ปีแห่งการเติมพลัง CSR โดย ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ
บทความปีแห่งการเติมพลัง CSR โดย ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ
การตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืน (Sustainability) ในสถานการณ์ปกติ ที่ปราศจากวิกฤตหรือภัยพิบัติมาเป็นตัวแปรในสมการธุรกิจ องค์กรจำต้องอาศัยความทุ่มเทที่จะดำเนินงานอย่างรับผิดชอบต่อสังคม (และสิ่งแวดล้อม) ด้วยความต่อเนื่อง (Continuity) จากทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด จนเกิดเป็นผลลัพธ์ในบั้นปลาย
ตราบเมื่อธุรกิจประสบกับวิกฤตหรือภัยพิบัติทั้งจากภัยธรรมชาติและภัยที่มนุษย์ก่อขึ้น จนเป็นเหตุให้ความต่อเนื่องในการดำเนินงานนั้น เกิดความชะงักงัน เป้าหมายปลายทางขององค์กรที่ต้องการพัฒนาไปสู่ความยั่งยืน จึงพลอยติดขัดหรือสะดุดหยุดลงไปด้วย
การบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ ถือเป็นมาตรการที่จำเป็น (Essential Measure) ในการรักษาสถานะการดำเนินงานทางธุรกิจขององค์กรให้คงอยู่ ท่ามกลางวิกฤตหรือภัยพิบัติที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงหรือป้องกันมิให้เกิดขึ้นไม่ได้ ทั้งนี้ เพื่อให้การเดินทางบรรลุสู่ผลลัพธ์ที่ต้องการ
ขณะที่การเสริมความแข็งแกร่งในการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม จะเป็นมาตรการที่มีนัยสำคัญ (Significant Measure) ต่อการดำรงบทบาททางสังคมขององค์กร ท่ามกลางวิกฤตหรือภัยพิบัติ ที่ซึ่งผู้ประสบกับความลำบากทุกข์ยาก ต่างรอคอยการบรรเทาทุกข์และการฟื้นฟูจากสภาพดังกล่าว
แผนงานหรือมาตรการ CSR ในช่วงเผชิญเหตุและฟื้นฟู (Response and Recovery) จะต้องมีความเข้มข้น หรือควรต้องถูกเสริมแรง (Reinforce) ที่มากกว่าในสถานการณ์ปกติ เพื่อให้สามารถปะทะหรือรับมือกับความรุนแรงของสถานการณ์ ด้วยกำลังที่ใกล้เคียงกันและเมื่อสถานการณ์ที่ไม่ปกติผ่านพ้นไป ธุรกิจจำต้องประเมินความเสี่ยง และเตรียมพร้อมรองรับวิกฤตหรือภัยพิบัติรอบใหม่ที่รออยู่ข้างหน้า
การจัดการกับความเสี่ยง จะช่วยจำกัดความเสียหายที่เกิดขึ้นกับองค์กร จากภัย (Hazard) ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ให้พัฒนากลายเป็นภัยพิบัติ (Disaster) ที่ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อองค์กรและกระทบกับผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ ภัยจะกลายเป็นภัยพิบัติ ก็ต่อเมื่อกิจการไม่สามารถจัดการกับความล่อแหลมหรือความเปราะบาง (Vulnerability) ที่มีอยู่ในองค์กร และเมื่อภัยมาถึง ก็ขาดความสามารถ (Capacity) ในการรับมือ
ความล่อแหลม คือ สภาพทั้งทางกายภาพและการดำเนินงานที่มีความอ่อนไหวและมีแนวโน้มที่ทำให้เกิดอันตรายหรือความสูญเสีย เช่น ลักษณะที่ตั้ง สภาพแวดล้อม วิธีการทำงาน ฯลฯ ส่วนความสามารถ คือ ทักษะ ทรัพยากร และประสบการณ์ที่มีอยู่สำหรับการรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
การลดความเสี่ยงและการเตรียมความพร้อม ถือเป็นมาตรการเชิงรุกที่ควรดำเนินการก่อนล่วงหน้า (Preemptive Measure) ในบริบทความรับผิดชอบขององค์กรที่มีต่อผู้มีส่วนได้เสียภายในองค์กร (ผู้ถือหุ้น พนักงาน ลูกจ้าง แรงงานรับจ้าง ฯ) และในห่วงโซ่ธุรกิจ (คู่ค้า ผู้ส่งมอบ ลูกค้า ฯ) เพื่อมิให้การดำเนินงานหยุดชะงักจนส่งผลเสียหายต่อองค์กรและผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง
แผนงานหรือมาตรการ CSR ในช่วงของการลดความเสี่ยงและการเตรียมความพร้อม (Risk Reduction/Mitigation and Readiness/Preparedness) จึงควรมุ่งเน้นที่การเสริมกำลังทั้งในเชิงกายภาพและเชิงกระบวนงานที่พบว่ามีความอ่อนไหว เปราะบาง ล่อแหลมต่อการเกิดความเสียหายและความสูญเสีย รวมทั้งการให้ความใส่ใจกับการเพิ่มขีดความสามารถของการดำเนินงานในกรณีที่มีภาวะฉุกเฉินหรือมีวิกฤตการณ์เกิดขึ้น
แน่นอนว่า ความไม่แน่นอนเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่องค์กรสามารถทำให้แน่ใจได้ว่า ปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ได้ถูกขจัดหรือทำให้ลดทอนเบาบางลง จนยากที่จะส่งผลให้เกิดเป็นความเสียหายร้ายแรงต่อองค์กร ดังคำที่ว่า “เมื่อมีเหตุ ย่อมมีผล - เมื่อดับเหตุ ย่อมไม่มีผลเกิดขึ้น”