”แชมป์ GSVCอาเซียนปี 53ได้กลายเป็นธุรกิจโดยสมบูรณ์เดินหน้าภารกิจเพิ่มความสุขให้คนบนโลก

การไปเวทีที่ใหญ่ขึ้น ไม่ได้ไปแข่งขันเพื่อหวังชัยชนะ แต่เหมือนไปผจญภัยและมีโอกาสได้รับคอมเมนท์จากผู้เชี่ยวชาญรวมถึงนักลงทุนที่ทำธุรกิจจริงๆ จะชนะหรือแพ้เราก็จะทำธุรกิจนี้ เรายึดจุดยืนเดียว แบรนด์ของเราคือ เพิ่มความสุขให้กับโลก ถ้าอะไรที่มันขัดต่อจุดยืนนี้เราก็จะไม่ทำ

นี่คือสิ่งที่น้องๆ ทีม “Freehap” ผู้ชนะเลิศการประกวดแผนธุรกิจเพื่อสังคมระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ Global Social Venture Competition หรือ GSVC South East Asia 2010 บอกกับกรุงเทพธุรกิจ Bizweek ก่อนที่พวกเขาจะโบยบินไปลงสนามแข่งในระดับโลก ที่สหรัฐอเมริกา เมื่อปีที่ผ่านมา

แม้น้องๆ ไม่ได้ถ้วยรางวัลกลับมา แต่สำคัญกว่านั้นคือมี "ธุรกิจน้ำดี" ที่ชื่อ "Freehap" เกิดขึ้นจริงบนโลกใบนี้

"นที จารยะพันธุ์" และ "คณิต อร่ามกิจโพธา" นำสมาชิกโปรแกรมเมอร์ไฟแรง "อัครเดช พรรณาภพ"  "โสภณา ถีติปริวัตร์"  "คมสัน วิสุทธิแสง" และ "วีระพัฒน์ ชวลิตมณเฑียร" มาแนะนำตัวในฐานะทีมทัพ บริษัท ฟรีแฮป จำกัดผู้ผลิตแอพพลิเคชั่นสร้างสุข ที่เพิ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา

เหตุผลของการไม่ทิ้งความฝัน ไม่ใช่แค่คำสัญญาที่ฝากไว้ หากมันคือ "โอกาสธุรกิจ" ที่พวกเขาได้เรียนรู้ ในวันที่ไปประกวดแผนธุรกิจ

 "กรรมการค่อนข้างพอใจกับคอนเซปต์ และบอกพวกเราว่ามันมีศักยภาพทางธุรกิจ"

คำยืนยันในศักยภาพ จากเหล่า ตัวจริงทำให้พวกเขาตัดสินใจเดินหน้า เวลาเดียวกันก็หาทางเติมเต็มจุดอ่อนที่ได้รับจากคำชี้แนะ ไม่ว่าจะเป็นการก้าวออกจากโลกออนไลน์ มาทำกิจกรรมช่วยเหลือสังคมในโลกความจริง และการหาทีมโปรแกรมเมอร์มาร่วมทัพ เนื่องจากธุรกิจหลักคือการทำแอพลิเคชั่นสร้างสุข แต่พวกเขากลับยังต้องเอาท์ซอร์สโปรแกรมเมอร์จากภายนอกกลายเป็นจุดอ่อนของธุรกิจ เพราะคนที่รับเข้ามาใหม่อาจไม่ได้มีอุดมการณ์เพื่อสังคมแบบเดียวกับพวกเขา

ด้วยเงินทุนที่ไม่ได้มีล้นกระเป๋า น้องๆ จึงเริ่มจากทำวีดิโอคลิปโหลดลงยูทูบ เพื่อแนะนำความเป็น "Freehap" ให้ชาวโลกได้รับรู้ พร้อมกับเชิญชวนคนหัวใจเดียวกันมาร่วมงานด้วย แน่นอนว่าคนแบบที่  "Freehap" ต้องการ ไม่เพียงเขียนโปรแกรมได้ แต่ยังต้องเข้าใจคอนเซปต์การสร้างความสุขให้กับโลก

ผมไม่เคยเจอบริษัทไหนที่บอกว่า พวกเขาจะสร้างความสุขให้กับโลก ผมชอบความคิดนี้ มันน่าสนใจมาก จึงตัดสินใจร่วมงานกับที่นี่  วีระพัฒน์  นิสิตจบใหม่ที่กลายเป็นหนึ่งในทีมโปรแกรมเมอร์องค์กรผลิตสุข ให้เหตุผล

เมื่อได้ทีมงานมาเติมเต็มจุดอ่อนเหมือนที่กรรมการแนะนำ น้องๆ จึงเริ่มพัฒนางานของพวกเขา ด้วยการพัฒนาเว็บไซต์ Freehap  (www.freehap.com) และแอพพลิเคชั่น (<http://apps.facebook.com/freehapapp/>) สำหรับใช้งานบนสื่อที่เข้าถึงคนรุ่นใหม่ ทั้ง Facebook และโทรศัพท์มือถือในระบบปฏิบัติการ iPhone, Android, Blackberry, Windows Phone 7 เพื่อให้ผู้คนได้ใช้อัพเดทความสุขของตนเอง ส่งต่อรอยยิ้มถึงกันได้ และติดตามอารมณ์ความรู้สึกของเพื่อนๆ เพื่อเริ่มแบ่งปันสร้างความสุขให้คนรอบข้าง  รวมถึงการเป็นแหล่งรวบฐานข้อมูลวิจัยความสุข ที่พร้อมบริการให้หน่วยงานที่สนใจ

และเพื่อสร้างความท้าทายให้กับคนทำงาน และสร้างปรากฏการณ์ในสังคม พวกเขาจึงเปิดตัว Freehap ด้วยโครงการ 1 Million Smiles in 30 days”

เพื่อให้คนไทยได้ร่วมแบ่งปันรอยยิ้มและเรื่องราวที่ทำให้เกิดรอยยิ้มให้ครบหนึ่งล้านรอยยิ้มบนเว็บไซต์ Facebook ภายในเวลา 30 วัน เพื่อที่จะระดมเงินบริจาคจากผู้สนับสนุนโครงการไปมอบให้มูลนิธิบ้านนกขมิ้น และเชิญชวนอาสาสมัคร 50 คน เข้าไปทำกิจกรรม หลังจากจบโครงการแล้ว

สรุปง่ายๆ คือ เสียแค่เวลามาคลิกส่งยิ้ม แต่ได้อิ่มสุขถึงสองเด้ง คือสุขที่ได้มอบสิ่งดีๆ ให้กับคนที่เรารัก และอิ่มบุญที่ความสุขนั้นจะนำไปช่วยเหลือผู้คนในสังคม

โครงการเริ่มตั้งแต่ 18 พฤษภาคม - 21 มิถุนายนนี้ เวลาจำกัดมาก แต่เราอยากได้โจทย์ที่ยากและไม่เหมือนใคร เพราะต้องการกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ และท้าทายเด็กรุ่นใหม่ แม้สุดท้ายจะไม่ได้ครบล้านยิ้มในระยะเวลาที่กำหนด แต่เราก็จะทำต่อไปจนครบล้านให้จนได้

เป้าหมายที่พวกเขาอยากไปให้ถึง คือมีคนมาร่วมกิจกรรมกับ Freehap มากขึ้น ทั้งในโลกความจริงและโลกออนไลน์ รวมถึงการดึงองค์กรต่างๆ เข้ามาสนับสนุนการทำกิจกรรมเพื่อสังคม ให้มีพลังในการช่วยเหลือที่ยิ่งใหญ่ขึ้น แต่ทุกคนก็ยอมรับว่า Freehap ในวันนี้ ยังเป็นแค่คนตัวเล็ก ใครอีกจำนวนมากที่ไม่รู้จักพวกเขา ภารกิจในวันนี้จึงเป็นการพิสูจน์ตัวเอง เพื่อดึงดูดผู้คนเข้ามามีส่วนร่วมได้ง่ายขึ้น

คนจับตาสถานการณ์ความสุข ยังบอกว่า ผู้คนส่วนใหญ่ที่มาอัพเดทความสุขกับ Freehap จะเป็นกลุ่มเด็กมหาวิทยาลัย วัย 18-22 ปี ที่ทุกคนยกนิ้วให้ คือ ไอคอนแสดงอารมณ์ที่น่ารักน่าชังซึ่งพวกเขาออกแบบขึ้นมา เขายังเชื่อว่าหากประชาสัมพันธ์แอพพลิเคชั่นให้เป็นที่รู้จักมากกว่านี้ และออกแบบให้ใช้งานได้ง่ายที่สุด ก็จะมีผู้เข้ามาเล่นอีกมหาศาล เพราะพื้นฐานคนไทย มีน้ำใจให้กันอยู่แล้ว

การทำธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ไม่เหมือนธุรกิจทั่วไป  สิ่งท้าทายผู้ประกอบการอย่างพวกเขา ไม่เพียงประคองธุรกิจให้อยู่รอด หากหมายถึงอุดมการณ์ที่มีต่อสังคมจะต้องไม่ล้มหายตามไปด้วย ทางเดียวที่จะทำให้ภารกิจเดินหน้าได้ คือการบริหารความมั่นคงของกิจการไปพร้อมการทำงานเพื่อสังคม

"การทำให้เรายั่งยืนได้ ก็ต้องมีรายได้เข้ามาหล่อเลี้ยงองค์กร การหารายได้หลักๆ จะมาจากการขายโฆษณาบนเว็บไซต์ เบื้องต้นจะเน้นโฆษณาเกี่ยวกับการช่วยเหลือสังคม รวมถึงรายได้ที่จะมาจากการขายข้อมูลความสุข ให้กับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมถึงกลุ่ม NGO  ใครอยากรู้ข้อมูลความสุขในสังคมก็ใช้ฐานข้อมูลจากเราได้

ขณะที่การขับเคลื่อนกิจกรรมเพื่อสังคมจะเกิดมาจาก 2 ส่วน คือ  Freehap ลงไปทำเอง ทั้งฉายเดี่ยว และไปแจมกับโครงการที่มีคนทำอยู่แล้ว รวมไปถึงการทำหน้าที่ติดตามผลของคนทำกิจกรรมเพื่อช่วยเหลือสังคมในทุกรูปแบบ เพื่อร่วมโปรโมทคนทำดี  และรับทราบความคิดเห็นที่จะนำไปปรับปรุงการทำงานเพื่อสังคมของหน่วยงานต่างๆ ต่อไป

ชาว  Freehap ยังมีความมุ่งมาดสูงสุด คือวันที่โลก ไม่ต้องมี Freehap อีกต่อไป

เราต้องการกระตุ้นให้ผู้คนร่วมสร้างสรรค์สิ่งดีๆ เพื่อสังคม ทุกวันนี้เรากำลังหลงทางโดยให้ความสำคัญกับวัตถุมากเกินไปหรือเปล่า สิ่งที่เป็นเป้าหมายของพวกเราจริงๆ คือวันหนึ่ง โลกไม่ต้องมี Freehap ความสุขไม่ใช่สิ่งที่เราต้องมากระตุ้นให้คนนึกถึงเพราะมันเป็นสิ่งที่อยู่กับผู้คนไปแล้ว ซึ่งแน่นอนว่ามันเป็นเรื่องที่ยาก และต้องใช้เวลา แต่พวกเราก็จะมุ่งมั่นทำภารกิจนี้ต่อไป

ภารกิจของกลุ่มคนคิดดี ทำดี ที่ต้องการให้ แผนธุรกิจน้ำดีมีคุณค่ามากกว่าแค่แผ่นกระดาษ

 

ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/business/csr/20110623/395526/Freehap-ภารกิจ-ผลิตสุข.html

 

 

aphondaworathan