จิตอาสาภูธร น้ำใจท่วมไทย โดย : ศูนย์ข่าวเนชั่น
บทความจิตอาสาภูธร น้ำใจท่วมไทย โดย : ศูนย์ข่าวเนชั่น
มวลน้ำก้อนใหญ่ หรือจะสู้มวลน้ำใจจากคนไทยทั่วทุกสารทิศ
แรงใจสายเหนือ
>เอกพงศ์ ประดิษฐ์พงษ์
ท่ามกลางวิกฤต "น้ำท่วม 2554" ได้แสดงให้เห็นว่า "คนไทยจะไม่มีวันทอดทิ้งกันในยามยาก" ทันทีที่เกิดอุทกภัยในแต่ละพื้นที่ คนไทยในนามของอาสาสมัครหลายกลุ่มได้ระดมสรรพกำลังร่วมให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเต็มที่โดยไม่ต้องรอการร้องขอ
ชมรมคนกู้ภัยเชียงใหม่ ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของสมาชิกและอาสาสมัครกู้ภัยกว่า 10 หน่วย ในจังหวัดเชียงใหม่ นับเป็นกลุ่มแรกๆ จากภาคเหนือที่เข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัย นับตั้งแต่เหตุการณ์อุทกภัยในจังหวัดเชียงใหม่ ต่อด้วยน้ำท่วมใหญ่ในจังหวัดนครสวรรค์ ล่าสุดคือ กรุงเทพมหานคร
ภารกิจหลักของพวกเขาคือ เป็นกำลังสนับสนุนการช่วยเหลือประชาชน ไม่ว่าจะลำเลียง ขนย้าย ปฐมพยาบาลเบื้องต้น จราจร เปิดครัวประกอบอาหาร และอื่นๆ ตามที่ได้รับการร้องขอ
ทิวลิป มหาวงค์ ประธานชมรมคนกู้ภัยเชียงใหม่ บอกว่า ภารกิจในแต่ละครั้งสมาชิกชมรมจะรวบรวมเงินเป็นกองกลางเป็นเป็นค่าใช้จ่ายในแต่ละวัน แม้จะไม่มีมากแต่ทุกคนก็มีความสุขที่ได้ช่วยเหลือ
วันนี้ สมาชิกชมรมกว่า 50 ชีวิต ยังปักหลักคอยให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยในกรุงเทพมหานคร โดยมีกำหนดปิดภารกิจเมื่อน้ำท่วมคลี่คลาย
"พวกเราเป็นเพียงกลุ่มเล็กๆ ในสังคม แต่ก็ภูมิใจที่ได้แสดงให้เห็นว่า ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนคนไทยก็มีน้ำใจไม่เคยทิ้งกัน" เขาบอก
ด้าน ศูนย์ข่าวความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมภาคประชาชน จังหวัดเชียงใหม่ (Chiang Mai Help Thai Flood News) อีกหนึ่งกลุ่มจิตอาสาที่มีภารกิจในการรวบรวมฐานข้อมูลพื้นที่ประสบภัย ตั้งแต่ระดับจังหวัดจนถึงหมู่บ้าน มีเป้าหมายสำคัญคือเพื่อให้ผู้ประสบภัยได้รับการช่วยเหลือตามความต้องการอย่างแท้จริง
รักพงษ์ คำซาว ผู้ประสานงานฯ เล่าว่า นอกจากจะเป็นศูนย์รวมฐานข้อมูลระบบเปิดแล้ว ศูนย์ข่าวยังเปิดโครงการ "HUG จุลินทรีย์" ผลิตอีเอ็มบอลส่งพื้นที่ประสบอุทกภัย โดยมีกลุ่มนักศึกษาจากหลายสถาบันมาร่วมผลิตและรวบรวมอีเอ็มบอลส่งพื้นที่ประสบภัยให้ได้ไม่ต่ำกว่า 1 แสนลูก
นอกจากความช่วยเหลือในด้านการใช้ชีวิตท่ามกลางน้ำท่วมแล้ว ทีมแพทย์อาสา มูลนิธิโรงพยาบาลสวนดอก คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ยังเป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่ส่งทีมแพทย์อาสาสมัครลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยมีแพทย์เฉพาะทาง พยาบาล และเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ เปิดหน่วยบริการตรวจรักษาประชาชนในจังหวัดนนทบุรี
รศ.ดร.นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล เลขานุการมูลนิธิโรงพยาบาลสวนดอก ระบุว่า ก่อนหน้านี้ มูลนิธิฯ มีโครงการระดมทุนเพื่อนำไปใช้ช่วยเหลือประชาชนทางด้านการแพทย์ ซึ่งทุกครั้งได้รับการสนับสนุนจากคนไทยทั้งประเทศมาโดยตลอด
"ครั้งนี้จึงเป็นโอกาสดีที่เราซึ่งเคยอยู่ในฐานะผู้รับจะสลับมาทำหน้าที่ในฐานะผู้ให้เพื่อตอบแทนคนไทย โดยการออกหน่วยให้บริการของทีมแพทย์อาสาหวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะเติมเต็มสังคมไทยในยามวิกฤต" คุณหมอพงษ์รักษ์ บอก
สีชมพูกู้ชีพ
>ชูศรี ศิริขจรพันธ์ และศูนย์ข่าวภาคอีสาน
ภาพน้ำนองเมืองหลวง ทำให้วัฏจักรหลายอย่างหยุดชะงักไป แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยหยุดนิ่ง คือ ลมหายใจ และการดิ้นรนเพื่อให้ชีวิตอยู่รอดของคนไทย ท่ามกลาง "น้ำใจ" ที่ยังไหลหลั่งเข้ามาช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง
ทีมจิตอาสาจากโรงพยาบาลสีชมพู เป็นส่วนหนึ่งในทีมจิตอาสาที่ประสานมือตั้งทีมขึ้นมาจากหน่วยงานด้านสาธารณสุข กู้ภัย และภาคประชาสังคม จากจังหวัดขอนแก่น โดยมีการตั้งหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง
ทีมแพทย์เคลื่อนที่ใช้ระบบปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข มาปฏิบัติภารกิจนี้ โดยแบ่งออกเป็น 6 ทีมหลัก คือ ทีมประสานและสั่งการ ติดต่อ ประสานข้อมูล ส่งต่อผู้ป่วย ทีมเคลื่อนที่เร็ว เข้าถึงผู้ประสบภัยก่อน พยาบาลเบื้องต้น เคลื่อนย้ายนำส่งทีมแพทย์ ทีมหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ตั้งหน่วยแพทย์สนามที่ศูนย์พักพิง และเยี่ยมบ้าน สุดท้ายคือ ทีมสุขศึกษาและควบคุมโรค ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้
"เรามุ่งมั่นที่จะให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยให้ได้รับบริการที่ดีที่สุด" นพ.พีรพงศ์ นิลพัฒน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสีชมพู จังหวัดขอนแก่น "หัวหน้าหน่วย" เล่าถึงเป้าประสงค์ที่วางไว้ โดยมีคนอีกกลุ่มหนึ่งคอยประสานความช่วยเหลือกับทีมแพทย์และร่วมลงพื้นที่ด้วย นั่นคือ ทศพร ลี้เทียน และ ดร.วรพจน์ กันตพิพัฒน์ เจ้าของโครงการเอ็มที - อาริน่า
นอกจากนั้น ยังมีทีมจิตอาสาจากหน่วยงานอื่นๆ อย่าง ศูนย์ข่าวทานตะวัน ศูนย์ประสานงานของมูลนิธิมิราเคิลออฟไลฟ์ ในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ ราชกัญญา ศิริวัฒนาพรรณวดี พาสมาชิกกว่า 100 ชีวิต ลุยน้ำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเมืองกรุงและปริมณฑล
"ผมพาทีมลงไปประมาณครั้งละ 30 คน เข้าไปช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อน ตรวจสอบความต้องการ หาเครื่องอุปโภคบริโภคข้าวสาร อาหารแห้งและน้ำดื่มและถุงยังชีพ อีกทั้งเราก็ออกไปตั้งจุด เล่นดนตรีเปิดหมวก เพื่อเอาเงินและสิ่งของที่ได้รับบริจาคมาส่งต่อเช่นกัน" สุวิทย์ อิ่มใจ หัวหน้าศูนย์ข่าวทานตะวัน กล่าวถึงการทำงาน
ถึงแม้น้ำจะลดลงไป เขาและทีมงานก็ยังตั้งปณิธานว่าจะลงพื้นที่ไปช่วยเหลือ ซ่อมแซม สิ่งปลูกสร้างสาธารณะ โดยเฉพาะ วัด โรงเรียน ที่ต้องได้รับการฟื้นฟูอย่างเร่งด่วน เพราะเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทย
"เวลานี้เองที่เรารู้เลยว่า น้ำใจคนไทยนี้สุดยอด" สุวิทย์ย้ำ
ส่วน เครือข่ายจิตอาสาขอนแก่นลิงค์ เว็บไซต์ชื่อดังของเมืองขอนแก่น ที่มี จงชัย ทองเครือ เป็นหัวหอก เชิญชวนสมาชิกเข้าไปช่วยเหลือคนอื่น ก็ไม่ได้อยู่เฉยเมื่อเห็นคนไทยเดือดร้อน
"เรามีสมาชิกจิตอาสาที่ชวนกันมาหลายคน โดยก่อนหน้าน้ำจะท่วมเราก็ชวนกันไปทำกิจกรรมอาสาต่างๆ อยู่แล้ว ซึ่งเหตุการณ์น้ำท่วมเราก็ไปช่วยเหลือชาวขอนแก่นที่ถูกน้ำท่วมด้วย พอมูลนิธิมิราเคิลออฟไลฟ์มาชักชวนให้ไปร่วมหาเงินบริจาคและรับบริจาคสิ่งของเราก็ไป โดยจะมีเครือข่ายที่เล่นดนตรี ร้องเพลง ไปเปิดหมวกตามตลาดนัด ตลาดสด ถือว่าช่วยเหลือกันในยามที่คนไทยเดือดร้อน" จงชัยเล่า
รวมมิตรจิต "ใต้" สำนึก
>สุพิชฌาย์ รัตนะ
ไม่ต่างจากธารน้ำใจของทุกภาคส่วนที่หลั่งไหลเข้าให้ความช่วยเหลือ กลุ่มเยาวชนจิตอาสา จากรั้วมหาวิทยาลัยทักษิณ จังหวัดสงขลา ซึ่งตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเด็กๆ ที่การเรียนการสอนต้องหยุดชะงักไปโดยปริยาย คืออีกหนึ่งเรี่ยวแรงสำคัญ
พวกเขา "ขันอาสา" เร่งผลิตสื่อการเรียนการสอนสร้างความบันเทิงให้แก่น้องๆ ที่ตกอยู่ในสถานภาพ "ผู้ประสบอุทกภัย" ภายใต้โครงการ "ม.ทักษิณ รวมน้ำใจ ช่วยผู้ประสบภัยพิบัติ" เป้าหมายแรกคือ เด็กที่อาศัยในศูนย์อพยพ หรือศูนย์พักพิงตามสถานที่ต่างๆ ในพื้นที่ประสบอุทกภัยนั่นเอง
แนน - สุกัญญา บัวศรี นักศึกษาปี 4 วิชาเอกการศึกษาปฐมวัย คณะศึกษาศาสตร์ หัวหอกนำทีมจิตอาสา เล่าว่า จากการติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวสถานการณ์น้ำท่วม นอกจากภาพของเด็กและคนชราที่รอคอยการช่วยเหลือ "โรงเรียนเสียหาย" คือสิ่งที่เธอสังเกตเห็นเป็นประจำ
"หลายโรงเรียนอาคารเรียน อุปกรณ์การเรียนการสอน เสียหาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อการเรียนการสอนของชั้นอนุบาลที่แทบจะกลายเป็นซาก เพราะสถานที่ส่วนใหญ่มักอยู่ชั้นล่างอาคาร ซึ่งจะเทียบไม่ได้เลยกับการช่วยเหลือด้านที่พัก อาหารการกินที่ทุกภาคส่วนเข้าไปให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่"
เมื่อทางเครือข่ายศูนย์อพยพราชมังคลาฯ กรุงเทพมหานคร ได้แจ้งขอสื่อการเรียนการสอน เธอและเพื่อนๆ จึงไม่รอช้าที่จะผลิตสื่อการเรียนการสอนให้ถึงมือน้องโดยเร็ว
"เราเรียนสายครูมา ทำให้เข้าใจความสำคัญของสื่อการเรียนการสอน ซึ่งเป็นอุปกรณ์ฝึกสอนให้เด็กเกิดการเรียนรู้ เกิดจินตนาการและการพัฒนาทักษะ จึงตั้งใจจัดทำสื่อการเรียนรู้ ประเภทหนังสือนิทาน, ของเล่นแรงดันน้ำ, โรงหุ่น, กล่องเสียงสร้างภาพ, เครื่องดนตรีไทยจำลอง, กระดานบวกเลข, การดานป๊อบอัพ, หุ่นนิ้วมือ มอบให้กับน้องๆ ได้ใช้ประโยชน์" เธอเล่า
อุปกรณ์ทั้งหมดจะถูกลำเลียงนำไปแจกจ่ายให้กับน้องๆ ให้กับศูนย์อพยพราชมังคลาฯ พร้อมลงพื้นที่ไปตามโรงเรียน วัด มัสยิด ตลอดจนศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในภาคกลาง ในพื้นที่จังหวัดกรุงเทพฯ อยุธยา อ่างทอง และสระบุรี
เช่นเดียวกับ กลุ่มจิตอาสาชาวจังหวัดระนอง ที่ได้จัดกิจกรรมระดมความร่วมมือร่วมกันปั้นอีเอ็มบอล (EM ball) เพื่อหวังจะนำไปช่วยแก้ไขปัญหาน้ำเน่าในพื้นที่ประสบภัย โดยกองพันที่ 2 กรมทหารราบที่ 25 ค่ายรัตนรังสรรค์จังหวัดระนอง อาสาเปิดค่ายทหารให้ผู้มีจิตอาสาได้เข้ามาร่วมปั้น EM BALL ตามโครงการ "น้ำเน่าพ่ายน้ำใจด้วย EM Ball"
"เราตั้งเป้าจะปั้นให้ได้ 250,000 ลูกครับ" พ.อ.เฉลิมพร ขำเขียว ผู้อำนวยการบรรเทาสาธารณภัยกองพันที่ 2 กรมทหารราบที่ 25 ค่ายรัตนรังสรรค์จังหวัดระนองเผย
ทำให้ค่ายทหารแห่งนี้แต่ละวันคราคร่ำไปด้วยผู้คนที่มีจิตอาสาเข้ามาช่วยกัน "ปั้น"
ไม่ต่างกับ เยาวชนกลุ่มจิตอาสาโรงเรียนสตรีระนอง ที่นอกจากจะมาร่วมปั้นอีเอ็มบอลแล้ว ยังร่วมกันลงขันหาทุนเพื่อนำไปซื้ออุปกรณ์เปิดร้านขายน้ำเต้าหู้ และปูนิ่มทอด ต่อยอดการหาทุนร่วมบริจาค ล่าสุดสามารถทำยอดสู่หลักหมื่นบาท และไต่ระดับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
จอย - ด.ญ.ปรารถนา จันทระ อายุ 13 ปี นักเรียนชั้นม.1/10 โรงเรียนสตรีระนอง เล่าว่า เดิมทีได้ติดตามภาพข่าวน้ำท่วมที่สร้างความเสียหายในทุกๆ วัน จึงอยากเข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่เดือดร้อนด้วย
"หนูรวมกลุ่มกับเพื่อนประมาณ 100 คน จัดกิจกรรมหารายได้ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ รับบริจาคเงินและสิ่งของตามสถานที่ต่างๆ หลังเลิกเรียน เปิดกล่องรับบริจาคภายในโรงเรียน และเปิดร้านขายน้ำเต้าหู้ และปูนิ่มทอด เพื่อระดมทุนให้ได้มากที่สุด" เธอเล่าวีธีทำงาน
ทั้งหมด เป็นส่วนหนึ่งของ "ธารน้ำใจ" ที่กำลัง "ท่วมไทย" ให้พ้นภัยไปพร้อมกัน